จ่าหน้าซองถึงพระราชา
การชุมนุมในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ มีจุดประสงค์เพื่อส่ง ‘ราษฎรสาส์น’ ถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง โดยเชิญชวนให้ประชาชนเขียนจดหมายโดยมีเนื้อหาใจความว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์ควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับครรลองของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’
บรรยากาศการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ชุมนุมทั้งกลุ่ม ‘ราษฎร’ และ ‘ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน’ เริ่มรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่ บช.น. เตรียมกำลังตำรวจกว่า 9,000 นาย ควบคุมสถานการณ์
ความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ มีการเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ อาทิ อานนท์ นำภา, วิจักขณ์ พานิช ซึ่งมีเนื้อหาบอกกล่าวถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่เฟซบุ๊คของ วรงค์ เดชกิจวิกรม ชวนให้ประชาชนโพสต์ข้อความให้กำลังใจในหลวงและติดแฮชแท็ก #ประชาสาส์น
ซองจดหมายเดินทางสู่สำนักพระราชวัง
ราษฎรเริ่มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อยื่น #ราษฎรสาส์น ถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
สาระสำคัญของ ‘ราษฎรสาส์น’ คือ 1.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่ง 2.แก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนมาบริเวณสนามหลวง เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเพื่อสลายฝูงชน ผู้ชุมนุมตั้งแถวอย่างเป็นระบบ ช่วยกันลำเลียงสิ่งของ เช่น ร่ม แว่นตา และหมวกนิรภัยไปยังแนวหน้า
เวลา 18.45 ราษฎรยังคงปักหลักเพื่อเดินไปข้างหน้า
หลังจากเจรจาอยู่นาน เจ้าหน้าที่ได้ประกาศขอโทษถึงเหตุการณ์ฉีดน้ำแรงดันสูงเมื่อครู่ แต่ผู้ชุมนุมโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ด้วยดี กระทั่งสามารถเปิดทาง รถเมล์ถูกเข็นออกพ้นทางเช่นเดียวกับรั้วลวดหนาม
แม้สถานการณ์ด้านหน้าในแนวประชิดพระบรมมหาราชวังจะค่อนข้างตึงเครียด แต่ในอีกด้านหนึ่งของขบวนก็มีความสนุกสนานผ่อนคลายหลากหลายแนว ทั้งโฟล์คซอง คณะราษแดนซ์ ดนตรีอีสาน ราษฎรเซิ้ง ฯลฯ
ผู้ชุมนุมนำตู้ไปรษณีย์ที่นำมาไปวางอยู่ใกล้หน้าสำนักพระราชวัง ขณะที่ประชาชนต่างเขียนจดหมายลงกระดาษเปล่าเพื่อเตรียมส่งให้ในหลวง
หลังจากอ่านแถลงการณ์ ‘จากราษฎรผู้มีมลทินมัวหมอง’ จบ ผู้ชุมนุมทยอยนำจดหมายไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ ก่อนจะยุติการชุมนุม