การรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้งแวดวงวิชาการและภาคประชาชนสนใจปรากฏการณ์ดังกล่าว กระแสต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาได้ถูกเปรียบเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ซึ่งการหยิบยกมาเปรียบเทียบกันในลักษณะดังกล่าวทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการต่อสู้ที่ทั้งแตกต่างและเหมือนกันในหลายแง่มุม
คำถามสำคัญภายใต้การเชื่อมต่อของข้อมูลการต่อสู้และกระแสต่อต้านรัฐประหารของประเทศไทยและเมียนมานั้นจึงเป็นการถามที่ว่า เพราะเหตุใดประเทศใกล้เคียงกันที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเหมือนกันนั้นจึงมีความแตกต่างอย่างมากเสียเหลือเกินในแง่ของผลลัพธ์และวิธีการ
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘รัฐประหารเมียนมา: กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย?’ โดยมี ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล, ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์, ผศ.ดร.มล.พินิตพันธ์ุ บริพัตร และ คุณสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี รวมเป็นวิทยากร ภายใต้การดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
WAY เก็บใจความสำคัญในวงเสวนาเพื่อทำความเข้าใจที่มาของปรากฏการณ์การรัฐประหารเมียนมา ที่จำเป็นต้องย้อนกลับไปในบริบททางประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์ตัวแสดงหลักทางการเมืองอย่างกองทัพตะมะดอ ก่อนที่จะทำนายความเคลื่อนไหวที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปและสิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำ
ปัญหาที่แตกแยกในรัฐที่ก่อตั้ง เมียนมากับบริบททางประวัติศาสตร์
เพื่อที่จะเข้าใจสภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ภายในเมียนมา ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ กล่าวว่า ก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจบริบทการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของเมียนมาในยุคก่อตั้งขึ้นมาเสียก่อน
เมียนมาเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนกระทั่งปี 1948 ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในสมัยของการเป็นรัฐใต้อาณานิคม อังกฤษได้ใช้วิธี ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (divide and rule) นอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการจัดตั้งอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ยังเป็นเพราะเมียนมาในยุคแรกเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์ุที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วอาณาเขตพรมแดนธรรมชาติ แม้อังกฤษจะเป็นมหาอำนาจแต่ก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะส่งกำลังคนและงบประมาณไปดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องให้กลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ทั้งในเขตป่าเขาหรือลุ่มแม่น้ำปกครองกันเอง
ช่วงเวลานั้นจึงยังสามารถเห็นตำแหน่ง ‘เจ้าฟ้า’ หรือผู้ปกครองเขตย่อยๆ คำถามสำคัญหลังจากได้รับเอกราชจึงกลายมาเป็น แล้วผู้ใดควรที่จะได้ปกครองเมียนมาหลังจากการได้รับเอกราช? ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ุที่ยังมีอำนาจและกำลังอาวุธจึงเริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้ยาวมาถึงปัจจุบัน และกลายมาเป็นความพยายามในการเสนอทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างการเป็นสหภาพ (Union State) การเป็นสาธารณรัฐ (Federal State) หรือไปจนถึงข้อตกลงหยุดยิง (Cease-Fire Dialogue)
ความพยายามในการหาทางออกอย่างหนึ่งในยุคเริ่มแรกคือ การทำสนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่รวบรวมกลุ่มชาติพันธ์ุทั้งหลายเข้ามาไว้ด้วยกัน ในสนธิสัญญาระบุถึงตำแหน่งแห่งหนทางสังคมการเมืองในรัฐใหม่ ขณะเดียวกันสนธิสัญญาฉบับนี้ก็ได้กีดกันกลุ่มชาติพันธ์ุอีกหลายกลุ่มออกไป ซึ่งต่อมาความล้มเหลวของสนธิสัญญาดังกล่าวได้นำไปสู่การต่อสู้ตามเขตชายแดนระหว่างรัฐบาลเมียนมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน กับกลุ่มชาติพันธ์ุที่ไม่ได้ถูกนับรวมในสนธิสัญญา ประกอบกับการเข้ามารัฐประหารแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพแห่งชาติตะมะดอที่ทำให้การตัดสินใจเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุตกไปอยู่ในมือของทหารที่มีความเคยชินกับการใช้อำนาจดิบ ทำให้สภาพการหยุดยิงสลับกับการกลับมายิงกันในหลายพื้นที่กลายเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มชาติพันธ์ุต้องประสบมาเกือบ 3 รุ่นอายุคนแล้ว
