18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (The International Organization for Migration: IOM) กำหนดให้เป็น ‘วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล’ เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่ควรทำตามสามัญสำนึกแล้ว การดูแลสุขภาพตลอดจนความเป็นอยู่ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ
IOM ระบุว่า ในปี 2021 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การอพยพและทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (internally displaced) กว่า 59 ล้านคน และหากนับตั้งแต่ปี 2014 มีผู้เสียชีวิตบนเส้นทางการอพยพทั่วโลกกว่า 50,000 คน และมีผู้พลัดถิ่น (displaced people) ทั่วโลกกว่า 103 ล้านคน เมื่อกลางปี 2022 ผ่านมา
จากภูมิลำเนาบ้านเกิด สู่ท้องถนนลาดยาง คอนกรีต ลูกรัง ทางดิน ป่าเขา และแม่น้ำ จวบจนถนนอีกฟากฝั่งของประเทศ พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายรายทางยิ่งกว่านักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก แต่ใครเล่าจะอยากจ่ายค่าเดินทางแพงๆ เพื่อความทุกข์ที่ตนไม่มีสิทธิ์เลือก
ข้าราชการครู อาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) เพื่อต่อต้านรัฐประหารเมียนมาคือหนึ่งในผู้อพยพกลุ่มใหม่ และประหนึ่งแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความมั่งคงทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อความอยู่รอด แลกกับความยากลำบากในเส้นทางชีวิต เข้าข่ายสุภาษิต ‘หนีเสือปะจระเข้’
หนีร้อนและหนีเสือ
1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมารัฐประหารรัฐบาลพลเรือน พร้อมทั้งควบคุมตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ วิน มยิ้น ประธานาธิบดี รวมถึงผู้นำระดับสูงของพรร NLD ด้วยข้ออ้างการทุจริตเลือกตั้งและผดุงเอกภาพให้ประเทศ การต่อต้านของประชาชนจึงเกิดขึ้นทันควัน ไล่ตั้งแต่การเคาะถ้วยถังกะละมังชามไห การประท้วงหยุดงาน ตลอดจนการจับอาวุธสู้ของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF)
3 กุมภาพันธ์ 2021 บุคลากรทางการแพทย์ในเมียนมาเริ่มทำอารยขัดขืนต่อต้านการรัฐประหาร ก่อนขยายไปยังกลุ่มอาชีพอื่นๆ
22 กุมภาพันธ์ 2021 เหตุการณ์ ‘22222’ ปรากฏคนจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศ มีการนัดหยุดงาน บอยคอตสินค้าที่มีเจ้าของเป็นกองทัพ แห่ถอนเงินในธนาคารของกองทัพ และอื่นๆ ที่ส่งผลให้การทำงานของหน่วยงานรัฐต้องหยุดชะงักทันที
24 กุมภาพันธ์ 2021 ไทยเป็นชาติแรกในโลกที่ให้การต้อนรับตัวแทนทางการทูตของคณะรัฐประหารเมียนมาในนามสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC)
ปลายปี 2021 รัฐบาลเผด็จการเมียนมาเริ่มมีการจับกุมผู้เข้าร่วมขบวนการ CDM ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งและสำนักงานหนังสือเดินทาง มีรายงานดำเนินคดีทางอาญาอย่างน้อย 25 คดีกับคนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาถูกขึ้นบัญชีดำ และถูกบังคับให้ออกจากหน่วยงานรัฐ พร้อมกันนั้น รัฐบาลทหารยังส่งรายชื่ออดีตข้าราชการ CDM ไปตามภาคธุรกิจต่างๆ และขู่ว่าหากรับผู้ที่มีรายชื่อเหล่านี้จะถูกปิดกิจการ อดีตข้าราชการ CDM จำนวนไม่น้อยจึงหลบหนีออกนอกประเทศแบบผิดกฎหมาย เพื่อหางานทำเลี้ยงปากท้อง
โก เมียว (Ko Myo – นามสมมุติ) กล่าวกับ Frontier Myanmar ว่า เขาเข้าร่วม CDM และถูกไล่ออกจากงานในกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน เขาจึงสมัครงานกับบริษัทไทยในเมียนมา
“ผมผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก รอบสองถูกถามว่าทำไมถึงลาออกจากตำแหน่งข้าราชการ ผมอธิบายว่าไม่ต้องการทำงานในสภาทหาร (military council) พวกเขาบอกว่าจะติดต่อกลับภายในหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผมได้รับโทรศัพท์จากบริษัท แจ้งว่าไม่สามารถรับผมเข้าทำงานได้ เพราะเคยเป็น CDM และถูกไล่ออกโดยกองทัพ” โก เมียว กล่าว
