เรื่อง / ภาพ: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
-1-
พวกเขาสวมสูทสีกรมท่า แผงเหรียญเครื่องราชย์ประดับอกทั้งสองด้าน หมวกอันเป็นสัญลักษณ์บ่งว่าพวกเขาเป็นทหารผ่านสงครามเกาหลีมีข้อความ: ‘เราผู้กล้า’ หลายคนเดินคล่องแคล่ว บางคนใช้ไม้เท้าค้ำยัน พวกเขามีอายุราว 80-90 ปี พกพาเกียรติยศรวมหมู่มาร่วมงานคืนสู่เหย้าทหารผ่านศึก และต่างก็นำเอาความทรงจำส่วนตัวติดมาด้วย
ความทรงจำส่วนตัวเมื่อถูกเปรียบเทียบกับความทรงจำของคนอื่น เมื่อความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคนมีความพ้องพานกัน ความทรงจำนั้นจะเป็นความทรงจำที่มีน้ำหนัก เป็นความทรงจำร่วมที่พวกเขาเชื่อมโยงกัน นี่คือการเดินทางกลับไปยังอดีตของตัวเอง ผ่านงานรำลึกถึงเหตุการณ์สงครามเกาหลี พวกเขามีอดีตร่วมกันในช่วงระหว่างสงครามเริ่มต้นปี พ.ศ. 2493 และสิ้นสุดปี พ.ศ. 2496
วันนั้น อติญา อารยพงศ์ สวมเสื้อกระโปรงติดกันสีเหลืองพาสเทล ระบายลูกไม้ทั้งชุด วันนั้นเธอเลือกติดเหรียญตราของสหประชาชาติไว้บริเวณไหล่ซ้าย เป็นเหรียญตราที่คุณตาผู้ล่วงลับของเธอได้รับเป็นเกียรติยศ วันนั้นคือวันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เหรียญตราของสหประชาชาติเชื่อมโยงเธอเข้ากับคุณตา เพราะ อติญา อารยพงศ์ สนใจงานของสหประชาชาติ และครั้งหนึ่งคุณตาของเธอเคยเป็นทหารในนามสหประชาชาติเดินทางไปเกาหลี ก่อนออกจากบ้านไปร่วมงานวางพวงมาลาในวันนั้น อติญา อารยพงศ์ เลือกเหรียญตรานี้ประดับชุดของเธอ วันนั้นเธอพายายและแม่ไปร่วมงาน ก่อนหน้านี้ นิลสุทัศน์ สอาดเอี่ยม ผู้เป็นยายของอติญาไม่เคยร่วมงานรำลึกใดๆ อุบลวรรณ อารยพงศ์ มารดาของอติญาบอกว่า “ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีความซาบซึ้งกับเรื่องสงครามเกาหลี ครอบครัวทั้งครอบครัวเลย เราไม่ได้อินหรือผูกพัน ในสำนึกของเราเราเป็นลูกของทหารผ่านศึกเกาหลี เพราะคุณพ่อปลูกฝังเรื่องนี้ตลอดด้วยความภาคภูมิใจ”
ชายชราวัย 92 เดินเข้ามาทักทายครอบครัวของเธอ แนะนำตัวเองว่าเป็นทหารผลัด 6 ที่เดินทางไปเกาหลี เขายังคงแข็งแรงและความจำดี “ถ้าหนูอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับพันโทจำเนียร ถามปู่ได้นะ เราเป็นเพื่อนกัน”
พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม คือคุณตาของอติญา เขาเป็นสามีของนิลสุทัศน์ และเป็นบิดาของอุบลวรรณ อติญาบอกว่า “ฉันอยากรู้ว่าคุณปู่-คุณตาที่เคยไปเกาหลีร่วมรุ่นกับคุณตาของฉัน พวกเขามีคาแรคเตอร์ยังไง เพราะตอนเราเกิดมาก็ไม่มีคุณตาแล้ว จึงเป็นโอกาสดีได้ไปสังเกตการณ์คุณปู่-คุณตาของคนอื่นว่าเป็นยังไง”
คงมีแต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณตาที่ถูกถ่ายทอดมาจากครอบครัว ภาพถ่ายสีฝุ่นหลายใบที่บอกรูปพรรณสัณฐานของเขา อติญา อารยพงศ์ พูดคุยกับคนรุ่นตาหลายคนในวันนั้น และหวั่นใจกับเรื่องเวลาของแต่ละคน ซึ่งเธอบอกว่า “เหลือไม่มากเลย และคิดว่าเรื่องราวเหล่านี้มันควรได้รับการเอาออกมารื้อฟื้น เล่าต่อให้คนอื่นฟัง”
ผมไม่รู้ว่าความทรงจำมีความสัมพันธ์กับเวลาหรือไม่ ถ้านักปรัชญาด้านความทรงจำพูดถูก คนวัยชรามีแนวโน้มที่จะเผยเล่าเรื่องราวในอดีตมากกว่าคนวัยกลางคน เพราะเวลาที่เหลือน้อยของพวกเขาทำให้ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับปัจจุบัน เพราะการเผยเล่าอดีตมันย่อมมีผลต่อปัจจุบันของผู้เล่า
