รัฐมิสซิสซิปปีเปลี่ยนธงแห่งรัฐที่มีสัญลักษณ์สนับสนุนการมีทาส

สภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐมิสซิสซิปปีลงมติให้เปลี่ยนธงแห่งรัฐซึ่งมีสัญลักษณ์ของฝ่ายสมาพันธ์ ที่ถูกตราหน้าตลอดมาว่าส่อแสดงถึงแนวคิดสนับสนุนแบ่งแยกชนชั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 126 ปี โดยมีแรงหนุนจากกระแสต่อต้านการเหยียดผิวอันเนื่องมาจากกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ที่สิ้นชีพโดยการกระทำอย่างร้ายกาจของตำรวจ

มิสซิสซิปปีคือมลรัฐสุดท้ายในสหรัฐอเมริกาที่มีธงแห่งรัฐประกอบด้วยภาพสัญลักษณ์ พื้นสีแดง บรรจุแถบกากบาทไขว้ ‘X’ สีน้ำเงิน พร้อมกับดาวสีขาว 13 ดวง หลังจากที่มลรัฐจอร์เจียลงมติให้ลบสัญลักษณ์คล้ายกันออกจากธงของรัฐเมื่อปี 2003

ดาวสีขาว 13 ดวง หมายถึงจำนวนรัฐฝ่ายใต้ (Confederate หรือฝ่ายสมาพันธ์) ที่เคยเข้าสู้รบในสงครามกลางเมืองสหรัฐกับรัฐฝ่ายเหนือ (Union หรือ ฝ่ายสหภาพ) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปลดปล่อยทาสผิวดำจึงต้องการแยกตัวออกจากสหภาพ

ร่างรัฐบัญญัติเพื่อลบล้างสัญลักษณ์ได้รับความเห็นชอบผ่านตลอดทั้งสภาล่างและวุฒิสภาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และสมาชิกสภานิติบัญญัติลงมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อออกแบบธงผืนใหม่อีกด้วยเสียงเชียร์ที่ดังขึ้นในหน่วยงานของรัฐหลายแห่งหลังจากที่วุฒิสภาลงมติ ผู้ติดตามบางคนถึงกับร้องไห้ สมาชิกสภานิติบัญญัติโผเข้าสวมกอดกัน เพื่อนร่วมงานกอดกันด้วยความดีใจจำนวนมาก แม้บางคนเคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามของประเด็นปัญหาที่ได้แบ่งแยกผู้คนในมลรัฐที่ผูกพันอยู่กับประเพณีเดิมมายาวนาน

ผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปี เทต รีฟส์ (Tate Reeves) กล่าวว่า เขาจะลงนามในกฎหมายอย่างแน่นอนถ้ามันผ่านตลอดออกจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ

เท่าที่ผ่านมายาวนาน รีฟส์เคยออกมาต่อต้านเสียงเรียกร้องที่จะปลดสัญลักษณ์ของกองทัพฝ่ายสมาพันธ์ ให้ออกไปจากธงประจำรัฐ แต่ด้วยกระแสและสถานการณ์ในปัจจุบันอาจเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้เขายอมผ่อนคลายจากจุดยืนดั้งเดิม

สัญลักษณ์ดังกล่าวของฝ่ายสมาพันธ์คือเครื่องหมายที่ถูกใช้โดยทหารฝ่ายใต้ตลอดช่วงสงครามกลางเมืองอเมริการะหว่างปี 1861-1865 และหลายคนยังคงถือว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของมรดกทาสของประเทศ บรรดากลุ่มคนที่นิยม ‘ความยิ่งใหญ่ของชนผิวขาว’ (white supremacists) ร่วมกับพวกหัวรุนแรงในวิถีแนวคิดเหยียดชนชั้น แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ธงและสัญลักษณ์ดังกล่าวของทหารสมาพันธ์ในการชุมนุมและประท้วง หรือก่อความวุ่นวาย แทบทุกครั้ง เป็นที่เห็นกันชินตา

กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งชาวผิวขาวในสภาแห่งรัฐมิสซิสซิปปีลงมติตัดสินใจให้ใช้ธงแห่งรัฐผืนนี้เมื่อปี 1894 โดยเป็นการโต้ตอบการใช้อำนาจทางการเมืองที่ชาวแอฟริกันอเมริกันได้รับสิทธิมากขึ้นเมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง

ธงแห่งรัฐดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในสังคมมาตลอดหลายชั่วอายุคน ไม่มีมหาวิทยาลัยสาธารณะของรัฐแห่งไหนแสดงธงนี้เป็นทางการ ขณะที่เขตเมืองและเขตมณฑลที่ล้มเลิกการชักธงหรือประดับประดาด้วยธงประจำรัฐก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

บรรดาผู้สนับสนุนธงนี้ก็ได้ต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแบบธงมานานหลายทศวรรษ พวกนี้บอกว่ามันเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2001 ประชาชนในรัฐโหวตอย่างท่วมท้นเพื่อให้คงไว้ซึ่งธงแบบปัจจุบัน

กระแสการเปลี่ยนแปลงเพิ่มระดับขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และยังมีตัวเร่งเกิดขึ้นระหว่างหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมทางเชื้อชาติที่แพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา รวมถึงมิสซิสซิปปี หลังจากการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ โดยน้ำมือตำรวจในมลรัฐมินนิโซตา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม

บรรดาผู้นำจากภาคธุรกิจ ศาสนา การศึกษา และการกีฬา ได้พร่ำส่งเสียงอย่างแข็งขันต่อต้านธงแห่งรัฐ พลางเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติช่วยกันลงคะแนนเสียงยกเลิกธงที่ได้ใช้มาแล้ว 126 ปี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มผู้คนของมลรัฐที่มีประชากรผิวดำถึงร้อยละ 38

ตามมติที่ออกมาโดยรัฐสภาแห่งรัฐมิสซิสซิปปีกำหนดให้นำสัญลักษณ์ที่แสดงรูปธงฝ่ายสมาพันธ์ออกไปทันทีจากธงประจำรัฐ และให้ออกแบบธงประจำรัฐขึ้นใหม่โดยไม่ให้ปรากฏสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับสมาพันธ์ฝ่ายใต้ และจะนำคำว่า ‘In God We Trust’ หรือ ‘เราศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า’ มาใส่ไว้แทน

มีการกำหนดไว้ว่าแบบของธงผืนใหม่จะบรรจุอยู่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปในสหรัฐอเมริกาปลายปีนี้ หากแบบของธงใหม่ที่เสนอมาไม่ได้รับการยอมรับ คณะกรรมการที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ออกแบบก็จะต้องดำเนินกระบวนการออกแบบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

 

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า