เช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 คือวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน โดยจะมีการอภิปรายต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่ 16-19 กุมภาพันธ์ ก่อนลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันที่ 20 กุมภาพันธ์
10 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก
เนื้อหาในเอกสารที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปราย ระบุถึงพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจของ 10 รัฐมนตรี โดยสรุปดังนี้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ
- ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อตนเองและพวกพ้อง
- ไม่รอบคอบระมัดระวังในการใช้งบฯ แผ่นดิน มุ่งสร้างความนิยมให้ตนเอง
- ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง
- ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน
- ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนัน
- ไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- นำสถาบันฯ มาเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน
- แอบอ้างสถาบันฯ เป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลว
- ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน
- ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ
- แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเอง
- ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ
- ไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
- ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
- ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
- ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี
- ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้พวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ไม่ยึดหลักธรรมาธิบาล
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- ไม่กำกับควบคุมแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ ทำให้โรคระบาดโควิด-19 ระลอกสองแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
- บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
- ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ยุยงปลุกปั่น
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ขาดคุณธรรมจริยธรรม
- ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ต่อตนเองและพวก พ้อง
- ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน
- ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง
- ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริต ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- บริหารราชการแผ่นดินบกพร่องล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ
- แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่อง
- มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
- ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ปกปิดข้อมูลในการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
- ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
- ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ปกป้องพวกพ้อง
- บริหารบกพร่องล้มเหลวอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่
- ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง
- จัดตั้งตำแหน่งทางการเมืองให้แก่ภรรยาและไม่มีความเชี่ยวชาญในตำแหน่งหน้าที่
สรุปอภิปรายวันแรกประท้วงวุ่น
9.55 น. เมื่อเริ่มการประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ สส.พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ทักท้วงเรื่องญัตติการอภิปรายญัตติของฝ่ายค้านที่อาจมีถ้อยคำเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้ นายสุทิน คลังแสง สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นชี้แจงว่า การเสนอญัตติของฝ่ายค้านกระทำโดยยึดหลักนิติกฎหมายและนิติรัฐ ถ้าถูกและชอบด้วยข้อกฎหมายแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะหยิบยกช่องว่างที่เป็นปัญหาขึ้นมาทักท้วง
ต่อมา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า มีบางข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ จึงเสนอญัตติด่วนขอให้สภาฯ มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ว่าสภาฯ มีอำนาจจัดการได้หรือไม่