แต่กระนั้นนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนวัย 20 ต้นๆ อย่างอติญา ย้อนกลับไปค้นหาตัวตนของบรรพบุรุษ สืบค้นประวัติศาสตร์ส่วนตัวภายในบ้านตัวเอง และออกเสาะหาอดีตทหารผ่านสงครามเกาหลีคนอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดาวหลายดวงได้ดับสูญไปแล้ว แต่แสงของดาวยังจรัสให้เห็นอยู่บนฟ้า
ภาพถ่ายของพันเอกสุวรรณ จินดา ในสงครามเวียดนาม
-2-
“พวกนี้ก็ตายหมดแล้วนะ คนนี้ก็ตายแล้ว นี่ๆ คนนี้เพื่อนผมที่ไปเกาหลีรุ่นเดียวกันชื่อวิชัย ส่วนนี่เป็นรุ่นน้อง มันจะมีเหรียญพวกนี้ว่าใครได้เหรียญอะไรบ้าง นี่ผมยืนอยู่ตรงนี้ครับ คุณลองมองสิ เห็นผมมั้ย นี่ผมได้เหรียญอันนี้มา ได้สายสะพายมาอีกอัน นี่คือหมวก ‘เราผู้กล้า’ เขาให้มา นี่คือเหรียญที่ได้มาจากรัฐบาลเกาหลี ส่วนเหรียญนี้ได้มาตอนไปเวียดนาม นี่ๆ ภาพนี้ผู้ก่อการร้ายมามอบตัว เขาเขียนว่าอะไรล่ะนั่น” เขาถามเพราะสายตาชราเริ่มอ่านตัวหนังสือเล็กกะจิริดไม่เห็น
ผมอ่านข้อความบรรยายใต้ภาพในหนังสือพิมพ์ให้ฟัง “ผกค. เข้ามอบตัว ทหารตำรวจ โดยมี รอ.สุวรรณ จินดา นำนายสิงห์ผ่อง นายเล็ก ชักจูงออกมา ชักจูงออกมาเพื่อว่าเราให้อภัย”
“เออๆ เห็นมั้ย ผมชื่อ สุวรรณ จินดา แล้วเขาเขียนเมื่อวันที่เท่าไหร่”
“ปี พ.ศ. 2515 ครับ”
“สมัยที่ทำงาน ผมต้องการอย่างเดียว ไม่ต้องการให้ฆ่ากัน คนแถวพัทลุงจะรักผมมาก เพราะว่าเราให้อภัย แล้วผมก็พาพวกคอมมิวนิสต์นี้ไปบวช เวลามีข่าวผมจะเข้าแฟ้มให้นายดู นายจะได้รู้ว่างานที่เราทำมีอะไรบ้าง”
พันเอกสุวรรณ จินดา ไล่ดูภาพถ่ายในอดีต ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอการปราบคอมมิวนิสต์ของเขา และพลางบอกเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในภาพ ความทรงจำของพันเอกสุวรรณ จินดา มีสีสันฉูดฉาด เรื่องราวของเขาเมื่อวางทาบกับไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์สำคัญแทบทั้งสิ้น กบฏแมนฮัตตัน สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามปราบคอมมิวนิสต์
ถ้าเราเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มองชีวิตของเขาในวัย 86 จะพบว่า พันเอกสุวรรณ จินดา มอบดวงใจทั้งดวงให้กับการเป็นทหาร
“ผมเกิดปี 2472 ตอนนี้อายุ 86 ปี” เขาแนะนำตัวเอง หลังกลับจากสงครามเกาหลี สิบโทสุวรรณ จินดา ในวัย 22 เริ่มเดินทางไปบนเส้นทางสายทหาร เส้นทางที่มือต้องคว้า ปากต้องอ้า ถ้าไม่ใช่ความพยายามเข้าแลกก็ต้องอาศัยกำลังภายในประเภทจีบลูกสาวนาย เลียแข้งเลียขานาย แต่สำหรับสิบโทสุวรรณเลือกที่จะทำงานหนัก “ผมเอาชีวิตเลือดเนื้อตัวเองเข้าไปทุกสถานการณ์ นายถามไปภาคใต้ได้มั้ย ได้ครับ มันต้องมีจิตอาสาที่จะไปทำงาน จึงจะมีผลงาน ผมไปทั่วประเทศ”