ส่วน หม่า เมียต (Ma Myat – นามสมมุติ) ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโทที่ไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาทหารได้ส่งบัญชีดำผู้เข้าร่วมขบวนการ CDM ไปยังบริษัทมากกว่า 40 แห่ง รวมทั้งบริษัทไทย จีน และญี่ปุ่น
“เจ้าหน้าที่ CDM ที่พยายามหางาน ควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่อยู่ในรายชื่อนั้นด้วย” หม่า เมียต กล่าว
สอดคล้องกับเสียงของผู้ร่วมขบวนการ CDM รายหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่กล่าวว่า ข้าราชการครูที่เข้าร่วม CDM ล้วนถูกยึดใบประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบการและบริษัทเอกชนจึงไม่กล้ารับเข้าทำงานเพราะมีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำ ซ้ำร้ายยังทำพาสปอร์ตไม่ได้ หนทางเดียวคือต้องออกนอกประเทศแบบผิดกฎหมายและต้องเดินทางหลบหนีอย่างทุลักทุเล
เสียงจำนวนไม่น้อยวาดหวังว่า หากได้งานทำและเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จะส่งเงินส่วนหนึ่งให้กลุ่ม PDF เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา
“ฉันไม่ถนัดจับอาวุธสู้ จึงต้องหาทางสู้ด้วยวิธีอื่น” ครูผู้เข้าร่วม CDM บอกกับเรา แววตาของเธอสะท้อนประกายความกังวลไม่น้อย
กล่าวได้ว่า พวกเขาเสมือนผู้ลี้ภัยที่กลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติ โดยที่นโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติของไทยก็มีปัญหาในตัวเองไม่น้อย
มติ ครม. วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (การอนุญาตให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มี ‘สถานะไม่ถูกต้อง’ ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถมาลงทะเบียนได้) สะท้อนความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะช่วยคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ประสงค์ทำงานสามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่การลงทะเบียนก็มีค่าใช้จ่ายและเป็นเพียงการ ‘จอง’ สิทธิเท่านั้น คำถามคือ เป็นความพยายามที่เพียงพอและเปิดช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์หรือไม่
เดิมที แรงงานเมียนมาถูกกฎหมายตามข้อกำหนด MOU ระหว่างรัฐบาลไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ต้องดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าหรือบริษัทระหว่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายราว 40,000-50,000 บาทต่อคน การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงได้รับความนิยมมากว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายเพียง 8,000-10,000 บาทต่อคน
สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ Labour Protection Network (LPN) บอกกับ บีบีซีไทย ว่า มติ ครม. แกมบังคับว่าแรงงานเหล่านี้ต้องมีนายจ้างก่อน ทำให้การจ้างงานกลุ่มคนต่างด้าวยังมีสภาพเป็นสุญญากาศอยู่ และกลายเป็นช่องว่างให้แรงงานถูกเอาเปรียบได้
จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้อพยพหรือแรงงานกลุ่มใหม่จาก CDM บางคนยังไม่มีงานทำหลังจ่ายค่านายหน้าไปแล้วกว่า 6 เดือน และตัวเลขค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงค่านายหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมค่าหลบหนีในเมียนมา ค่าข้ามแดน ค่านายหน้าหางานในไทย รวมกว่า 70,000-80,000 บาท โดยยังไม่รวมดอกเบี้ยสำหรับเงินที่กู้มาเพื่อหลบหนีและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ต้องแบกรับไปเรื่อยๆ หากไม่มีงานทำ และย้ำอีกครั้งว่า ตัวเลขเฉียดแสนคือค่าใช้จ่ายในการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย
แม้ว่ากระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และทางการเมียนมาจะตั้งศูนย์ ‘พิจารณา’ อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงานและออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตั้งแต่ 10 มกราคม ถึง 1 สิงหาคม 2565 (ตามมติ ครม. 13 กรกฎาคม 2564) แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าคนกลุ่มนี้จะมีงานทำ มากไปกว่านั้น กรอบเวลาข้างต้น อาจทำให้ผู้อพยพหลังวันดังกล่าวถูกจำกัดสิทธิในการทำงานและสวัสดิภาพชีวิตไปอีกขึ้นหนึ่ง
