#ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง
#ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การชุมนุมวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เกิดขึ้นภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จุดประสงค์ของการนัดชุมนุมครั้งนี้ คือการยืนยันข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทุกองคาพยพอันเป็นอุปสรรคขัดขวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จุดนัดหมายอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 15.00 น. เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนต่อไปยังสนามหลวง แต่เมื่อถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ชุมนุมต้องเปลี่ยนจุดหมายไปยังสี่แยกปทุมวัน เพื่อเคลื่อนขบวนต่อไปยังสถานทูตเยอรมนี
เวลาประมาณ 17.10 น. ขณะเคลื่อนขบวน เกิดเหตุปะทะขึ้นที่บริเวณประตูด้านหน้าสถาบันนิติเวช โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุมในระยะประชิด ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บรุนแรงอย่างน้อย 2 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ชุมนุมเดินหน้าต่อไปยังสถานทูตเยอรมนี แกนนำได้อ่านแถลงการณ์ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย – Coalition of Salaya for Democracy’ เปิดเผยว่า ตัวแทนจากสถานทูตได้ส่งความห่วงใยมายังผู้ชุมนุม เนื้อความโดยสรุป ดังนี้
“เป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุม เรื่องแถลงการณ์วันนี้จะส่งตรงถึงมือเอกอัครราชทูตประจำสถานทูตเยอรมนีคืนนี้ และเพิ่งได้รู้เรื่องที่มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บจากการเข้าร่วมการชุมนุม และจะส่งเรื่องนี้ให้เอกอัครราชทูตประจำสถานทูตเยอรมนีภายในคืนนี้โดยเร็วที่สุด และจะติดตามการชุมนุมในประเทศไทย
“ทางตัวแทนผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งสถานทูตไปแล้วว่า วันที่มีรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR ออกมา ก็มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ส่งเรื่องต่อไป เพราะไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับประเทศที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย”
จากนั้นแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 19.30 น.