ช่วงทศวรรษ 2510 ร้อยเอกสุวรรณ จินดา ในฐานะหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ตระเวนไปยังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เขาทำงานเข้าหามวลชนเพื่อดึงเข้ามาเป็นแนวร่วม แทนที่จะปล่อยให้เป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ เขาท่องหลักการทำงานให้ฟังว่า “ปรับทุกข์ ผูกมิตร ปักหลัก ชักจูง จัดตั้ง ปักหลัก หมายถึงว่า แต่งตั้งให้ฝ่ายนั้นเป็นแกนนำ เป็นตัวแทนของฝ่ายเรา ชักจูงให้เขาเข้าฝ่ายเราฝ่ายประชาธิปไตย เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่งข้าตี เอ็งหนีข้าตาม งานจิตวิทยาใช้แนวความคิดแทนกระสุนปืน ใช้ชิวหาใช้ปากเป็นอาวุธ เกลี้ยกล่อมคนโน้นคนนี้ หรือที่เขาเรียกว่าพร็อพพาแกนดา”
หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่สีแดง ร้อยเอกสุวรรณ จินดา ในฐานะผู้ควบคุมหน่วย ปจว. เคลื่อนที่ ภายในรถจี๊ปสี่ล้อบรรจุเครื่องฉายหนัง จอหนัง กล้องถ่ายภาพยนตร์ ข้าวสารอาหารแห้ง หยูกยา นานๆ ทีจึงจะได้กลับบ้าน
“ผมนี่นะมีลูก 7 คน ผมปลูกบ้านอยู่ข้างนอก ไม่อยู่ในค่ายทหาร เพราะมันมีการพนัน เมียก็ต้องเข้าแก๊ง พวกมากลากไป ผมไม่ต้องการให้เมียผมไปคบค้าสมาคมในวงการทหาร ปีหนึ่งก็มาหาเมียสักครั้ง สุดแท้แต่ว่านายจะสั่ง ชีวิตนี้อยู่ที่นาย ทุกอย่างอยู่กับแป๊ะ แล้วเราจะไปขัดแย้งกับแป๊ะได้ยังไง”
ผมถามเขาด้วยความระมัดระวังว่า “เป็นทหารต้องให้ความสำคัญกับนายเป็นพิเศษเลยใช่ไหม?”
“อยู่กับแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ผมนี่นะอยู่กับนาย บางทีถุงเท้านายขาด หัวนิ้วโป้งโผล่ ผมก็ต้องไปซื้อมา หลอดไฟในบ้านขาด เราก็ไปจัดแจงให้ จะปล่อยให้บ้านนายมืดได้ไง เราก็รักนายนี่ ผมนี่ห่างเมียนะ เมื่อเรารักนาย เราต้องทิ้งหัวใจเราให้นายตลอดเวลา”
พันเอกสุวรรณ จินดา
ในวัยหนุ่มของ พันเอกสุวรรณ จินดา เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานในอาชีพทหาร แต่อย่างที่เรารู้ ณ ปลายยอดของภูเขาสูงย่อมมีพื้นที่น้อยกว่าบริเวณที่ราบ และข้อเท็จจริงนี้ก็ทำให้นายทหารหนุ่มอย่างเขาคิดว่า “ถ้าผมตาย ครอบครัวก็จะสบาย ผมคิดแบบนี้ เลยวิ่งเข้าไปหาความตาย หลายครั้งนะ ขอโทษทีนะ บางครั้งผมอยากจะกระโดดร่มแล้วให้มันตายไปเลย ไอ้ห่า…ตายๆ ไปให้จบ ตายในหน้าที่มันก็ได้ยศขึ้น ผมก็คิดว่าเราควรจะตายในหน้าที่ เพราะตอนนั้นมันไม่มีทางที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโต ผมไปเวียดนามผมก็อยากตาย ผมไปเกาหลีผมก็คิด”
เขาเกษียณจากราชการด้วยยศพันเอก ทุกวันนี้ พันเอกสุวรรณ จินดา ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปลูกต้นไม้ ทำสวน และอ่านหนังสือ เขาตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง และมีเป้าหมายในชีวิตคือการปลูกต้นไม้วันละ 10 ต้น “ถ้าวันนี้ไม่ได้ปลูก พรุ่งนี้ก็ปลูก 20 ต้น” เขาว่า “ขณะนี้ผมทำมาหากินได้ ผมเดินวันละ 5 กิโลเมตร คนรุ่นผมเดินไม่ได้แล้ว”
ในวัย 86 พันเอกสุวรรณ จินดา มีสุขภาพดี แข็งแรง พูดเสียงดังฟังชัด ไม่มีปัญหาการได้ยิน ยังคงเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยตัวเอง จนทำให้หลากใจและสงสัยว่าเขาไม่พบพานอุปสรรคของวัยชราเลยหรือ เขารีบแย้งผมว่า “ไม่ใช่สิ ผมอยู่ในวัยผู้สูงอายุ วัยชรามันทำอะไรไม่ได้ เราต้องอยู่อย่างมีคุณค่า”
