13.30 น. ของวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวกรณีกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คน ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้ตามข้อกำหนดพรรคข้อที่ 15 (3) และตามข้อบังคับพรรค ข้อที่ 15 วรรค 3 กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องสิ้นสุด เหลือเพียงตำแหน่งรักษาการ และที่ประชุมพรรคต้องมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นทำหน้าที่
กรณีนี้สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีกระแสข่าวอย่างหนักว่า ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรรมการบริหารจากปีกของ ‘กลุ่มสามมิตร’ ต้องการกดดันให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐอยู่แล้วให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นเลขาธิการพรรค
เรื่องนี้มาชัดเจนยิ่งขึ้นหลังการปภิปรายและลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพียง 1 วัน ที่สุดกระแสข่าวการลาออกของกรรมการบริหารพรรคเกินกึ่งหนึ่งก็เป็นจริง ทั้งนี้การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ยังไม่มีการกำหนดวันแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายในกรอบ 45 วันตามกฎหมาย
สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรค ที่ลาออก 18 คน ประกอบด้วย
- นายสันติ พร้อมพัฒน์
- นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- นายสุพล ฟองงาม
- นายธรรมนัส พรหมเผ่า
- นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์
- นายไผ่ ลิกค์
- นายนิโรธ สุนทรเลขา
- นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ
- นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
- นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์
- นายชาญวิทย์ วิภูศิริ
- นายสกลธี ภัททิยกุล
- นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์
- นายสุรชาติ ศรีบุศกร
- นายนิพันธ์ ศิริธร
- นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
- นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
พรรคพลังประชารัฐนับเป็นพรรคการเมืองที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นโมเดลที่แตกต่างออกไปจากพรรคที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารในอดีต เช่น พรรคสหประชาไท (2514) พรรคสามัคคีธรรม (2535) นั่นคือมีพลังของทุนใหญ่หนุนหลังมหาศาล จนสามารถรวบรวม สส. ได้จำนวนมาก
อีกทั้งภายใต้กติกาการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรญ 2560 ยังเอื้อให้มีการแตกพรรคได้ง่าย รวมถึงการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้พรรคใหญ่ในระบบอ่อนแอ ดังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ กลุ่มตระกูลการเมืองกลับมามีบทบาทนำ เช่น กลุ่มกำแพงเพชร กลุ่มชลบุรี กลุ่มเพชรบูรณ์ เป็นต้น
พรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรวบรวมผู้แทนจากหลายกลุ่มหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตระกูลการเมืองที่มีความสำคัญกับการเมืองในอดีต ซึ่งมีฐานเสียงและเครือข่ายท้องถิ่นแน่นหนา
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ จึงมิได้เป็นเพียงภาพของพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ยังสะท้อนภาพใหญ่ของการเมืองรัฐสภาไทยในยุคที่สืบเนื่องจากรัฐบาล คสช.
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมจากรายงานเรื่อง ‘6 ปีรัฐประหาร 57: การคืนชีพของการเมืองกลุ่มก๊กที่มีอภิชนาธิปไตยคุมเกม’