ระงับ account vs ห้ามใช้ platform: เมื่อทวิตของประธานาธิบดีไนจีเรียละเมิดข้อบังคับของทวิตเตอร์

เมื่อต้นสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนในประเทศไนจีเรียไม่สามารถเข้าใช้งาน โซเชียลมีเดียสากลอย่าง Twitter ได้อย่างถูกกฎหมายหลังรัฐบาลประกาศห้ามอย่างเด็ดขาด โดยหากใครฝ่าฝืนคำสั่งของประธานาธิบดีแห่งไนจีเรียนั้นจะได้รับบทลงโทษที่รุนแรงตามมา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ Twitter ได้ทำการลบทวีตจากแอคเคาน์ทางการของประธานาธิบดี มูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) เนื่องจากละเมิดข้อตกลงของ Twitter โดยจากการรายงานของสำนักข่าว The Africa Report ระบุว่า ทวีตของประธานาธิบดีบูฮารีมีเนื้อหากล่าวถึงประสบการณ์สงครามกลางเมืองเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เพื่อข่มขู่ขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนไนจีเรียในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยในสงครามที่เขากล่าวถึงนั้นมีชาวไนจีเรียเสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 2 ล้านคน 

ภายหลังจากการถูกถอดข้อความนั้นออกไปจากระบบ ประธานาธิบดีบูฮารีตั้งข้อสังเกตุว่า Platform ดังอย่าง Twitter มี ‘นัยยะแอบแฝง’ ในการกระทำดังกล่าว จนนำไปสู่การออกประกาศห้ามประชาชนเข้าถึงโซเชียลมีเดียดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา และกล่าวย้ำว่าจะดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวอย่างเคร่งครัด 

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการถอดถอนทวีตของแอคเคาน์ประธานาธิบดีบูฮารีจะไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้รัฐบาลไนจีเรียประกาศคำสั่งห้ามการเข้าถึงดังกล่าว โดยตัวแทนจากรัฐบาลไนจีเรียได้ออกมาพูดถึงสาเหตุของการห้ามการเข้าถึง Twitter เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า

“ประเทศไนจีเรียกำลังมีปัญหากับสื่อ Social Media เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การจงใจให้ข้อมูลที่ผิดพลาดไปจนถึง fake news ที่จะนำอันตรายออกมาสู่โลกนอกหน้าจอได้”

ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการทูตในโลกตะวันตกเป็นจำนวนมากถึงการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของรัฐบาลไนจีเรีย แต่ประชาชนภายในประเทศไนจีเรียก็ยังใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual private network: VPN) ในการเข้าถึง Twitter ในขณะนี้

มูฮัมมาดู บูฮารี คือใคร: เส้นทางการขึ้นสู่อำนาจประธานาธิบดีแห่งไนจีเรีย

มูฮัมมาดู บูฮารี เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1942 ที่เมือง Daura ทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย วัยเด็กศึกษาอยู่ที่เมือง Katsina และต่อมาได้รับการเข้าฝึกอบรมเพื่อเป็นทหารที่ Kaduna เมืองหลวงของไนจีเรีย หลังจากนั้นได้ไปฝึกอบรมทางการทหารที่สหราชอาณาจักร อินเดีย รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา

เขาเริ่มเข้าสู่วงการทางการเมืองโดยการมีส่วนร่วมในการรัฐประหารผู้นำไนจีเรียในขณะนั้นอย่าง ยาคูบู โกวอน (Yakubu Gowon) ในปี 1975 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการทหารสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางด้านความมั่นคงสูง ในปีเดียวกันนั้นเองเขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการของบอร์ดพลังงานปิโตรเลียมอีกด้วย

ในปี 1977 เขาได้เข้าสู่อำนาจทางการบริหารเป็นครั้งแรกเนื่องจากการรับตำแหน่งเลขานุการกองบัญชาการทหารสูงสุดแห่งชาติไนจีเรีย ที่ทำให้เขาได้รับโควต้าเก้าอี้ตำแหน่งในรัฐบาล และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อรัฐบาลพลเรือนสามารถกลับเข้ามาบริหารประเทศได้สำเร็จในช่วงปี 1979 นั้น ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่ถูกกองทัพมองว่าฉ้อฉล ก็ได้นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1983 ที่ทำให้บูฮารีได้ขึ้นสู่อำนาจบริหารสูงสุดในฐานะประมุขแห่งรัฐ

ถึงแม้ว่าในระยะแรกนั้นบูฮารีจะได้รับความนิยมจากประชาชนชาวไนจีเรียเป็นอย่างมากว่าจะเข้ามาเพื่อปราบปรามการทุจริต แต่ด้วยเศรษฐกิจของชาติที่ดูจะไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน ก็ได้ทำให้กองทัพตัดสินใจรัฐประหารบูฮารีและคุมขังเขาเอาไว้ถึง 5 ปีกว่าจะได้รับการปล่อยตัว

หลังจากออกมาจากการคุมขัง บูฮารีได้พยายามลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2003 แต่ก็ได้พ่ายแพ้ เช่นเดียวกับความพยายามในปี 2007 และปี 2011 ที่ยังประสบความล้มเหลว ก่อนที่ในปี 2014 นั้นเขาจะถูกเลือกให้เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งจากพรรค All Progressives Congress (APC) ซึ่งประจวบเหมาะพอดีกับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวภัยจากกลุ่มก่อการร้าย Boko Haram ทำให้ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูใจซื่อมือสะอาดและความเข้มแข็งแบบทหารของ เขาทำให้บูฮารีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2015 และยังชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2019 เช่นกัน