“เรารู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง” ครูผู้เข้าร่วม CDM บอกกับเราภายใต้ชายคาของสำนักงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrants Worker Right Network: MWRN) เธอยอมรับว่ารู้สึกท้อใจที่ต้องมาทำงานโรงงานปลากระป๋อง แต่เมื่อคิดได้ว่า สักวันหนึ่งทุกอย่างจะเป็นปกติและเมื่อเธอได้กลับบ้าน การทำในสิ่งที่ไม่ถนัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นอาจช่วยให้เธอมีหวังต่อไป
ขณะที่อีกเสียงของอดีตตำรวจเมียนมาบอกเพิ่มเติมว่า รัฐไทยควรยอมรับสถานะรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา และชีวิตความเป็นอยู่ของคนพลัดถิ่นกลุ่ม CDM จะดีขึ้นโดยปริยาย พร้อมเสนอว่า ถึงเวลาที่รัฐไทยควรออกนโยบายบางอย่างให้ผู้ลี้ภัยแล้วหรือไม่
“ชาวเมียนมายอมรับรัฐบาลพลัดถิ่นมากกว่ารัฐบาลเผด็จการเมียนมา” อดีตตำรวจผู้เข้าร่วม CDM กล่าว
พึ่งเย็นและปะจระเข้
ข้อมูลจาก UNHCR Thailand Multi-Country Office ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า ไทยมีผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น 90,759 คน และการที่ไทยยังไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย จึงทำให้ข้อถกเถียงที่ว่า มีผู้ได้รับประโยชน์จากความคลุมเครือเป็นความจริงต่อไป
“เขาไม่อยากให้คนลี้ภัยเข้ามาเยอะ” เจ้าหน้าที่จาก MWRN เล่าคำตอบหนึ่งที่มักได้ยินเสมอจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย เมื่อถูกถามว่าเหตุใดจึงไม่รับรองสิทธิผู้ลี้ภัย
กล่าวได้ว่า สถานะและนิยามของ ‘ผู้พักพิงชั่วคราว’ สามารถเลื่อนไหลไปตามผู้มีอำนาจและสามารถส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับได้ ฉะนั้น คนกลุ่มนี้และแรงงานต่างชาติกลุ่มใหม่อื่นๆ จึงเสมือนความหอมหวานของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการเก็บส่วย ชีวิตความเป็นอยู่จึงต้องพึ่งพาระบบใต้ดิน โควต้าใต้พรม และการพึ่งพาจากแรงงานเมียนมาที่อยู่มาก่อนหน้า ถึงที่สุดแล้ว การทำให้แรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย รัฐไทยก็เป็นผู้ได้ประโยชน์ ได้รับเงินเพิ่ม ทั้งยังทำให้นายหน้ามีช่องทางหาเงินและสามารถ ‘ชักดาบ’ หนีได้โดยลอยนวลพ้นผิด
คนเมียนมาที่สามารถสื่อสารภาษาไทยและสนิทกับตำรวจส่วนหนึ่ง จึงเป็นคนที่น่ากลัวไม่แพ้เผด็จการทหาร แต่หากรัฐไทยสามารถอุดช่องโหว่ได้ ก็อาจไม่ต้องกล้ำกลืนทำตัว ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ กระนั้น นโยบายที่ขาดความชัดเจนและไม่ครอบคลุมสวัสดิการสุขภาพ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยต้องหาช่องทางเข้าถึงระบบสุขภาพด้วยตนเอง จนเกิดขบวนการซื้อขายบัตรประชาชนปลอมของคนไทยโดยคนไทยเอง สิ่งนี้จึงสะท้อนการหนีเสือปะจระเข้ได้อย่างเห็นภาพชัดแจ้งขึ้น
แม้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 รัฐบาลเมียนมาจะนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง 5,774 คน แต่สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ตั้งข้อสังเกตว่า การปล่อยตัวเป็นไปเพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองระดับประเทศเท่านั้น
“การปล่อยนักโทษการเมือง ไม่ควรเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเมียนมา”
ในร่มเงาของสำนักงานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เข้าร่วม CDM เพิ่มเติมประเด็นข้างต้น ก่อนกล่าวต่อไปว่า “เราต้องการอิสรภาพ”
ขณะที่ผู้อพยพอีกคนหนึ่งเสริมประเด็นดังกล่าว รวมถึงความรุนแรงภายในเมียนมาอย่างน่าสนใจว่า
- นักโทษที่ถูกปล่อยออกมานั้น ต้องเซ็นยินยอมว่าจะไม่พูดเรื่องการเมือง และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดน้อยลงในเขตเมืองเท่านั้น เพราะแถบชนบทยังมีการสู้รบต่อไป
