ส้มป่อย: ชนบทในภาพจำและคำสาปจากส่วนกลาง

ส่วนกลางนั้นอาจจะหมายถึง กรุงเทพมหานคร หรือส่วนกลางที่ทรัพยากรทั้งหลายไปกระจุกอยู่ ส่วนกลางอันเป็นที่อยู่ของกลุ่มระดับบนของฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจตัดสินใจ 

ส่วนกลางนี้เอง คือผู้ที่จำลองภาพของท้องถิ่นอื่นในภูมิภาคอื่นที่ห่างไกลออกไป แล้วส่งออกมาให้ผู้คนในประเทศรับรู้มานานแสนนาน ถ้าพูดถึงยุคสมัยใหม่ก็น่าจะเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2500 หลังจากนั้นภาพจำของชนบทจึงกลายเป็นแบบที่ส่วนกลางกำหนดอยู่นานแสนนาน

แม้เมื่อไม่นานมานี้เองที่เมื่อมาถึงยุคสมัยของดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ภูมิภาคเริ่มสร้างสื่อของตนขึ้นได้เอง เผยแพร่ได้เอง แต่อิทธิพลจากภาพจำแบบเก่าก็ยังติดตรึงอยู่ในใจคนทั่วไปจนยากจะสลัดออก 

ราว 2 ปีก่อน มีหนังจากภาคอีสานที่ทำโดยคนพื้นที่ แสดงโดยคนพื้นถิ่น ถ่ายทำและพูดอีสานทั้งเรื่อง ชื่อ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ออกฉายและประสบความสำเร็จไปทั่วประเทศ หลังจากนั้น เมื่อสายตาจากส่วนกลางได้พบว่า มีสูตรสำเร็จสูตรใหม่ที่สามารถทำเงินได้ สตูดิโอจึงลงมามีส่วนร่วมในส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้ หนังที่มีความเป็นภูมิภาคอื่นนอกกรุงเทพฯ จึงทยอยเดินตามสูตรสำเร็จนั้นเรื่อยมา (เท่าที่เห็นในหนังจากภาคอีสานและภาคเหนือเท่านั้น จริงๆ ก็มีหนังที่ออกมาจากภาคอื่นด้วย เช่น มหาลัยวัวชน แต่ไม่ใช่หนังจากสตูดิโอ) 

ส่วนใหญ่แล้วหนังเหล่านั้นจะทำโดยผู้กำกับและทีมสร้างจากส่วนกลาง แต่กับ ส้มป่อย นั้นต่างออกไป มีการพยายามนำเสนอว่า ส้มป่อย นั้นเป็นผลผลิตจากคนทำหนังท้องถิ่น ตั้งแต่เริ่มโปรเจ็คต์ เขียนบท จนถึงถ่ายทำ หากในบางบทสัมภาษณ์มีเรื่องน่าสนใจว่า ผู้กำกับหน้าใหม่ทั้งสองคนพยายามจะพรีเซนต์ว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ริเริ่มโปรเจ็คต์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าไปดูหนัง เราพบว่าเครดิตของผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ ‘ทีมส้มป่อย’ แทนที่จะขึ้นเป็นชื่อคนเหมือนธรรมเนียมปกติของหนังโดยทั่วไป เพราะถ้านึกถึงเคสหนังเรื่อง แฟนฉัน นั้นมีผู้กำกับถึง 6 คน หนังก็ยังขึ้นเครดิตเป็นรายชื่อทั้งหกได้ จึงเกิดความลึกลับขึ้นว่า เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้ทำโดยใครกันแน่ ใช่หรือไม่ว่า มีผู้กำกับเงาแฝงอยู่ และไม่อยากจะเผยนามในเครดิต? หนังเรื่องนี้มีปัญหาจนคนไม่อยากใส่ชื่อในเครดิตหรือเปล่า? หรือผู้กำกับอยากให้เกียรติสมาชิกร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งยากกับการคาดเดา สรุปได้เพียงว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ปกตินัก เพราะนี่เป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่โปรเจ็คต์ส่งครู ผู้ชมควรได้ทราบนามของผู้ที่ต้องรับผิดชอบแต่ละส่วน