ก่อนจากกัน พันเอกสุวรณ จินดา เล่าให้ฟังถึงจดหมายหลายฉบับที่ถูกส่งมาจากยมบาลให้ฟัง “ฉบับแรก-หัวหงอกแล้ว นี่ลูกย้อมดำให้เมื่อวันพ่อที่ผ่านมา ฉบับต่อมา-ฟันเริ่มผุ กินอาหารก็ลำบาก ใกล้จะตายแล้ว ผมยังเดินเหินได้ เดินได้วันหนึ่ง 5-6 กิโลเมตร แต่ข้างหน้าผมจะเป็นภาระให้แก่ลูกแก่เต้าหรือเปล่า ก็ไม่อยากให้เป็นภาระให้ลูกให้เต้า”
ภาพถ่ายของพันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม ในระหว่างสงครามเกาหลี
-3–
ในสมุดบันทึกของเด็กหนุ่มอายุ 21 ที่เดินทางไกลครั้งแรกในชีวิตด้วยการไปรบที่ประเทศเกาหลี ถูกเขียนด้วยลายมือเป็นระเบียบ หัวข้อของการบันทึกคือรายละเอียดแวดล้อมตัวประหนึ่งนิราศสงคราม มีตั้งแต่การเดินทางบนเรือ บรรยากาศของประเทศเกาหลี เมืองปูซาน การฝึกสอน สิ่งที่ได้พบเห็น การครองชีพ การจราจร การศึกษา การสุขาภิบาล การแต่งกาย การเลี้ยงเด็ก ค่ายพัก และสมรภูมิ บันทึกขาดหายไปเมื่อเขาเข้าสู่สนามรบ สมุดบันทึกบางเล่มของ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม มีคำคมและสุภาษิตของนักประพันธ์และนักปรัชญามากมาย
‘Coward die many time before their death. The valiant never taste of death but once.’ / ‘Marriage is not a destination, it is a journey.’ หรือสุภาษิตอิตาลีบทหนึ่งที่สะท้อนความนึกคิดของเจ้าของสมุดบันทึกที่ว่า ‘โลกย่อมหลีกทางให้แก่ทุกคน ซึ่งรู้ดีว่าเขาจะมุ่งไปทางใด’
อติญา อารยพงศ์ รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตาว่าเป็นประมุขของบ้าน เป็นต้นแบบความดีงาม และเป็นวีรบุรุษของครอบครัว เธอถ่ายทอดเรื่องเล่าของตาที่เคยได้ฟังมาว่า “คุณตาใจดีมาก คุณตาเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความพยายาม และคุณตาเป็นคนที่มีความฝัน ถึงได้ยินอย่างนั้นเราก็ไม่ได้คล้อยตามไปเสียทั้งหมด เพราะอะไรที่คนอื่นเขาเล่าๆ กันมา มันอาจถูกใส่สีตีไข่ต่อเติมเสริมแต่งมาบ้างตามที่เขาอยากจะให้เราเชื่อเหมือนพร็อพพาแกนดาทั่วไป”
สมุดบันทึกหลายสิบเล่มของ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม ถูกรื้อค้นออกมาหลังจากเสียชีวิตในปี 2528 ก่อนที่หลานสาวของเขาคนนี้จะเกิด 8 ปี และในวันหนึ่งของปี 2554 หลานสาวของเขาก็เริ่มเปิดหน้าแรกในสมุดบันทึก
‘ความหนาวเย็นประเดี๋ยวก็หาย แต่รอยด่างนี่ซิ ลบออกยากเหลือเกิน’ นี่คือสำนวนการเขียนบันทึกของ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม ระหว่างอ่านสมุดบันทึกของตา อติญาบอกว่า “ตื่นเต้นตามไปด้วย เวลารับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนั้น เหมือนคุณตาไม่ได้มองเหตุการณ์หนึ่งเฉยๆ แต่มองด้วยสายตาที่แหลมคมมากๆ เป็นตัวเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันจะได้ภาพแบบนั้นหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ”
เรื่องราวในสมุดบันทึกหลายสิบเล่มถูกเขียนด้วยชายหนุ่มอายุ 21 ในตอนนั้น พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม ยังไม่ได้แต่งงาน ยังคงเป็นเด็กหนุ่มชาวอ่างทองที่มีความทะเยอทะยานเรียนรู้ กว่า 50 ปีผ่านไป เด็กสาวอายุไล่เลี่ยกันนั่งอ่านเรื่องราวของเขา ทั้งสองเป็นตาหลานกัน