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการพิจารณาญัตติของฝ่ายค้าน พบว่าไม่มีการก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพียงเป็นการอภิปรายกล่าวหารัฐบาลอย่างรุนแรงแต่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันฯ
จากนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงได้อ่านญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ 10 รัฐมนตรี โดยมุ่งไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนแรก โดยระบุว่าเป็นการนับถอยหลังของรัฐบาลประยุทธ์
“เราจะต้องมีความหวังอยู่เสมอ เพราะจุดจบของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ใกล้จบแล้ว”
ถัดมา นายสุทิน คลังแสง สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งประเด็นซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ โดยมีการยกเอาปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาหนี้สิน และการจัดสรรวัคซีน COVID-19 ที่ล่าช้ามาเป็นตัวอย่างของการบริหารงานที่ล้มเหลว
“ดร.กาญจนา บุญยง ทำวิจัยเปรียบเทียบสถิติการฆ่าตัวตาย เฉพาะยุคนายกฯ ประยุทธ์ 2 มี 38 เคส สถิติการฆ่าตัวตายคือปัญหาสังคม 10 กันยายน กรมสุขภาพจิตของไทยบอกว่าสถิติการฆ่าตัวตายน่าเป็นห่วง ครอบครัวแตกสลายสูงขึ้นทุกวัน ทั้งการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก ยาเสพติดเยอะจริงๆ วางขายอย่างกับผัก เกลื่อนในชุมชน เดี๋ยวนี้เม็ดละ 20 บาท ท่านล้มเหลวสิ้นเชิงในเรื่องยาเสพติดและอบายมุข วันนี้กลายเป็น Casino Society”
นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาโควิดล้มเหลว โดยดู 3 ขั้นตอน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
“ต้นน้ำคืออะไรครับ ระบาดรอบ 2 อะไรคือต้นเหตุ มันเข้ามาจากพม่าเนี่ยเพราะอะไร ก็แรงงานเถื่อน มาจากแรงงานเถื่อนไม่พอ มาขยายตัวที่บ่อน เขาไปเล่นบ่อนที่เมืองนอกแล้วก็กลับเข้ามา ประชาชนการ์ดไม่ตก แต่ท่านตกเอง เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ระบาดรอบ 2 โทษใครไม่ได้ โทษท่าน
“แล้วกลางน้ำเยียวยากันยังไง ดูแลกันยังไง คุมกันยังไง วันนี้ตัวเลขยังพุ่งขึ้นอยู่ บางวันก็ลดพอดีใจหน่อย แต่การสกัดยับยั้งยังไม่ได้ผล ผมเคยเตือนที่กลางสภาฯ นี้เที่ยวหนึ่ง อย่าเพิ่งเหลิง อย่าเพิ่งอวดชาวโลก คราวก่อนมันมาหน้าร้อน พอหน้าหนาวนี่เอาไม่อยู่นะ ท่านยังต้องเหนื่อยอีกเยอะ แล้วเยียวยานี่นะ มีปัญหามาก วุ่นวายมาก เมื่อวานร้องห่มร้องไห้ที่แบงก์กรุงไทย คนจนไม่ได้ คนรวยได้
“วัคซีน กฎหมายไม่อนุญาตให้ไปมัดจำ เขาเลยซื้อไม่ได้ ท่านบอกว่าติดปัญหาด้านกฎหมายประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ให้มัดจำไม่ได้ พอมัดจำไม่ได้ก็จบกัน ก็ซื้อไม่ได้ กฎหมายตัวไหนกันล่ะท่านนายกฯ สภาฯ แห่งนี้มีไว้ทำไม สภาฯ แห่งนี้ออกกฎหมายและแก้กฎหมาย ถ้ากฎหมายมีปัญหาเอาเข้ามาแก้ เทียบกับชีวิตคน 65 ล้านคนกับแก้กฎหมาย ท่านจะเอาอะไรไว้ จะเอากฎหมายนั้นไว้ หรือจะเอาชีวิต 65 ล้านคนนั้นไว้ แล้วท่านคิดว่าเขาไม่ให้ซื้อจ้าง เอามาสิ สภาฯ นี้จะแก้กฎหมายให้ ฝ่ายค้านยกมือให้ถ้าแก้เพื่อไปมัดจำวัคซีน เอามาฉีดให้ชาวบ้านให้มันทัน”
จากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า นายกฯ ขาดภาวะผู้นำ ขาดศีลธรรม รวมถึงเรื่องปฏิรูปการเมือง เพราะไม่สร้างการเมืองที่ดีแล้ว ยังดึงประเทศกลับไปไม่ต่างจากหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถสร้างภาระให้ลูกหลาน อนาคต เมื่อการเมืองล้มเหลวก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงญัตติสถาบัน กล่าวหานายกฯ รุนแรงพาดพิงสถาบันฯ อย่างในอดีตทุกรัฐบาลไม่มีเหตุการณ์อย่างที่ผ่านมากับสถาบันฯ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยระบุว่า ทั้ง 3 คนมีพฤติกรรมฉ้อโกง ปฏิบัติหน้าที่โดยเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง และยังสมคบคิดกับเจ้าของบ่อนพนันต่างๆ จนเป็นเหตุนำมาสู่การแพร่ระบาดของ COVID-19
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการอภิปรายเรื่องบ่อน โดยมีคำถามสำคัญ เช่น ทำไมบ่อนการพนันรายใหญ่จึงอยู่ยั่งยืนยง รวมถึงวิธีการแสวงหาผลประโยชน์จากการพนัน หรือผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากบ่อนการพนัน อย่างเช่นคลิปวิดีโอจากสำนักสื่อมวลชน และภาพข่าว ถึงการจ่ายเงินเดือน 200,000 บาทต่อเดือนแก่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ
ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จะอภิปรายระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.64 และลงมติไม่ไว้วางใจในวันที่ 20 ก.พ.64