เจอ จ่าย (ไม่) จบ: ที่มา-ที่ไปของเงินบริจาคในวงการสงฆ์

จากประเด็นร้อนแรงเมื่อคลิปเสียงและแชทหลุดที่ส่อให้เห็นว่า หลวงพี่กาโตะ พระนักเทศน์ชื่อดังจากภาคใต้ มีความสัมพันธ์กับสีการายหนึ่งอย่างลึกซึ้ง จนเป็นเหตุให้พระหนุ่มรูปดังกล่าวต้องลาสิกขา

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 อดีตพระกาโตะให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ในรายการ ‘โหนกระแส’ ยอมรับว่าเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่อ้างว่าถูกฝ่ายหญิง ‘ยั่ว เย้า ยวน’ พระหนุ่มด้อยพรรษาอย่างเขาจึงตบะแตก เผลอใจนั่งรถไปดูเขื่อนกับสีกาในเวลา 4 ทุ่ม จนเลยเถิดถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์

อดีตพระยังสารภาพต่อไปว่า เมื่อเรื่องแดงขึ้นมา เขาได้เสนอเงินแก่สีกา 300,000 บาท และจ่ายเงินนักข่าวท้องถิ่นอีก 300,000 บาท เพื่อไม่ให้ขุดคุ้ยข่าวต่อ รวมเป็นเงินมากถึง 600,000 บาท จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า พระบวชใหม่มีเงินหลักแสนหลักล้านได้อย่างไร

เรื่องราววุ่นๆ ของอดีตพระที่ถูกพบว่าทำผิดพระวินัยร้ายแรง แล้วพยายามจ่ายเงินเพื่อปิดข่าว แต่เรื่องกลับไม่จบ ชวนให้เรากลับมาพิจารณาประเด็นปัญหาเรื่องพระสงฆ์กับเงินทองกันอีกครั้ง

พระสงฆ์กับเรื่องเงินๆ ทองๆ

“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”

แม้มีข้อห้ามอย่างชัดเจนในพระธรรมวินัยไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง แต่การละเมิดข้อห้ามนั้นเป็นเพียง ‘อาบัติปาจิตตีย์’ ซึ่งถือเป็นอาบัติสถานเบา สามารถปลงได้ นอกจากนี้ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาเงินตราในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตในอารามของพระสงฆ์ 

จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2555 พบว่ามีเงินหมุนเวียนในวัด 1-1.2 แสนล้านบาท โดยวัดทั่วประเทศกว่า 40,000 วัด เฉลี่ยแล้วแต่ละวัดมีรายได้ 3.2 ล้านบาท มีรายจ่าย 2.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วัดส่วนใหญ่ไม่มีโครงสร้างบริหารเงินเป็นระบบ ไม่มีมาตรฐานในการทำบัญชี ตรวจบัญชีไม่ทั่ว และไม่มีระบบบริหารทรัพย์สิน

อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยเหลือไม่ให้พระสงฆ์ต้องปวดหัวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มากนัก จึงมีการตั้ง ‘ไวยาวัจกร’ (ผู้ขวนขวายช่วยทำกิจของสงฆ์) ขึ้นมาดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด ทำกิจธุระที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้จ่ายของวัด รวมถึงการเบิกจ่ายเงิน ‘นิตยภัต’ ซึ่งเป็นงบประมาณอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แด่พระสงฆ์ที่ได้รับสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระครูชั้นสัญญาบัตร พระราชาคณะชั้นต่างๆ สมเด็จพระราชาคณะ และสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงบรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยงานจากพระสงฆ์ข้างต้น (พระฐานานุกรม) พระสงฆ์ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการต่างๆ จนถึงพระเปรียญธรรมเก้าประโยคของวัด 

ทั้งนี้ การแต่งตั้งไวยาวัจกรเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสผ่านการปรึกษาหารือกับพระลูกวัด โดยออกหนังสือแต่งตั้งเพื่อขออนุมัติจากเจ้าคณะอำเภอ ตำแหน่งไวยาวัจกรจึงถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา วัดใหญ่ๆ อาจมีไวยาวัจกรได้มากกว่า 1 คน โดยตำแหน่งจะสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งให้ออก หรือเจ้าอาวาสพ้นจากความเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

อย่างไรก็ดี พระสงฆ์ไม่ได้รับเงินจากรัฐทางเดียว แต่ยังได้รับผ่านการทำบุญของญาติโยมอีกด้วย ทั้งจากการบิณฑบาต รับกิจนิมนต์ และโยมอุปัฏฐาก

ด้วยวิถีชีวิตของเมืองสมัยใหม่ที่เร่งรีบขึ้น ฆราวาสจำนวนไม่น้อยจึงนิยมใส่บาตรเป็นอาหารสำเร็จรูปและ ‘ซองปัจจัย’ มากขึ้น การบิณฑบาตในหนึ่งวัน พระสงฆ์แต่ละรูปอาจได้รับเงินมากถึง 300-400 บาท ในส่วนของกิจนิมนต์ พระสงฆ์จะได้รับซองปัจจัยมากน้อยขึ้นอยู่กับความศรัทธาของเจ้าภาพ ความแคล่วคล่องในการสวด ระยะเวลาในการบวช ไปจนถึงลำดับชั้นยศของพระรูปนั้น หากพระสงฆ์รูปใดมีความสามารถในการเทศน์หรือแสดงธรรมก็น่าสนใจว่า มีโอกาสได้รับ ‘ปัจจัย’ ในจำนวนที่มากขึ้น 

ในทางปฏิบัติ เงินที่ได้จากกิจส่วนตัวเช่นนี้ถือกันว่าเป็นเงินส่วนตัวที่พระสงฆ์หามาเอง และเป็นเงินก้อนที่สามารถเอาไปจัดการกับ ‘ภาระส่วนตัว’ ที่ต้องแบกรับ 

แล้วชีวิตของพระสงฆ์ในยุคปัจจุบันมีภาระต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง?