“ตอนอ่านครั้งแรก ไฟในตัวโหมมากเลย เหมือนอย่างที่คนเขาต้องสงสัยรากเหง้าของตัวเอง คนรุ่นก่อนๆ เขาทำอะไรมาบ้าง ฮึดได้ตลอดตั้งแต่เรื่องเล็กๆ คุณตาเป็นฮีโร่ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ได้มีความเพอร์เฟ็คต์ แต่ความไม่เพอร์เฟ็คต์นี่แหละที่ทำให้เรารู้ว่าเรื่องของคุณตาที่ทุกคนเล่าต่อกันมาเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่งที่มีเอาไว้หลอกเด็กให้กลายเป็นคนที่เชื่องและเชื่อตามคำสอนของคนในบ้าน”
ประวัติศาสตร์มักสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง สมุดบันทึกหลายสิบเล่มผ่านพ้นไป อติญาเริ่มสร้างเพจในเฟซบุ๊ค: ‘ทหารผ่านศึกเกาหลีแห่งประเทศไทย’ จุดหมายเบื้องต้นคือเปิดพื้นที่ให้ลูกหลานทหารผ่านศึกฟื้นความทรงจำ ฝากข้อมูล รูปถ่าย หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่
อติญา อารยพงศ์
1 ปีหลังจากนั้น อติญาได้รับข่าวสารจากประเทศเกาหลีว่ามีโครงการ Peace Camp for Youth เป็นโครงการเกี่ยวกับเยาวชน ประเทศเกาหลีจัดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ที่จะขอบคุณและแสดงความเป็นเกียรติแก่ลูกหลานทหารผ่านศึกเกาหลี ในตอนนั้นอติญาอายุ 21 เธอเดินทางไปประเทศเกาหลีโดยลำพังเป็นครั้งแรก ถ้าย้อนกลับไปในขวบวัยที่ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม เดินทางจากครอบครัวครั้งแรกไปรบที่เกาหลี เขามีอายุ 21 เท่ากันกับหลานสาวที่เดินทางไปยังสถานที่เดียวกัน แต่จุดมุ่งหมายของหลานสาวคือต่ออายุให้ความทรงจำของผู้เป็นตาได้มีเส้นทางทอดไปยังอนาคต
สมุดบันทึกของตาที่นอนอยู่ในบ้านมาหลายสิบยี่สิบปี ได้นำเด็กสาวคนหนึ่งเดินทางไกล โครงการ Korean War Veterans ของสหรัฐได้จัดทำโครงการให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ที่มีกิจกรรมทางศิลปะ งานวิชาการ หรือกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ที่เกี่ยวข้องกับทหารผ่านศึกเกาหลี และอติญาก็เสนอโปรเจ็คต์ในการเสาะค้นทหารผ่านศึกที่ยังมีชีวิต รวบรวมเรื่องราวพวกเขาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย
อุบลวรรณ อารยพงศ์ ผู้เป็นมารดาของอติญาสนับสนุนให้ลูกสาวทำกิจกรรม ปลายทางของกิจกรรมที่มีลูกสาวเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงได้พาเธอย้อนกลับไปในความทรงจำที่มีต่อพ่อ “เราพาลูกไปทำกิจกรรมเหล่านั้น มันเป็นเรื่องของพ่อเราไง มันเป็นข้อมูลที่เราเคยได้ฟัง คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่าคุณพ่อกำลังดื่มกาแฟ ลูกระเบิดตกลงถ้วยกาแฟ เราก็หัวเราะคิกคักสมัยเด็ก เราก็มาเล่าให้ลูกฟังต่อ เพราะฉะนั้นเวลาลูกไปทำอะไรเกี่ยวกับสงครามหรือทหารผ่านศึกเกาหลี เรามีความรู้สึกว่าเรากำลังหวนกลับไปสู่เรื่องราวของพ่อ ขณะที่ลูกของเรากำลังมองไปข้างหน้า ลูกก็ไปหยิบเอาข้อมูลเดิมมาผ่านกระบวนการเป็นสิ่งใหม่ สิ่งใหม่ที่เขาเห็นจะไม่มีประสบการณ์เดิมที่แม่เล่าแล้ว เป็นเรื่องใหม่ เกาหลีสมัยใหม่ คนเกาหลีร่วมสมัย เขาก็ต่อยอดและจัดการข้อมูลของเขาเอง”
ผมมีโอกาสได้พบกับ นิลสุทัศน์ สอาดเอี่ยม ภรรยาของ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม ผู้เป็นยายของอติญา เธอยังคงแข็งแรง พูดชัดและมีอารมณ์ขัน ผมถามว่าคู่ชีวิตของเธอเป็นคนโรแมนติกไหม คุณยายนิลสุทัศน์บอกว่า “ไม่ค่อยโรแมนติกหรอก เป็นชีวิตที่บุกบั่นฝ่าฟัน ฉะนั้นจะมาอะไรแบบนั้นไม่มีหรอก เขาจะต้องเป็นระเบียบ เวลาทำอะไรจะตรงเวลา เป็นชีวิตธรรมดา”
