คนไม่ปกติทางการแพทย์

ปัจจุบันในมุมด้านจิตเวช (psychiatry) ความผิดปกติทางจิตคืออาการป่วยภายในจิตใจ (mental disorder) ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่า ‘ป่วย’ จะอยู่ในภาวะเจ็บปวด (pain) และทุกข์ทรมาน (suffer) ภายในใจ โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการปรับตัวเข้ากับสังคม จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพราะพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้มีความผิดปกติทางจิตมักคาดเดาได้ยาก และควบคุมไม่ได้

การวินิจฉัยอาการป่วยทางจิตสามารถแบ่งได้เป็นประเภทหลักๆ ได้หลายวิธี แต่ที่ถือว่าเป็นระบบการจำแนกที่นิยมใช้กันคือคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐ (American Psychiatric Association) ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเรื่อยๆ โดยเวอร์ชั่นปัจจุบันคือการแก้ไขครั้งที่ 5 (DSM-5) เมื่อปี 2013

12 อาการป่วยทางจิต

จิตเภท (Schizophrenia)

ถือเป็นความผิดปกติทางจิตที่มีปัญหามากที่สุด บางคนอาจจะมีอาการนี้ตลอดชีวิต บางรายรักษาได้ บางรายสามารถใช้ความผิดปกติปรับตัวเข้ากับโลกปกติได้

โรคจิตเภทมักมีแรงขับมาจากความคิดที่ผิดเพี้ยน เห็นภาพหลอน ประสาทหลอน หูแว่ว มีอาการหลงผิด ซึ่งผลของอาการต่างๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหมดเรี่ยวแรง มีปัญหากับการเข้าสังคม ไร้ความรู้สึก ไม่มีความพอใจกับชีวิตและท้อแท้ เบื่อหน่าย ความเข้าใจผิดสำคัญเกี่ยวกับโรคจิตเภทคือ คนทั่วไปมักคิดว่าผู้ป่วยจิตเภททุกคนเป็นอันตราย ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่ จะเก็บตัว ขี้อาย มีความกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเองตลอดเวลา

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดคือ ผู้ป่วยจิตเภทไม่ได้มีสองบุคลิกกลับไปกลับมา เปลี่ยนร่างได้เหมือนในวรรณกรรม Jekyll and Hyde เพราะสิ่งที่สับเปลี่ยนไปมาและควบคุมไม่ได้ของผู้ป่วยจิตเภทนั้นอยู่ ‘ในหัว’ คือความคิด อารมณ์ และการรับรู้ที่ไม่เสถียร ซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเสมอไป

ประเภทของอาการป่วยด้วยโรคจิตเภทนั้นมีความซับซ้อน เพราะมีหลายอาการผสมผสาน ทั้งเห็นภาพหลอน หลงผิด ความคิดเพี้ยน ไม่สามารถสื่อสารได้ ไร้ความรู้สึก ซึมเศร้า มีความรู้ตัวต่ำ ไม่เข้าใจอาการป่วยของตัวเอง ความคิดกระจัดกระจาย เข้าสังคมไม่ได้ และไม่มีเหตุผลรองรับพฤติกรรมแปลกๆ รวมไปถึงการแสดงออก เช่น การแต่งกาย

ในการวิเคราะห์อาการจิตเภท มีการแบ่งประเภทย่อยๆ ได้เป็น

  • Catatonics Schizophrenics มีอาการแปลกๆ ปรากฏเป็นระยะๆ มาเป็นเวลานาน

  • Paranoid Schizophrenics จะมีอาการหลงผิดด้านการรับรู้ หวาดระแวงสิ่งรอบตัว เหมือนถูกรบกวนตลอดเวลา ภาวะจิตเภทที่ควบคุมไม่ได้ จะมีความคิดรุนแรง ใช้ภาษาก้าวร้าว มีการระเบิดอารมณ์ ซึ่งจิตแพทย์บางสำนักคิดจะแยกการแสดงอาการออกเป็น การแสดงเฉียบพลัน (acute) และอาการเรื้อรัง (chronic)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสรุปถึงได้ชัดว่าโรคจิตเภทนั้นควรแยกย่อยได้กี่ประเภท แต่ถ้าวัดกันที่อาการ ผู้ป่วยจิตเภทจะมีความผิดปกติด้านกระบวนการคิด (cognitive) การรับรู้ (perceptual) พฤติกรรม (moving) การแสดงอารมณ์ (emotional)