เรื่องเล่าของส้มป้อย เธอคือหญิงสาวชาวล้านนาอายุต้นยี่สิบ ด้วยเหตุผลเดียวว่า เบื่อ เธอเบื่อไปทุกอย่าง เบื่อบ้าน เบื่อพ่อ เบื่อแม่ เบื่อสภาพแวดล้อม เธอจึงอยากไปจากหมู่บ้านในชนบทของตนเอง จุดหมายของเธอมีหนึ่งเดียวคือ กทม. เพราะเธอรับรู้มาตลอดตั้งแต่วัยเด็กว่า คนกรุงเทพฯ คือคนที่สมบูรณ์พร้อม ผิวขาว ถ้าผู้หญิงคนไหนได้ผัวเป็นคนกรุงเทพฯ นั่นคือการการันตีได้ว่า จะมีความเป็นอยู่ที่ดี ประสบความสำเร็จในชีวิต กลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อไหร่ก็จะมีแต่คนสนใจกลุ้มรุมรายล้อม 

ในยุคสมัยปัจจุบันที่ถนนดำเรียบเนียนเคียงเสาไฟฟ้าปักนั้น ตัดผ่านแทบทุกตำบล ทุกตารางนิ้วของหมู่บ้าน หลายอำเภอมี Big C, Lotus, 7/11 เคียงคู่ปั๊ม ปตท. เข้าง่ายยิ่งกว่าโรงรับจำนำ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป แม้กระทั่งเด็กประถมก็มีติดมือ โทรทัศน์ใกล้วันล้าสมัยเข้าไปทุกทีแล้วด้วยซ้ำ ทุกคนสามารถรู้ได้ไม่ยากว่า ค่าตั๋วรถทัวร์ 400-500 บาท หรือตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์ไม่ถึงพัน ก็ทำฝันของส้มป่อยเป็นจริงง่ายดาย 

หากส้มป่อยบอกคนดูหน้าตาเฉยว่า ถ้าเธอมีเงินจำนวนนี้ (ดูเหมือนไม่คิดจะหาหรือเก็บ) เธอคงบินปร๋อไปมหานครนานแล้ว เราสงสัยว่า กับเงินจำนวนไม่ถึงพัน ถ้าเธออยากจะเอาไปใช้เพื่อการสร้างตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอจะขอจากพ่อแม่ หรือแม้แต่ยืมเพื่อน ได้ไหม ถ้าส้มป่อยไม่อยากพึ่งใคร เหตุใดเธอถึงไม่ทำงาน เพียงเดือนเดียวเธอก็สามารถเอาเงินเดือนไปซื้อตั๋วเดินทางไปที่ไหนก็ได้ 

ส่วนคำถามพื้นฐานต่อไปว่า มึงจะไปอยู่ยังไง ไปทำอะไร คำตอบสามัญก็คงอยากไปเรียนที่นั่นหรือทำงานที่นี่ ส้มป่อยคนงามกลับบอกเราว่า คำตอบของเธอคือการมีผัวเท่านั้น ไม่สิ การอยากมีผัวของเธอ คือการจะให้ผัวพาออกไปจากหมู่บ้านแห่งนี้

ความอยากเดินทางไปจากที่ที่ตนอยู่ ไปยังที่อื่น หรือไปสู่ความทันสมัยนั้น ย่อมเป็นฝันสามัญของหนุ่มสาวต่างจังหวัดทุกยุคสมัย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างของแต่ละคนอาจทำให้เขาหรือเธอไม่ไป เช่น ติดกับความเคยชินของชีวิต? ความสัมพันธ์กับครอบครัว กับเพื่อน? สัญญา? 

ส้มป่อยเป็นสาวเต็มตัว น่าจะบรรลุนิติภาวะแล้ว และอย่างน้อยก็น่าจะจบมัธยมปลาย ไม่ได้มีความผิดปกติทางสมองหรือภาวะทางอารมณ์ใดๆ แต่ก็นั่นแหละ ในเมื่อหนังไม่ได้ให้ข้อมูลว่า ส้มป่อยจะผิดปกติตรงไหน หรือมีอะไรที่ยึดติดกับหมู่บ้าน เธอเพิ่งมีความคิดว่า เธอติดกับที่นี่ตอนเรื่องเล่าใกล้จบ ตอนที่เธอเริ่มรู้จักตัวเอง และมีความรัก

เราจึงต้องคิดเอาเองว่า ส้มป่อยนั้นต้องคำสาปบางอย่างให้ติดอยู่ที่นี่ และผัวผิวขาวชาว กทม. คนนั้น จะพาเธอออกไปจากคำสาปเฉกเช่นจูบจากรักแท้ในเทพนิยาย