อติญาถามยายของเธอว่า “แล้วเวลาคุณตาไปต่างประเทศจะเขียนจดหมายมาถึงคุณยาย มีลงท้าย ‘ด้วยรัก’ อะไรแบบนั้นไหม”
“ก็มีบ้างนะ ด้วยรักและคิดถึง” เธอหัวเราะให้ความหลัง “สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ เดือนมกราคมทหารจะไปกินเลี้ยงกันที่สโมสร เมียนายทหารทั้งหมด เขากลับมาจากต่างประเทศก็จะมีแหวนมุก ตุ้มหูมุก สร้อยมุก อะไรแบบนี้มาเป็นชุดๆ เขาจะซื้อมาฝาก เขาโรแมนติกมั้ยล่ะ ทำแบบนี้ เรายังนึกว่าเออๆ คิดถึงเป็นเหมือนกันแฮะ”
“ฝันถึงคุณตาบ้างไหมครับ”
“แกจากไปตั้ง 30 กว่าปีแล้ว ไปเกิดแล้วมั้ง แกคงไม่อยู่แล้วล่ะ ตอนตายไปสักปีสองปี รู้สึกเขาจะยังไม่ไปไหน ที่รู้สึกว่าเขาอยู่เพราะมันมีกลิ่นยาที่เขาใช้มันจะฟุ้งในบ้านตลอด”
ตัวตนของ พันโทจำเนียร สอาดเอี่ยม จากเรื่องเล่าของภรรยาของเขาทำให้ผมมองเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่ใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา เขาใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ไปเลือกซื้อหนังสือที่สนามหลวง โดยมีภรรยานั่งรอ “ความรู้แกเยอะ เรียนด้วยตัวเอง เรียนจากแถวๆ สนามหลวง ไปซื้อหนังสือ แล้วเราก็ต้องไปกับเขา ตอนนั้นยังไม่มีลูก เราก็ไปกับเขา เขาก็จะไปเลือกหนังสือ ที่แบกะดิน ไปยืนเลือกยืนอ่านเราก็ไปนั่งรอ กว่าเขาจะเลือกได้ สมัยนั้นยังไม่มีหรอกนะร้านนายอินทร์ รอรถเมล์ยังท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ คุณคิดดูสิ”
ระหว่างรอไปศึกษาปริญญาโทที่ต่างประเทศ อติญากำลังฝึกงานในสายงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ สมุดบันทึกของตานำพาเธอเดินทางย้อนกลับไปในอดีต ขณะเดียวกันก็ส่งเธอไปยังอนาคต และแม้ความจริงทางธรรมชาติจะไม่อนุญาตให้แสงสามารถแผ่ออกมาจากขอบฟ้าเหตุการณ์เพื่อเดินทางมาถึงผู้สังเกตได้ แต่ อติญา อารยพงศ์ บอกว่า “ไม่ว่าสมุดบันทึกเหล่านั้นจะถูกเขียนด้วยวัตถุประสงค์อะไร อย่างน้อยคุณตาก็ได้สื่อสารมาหาเราด้วยสารที่อยู่ในบันทึก ถึงแม้เราจะไม่ได้ส่งสารกลับไป”
ต้นฉบับลายมือว่าด้วยความทรงจำในสงครามเกาหลีของพันเอกจรัส ธรรมแสง
-4-
ผมถาม พันเอกจรัส ธรรมแสง ถึงกิจวัตรในแต่ละเช้า เขาบอกว่า “หนึ่ง…หายใจ สอง…ลืมตา สาม…กวาดบ้าน สี่…เช็ดรถ ห้า…ซักผ้า อ่า…ออกกำลังด้วย เกือบลืม” ในวัย 90 พันเอกจรัสอยู่ในความดูแลของลูกสาว 2 คน พวกเธอทั้งสองยืนยันว่าพ่อยังคงมีความจำที่ดีมาก “ความจำเขาดี เขาจัดยาของเขาเองนะ”
พันเอกจรัสหยิบกล่องยาหลายกล่องขึ้นมาวางบนโต๊ะ พร้อมกับแจกแจงรายละเอียดของยาแต่ละกล่อง “ต่อมลูกหมาก กระดูก วิตามิน อะไรอีกล่ะ มัน 4-5 โรค น้ำตาเทียม ต้องหยอดตาเพราะตาแห้ง”
“พ่อเขาเป็นทหาร เขาเนี้ยบ” ลูกสาวของ พันเอกจรัส ธรรมแสง ว่า “เขาจะซักผ้าเอง เขาไม่ไว้ใจเครื่องซักผ้า” “ก็มันซักไม่ขาว” พันเอกจรัสให้เหตุผลพร้อมกับขยับเครื่องช่วยฟัง “เมื่อกี๊คุณถามว่าอะไรนะ อ๋อ…ผมตื่นตี 5 จะนอนต่อมันก็ไม่หลับ แต่ผมได้เปรียบอย่างหนึ่ง พอล้มหัวลงนอนก็หลับฟี้เลย ลูก 2 คนนี้คอยสนับสนุนเรื่องการกิน กินจนพุงกาง บังเอิญมันกินได้นอนหลับ แล้วก็ลืมอดีต…ไม่คิด คิดมากก็ป่วยการ แก้ไขไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว”
