นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (Environment Agency Austria) พบไมโครพลาสติก 20 อนุภาค ในอุจจาระทุกๆ 10 กรัมของผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 6 คน
ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้ง 6 ต่างมีไลฟ์สไตล์ข้องแวะกับพลาสติก เช่น บริโภคอาหารที่ห่อด้วยพลาสติก ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก บริโภคปลาทะเล
ไมโครพลาสติกอยู่ใกล้ตัวเราอย่างแนบชิด ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เม็ดบีดส์’ ที่มักเป็นส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลร่างกายกว่า 10 ประเภท อาทิ ยาสีฟัน ครีม/โฟมล้างหน้า โลชั่น ครีมอาบน้ำ ฯลฯ
ด้วยขนาดที่เล็กเทียบเท่าเม็ดทรายของไมโครบีดส์ ทำให้มันเป็นปัญหา เพราะสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองทุกชนิดของโรงงานบำบัดน้ำเสีย รวมถึงท่อน้ำทิ้งภายในบ้านเรือนของเราลงสู่แหล่งน้ำได้
ทำให้ทะเลและมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งสะสมสารพิษปริมาณมหาศาล เมื่อสัตว์น้ำในทะเล เช่น ปลา หอย และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินไมโครพลาสติกเข้าไป ก่อนที่จะกินกันเป็นทอดๆ อันตรายของเม็ดไมโครพลาสติกจึงสามารถกระจายตัวไปตามลำดับของห่วงโซ่อาหาร และในที่สุดก็จะย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย
ล่าสุด สภายุโรปมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับร่างกฎหมายห้ามการใช้พลาสติกประเภท ‘ใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ อย่างเช่น หลอด ช้อนส้อมพลาสติก คอตตอนบัต ก้านลูกโป่ง ฯลฯ โดยมีเป้าหมายบังคับใช้ภายในปี 2021
ขณะที่ประเทศแคนาดาประกาศห้ามใช้ไมโครพลาสติกประเภทไมโครบีดส์เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายมาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์แล้ว
ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมเม็ดพลาสติกจิ๋วจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ในวันที่พวกมันกำลังเดินทางออกจากท่อน้ำทิ้งในบ้านของเราลงสู่มหาสมุทร ก่อนที่จะย้อนกลับมาหาเราอีกครั้ง
และนักวิจัยพบพวกมันในอุจจาระของมนุษย์
สนับสนุนโดย