สาเหตุของอาการจิตเภทว่ากันว่ามีหลายรูปแบบ ตามการศึกษาทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดการเกิดโรคที่หลากหลาย ทั้งด้านพันธุกรรม ไวรัส ประสบการณ์ในวัยเด็กประสบการณ์ที่เป็นบาดแผลในใจ (trauma) ความเครียด การถูกทรมาน ความรู้สึกผิดบาป การทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมอง วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทำให้วิธีการรักษา

โรคจิตเภทมีหลายวิธีตามอาการ ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าโรคจิตเภทมักเป็นอาการที่พบมากใน ‘สังคมป่วยๆ’ (sick society) ในโลกสมัยใหม่ ที่มีความกดดันด้านเศรษฐกิจ อาชีพการงาน อัตราการหย่าร้างสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาสทางสังคมจะมีโอกาสเป็นจิตเภทมากกว่า

มีแนวคิดหนึ่งที่เป็นทฤษฎีย้อนแย้งว่า รูปแบบหนึ่งของอาการจิตเภทจะไม่เชื่อว่าอาการป่วยทางจิตนั้นมีอยู่จริง และไม่คิดว่าจิตเภท คือ ‘โรค’ หรือความผิดปกติเหมือนโรคทางกายอื่นๆ เพราะแนวคิดนี้เชื่อว่า อาการจิตเภทคือธรรมชาติที่คนผู้หนึ่งพึงเป็นได้ ผู้ป่วยที่เชื่อตามแนวคิดนี้จึงไม่คิดว่าตัวเองป่วย และมักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตถาร ก่อกวนผู้อื่นได้โดยไม่รู้สึกผิด

โรคประสาทหลอน (Hallucination)

ตามรากศัพท์ ความหมายของ ‘hallucination’ มาจากการสนธิกันของคำว่า ‘ความฝัน’ กับ ‘ความว้าวุ่น’ หรือจากคำละติน alucinary คือ อาการหลงอยู่ในภวังค์ความคิดของตนเอง โดยผู้มีอาการประสาทหลอนจะรับรู้บางอย่าง ทั้งภาพ กลิ่น เสียง ที่ ‘ไม่มีอยู่จริง’ ขณะที่ยังมีสติและความรู้ตัว เช่น การสนทนากับคนตาย รู้สึกว่ามีแมลงไต่ตามผิวหนัง หรือเห็นเทวดามาลอยอยู่ตรงหน้า ประสาทหลอนทางการรับรส กลิ่น สัมผัส ซึ่งมักเกิดขึ้นควบคู่กับผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท

  • เห็นภาพหลอน (Visual Hallucination)

อาการประสาทหลอนต่างจากการเห็นภาพลวง (illusion) และอาการหลงผิด (delusion) เพราะการเห็นภาพลวงตานั้นเป็นการเห็นภาพจริงๆ ด้วยความตั้งใจให้เข้าใจผิด เช่น มายากล หรือภาพลวงตา

ส่วนอาการหลงผิดคือ การเห็นภาพจริง ผ่านประสาทสัมผัสจริง แต่กลับรับรู้ไปอย่างผิดๆ อาการประสาทหลอนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ การใช้ยา ความบกพร่องของระบบประสาท และอาการป่วยทางจิตอื่นๆ

โรคในกลุ่มประสาทหลอนทางสายตาที่น่าสนใจ เช่น หลอนว่าเห็นทุกอย่างเป็นสีเดียวกันหมด (Chromatopsia) หลอนว่าเห็นผู้คนรอบข้างมีขนาดเล็ก (Lilliputian) หลอนว่าเห็นผู้คนรอบข้างเป็นยักษ์ (Brodingnagian) หลอนว่าเห็นสิ่งของมีขนาดเล็ก (Micropsia) หลอนว่าสิ่งของมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง (Macropsia) ตลอดจนการหลอนว่าเห็นการเคลื่อนที่ เห็นผี ปีศาจ หรือเทวดา

  • หูแว่ว (Auditory Hallucination)