ในปี 2493 สิบโทจรัส ธรรมแสง เดินทางไปเกาหลีด้วยวัย 26 ในฐานะทหารเหล่าแพทย์ ทำหน้าที่รักษาพยาบาลทหารในสนามรบ ย้อนกลับไปในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้นำในสมัยนั้นมองเห็นว่าสงครามจะแพร่มายังประเทศไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงตั้งโครงการผลิตแพทย์ทหารขึ้นเพื่อรองรับสงคราม พันเอกจรัสจึงสมัครสอบคัดเลือก แต่ “ผมไม่ได้ชอบแพทย์ ผมชอบวิศวะ เตรียมตัวจะเข้าวิศวะจุฬาฯแล้ว แต่มันมีประกาศจากโรงเรียนแพทย์ทหารก่อน พ่อก็เลยเรียกกลับไปสมัครที่ต่างจังหวัด ก็เรียนมาได้ 3 ปีก็ออก แต่เขาไม่ให้ออกจากราชการทหารนะ”
“เหตุใดจึงเรียนแพทย์ไม่จบ?”
“สงวน…ขอสงวนสิทธิ์” เขายิ้มเปิดปากกว้าง แต่ไม่เห็นฟัน
ถามเขาว่าสมัยหนุ่ม จรัส ธรรมแสง เป็นคนหนุ่มแบบไหน เขาตอบว่า “มันก็เป็นหนุ่มอะไรล่ะ ชอบรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ตลอด สบายๆ พ่อแม่มีกะตังค์ มันก็เลยไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่” ภูมิลำเนาของเขาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น บิดารับเหมาก่อสร้าง บริการรถขนส่ง บ้านไผ่-ร้อยเอ็ด
สิบโทจรัส ธรรมแสง ใช้ชีวิตที่ประเทศเกาหลีระหว่างเดือนตุลาคม 2493 ถึง เดือนตุลาคม 2494 เมื่อถามถึงเรื่องนี้ เขาลุกขึ้นจากเก้าอี้โยก เดินไปหยิบแฟ้มเอกสารยื่นให้ผมดู “ผมอยากจะให้คุณอ่าน เป็นหนึ่งในหลายๆ บทบาท อ่านช้าๆ นะมันจึงจะได้ใจความ ผมตั้งใจทำไว้ในวาระสุดท้าย ใจเย็นๆ อ่านไปเรื่อยๆ”
กระดาษ A4 ที่มีรอยดินสอเขียนตัวบรรจง มีชื่อบทพาดหัวไว้ว่า ‘จ๊ะเอ๋ ไอ้หย๋า’ ผมถามเขาว่า “จ๊ะเอ๋ ไอ้หย๋าคือชื่อเรื่องเหรอครับ” เขาบอกว่า ‘จ๊ะเอ๋ ไอ้หย๋า’ เป็นบทที่ 1 ของเหตุการณ์ลาดตระเวนในสงครามเกาหลี “ไปจ๊ะเอ๋กับเกาหลีเหนือ พวกศัตรูนั่งอยู่ปากหลุม ไอ้เราไปจ๊ะเอ๋ ต่างคนต่างตกใจ แต่เราได้สติก่อน พวกเราตั้งปืนสาดกระสุนใส่ คุณลองอ่านดูเถอะ”
พันเอกจรัส ธรรมแสง
ผมกำลังอ่านร่างแรกของหนังสืออนุสรณ์งานศพของ พันเอกจรัส ธรรมแสง เจ้าตัวนั่งอยู่ในความสงบระหว่างที่ผมอ่าน “แล้วบทต่อจากนี้คือเรื่องราวไหนครับ”
เขาเล่าถึงบทที่ 2 ในหนังสืองานศพของตัวเองว่า “บทต่อมา ‘ไก่สามอย่าง’ ไก่สามอย่างคือเรื่องในเมืองเคซอง ผมอยากเขียนถึงคลื่นมนุษย์ที่หลั่งไหลจากเหนือลงใต้ อยากเขียนถึงเงินตราที่มันผันผวนในช่วงสงคราม ตอนนั้นทำให้ผมเป็นเศรษฐีชั่วคราว และไก่อย่างที่สามในบทนี้ แต่ก็ยังไม่รู้จะเขียนถึงดีรึเปล่านะ เพราะเป็นเรื่องของพวกตกเบ็ด ไอ้พวกไปหลอกต้มตุ๋นคนอพยพ ไอ้ห่าเอ้ย มึงจะมาตกเบ็ดคนที่ตกระกำลำบาก ยังจะมาแถมทุกข์ให้เขาอีก จะเขียนหรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะเป็นความไม่เหมาะสม”
แต่ละบทแต่ละตอนคืบเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ พันเอกจรัสใช้เวลาช่วงเช้าเขียนหนังสืองานศพของตัวเองเกือบทุกวัน “เขียนมา 2 ปีแล้ว ได้ประมาณ 4-5 หน้า เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนอยู่นั่นแหละ อ้าว คุณก็อ่านให้มันจบเสียทีสิ”
“ทุกวันนี้เป้าหมายชีวิตคืออะไร?”