สภาพปัญหาของรัฐที่เกิดใหม่แต่เต็มไปด้วยความแตกแยกและแตกต่างอย่างเมียนมานั้น ทำให้กองทัพแห่งชาติซึ่งมองว่าภัยคุกคามอันดับหนึ่งของเมียนมาคือการสิ้นชาติ จึงได้กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากกองทัพมองว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถจัดการกับปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุได้อย่างเด็ดขาด ความหวาดกลัวการสิ้นชาติและความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ว่าด้วยการหวาดกลัวการถูกบ่อนทำลายชาติจากต่างชาตินี้เองที่ทำให้กองทัพมักใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำการรัฐประหาร
จึงจะสังเกตได้ว่าแทบทุกครั้งของการรัฐประหารในเมียนมาจะมีการพูดถึงความมั่นคงภายใน ความเป็นเอกภาพปึกแผ่น และความหวาดกลัวการถูกแทรกแซงโดยสังคมโลกภายนอกมาเสมอ รวมไปถึงการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ด้วยเช่นกัน
กองทัพกับความกลัวภัยคุกคาม ข้ออ้างจับปืนจากตะมะดอสู่ไทย
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวถึงพันธกิจหลักของกองทัพตะมะดอแห่งเมียนมา ว่านอกจากการปกป้องเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนแล้ว ความสมานฉันท์ในชาติและความเป็นปึกเป็นแผ่นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นตามมา ดังที่ ผศ.ดร.ลลิตา ได้กล่าวไปถึงสาเหตุทางประวัติศาสตร์ในข้างต้น สุภลักษณ์ชี้ว่า ภัยคุกคามหลักที่กองทัพมองเห็นเป็นอันดับหนึ่งคือ กลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วพรมแดนของประเทศ โดยหากจะแบ่งอย่างง่ายแล้วจะสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก และกลุ่มที่อยู่ฝั่งตะวันตก
กลุ่มชาติพันธ์ุที่อาศัยอยู่ในฝั่งตะวันออกของเมียนมา จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุที่ประเทศไทยเองก็คุ้นเคยในการติดต่อคบค้าสมาคมด้วยอย่าง มอญ กะเหรี่ยง หรือไทใหญ่ เป็นต้น กลุ่มนี้มีการต่อสู้ขับเคี่ยวกับรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกอย่างสนธิสัญญาปางหลวง การต่อสู้จะเป็นไปในลักษณะของการต่อสู้แบบจรยุทธ์ (insurgency) ที่ไม่ได้ปะทะกันซึ่งหน้า แต่เป็นการจู่โจมและหลบเข้าฐานที่มั่นเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลทหารนั้น ‘เคยชิน’ กับการรับมือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกนี้มานานแล้ว ซึ่งถูกแก้ไขด้วยการจัดการปัญหาอย่างการหยุดยิงชั่วคราว การกลับมายิงกันบ้าง ไปจนถึงข้อตกลงทางธุรกิจสีเทาอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามในมโนสำนึกของกองทัพนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังถูกมองว่าเป็นชาวเมียนมา มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และไม่ได้ถูกกีดกันออกไปจากบูรณภาพแห่งดินแดน
กลุ่มที่สองซึ่งมีชะตากรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มแรกอย่างมากคือ กลุ่มชาติพันธ์ุที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ดังเช่นในกรณีกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ซึ่งติดอยู่กับชายแดนของประเทศบังคลาเทศ กลุ่มนี้ถูกทั้งรัฐบาลทหารเมียนมาและรัฐบาลพลเรือนมองว่าไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันแต่แรก ไม่ได้อยู่ในมโนภาพบูรณภาพแห่งดินแดนของเมียนมา เห็นได้จากการที่ชาวเมียนมามักเรียกกลุ่มชาติพันธ์ุโรฮิงญาว่า ‘เบงกาลี’ อันหมายถึงผู้พูดภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน (Indo-European) และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา การถูกกีดกันให้เป็นคนนอกในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยนี้ทำให้กลายมาเป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์อย่างมาก