- คนเมียนมาเข้าใจและโอบรับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น แต่การสนับสนุนจากต่างชาติกลับน้อยลง และเสียงของความขัดแย้งรุนแรงดูจะไม่เท่ากับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- ไม่เพียงความรุนแรงจากทหาร แต่หลังเลือกตั้งทั้วไปในปี 2015 ที่พรรค NLD ชนะ การสู้รบในรัฐคะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธ์ุสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับแต่นั้น
จากข้อสังเกตข้างต้น ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงไม่สามารถปฏิเสธความซับซ้อนของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศข้างเคียง ทั้งยังไม่ควรเบือนหน้าหนีข้อเท็จจริงที่ว่า มีคนบางกลุ่มหาประโยชน์จากความทุกข์ร้อนนี้
ล่าสุด (14 ธันวาคม 2022) AAPP ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพเมียนมาสะสมกว่า 2,589 คน มีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 13,082 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกตัดสินได้รับโทษ 1,714 คน ถูกประหารชีวิตไปแล้วกว่า 97 คน มีการพิพากษาคดีลับหลังจำเลย (sentenced in absentia) 121 คน ซึ่ง 42 คนในจำนวนนี้ ถูกตัดสินประหารชีวิต ทำให้มีผู้ได้รับโทษประหารชีวิตทั้งหมด 139 คน
ถึงอย่างไร AAPP ย้ำว่า ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจมีแนวโน้มจะสูงกว่านี้
ในภาพกว้าง เศรษฐกิจของเมียนมากำลังตกต่ำ ค่าเงิน ระบบสาธารณสุข และการศึกษาของประเทศพังทลาย รวมถึงมีการคาดการณ์ว่า อัตราความยากจนจะเพิ่มเป็น 2 เท่า นับแต่ปี 2019 และครึ่งหนึ่งของภาคครัวเรือนไม่มีกำลังซื้ออาหารเลี้ยงปากท้อง แต่บรรดานายพลในเครื่องแบบงามสง่ากลับเชื่อมั่นว่าพวกเขาช่วยให้ประเทศไม่ตกหน้าผาทั้งโขยง
ท่ามกลางความขัดแย้งมากมาย เมียนมาไม่สามารถแย่งสปอตไลต์จากเวทีโลกได้ ซึ่งแม้ประชาคมโลกจะมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อกองทัพเมียนมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยธรรมจะต้องลดน้อยถอยร่นตามลงไป
อย่างไรก็ดี แม้ความพยายามทางการทูตของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะได้ อย่างน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งได้ให้สัมภาษณ์กับ Frontier Myanmar ว่า ผู้เข้าร่วม CDM ไม่จำเป็นต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงที่พวกเขาสังกัดก่อนออกเดินทาง
“หากผู้เข้าร่วม CDM ไม่มีจดหมายแนะนำจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พวกเขาก็ต้องหันหลังกลับ และบางคนก็จะถูกกองทัพนำตัวไปสอบปากคำ”
อ้างอิง
- IOM. (2022). INTERNATIONAL MIGRANTS DAY 2022 https://www.iom.int/international-migrants-day-2022
- ลลิตา หาญวงษ์. (2022). รัฐประหารเมียนมา: 1 ปีผ่านกับงานการทูตที่ไทยเลือกแสดง https://www.bbc.com/thai/60163964
- ประชาไท. (2021). มองอุปสรรค 5 ข้อของขบวนการ CDM ในพม่า https://prachatai.com/journal/2021/03/92074
- THECITIZEN.PLUS. (2021). กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องไทย-ชาติอาเซียนไม่รับรองรัฐบาลทหารพม่า https://thecitizen.plus/node/41512
- FRONTIER. (2022). Striking civil servants still face regime’s wrath, 18 months on https://www.frontiermyanmar.net/en/striking-civil-servants-still-face-regimes-wrath-18-months-on/
- นรากร ศรีเที่ยง. (2564). แรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสัวดิการด้านสุขภาพในรัฐไทย: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติ จังหวัดสมุทรสาคร https://www.amnesty.or.th/latest/blog/921/
- PPTV Online. (2565). “เมียนมา” ปล่อยตัวนักโทษกว่า 6,000 คน รวมชาวต่างชาติ เนื่องในวันชาติ https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/184904
- AAPP. n.d., Daily Briefing in Relation to the Military Coup https://aappb.org/?lang=en#:~:text=Updated%2020%20January%202022,killed%20by%20this%20junta%20coup.
- Comfort Ero and Richard Atwood. (2021). 10 Conflicts to Watch in 2022 https://www.crisisgroup.org/global/10-conflicts-watch-2022