“ก็รอวัน เท่านั้นเอง” เขาหัวเราะ “ผมคิดว่าผมจะอยู่ได้อีกประมาณ…ประมาณการณ์นะ ประมาณอีก 2 ปีเป็นอย่างสูง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มันมีสิ่งบอกเหตุอยู่ลึกๆ ในร่างกาย อาจจะเป็นมะเร็งที่ใดที่หนึ่งก็ไม่รู้ ส่วนเป้าหมายในการดำเนินชีวิตก็มีน้อยใช้น้อย ก็เท่านั้น”
2 ปีที่เขาคำนวณไว้ และ 2 ปีก่อนหน้าที่ใช้เวลาเขียนได้ 4-5 หน้า ผมถามเขาว่าทำไมต้องเขียนเรื่องนี้ เขาบอกว่า “ไม่มีอะไรอื่น คิดแล้วคิดอีก ให้สิ่งของเดี๋ยวก็หาย ผมรู้ว่าสงครามมันไม่ใช่เรื่องสนุก เหตุผลที่เขียนก็เพื่อไม่ให้มันหายไปเท่านั้นเอง เราก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ก็เขียนไว้ บันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังที่ผ่านพบได้ทราบเท่านั้นเอง ผมวางไว้ว่ามันจะหนาสัก 30 หน้าขึ้นไปโดยประมาณ ตอนนี้ได้ประมาณ 4 หน้า”
“ขออนุญาตถามนะครับ คุณตากลัววันนั้นมั้ย วันที่รออยู่”
“เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา จะกลัวอะไร กลัวจะไม่ได้เกิดรึอะไร” เขาหัวเราะ และเช่นเคยมองไม่เห็นฟัน ลูกสาวของพันเอกจรัสพูดขึ้นมาว่า “เพื่อนเขาไปกันหมดแล้ว” เขาหันไปหาลูกสาว เธอจึงพูดเสียงดังขึ้นว่า “บอกว่าเพื่อนไปกันหมดแล้ว”
เขาครุ่นคิด ก่อนจะพูดว่า “เวลานี้พรรคพวกเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ผมเป็นคนเปิดเผยนะ เมื่อก่อนไปไหนมาไหนก็โว้ยๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไปไหนก็ไม่มีใครรู้จัก แต่เราก็ต้องรับสภาพ เพราะเราอยู่เกินแกงแล้ว แก่เกินแกงแล้ว ตอนสุดท้ายผมมาคิดๆ ดู ผมเป็นคนทำให้ครอบครัวล่มจม คิดอยู่ทุกวันนี้ คือรับเหมาส่งหมู บ้านไผ่มันเมืองแล้ง ไม่มีน้ำ น้ำขอดคลอง หมูก็เป็นโรค ระหว่างเดินทางก็จอดรถเอาหมูตายออกขายขาดทุน หมดเนื้อหมดตัวเลย คิดอยู่ทุกวันนี้”
“แต่เมื่อกี๊บอกว่าลืมอดีตแล้ว ไม่คิดแล้ว?” ผมเย้าแหย่เขาเล่น
เขาหัวเราะขึ้นมาทันที “ก็คิดอยู่คนเดียว ผมผ่านมาจนอายุปูนนี้แล้ว จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ เราก็มีความสบายใจ ก็เท่านั้น แต่ข้อเสียก็คือไปไหนไม่มีคนรู้จัก ไม่ได้ทักทาย นิสัยเรามันเปิดเผย ชอบเพื่อนชอบฝูง เพื่อนไม่มีก็อยู่เหงาๆ หงอยๆ ตามประสาคนแก่ ก็เท่านั้น”
ผมร่ำลา พันเอกจรัส ธรรมแสง อวยพรให้เขาสุขภาพแข็งแรง และคิดว่าวันหนึ่งผมอยากจะมีโอกาสอ่านหนังสืออนุสรณ์เล่มนั้น วันหนึ่งเขาจะเขียนมันจนจบ ไม่ว่ามันจะอยู่ในหอสมุดแห่งชาติหรือร้านขายหนังสือมือสองรอสายตาของคนแปลกหน้าไปค้นพบก็ตาม.
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 81