และนำไปสู่ข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงของกองทัพที่ประชาชนหรือนักการเมืองชาวเมียนมาหลายคนพยายามที่จะไม่พูดถึงมากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ระบุว่า กองทัพได้มองว่าสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธ์ุทางตะวันตกอย่างกลุ่มโรฮิงญาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน เพราะนำไปสู่ข้อพิพาทหลายประการด้านพรมแดนกับบังคลาเทศ และกลายมาเป็นช่องโหว่ที่กองทัพมองว่าเป็นจุดอ่อนให้โลกตะวันตกสามารถกระโดดเข้ามามีอิทธิพลกับกิจการภายในได้ เห็นได้จากการที่ นางอองซานซูจี ก่อตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ (Advisory Commission on Rakhine State) ขึ้นโดยประกอบไปด้วยตัวแสดงทางการเมืองโลก(Political Figure) มากมายที่กองทัพเมียนมาไม่ต้องการ
ตัดภาพกลับมาที่กองทัพไทย สุภลักษณ์มองว่าถึงแม้กองทัพทั้ง 2 ชาติจะมีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหารเหมือนกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่การนิยามคำว่า ‘ภัยคุกคามแห่งชาติ’ ภัยคุกคามหลักของกองทัพไทยคือสิ่งตรงข้ามกับแนวคิดราชาชาตินิยม
“หน้าที่หลักของกองทัพไทยคือการต่อสู้กับภัยคุกคามแนวคิดราชาชาตินิยม การรักษาความเป็นไทย และการธำรงไว้ซึ่งราชาชาตินิยม”
ซึ่งสิ่งนี้ได้นำไปสู่การรัฐประหารจำนวนมากในประวัติศาสตร์ไทย จนทำให้ตัวแปรตามอย่างวิธีการรัฐประหาร วิธีการต่อต้านรัฐประหาร และสภาพการรับรู้เหตุการณ์ของสังคมไทยต่อการรัฐประหาร มีความแตกต่างไปจากบริบทการรัฐประหารในเมียนมาอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุ ข้อแตกต่าง รัฐประหารบนเส้นขนานของสองชาติ
คำถามสำคัญของนักวิชาการทั่วโลกคือ เพราะเหตุใดจึงต้องมีการรัฐประหาร ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดก็มีที่นั่งให้แก่กองทัพในกิจการกลไกของรัฐต่างๆ เอาไว้แล้ว และท่าทีของประเทศเมียนมาในสายตาประชาคมโลกกำลังดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมากระทำการรัฐประหารนั้น ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า เป็นเพราะสูตรการคำนวณคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ของกองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ต่อพรรค National League for Democracy (NLD) ที่มีนางอองซานซูจีเป็นผู้นำ โดยสังเกตได้จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมียนมาในปี 2010 ที่พรรค USDP กวาดชัยชนะไปแทบจะทั่วประเทศ คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของจำนวนที่นั่งในทั้งสองสภา แต่พอการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 นั้นกลับพ่ายแพ้ให้แก่ NLD จนเกิดปรากฏการณ์ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ในฐานะ supermajority เหนือพรรค USDP ที่มีอภินิหารทางรัฐธรรมนูญมาช่วยก็ยังพ่ายแพ้ยาวมาจนถึงการเลือกตั้งในปี 2020 จึงอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการรัฐประหาร
ประการต่อมาคือกองทัพมองว่านางอองซานซูจี กำลังนำเมียนมาไปสู่ความอันตรายในการเมืองโลกอย่างการนำชาติตะวันตกเข้ามาสังเกตการณ์สิ่งที่กองทัพกระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และความล่าช้าในการจัดการกับปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับท่าทีของกลุ่มชาติพันธ์ุบางกลุ่มที่ต้องการความเด็ดขาดและแน่นอนจากรัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลพลเรือนในข้อตกลงต่างๆ
ประการสุดท้ายนั้น เป็นเพราะ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้กระทำการรัฐประหารเมียนมาในครั้งนี้ใกล้เกษียณอายุราชการเต็มที ซึ่งแต่เดิมนั้นเมียนมาไม่มีกฎการเกษียณอายุราชการของตำแหน่งระดับสูงในกองทัพมาก่อนจนกระทั่งเกิดการปฏิรูปในปี 2014 เพื่อทำให้กองทัพตะมะดอมีความเป็นมาตรฐาน (Standard Army)
ขณะที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ได้กล่าวว่า เป็นเพราะเมียนมาไม่มีสถาบันรองรับหลังจากการลงจากอำนาจเหมือนอย่างในไทย การ ‘ตกจากที่สูง’ จึงเจ็บหนักกว่า และทำให้ผู้นำทางทหารต้องหาทางออกอื่น ซึ่งอาจจะหมายถึงการกระทำรัฐประหาร เป็นต้น
