อุดมการณ์สื่อในยุคอภิวัฒน์สยามและพันธกิจที่ต้องรักษา

เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนมิอาจเกิดขึ้นได้ หากรัฐบาลไม่ยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ปิดกั้นการแสดงความคิดความเห็น เซ็นเซอร์สื่อ หรือกระทั่งจับกุมคุมขัง 

ย้อนกลับไปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดแรงปะทะระหว่างผู้นิยมระบอบเก่าและผู้สนับสนุนระบอบใหม่ หนังสือพิมพ์แต่ละสำนักต่างก็เลือกเป็นกระบอกเสียงให้แก่ฝ่ายที่ตนเองเชื่อ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็มักจะพยายามกำกับควบคุมสื่อหนังสือพิมพ์เพื่อเสถียรภาพและความน่าไว้วางใจของตน 

ในยุครัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีการตั้งกรมโฆษณาขึ้นเพื่อเผยแพร่การดำเนินงานของคณะราษฎร และมีหน้าที่กลั่นกรองข่าวสารก่อนออกไปสู่สายตาประชาชน การตัดสินใจครั้งนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักโดย กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ว่าเป็นการปิดโอกาสหนังสือพิมพ์ในการไต่ถามข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลโดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน

เมื่อมาถึงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา แม้จะมีความพยายามแสดงความปรารถนาดีต่อหนังสือพิมพ์ แต่กฎหมายพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของหนังสือก็ยังคงไม่ปรากฎ อีกทั้งยังต้องระวังภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของตนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังทหารจึงอาจถูกต่างชาติแทรกแซงได้ เพราะมองว่าประเทศไร้ความมั่นคง ทำให้แม้แต่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักหนังสือพิมพ์ขนาดนั้น

พระยาพหลพลพยุหเสนา

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาลเพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น จนเรียกได้ว่าพันธกิจของหนังสือพิมพ์ต่อประชาชนคือการเผชิญหน้ากับรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของราษฎร 

เราจึงอยากชวนทุกท่านย้อนดูประวัติศาสตร์หยาดน้ำหมึก หนังสือพิมพ์กับการเมืองไทยหลังยุคอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

กรุงเทพฯ เดลิเมล์ 

กรุงเทพฯ เดลิเมล์ หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัท สยามฟรีเปรส มีบทบาทอย่างมากในการวิจารณ์รัฐบาลคณะราษฎร จนรัฐบาลเชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนระบอบเก่า เนื่องจากผู้จัดการบริษัท สยามฟรีเปรส คือ พระยาศราภัยพิพัฒ อดีตทหารคนสนิทของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต อดีตเสนาบดีกลาโหม อย่างไรก็ดี นักหนังสือพิมพ์อาวุโสบางท่านก็พิจารณาว่าท่าทีของกรุงเทพฯ เดลิเมล์ นั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่ระดับหนึ่ง เพียงแค่คัดค้านคณะราษฎรเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายและการกระทำบางอย่างเสียมากกว่า

กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงทำให้รัฐบาลคณะราษฎรหวั่นเกรงอิทธิพลอยู่ไม่น้อย มีความพยายามจะควบคุม กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงขั้นส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น มาเจรจาเสนอเงินเพื่อให้กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เปลี่ยนแนวทางการวิจารณ์รัฐบาล

นักหนังสือพิมพ์สังกัดกรุงเทพฯ เดลิเมล์ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดช รัฐบาลจึงเรียกตัวไปไต่สวน ต่อมาศาลพิเศษได้ตัดสินว่าเป็นขบถต่อราชอาณาจักร มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ได้รับลดหย่อนเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต นั่นคือฉากสุดท้ายของหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ที่ถูกสั่งปิดโดยไม่มีกำหนด ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

10 ธันวา

หนังสือพิมพ์ 10 ธันวา ก่อตั้งโดยนายหรุ่น อินทุวงศ์ เพื่อระลึกถึงความเป็นเอกราชและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าประสงค์ “อ้าปากออกเสียงสนับสนุนในวงการเมืองตามสติกำลังเท่าที่จะทำได้” และตั้งใจปราบอธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศชาติ

เสรีภาพ

หนังสือพิมพ์เสรีภาพ ตีข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีบทบรรณาธิการที่แสดงความเห็นเรื่องต่างๆ เช่น สิทธิออกเสียง เงินเดือนของรัฐมนตรี และงบประมาณที่ขาด เป็นต้น

เฉลิมรัฐธรรมนูญ

หนังสือพิมพ์เฉลิมรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งโดยสมาคมคณะราษฎร โดยมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการในระยะแรก เผยแพร่ครั้งแรกในช่วงงานเฉลิมรัฐธรรมนูญปี 2475 ตีพิมพ์บทวิชาการทางการเมือง การปกครอง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น และอธิบายความหมายของรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อธิบายสิทธิการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และเขียนเยินยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไปพร้อมๆ กัน 

กุหลาบ สายประดิษฐ์

ประชาชาติ

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ก่อตั้งโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ คณะบรรณาธิการส่วนใหญ่ประกอบขึ้นด้วยคณะประพันธ์ในกลุ่ม ‘สุภาพบุรุษ’ หนึ่งในหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า (รวมถึง ไทยใหม่ และ บางกอกการเมือง) ที่ท้าทายอำนาจเผด็จการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วยภาษาแสบสัน โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติมีความตั้งใจว่าจะไม่ใช้วิธีการเขียนที่แห้งแล้งตามที่มักปรากฏในหนังสือพิมพ์อื่นๆ แต่ข่าวจะต้องสวย กอปรไปด้วยวรรณศิลป์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติทางการประพันธ์ของนักหนังสือพิมพ์กลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า