คำสาปนั้นหาใช่อะไรอื่นไม่ นอกจากภาพมายาคติที่ส่วนกลางได้ส่งออกมาจนติดอยู่ในภาพจำไปแล้ว แม้กับคนท้องถิ่นก็กลับใช้ภาพจำนั้นมาอธิบายเรื่องเล่าของตัวเอง แม้จะกล่าวอ้างว่า สาวเหนือในเรื่องนี้ไม่ได้จริตจะก้านต่อนยอนอย่างตัวละครที่ชื่อ ข้าวตอก แต่แทนที่ส้มป่อยจะเป็นภาพแทนของเด็กสาวเหนือก๋ากั่นคนหนึ่ง มันกลับกลายเป็นว่า คนดูได้เห็นเพียงบุคลิกแบนราบของเด็กสาวที่อยากหาผัว (หน้าตาดี) เท่านั้น

ภาพมายาคติยังส่งผลให้คนทำหนังสร้างเธอมาแบบนั้น เป็นตัวละครเรียบๆ แสนนาอีฟ ผู้ไม่รู้ทิศรู้ทาง ไม่สนใจที่จะหาทางไปด้วยตัวเอง ไม่ทำมาหากิน วันๆ คิดแต่จะหาผัวคนกรุงเทพฯ เมื่อพบก็ทำทุกอย่างให้ผู้ชายมาชอบมารัก ทำแม้กระทั่งบุกเข้าบ้านคนอื่น (ที่เธอรู้ว่าเป็นพวกต้มตุ๋น) และเป็นผู้หญิงใจง่ายที่สามารถจะวิ่งโร่ตามผู้ชายไปไหนต่อไหนทั้งๆ ที่เจอกันแค่ไม่กี่วัน 

คำสาปนั้นยังส่งผลให้ผู้สร้างหลงลืมละเลยที่จะมองหรือทำความรู้จักผู้หญิงเหนือจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในชนบทโดยทั่วไป หรือแม้แต่คนธรรมดาๆ สักคนที่ไม่ใช่ตัวละครในเทพนิยาย 

แม้จะเป็นหนังตลกที่อนุญาตให้มีบางอย่างเกินจริงและเหตุผลน้อยได้บ้าง แต่มันก็เกินไปที่ผู้หญิงสวยน่ารักคนหนึ่งนั้นจะเป็นตัวตลกแบบที่ โง่ บ้า และร่าน ขึ้นมาเบอร์นี้ได้จริง 

นอกจากส้มป่อยแล้ว เรื่องเล่าในหนังยังประกอบด้วยคนท้องถิ่นอีกหลายคน 

พ่อแม่ของส้มป่อยที่หนังไม่บอกอีกเช่นกันว่า ทั้งคู่ทำงานอะไร รู้เพียงว่าแม่นั้นชอบจิกกัดด่าส้มป่อย ชอบเล่นหวย ค่อนขอดพ่อที่เลี้ยงไก่และเล่นพนัน 

ข้าวตอกและแม่ที่เป็นภาพสาวเหนือเนิบแบบออริจินัล ซึ่งก็กลายเป็นสาวแอบหื่น แม้ว่าตรงนี้มันจะทำให้ตัวละครดูมีมิติขึ้นกว่าตัวอื่น แต่พอมารวมกับมุกไวอะกร้าที่มั่วและหยาบอย่างไม่น่าเชื่อ มันก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงมุมมองต่อผู้หญิงของผู้สร้าง

เจ๊ เพื่อนส้มป่อยที่เปิดร้านเหล้าตอง, ​แซ้บ และเพื่อน เด็กแว้นที่เป็นแก๊งร่างทรง,​ พ่อของแซ้บที่ติดเหล้า

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เราเห็นว่ามีเพียง เจ๊กับแซ้บเท่านั้นที่ทำการทำงาน งานของแซ้บก็ดันเป็นการต้มตุ๋นเสียอีก เราจึงเกิดความฉงนว่า คำสาปจากส่วนกลางนั้นได้ทำให้คนที่ควรจะรู้จักคนในท้องถิ่นของตนดี กลับเลือกพรีเซนต์ความเป็นท้องถิ่นไปในทางมายาคติแห่งโง่ จน เจ็บ 

เมื่อกล้องกลับไปที่ แวน ภาพนั้นกลับเป็นชายหนุ่มเมืองหลวงสุดแสนเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ ทั้งรูปร่างหน้าตา ฐานะ การงาน ดีจนเราไม่สามารถจะเชื่อได้ว่ามีคนแบบนี้ในโลก 

การที่แวนชวนส้มป่อยที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่กี่วันเดินทางไปกับตนด้วยนั้น ไม่ว่าใครที่ไหนก็ต้องมองออกว่า หนุ่มภาคกลางคนนี้ต้องพาสาวเหนือไปหลอกฟันอย่างแน่นอน 