โดยปัจจัยที่ทำให้การรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองของกองทัพเมียนมาแตกต่างจากกองทัพไทยนั้นนอกจากสาเหตุแล้ว สุภลักษณ์ ยังได้กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องของการที่กองทัพเมียนมานั้นอยู่บนจุดสูงสุดของพีระมิดทางสังคมการเมืองของเมียนมาแล้ว การมีอุปกรณ์ กำลังคน ที่พร้อมจะกระทำการรัฐประหารและเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมือง (decision making) ด้วยตนเอง การที่สังคมชนชั้นสูง (elite) ของเมียนมายังมีจำนวนน้อยและไม่ซับซ้อนเท่าสังคมในประเทศไทย ก็ทำให้การกระทำรัฐประหารหรือการตกลงผลประโยชน์ใดๆ นั้นสะดวกสบายกว่ามาก รวมไปถึงการที่ภาคประชาสังคม (civil society) ของเมียนมามีความอ่อนแอและเพิ่งเริ่มก่อตั้งอย่างจริงจังได้ไม่นาน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของไทยที่ภาคประชาสังคมไทยนั้นมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองมาอย่างยาวนานแล้ว ก็ทำให้การกระทำการรัฐประหารเป็นเรื่องง่ายเสียยิ่งกว่ามาก
ผลกระทบสู่ไทย ข้อคิดที่น่าจับตามอง
ผศ.ดร.มล.พินิตพันธ์ุ บริพัตร กล่าวว่า การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำรัฐประหารในสถานการณ์ปกติ แต่เป็นการกระทำรัฐประหารภายใต้บริบทของสถานการณ์โรคระบาดอย่างไวรัส COVID-19 ที่เป็นปัญหาข้ามพรมแดน ดังนั้นการทำรัฐประหารที่จะนำไปสู่การชุมนุมประท้วง หรือการใช้ความรุนแรงจนอาจจะต้องเกิดการอพยพนั้น จะส่งผลโดยตรงกับมาตรการการควบคุมโรคระหว่างเมียนมาและประเทศไทยเป็นแน่ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็น cost ที่อันตรายต่อภูมิภาค
สิ่งที่ไทยควรจะทำในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านตามคำกล่าวของ ผศ.ดร.มล.พินิตพันธ์ุ คือการดึงเมียนมามาสู่เวทีการเจรจาบนองค์การ ASEAN เนื่องจากในขณะนี้เมียนมากำลังจะเข้าสู่การเป็นเวทีประลองกำลังของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ซึ่งการกระทำทางการทูตของเมียนมาจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากสหรัฐหลังการเลือกตั้งที่ได้ นายโจ ไบเดน มาเป็นผู้นำแล้วนั้นก็อาจจะยังไม่ได้เข้ามาสนใจเมียนมาเป็นความสำคัญอันดับแรก
ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่นั้นก็มีเมียนมาอยู่ภายใต้แผนการ One Belt One Road และเป็นเส้นทางการวางท่อพลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงเวทีโลกอื่นๆ ก็อาจจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ยากเนื่องจากหากสหรัฐถอนการสนับสนุนเมียนมา ชาติยุโรปซึ่งมีประวัติศาสตร์การคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมามาอย่างยาวนานนั้นก็จะดำเนินการตาม ประกอบกับท่าทีของทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมานั้น ASEAN จึงจะเป็นเวทีทางการเมืองที่เป็นมิตรกับเมียนมามากที่สุด และไทยในฐานะบทบาทสำคัญขององค์การ ASEAN เองก็ควรเป็นผู้จัดการกิจกรรมดังกล่าว หากไม่ติดสภาพปัญหาปัจจัยภายในอื่นๆ ของบ้านเราเอง
ดังนั้นการรัฐประหารในเมียนมา รัฐบาลไทยคงไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยและทำเป็นไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้ สิ่งที่ทำได้นั้นไม่ใช่การรอคอยให้กองทัพเมียนมา ‘กระทำตามสัญญา’ แล้วคืนอำนาจ เพราะบทเรียนจากหน้าประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเข้ามาของกองทัพมักจะกินเวลาที่ยาวนานกว่าที่ให้สัญญา และมีการเสียเลือดเสียเนื้อจากความรุนแรงและสภาวะฉุกเฉินเสมอ ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่จบดีนัก
สิ่งที่รัฐบาลไทยอาจจะกระทำได้หรือควรกระทำ อาจจะเป็นการพยายามดึงเข้าสู่เวทีเจรจา และหาทางระงับผลกระทบที่กำลังบานปลายไปทั่วภูมิภาคก่อนที่ความโกลาหลจะลุกลามเกินควบคุมมากไปกว่านี้ เพราะจากหลายวันที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารและภาพการลุกขึ้นมา uprising ของประชาชนนั้น นักวิชาการทั่วโลกได้ลงความเห็นไปในทางเดียวกันแล้วว่า “ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้กำลังนับถอยหลังสู่จุดจบ แต่มันแค่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น”
ที่มา
งานเสวนาวิชาการ ‘รัฐประหารเมียนมา: กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย?’ โดย สถาบันวิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์มติชน