“หากเทียบช่วงก่อนและหลังการระบาดของโควิด เฉพาะช่วงเดือนตุลาคม 2565 พบแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึงประมาณ 160,000 คน จากแรงงานข้ามชาติที่ขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมากถึง 1,876,945 คน ของจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 2,438,794 คน”
อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ขึ้นกล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง ‘เช็กคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด’ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day 2022) ในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี โดยเขาเริ่มต้นจากสถานการณ์และผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากหลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ
อดิศรมองว่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายเปิดให้ขึ้นทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบถึง 4 ครั้ง และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ ออกไปอีกมากกว่า 10 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล้มเหลว ล่าช้า เปิดช่องแสวงหาประโยชน์ เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้
“ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติทางระบบออนไลน์ ให้ดำเนินการภายใน 15 วัน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติขั้นตอนการขอเข้าใช้ระบบของนายจ้างและขั้นตอนการอนุมัติบัญชีรายชื่อถึง 2 ครั้ง จากกรมการจัดหางานในส่วนกลางเท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า และพบว่านายจ้างจำนวนมากต้องรอการอนุมัติการเข้าใช้ระบบเพื่อขอยื่นบัญชีรายชื่อถึง 5 วัน ระบบยุ่งยากสับสนส่งผลให้ต้องใช้นายหน้า ที่ต้องเสียค่าดำเนินการตั้งแต่ 12,000-18,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ควรจะเป็นจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาทเท่านั้น”
พบแรงงานข้ามชาติเสี่ยงหลุดระบบร่วมล้านคน
จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 700,000 คน ที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางหมดอายุ และตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางได้เนื่องจากปิดชายแดน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ
ขณะเดียวกัน มาตรการจัดทำหนังสือเดินทางของประเทศต้นทางในประเทศไทยทั้งโดยศูนย์ดำเนินการที่ตั้งขึ้นและสถานทูตประจำประเทศไทยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันตามกรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี คือภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่าแรงงานข้ามชาติมากกว่า 700,000 คนจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้ทัน
แม้รัฐบาลจะมีมาตรการทางกฎหมายในแง่การคัดครองผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการดำเนินการ ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้าเมืองอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และหลายครั้งที่รัฐบาลใช้มาตรการผลักดันส่งกลับซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้อพยพ ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน การขาดมาตรการรองรับส่งผลให้ผู้อพยพจำนวนมาก ต้องลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างมีความเสี่ยงทั้งต่อชีวิตและต่อการค้ามนุษย์ข้ามชาติ รวมทั้งกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
จัดเรตติ้งรัฐไทย ถอยหลังและสอบตก
หากประเมินการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพโยกย้ายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การดำเนินการของรัฐบาลไทยนั้นถอยหลังและสอบตก และนำไปสู่ 4 ปัญหาสำคัญ คือ
- แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดจากระบบ
- พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น
- รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
- มาตรการการจัดการยังส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชันและเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาประโยชน์ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ
จากปัญหาข้างต้น วงเสวนาจึงได้สรุปข้อเสนอสำคัญสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพของรัฐบาลไทย ดังนี้
- ทบทวนแนวทางและระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนและขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปตามเงื่อนไขข้อจำกัด
- จัดระบบการดำเนินการที่ง่ายและเอื้อต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ
- มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันการหลุดจากระบบของแรงงานข้ามชาติ เช่น มีมาตราการผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานนำเข้าตาม MOU โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมียนมาที่ครบวาระการจ้างงานตามกฎหมาย ยังสามารถทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจะเอื้อต่อการดำเนินมากขึ้น
- เร่งรัดการจัดระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำระบบรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ที่แสวงหาประโยชน์จากข้อจำกัดของนโยบาย
- จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการผู้อพยพเพื่อการบริหารจัดการระยะยาว
ขึ้นทะเบียนล่าช้า ทำแรงงานนอนคุก
แฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ภาครัฐดำเนินการล่าช้า โดยล่าสุดมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินการที่ล่าช้าทำให้แรงงานถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อนำแรงงานไปขอขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเอกสารติดตัวเป็นสำเนาใบขอขึ้นทะเบียน สำเนาใบเสร็จ เป็นต้น แต่เอกสารเหล่านี้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้
“เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่รับฟัง หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องเอกสารหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เขาไม่รู้ว่าเอกสารแต่ละประเภทคืออะไร ต้องดูอย่างไร จะขอดูเพียงพาสปอร์ตตัวจริงเท่านั้น เมื่อไม่มีพาสปอร์ตมาแสดงก็ถูกจับเข้าไปนอนในคุก สุดท้ายต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมายืนยันให้จึงถูกปล่อยตัวออกมา ถือว่าเป็นการติดคุกฟรี ดังนั้นหากจะให้จัดเรตติ้งให้กระทรวงแรงงานถือว่าเรตติ้งทำงานตกขอบและยังช้าอยู่
“ข้อเสนอแนะของเราคือ ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงาน กระทรวงแรงงานกับตำรวจต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้สื่อสาร และประสานงานกันให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น”
กระทรวงแรงงานไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงาน
ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการขึ้นทะเบียนของกระทรวงแรงงานไม่ชัดเจน มีเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตนจึงพาคนงานไปยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าปัญหาการขึ้นทะเบียนและเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานดูแลไม่ให้มีการเรียกรับเงิน แต่กลับถูกกระทรวงแรงงานไปแจ้งความกล่าวหาว่าตนเองให้ที่พัก ซ่อนเร้นคนต่างด้าว สุดท้ายตำรวจอ้างว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานจึงแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการที่ตนถูกภาครัฐฟ้องหลังออกมาเรียกร้องในประเด็นสิทธิแรงงานนั้น เป็นเพราะความไร้น้ำยาในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นการรู้ไม่จริง แต่ทำเป็นเก่ง พยายามออกมติ ครม. ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำให้จบได้ เนื่องจากไม่มีกลไก one stop service ไม่อำนวยความสะดวกในการให้แรงงานต่อเอกสารหรือใบอนุญาตทำงาน จึงทำให้เป็นภาระของแรงงาน และสุดท้ายจึงเป็นช่องทางหากินของนายหน้า
“ส่วนการให้เรตติ้งการทำงานของกระทรวงแรงงานนั้น มองว่าถอยหลัง และยังตกขอบด้วย ไม่ใช่ถอยหลังธรรมดา เพราะว่ากระบวนการจัดการที่มีปัญหา ยิ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็ยิ่งมีแนวคิดในเรื่องชาตินิยม มีทัศนคติที่ไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่างคดีของตนที่ไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนี้ พวกเราที่เป็นนักปกป้องสิทธิแรงงาน หรือผู้นำแรงงานที่เรียกร้องในประเด็นแรงงานข้ามชาติ เราไปเรียกร้อง ไปยื่นหนังสือ แล้วติดคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 ซึ่งกระทรวงแรงงานควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในไทยด้วย” ธนพร กล่าว