บางครั้งเชื่อกันว่า ‘อาการหูแว่ว’ เป็นสัญญาณแรกๆ ที่เตือนว่า ‘ความบ้า’ หรืออาการป่วยทางจิตกำลังจะมาเยือน เช่น ถ้าอยู่ในภาวะเครียด หรืออดนอนหลายๆ วัน จะเริ่มมีเสียงแปลกๆ มากระซิบให้ได้ยิน การได้ยินเสียงที่ไม่มีใครได้ยินเป็นหนึ่งในอาการร่วมของโรคจิตเภท และหลังจากได้ยินเสียงดังกล่าว ผู้ป่วยมักมีความตึงเครียดเพิ่ม และจะมีสภาพจิตแย่ลงเรื่อยๆ จนยอมทำตามคำสั่งทุกอย่างของเสียงในหัว เรามักพบผู้มีอาการหูแว่วพูดคนเดียว หรือไม่ก็ตะโกนออกมาเฉยๆ โดยที่ไม่มีใครอยู่แถวนั้นแม้อาการประสาทหลอนจะถูกระบุว่าเป็น ‘โรค’ และเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบประสาท สมดุลทางเคมี และความเสียหายของสมอง

แต่โดยแนวคิดทางจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ (Freudians) มองว่า อาการประสาทหลอนคือการฉายภาพความต้องการของจิตใต้สำนึกที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ในภาวะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตสำนึกและความรู้ตัว

โรคหลงผิด (Delusion)

ถ้าเราเคยเห็นใครสักคนฟังเพลงอย่างมีความสุขท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ เห็นคนหลงในความสามารถของตัวเองว่าสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้อย่าง ‘ไม่เห็นจะยากตรงไหน’ หรือพรรคการเมืองที่หลงเชื่อว่าตัวเองจะได้คะแนนเสียงจากการส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้ง นั่นอาจเป็นตัวอย่างง่ายๆ ของการเข้าสู่ภาวะหลงผิด

การหลงผิดคือการมีคติความเชื่อผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแบบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง การหลงผิดนั้นอาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลหรือจาก

การชี้นำให้เกิดความเชื่อรวมหมู่ก็ได้

พื้นฐานของการหลงผิดมาจากการหลอกตัวเอง และมีศรัทธาหลงอยู่กับความเชื่ออย่างสนิทใจ โดยไม่ยอมรับแนวความคิดอื่นๆ และมองว่าการโต้แย้งความเชื่อของตนเองนั้นเป็นเรื่องผิดทั้งหมด เช่น การหลงงมงายในลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา การเมือง หรือกลุ่มก้อนทางสังคมบางรูปแบบ

อาการหลงผิดทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลนั้นมีตั้งแต่การรับกลิ่นผิด การรับรสผิด รับอุณหภูมิผิด การรับสัมผัสผิด พื้นฐานของการรับรู้ที่ผิดๆ จนเกิดเป็นการหลงผิดมาจากความพอใจ ไม่พอใจ อคติ ความชอบ และความเกลียด เป็นตัวตั้ง ทฤษฎีทางจิตวิทยา บางแขนงอาจบอกว่า เป็นผลงานการสร้างอีโก้ขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งพัฒนาไปถึงการรู้สึกว่าไฟมีความเย็น และสัมผัสความร้อนของน้ำแข็งได้

ผู้ป่วยด้วยโรคหลงผิดอาจไม่แสดงอาการมากนักในช่วงแรก และทำให้ยากในการตรวจพบ เพราะอาจสับสนกับอาการจิตเภทอย่างการเห็นภาพหลอน หรือหูแว่ว ไม่มีอาการป่วยทางด้านอารมณ์ ไม่ใช่พวกอุปทานว่าตัวเองป่วย (Hypochondria) ซึ่งเมื่อไม่พบอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยก็มักจะไม่รู้สึกว่าตัวเอง ‘ป่วย’ เพราะจากมุมมองของตัวเอง ไม่ได้มีอาการแปลกประหลาดไปจากบุคคลทั่วไป

อาการหลงผิดจะตรวจพบได้ง่ายเมื่อมีอาการของจิตเภทร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการแปลกๆ เช่น หลงผิดคิดว่าตัวเอง เป็นคนใหญ่คนโต (Grandeur Delusion) หลงผิดคิดว่าคนอื่นหลงรักตน (Self-accusatory Delusion) หลงผิดคิดว่าอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของร่างกายขาดหายไป (Nihilistic Delusion) ไปจนถึงหลงผิดว่าถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป หลงผิดว่าถูกฝังชิปติดตามตัว

โรคทางอารมณ์ (Mood Disorder)