พระสงฆ์ในแต่ละวัดต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ทุกเดือนเฉกเช่นเดียวกับฆราวาส แต่ละวัดจะเก็บค่าบริการส่วนนี้ต่างกัน บางวัดจะมีการติดมิเตอร์ไว้หน้ากุฏิของพระแต่ละรูป แล้วเรียกเก็บเงินตามยอดที่ปรากฏ บางวัดอาจใช้ระบบบัตรเติมเงินรายเดือน

สำหรับพระสงฆ์ที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ทั้งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ดี หรือในสถานศึกษาอื่นๆ ก็ดี จะมีทั้งค่าเทอม ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น หนังสือ คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ในกรณีที่ต้องเรียนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินส่วนนี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระซึ่งไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่มีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก จึงไม่เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะว่าพระสงฆ์แต่ละรูปมีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ และใช้จ่ายเงินก้อนนั้นไปกับเรื่องอะไรบ้าง 

ความลึกลับซับซ้อนของเงินพระสงฆ์นี้ ทำให้สังคมมักตั้งข้อครหาอยู่เนืองๆ ว่าพระบางรูปอาจใช้เงินไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงสมณเพศ จนถึงขั้นทำผิดพระวินัยอย่างร้ายแรง เช่น ซื้อหวย กินเหล้า แชร์ลูกโซ่ ซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร ไปจนถึงเปย์สีกาอย่างกรณีอดีตหลวงพี่กาโตะ

สินบน 600,000 เงินส่วนตัวหรือเงินวัด

พงศกร จันทร์แก้ว (อดีตพระกาโตะ) วัย 23 ปี ออกบวชตามสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ซึ่งเป็นมะเร็งปอด ในปี 2562 ที่วัดเพ็ญญาติ ตำบลกะเปียด อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระกาโตะเริ่มโด่งดังบนโลกโซเชียลอย่าง TikTok จากการเทศน์สอนธรรมะสอดแทรกมุกตลก โดยอาศัยทักษะที่ฝึกปรือจากการเป็นนายหนังตะลุงมาก่อน

ภายหลังจากเกิดเรื่องฉาว พงศกรได้ชี้แจงว่า เงินที่เขาจ่ายให้สีกาและสื่อเป็นจำนวน 600,000 บาทนั้น เป็นเงินส่วนตัวที่ได้จากการเทศน์สมัยที่ยังบวชเป็นพระ โดยไม่เกี่ยวกับเงินวัด อย่างไรก็ดี วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 หนึ่งในคณะกรรมการวัดเพ็ญญาติชี้แจงว่า ก่อนลาสิกขา 2 วัน อดีตพระกาโตะได้มาขอเบิกเงินจากบัญชีวัด (การเบิกเงินวัดแต่ละครั้งต้องใช้ลายเซ็นของคณะกรรมการวัด 2 ใน 3) เป็นจำนวน 600,000 บาท พอดิบพอดี โดยอ้างว่าจะเอาเงินไปปรับปรุงอาสนะของวัด จึงให้เบิกไป โดยไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว เงินก้อนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อปิดข่าวฉาว

นายพงศกรจึงออกมายอมรับในวันเดียวกันนั้นว่า ตนเอาเงินวัดไปจริง แต่เป็นการยืม ไม่ใช่การยักยอก และจะรีบคืนโดยเร็วที่สุด ในภายหลังมีการเปิดเผยหลักฐานว่าได้มีการคืนเงินให้ทางวัดจนครบ 600,000 บาทจริง โดยมีพยานเป็นพระระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ทางวัดบอกว่าจ่ายเงินแล้วก็เป็นอันจบกัน แต่ในทางกฎหมายของบ้านเมืองอาจยังไม่จบแค่นั้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด หากพบว่ามีการนำเงินวัดไปใช้ในการส่วนตัวจริง จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 147 ในข้อหายักยอกทรัพย์สินวัด โดยเฉพาะเมื่อเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการรักษาทรัพย์ โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท 

เรื่องเงินๆ ทองๆ สร้างปัญหาแก่วงการพระสงฆ์มาโดยตลอด แม้มีความพยายามในการตรวจสอบและสร้างกลไกขึ้นมาป้องกันไม่ให้พระสงฆ์มีมลทิน แต่ก็มักล้มเหลวอยู่เสมอ ตราบใดที่เงินในมือพระสงฆ์ยังมีสถานะคลุมเครือเช่นนี้ ก็จะมีผู้เล็งเห็นช่องทางเข้ามาทำเงินโดยอาศัยสถานภาพการเป็นพระ หรือที่เรียกกันว่า ‘บวชเป็นอาชีพ’ ครั้นเมื่อเป็นอาชีพ เงินที่ได้มาจากชาวบ้านก็ถือเป็นรายได้ส่วนตนที่จะใช้เปย์สีกาหรือจ่ายปิดปากนักข่าวเพื่อช่วยปิดข่าวฉาวอย่างไรก็ได้

อ้างอิง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า