ขณะนี้บูฮารีจึงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียมาแล้วเป็นเวลากว่า 6 ปี ภาพลักษณ์ใจซื่อมือสะอาดและความเป็นทหารของเขากำลังถูกท้าทายเป็นอย่างมาก เมื่อภัยต่อความมั่นคงของไนจีเรียอย่างกลุ่ม Boko Haram นั้นเริ่มอ่อนกำลังลงหลังจากข่าวการเสียชีวิตของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และการประกาศห้ามการเข้าถึง Twitter นั้นก็ดูจะส่งผลด้านลบต่อความ ‘ใจซื่อมือสะอาด’ ที่ชาวไนจีเรียเคยรู้สึกต่อเขา สถานการณ์นี้จึงเป็นที่น่าจับตามองปฏิกิริยาของประชาชนชาวไนจีเรีย ว่าจะมีท่าทีต่อไปอย่างไรกับผู้นำที่พวกเขาเคยเรียกร้องให้กระทำการรัฐประหารมาแล้วในอดีต รวมถึงจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปเพื่อให้ได้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์คืนมาจากรัฐบาล

เมื่อ VPN กลายเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจเผด็จการทั่วโลก 

หลังจากการประกาศห้ามการเข้าถึง Twitter และปิดกั้นโดยองค์การที่ควบคุมการใช้เครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตแห่งชาติ ประชาชนชาวไนจีเรียเริ่มหันไปใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน หรือ VPN เพื่อทำการ ‘มุด’ หาทางเข้าไปยัง Twitter ด้วย IP Address จากประเทศอื่นและเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลดังกล่าว

ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีเพียงแค่ประชาชนชาวไนจีเรียเท่านั้นที่ใช้ VPN ในการเข้าถึง Twitter โดยเมื่อวันพุธที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา อัยการสูงสุดแห่งรัฐไนจีเรีย อบูบัคคา มาลามี (Abubakar Malami) ได้ออกมาประกาศว่าตนเองได้ระงับการใช้งานแอคเคาน์บน Twitter ของตนเองแล้ว โดยประกาศผ่านทาง Facebook 

การกระทำครั้งนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อตัวมาลามี โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากสงสัยในเมื่อทางการระงับการเข้าถึงแพลตฟอร์มแล้ว มาลามีสามารถเข้าสู่ Twitter เพื่อกดระงับการใช้งานแอคเคาน์ด้วยตัวเองได้อย่างไร ชาวไนจีเรียจำนวนมากจึงตั้งข้อสังเกตุว่าอัยการสูงสุดท่านนี้ได้ใช้เครือข่าย VPN ที่ละเมิดข้อห้ามตามคำสั่งของรัฐบาลในการเข้าถึง Twitter และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การใช้กฎหมายที่สองมาตรฐานดังกล่าว

ในปัจจุบัน เครือข่าย VPN นั้นดูเหมือนจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกของหลายประเทศที่ตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ ตามโฆษณาของผู้ให้บริการ VPN ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง NordVPN นั้นได้ระบุว่า เครือข่าย VPN พิสูจน์ตนเองมาแล้วว่าสามารถใช้ทำงานได้ดีในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและซาอุดิอาระเบีย จุดแข็งของเครือข่าย VPN คือการนำ traffic ของการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้ไปไว้ยังเซิฟเวอร์ที่ปลอดภัยในต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลภายในประเทศไม่สามารถที่จะติดตามหรือดักจับข้อมูลที่ส่งเข้า-ออกได้โดยง่าย 

การใช้เครือข่าย VPN นี้นอกจากกำลังเกิดขึ้นในไนจีเรียและที่อื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ในประเทศไทยเองก็เคยมีความจำเป็นให้ประชาชนต้องใช้งานเหมือนกัน โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2021 นั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ระงับการเข้าถึง Music Video เพลง ‘ปฏิรูป’ (REFORM) โดยหากพยายามเข้าถึงบน YouTube ก็จะขึ้นข้อความประกาศเอาไว้ว่า “This content is not available on this country domain due to a legal complaint from the government”  ซึ่งทำให้ต้องเข้าถึงด้วยการใช้เครือข่าย VPN เท่านั้นหากจะรับชม โดยภายหลังกลุ่มศิลปินทำการอัพโหลด Music Video เพลงดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ในเวอร์ชันใหม่  ปฏิรูป (Reform / Re-color grade / Re-upload)

ไม่ว่าแพลทฟอร์มด้านการสื่อสารจะเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจากยุคสิ่งพิมพ์มาจนถึงแพลทฟอร์มออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียใด ผู้มีอำนาจย่อมสร้างแรงเสียดทานต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเสมอ ผลที่ตามมาคือเทคโนโลยีใหม่มากมายเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น VPN หรือการสื่อสารโดยเข้ารหัสปกปิดตัวตนต่างๆ เช่น Telegram หรือ Signal ที่เริ่มเกิดความนิยมในการนำไปใช้เพื่อการสื่อสารในหมู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการหลายประเทศ

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า