แม้เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศโลกเสรี การที่หญิงสาวผู้มีครอบครัวจะไปกับชายแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จัก มันเป็นไปได้ แต่ยากมาก คนทำหนังคงต้องทำการบ้านหนักหากอยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ เช่นว่า ผู้หญิงต้องถูกกระทำจากที่บ้านอย่างสุดๆ ไม่มีที่พึ่ง หรือถ้าไม่ไป ที่บ้านจะจับให้เธอแต่งงานโดยที่เธอไม่อยาก

ทางเดียวที่พ่อกับแม่จะยอมให้ส้มป่อยไปกับผู้ชาย ก็คือต้องขายลูก

และถ้าแวนเป็นคนดีจริงอย่างที่หนังพยายามจะบอก ถึงแม้แวนจะชอบผู้หญิงคนนี้จริง เขาต้องไม่ชวนเธอไปในลักษณะนี้ และฉากสุดท้ายที่เธอพบว่าตัวเองไม่อยากไป อย่างน้อยเขาก็ต้องเป็นสุภาพบุรุษพอที่จะขับรถพาเธอกลับมาส่ง

เราลองย้อนไปถึง ‘สาวเครือฟ้า’ ที่รักและภักดีกับทหารจากเมืองหลวง แต่บริบทเมืองไทยในตอนนี้ก็ต่างออกไปโดยสิ้นเชิงกับตอนนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า คนอย่างสาวเครือฟ้านั้นมีจริงแค่ไหน เพราะเอาเข้าจริงตัวละครนี้ก็คือการหยิบโอเปร่าคลาสสิกมาดามบัตเตอร์ฟลาย มาดัดแปลงให้กลายเป็นเรื่องผู้หญิงต้องจงรักภักดีกับชายผู้มาจากส่วนกลาง

แน่นอนล่ะว่าใน พ.ศ. นี้ อาจยังมีความชื่นชมคนจากเมืองฟ้าอมรหลงเหลือในภาพจำของคนรุ่นเก่าอยู่บ้าง แต่มันก็ได้เลือนจางไปมากแล้ว บาดแผลตกเขียวบนดินแดนล้านนาซึ่งเป็นผลงานจากหนุ่มเมืองกรุงก็อาจจะยังหลงเหลือความเจ็บปวดอยู่ และเพิ่งตกสะเก็ดไปเมื่อไม่นานมานี้

ต่างคนต่างก็มีแนวความคิดต่อคนพื้นถิ่นอื่นๆ ตามข้อมูลที่เราได้รับมาว่า คนใต้จะเป็นแบบนี้ คนอีสานเป็นแบบนั้น คนเหนือเป็นแบบโน้น 

แต่ผู้สร้างหนังที่เป็นคนเมือง กลับมองแม่ญิงอย่างส้มป่อยด้วยสายตาที่ต้องคำสาป และทั้งส้มป่อย เพื่อนส้มป่อย แซ้บ ข้าวตอก และแม่ ต่างก็โดนคำสาปไปด้วยกันหมด ให้มอง แวน คนจากส่วนกลางว่าจะเป็นคนที่ดีงามพร้อม แต่ในขณะที่แวนเองกลับเป็นสุภาพบุรุษสุดขั้ว มองเห็นส้มป่อยในแบบที่เธอเป็นจริงๆ 

วันนี้ที่มายาคติทั้งหลายทั้งมวลควรผุสลายไปสิ้นแล้ว คนภาคอีสานจำนวนไม่น้อยได้หลุดพ้นไปจากคำสาปนั้นแล้ว แต่เหตุใดบางพื้นที่จึงยังตกอยู่ในเงาคำสาปที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ เราจึงยังได้เห็นการประกอบสร้างตัวละครแบนๆ นี้อยู่ เห็นตัวพระตัวนางเดินออกมาจากฉากหลัง ไม้อัดทาสีแบนๆ ตัวละครบอกว่าอะไร เราก็ต้องเชื่อไปตามนั้น แม้เราจะรู้ว่า ความจริงนั้นต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ศุภโมกข์ ศิลารักษ์
เกิดกรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สงขลา ไปเรียนต่อรามคำแหง เพราะพบว่าตัวเองอยากทำหนัง วันหนึ่งนึกสนุกลองเอาบทภาพยนตร์ของตนเองมาเขียนเป็นนิยายเล่มแรก เหม่วาบนพื้นไม้ไผ่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลปิศาจครั้งที่ 1 ปัจจุบันเปิดร้านหนังสือ ‘หนองควายสนุก’ นอกตัวเมืองเชียงใหม่ และยังซุ่มตัดต่อสารคดี สลับกับเขียนบทหนัง รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า