โรคฮิตของบรรดาคนดัง ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง นักการเมือง หรือบรรดาผู้เผชิญความกดดันรอบด้าน อาจเกิดจากความเครียดสะสมเป็นเวลานานๆ พันธุกรรม หรือแม้แต่พฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ ทำให้สารเคมีที่ควบคุมอารมณ์ในสมองเสียสมดุล ซึ่งความผิดปกติด้านอารมณ์นี้อาจเกิดขึ้นมาเองเฉยๆ หรือได้รับการกระตุ้นด้วยเหตุการณ์บางอย่าง

อารมณ์เป็นอาหารทางใจของมนุษย์ เหมือนช็อกโกแลตที่ฉาบเคลือบ หลอกล่อให้เรากินเข้าไปโดยไม่รู้ว่าอะไรซ่อนอยู่ภายในบ้าง พอล เอ็คแมน บอกไว้ใน Emotional Revealed ว่า อารมณ์คือสิ่งที่มาแล้วก็ไป เหมือนขบวนรถไฟที่วิ่งผ่านมาแล้วก็ไป เพราะความรู้สึกจะเกิดขึ้นก่อนที่จิตสำนึกของเราจะรับรู้ และผลกระทบจากอารมณ์นั้นมีพลังเหมือนขบวนรถไฟ ซึ่งยากต่อการควบคุม เช่นกรณีก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

อารมณ์พื้นฐานจากการแบ่งของเอ็คแมนหกประการ โกรธขยะแขยง กลัว มีความสุข เสียใจ ประหลาดใจ พลังทางความคิดและอารมณ์นั้นมีผลกระทบและพลังงานมาก คนเราไม่สามารถจำภาพ และรีเพลย์ทุกอย่างในหัวได้เหมือนวิดีโอเทป แต่คนเราเลือกที่จะนำบางส่วนที่หลงเหลือมาตกแต่งด้วยความคิด อารมณ์ ประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอก จนความทรงจำนั้น ‘ถูกตกแต่ง’ เป็น ‘ความจริงที่อยากเชื่อ’ และ ‘ความจริงที่อยากจำ’ และพัฒนากลายเป็นแรงขับที่บิดเบือนแตกต่างกัน

รถไฟขบวนอารมณ์นั้นอาจถูกกระตุ้นด้วยระบบ trigger หรือมีลักษณะคล้ายไฟแฟลชที่ทำให้แสดงอาการทางอารมณ์แบบสุดขั้วออกมา ทั้งเฮฮาแบบขาขึ้น และจมปลักกับขาลง ซึ่งคนที่มีภาวะทางอารมณ์ปกติจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ แต่กับผู้ป่วย ความแรงของรถไฟบางขบวนนั้นมีพลังยากควบคุม

  • โรคซึมเศร้า

เป็นภาวะทางอารมณ์ที่เป็น ‘โรค’ อาการของโรคซึมเศร้า คือการตกอยู่ในภาวะความเศร้า ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง เบื่อหน่ายไม่มีความสุข นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง อ่อนเพลีย คิดทำร้ายตัวเองหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย จากสาเหตุเช่น การสูญเสีย ผิดหวัง มีเรื่องร้ายแรงกระทบจิตใจ อยู่ในภาวะตึงเครียดนานๆ

วิธีการรักษามีทั้งใช้ยาและจิตบำบัด (psycho therapy) เปลี่ยนพฤติกรรม หรือเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การรักษาภาวะซึมเศร้าอาจใช้เวลานานมาก ในบางรายอาจจะไม่หายขาดและวนเวียนเป็นๆ หายๆ จึงต้องมีการปรับสภาพจิตใจให้อยู่ร่วมกับภาวะทางอารมณ์ที่จมดิ่งอย่างถูกวิธี

  • โรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์)

นอกจากจะมีสภาวะซึมเศร้า ขั้นต่อไปของโรคความผิดปกติทางอารมณ์จะมีความซับซ้อนขึ้น เมื่อถูกแทรกด้วยความคึกคักผิดปกติ (mania) โรคไบโพลาร์ไม่ใช่อาการสองบุคลิกอย่างที่ใครบางคนเข้าใจผิด แต่เป็นการเดินทางสลับกันอย่างรวดเร็วของอารมณ์ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว

เปรียบสภาวะทางอารมณ์ของมนุษย์เป็นกราฟ อารมณ์ซึมเศร้าคือการดิ่งลงต่ำกว่าเส้น ‘ปกติ’ แต่เมื่อเป็นไบโพลาร์ กราฟดังกล่าวจะเป็นลักษณะฟันปลา มีขึ้นสุด ลงสุด สลับกันจนอีรุงตุงนัง ความอันตรายของไบโพลาร์คือ มีจุด ‘พีค’ เพิ่มขึ้นเป็น 2 จุดและมีระยะการเปลี่ยนผ่านของอารมณ์ที่น่ากลัว หากไม่รู้เท่าทันผู้ป่วยโรคฮิตนี้ก็อาจเกิดอุบัติเหตุแหกโค้งจนเสียชีวิตได้

อารมณ์คึกคัก หรือความรู้สึก ‘ขาขึ้น’ mania และ hypomania เป็นด้านตรงข้ามของภาวะซึมเศร้า โดยระหว่างที่ผู้ป่วยพ้นจากระยะจมจ่อมกับหยดน้ำตา อยู่ดีๆ ก็จะมีความรู้สึกเชื่อมั่นเพิ่มเข้ามา การนอนจะน้อยลง (เพราะคิดว่าการนอนไม่จำเป็น) คิดว่าตัวเองคือคนเก่ง ความคิดแล่นเร็ว เป็นเจ้าโปรเจ็คท์ มีความมั่นใจโดยไร้ที่มา อารมณ์ดีกว่าปกติ พูดมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจในสิ่งกระตุ้น

กล่าวกันว่า ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ในผู้ป่วยบางคนจะมีภาวะอยู่ในขาขึ้นกับขาลงไม่เท่ากัน บางคนจมอยู่กับขาลงมากกว่า แล้วมีอารมณ์คึกเป็นตัวแทรก ขณะที่บางคนจะลอยอยู่กับความคึกมากกว่า แล้วค่อยโดนฉุดด้วยอารมณ์เศร้าสุดขั้วเป็นพักๆ

ในกรณีของ โรบิน วิลเลียมส์ ดาราที่จบชีวิตตัวเองลง จิตแพทย์บางท่านให้ความเห็นว่าเขาเป็นไบโพลาร์ที่สูญเสียตัวเองไปกับภาวะซึมเศร้า โดยในนิตยสาร Time มีการอ้างถึงบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของเขาที่มีการพูดด้วย 36 สำเนียง

ค้อนของจิตแพทย์

จิตเวชเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์แผนใหม่ มีผู้ประกอบวิชาชีพจิตแพทย์เป็นผู้รักษาอาการป่วยทางจิตหลายๆ รูปแบบ ทั้งจ่ายยาผ่าตัด ตลอดจนช็อตไฟฟ้า

การนำนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เข้ามาใช้ประโยชน์ในการรักษาอาการทางด้านจิตใจ ในมิติการล้างสมอง ควบคุมความคิด แก้ไขปรับทัศนคติผู้คิดต่าง เป็นที่นิยมในสมัยยุครุ่งเรืองของนาซี และสหภาพโซเวียต โดยมีเหตุผลทางด้านการเมืองมารองรับมากกว่า

การรักษาอาการป่วยไข้เมื่อจิตแพทย์ถูกใช้ในฐานะ ‘มือไม้’ ของ ‘อำนาจ’ ไม่ต่างจากผู้พิพากษาที่สามารถระบุได้ว่าใครป่วย ใครปกติ ใครไม่ปกติ ตามแนวทางความคิดทางการเมืองกระแสหลักของรัฐ จึงทำให้มี กลุ่มต่อต้านจิตเวช (anti-psychiatry) ขึ้นมา โดยโยนคำถามสามข้อเข้าสู่เวทีพิพากษาทางจิต คือ ความบ้าในความหมายทางการแพทย์คืออะไร การมีอยู่ของอาการป่วยทางจิต และอำนาจของจิตแพทย์ที่จะตัดสินว่าผู้ใดควรต้องได้รับการรักษา

จากจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1950 หลังความขัดแย้งของสองสำนักคิดในวงการจิตวิทยา คือ จิตแพทย์สำนักจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ และจิตแพทย์ที่นิยมการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนี้มีจุดแตกต่างอยู่ที่การวิเคราะห์และการรักษา

ผู้มาก่อนที่เคยสร้างอิทธิพลมายาวนานตามแนวคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ถูกท้าทายโดยคลื่นลูกหลังว่า วิธีการพูดคุย ทำจิตบำบัดนั้นคร่ำครึ ไม่ได้ผลในการรักษา ที่สำคัญคือ ‘ไม่เป็นวิทยาศาสตร์’ กลุ่มแพทย์สมัยใหม่จึงเลือกใช้วิธีรักษาผู้ป่วยทางจิตด้วยการให้ยาและการผ่าตัด ซึ่งเห็นผลชัดเจนกว่าในยุคนั้น

แนวคิดนี้ต่อยอดมาจากกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐในยุคเผด็จการเรืองอำนาจลัทธิอนาธิปไตย (anarchist) ขึ้นสู่กระแสสูง ในทศวรรษที่ 1960 พวกเขามองว่ากระบวนการทางจิตเวชนั้นคือการทำลายจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

ที่น่าสนใจคือ คำวิจารณ์เรื่องต่อต้านจิตเวชส่วนใหญ่มาจากจิตแพทย์ด้วยกันเอง รวมถึงสองนักปรัชญาอย่าง เออร์วิง กอฟฟ์แมน และ มิเชล ฟูโกต์ ที่มองจิตเวชในมุมสังคมว่า จิตแพทย์ไม่ควรมีอำนาจทางตรงในการตีตราว่าใครเป็นคน ‘ผิดปกติ’ และต้องผ่านกระบวนการการทำให้เป็น ‘คนปกติ’ กลุ่มกิจกรรมต่อต้านจิตแพทย์ในยุคนั้นจะต่อต้านการบำบัดโรคจิตเภทและความผิดปกติทางเพศ พวกเขาบอกว่ามันเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ควรถูกการแพทย์เข้าแทรกแซง

ในปี 1975 เมื่อนวนิยายของ เคน คีซีย์ One Flew Over the Cuckoo’s Nest ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ กระแสการมองจิตแพทย์และสถานบำบัดทางจิตก็ถูกมองด้วยแง่ลบอีกครั้ง ภาพของโรงพยาบาลบ้า เปลี่ยนคนเป็นหุ่นยนต์ ภาพของโรงฆ่าสัตว์มนุษย์ เครื่องช็อตไฟฟ้า การผ่าสมอง ที่มีอาการข้างเคียงแบบถาวร กลายเป็นภาพติดตาใครหลายคนทำให้กระแสการรักษาด้านจิตเวชถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่อง ‘อำนาจ’ ในการระบุคนป่วย ตลอดจนมีทฤษฎีหนึ่งของกลุ่มต่อต้านแนวคิดจิตเวชมุ่งเป้าไปที่บรรดาบริษัทยา ว่าอาจมีการบิดเบือนข้อมูลทางการแพทย์ ทำให้อาการปกติเป็นการป่วย ทำให้ยาของพวกเขาขายได้

อย่างไรก็ตาม ผู้มีแนวคิดต่อต้านจิตเวชไม่ได้ต้องการทำลายสาขาวิชาแพทย์นี้ลงไป แต่พวกเขาพยายามส่งเสียงบอกว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือสิทธิและเสรีภาพของคนไข้มากกว่า

โรงพยาบาลจิตเวช

มีการเปิดโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิต (Lunatic Asylum) สำหรับกักบริเวณผู้มีปัญหาทางจิต วิกลจริต มีพฤติกรรมเป็นภัยสังคม ในปี 1632 คือ โรงพยาบาลเบธเลม (Bethlem Royal Hospital) ในลอนดอน และในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ได้มีโรงพยาบาลในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลเบเธล (Bethel) ในนอริชเมื่อปี 1713 และยังมีโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสาธารณะอีกหลายแห่ง ทั้ง โรงพยาบาลเซนต์ลุคส์ (St.Luke’s Hospital) ในลอนดอน รวมถึงอีกหลายๆ เมืองของอังกฤษ ไปจนถึงบางส่วนของอเมริกาที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่เพนซิลเวเนียเมื่อปี 1751

รวมถึงมีการเปิดสถาบันทางจิตเวชที่เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่รัฐเวอร์จิเนียคือโรงพยาบาลอีสเทิร์นสเตท (Eastern State Hospital) ในปี 1768 ภายใต้ชื่อว่า ‘สถานพยาบาลสาธารณะสำหรับผู้ป่วยทางจิตและมีสภาพจิตไม่ปกติ’


หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร WAY ฉบับที่ 77 กันยายน 2014

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า