เปิดตัวแคมเปญ ‘สว. ชุดใหม่ Thailand-Select’ วิเคราะห์เจาะลึกการเลือก สว. 2567 โดยเครือมติชนและ WAY พร้อมเปิดพื้นที่พูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร

บ่ายวันนี้ (30 เมษายน 2567) มติชนแถลงข่าวแคมเปญ ‘สว. ชุดใหม่ Thailand-Select’ ผนึกกำลังสื่อในเครือมติชน และ WAY ร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ วิเคราะห์ เจาะลึกกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ครบทุกมิติ โดยมีว่าที่ผู้สมัคร สว. มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นกติกาอันบิดเบี้ยว และความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 อาคารข่าวสด 

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดแคมเปญว่า เนื่องจากกระบวนการเลือก สว. ครั้งนี้จำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น มีเวทีในการแสดงออกของภาคประชาชนน้อยมาก จึงต้องการเปิดพื้นที่ให้การเลือก สว. ที่เงียบที่สุดครั้งนี้แปรเปลี่ยนเป็นเสียงที่ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้พื้นที่สื่อเป็นเวทีในการพูดคุย รวมถึงเป็นการเดินหน้าต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน

จากนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงระเบียบ กกต. ที่เป็นปัญหาที่สุดอย่างหนึ่งคือ ระเบียบว่าด้วยเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัครซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนจะขยายจากระเบียบเดิมที่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้ 5 บรรทัด เป็น 2 หน้ากระดาษ A4 เผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ใช้สำหรับส่งให้ผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น 

สมชัยยังแสดงความเห็นว่า ข้อห้ามต่างๆ ในระเบียบของ กกต. โดยเฉพาะเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร ห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อ และห้ามหาเสียงให้ประชาชนรู้จัก เป็นข้อห้ามที่แย่ที่สุด เพราะทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เป็นการเลือกกันเองในที่มืด

ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนภาคประชาชนจาก iLaw ระบุว่า รัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่า สว. จะต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ดังนั้นการเลือกกันเองในคนกลุ่มเล็กๆ จึงไม่ใช่กระบวนการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน และเน้นย้ำว่า ประชาชนมีเวลาพูดเรื่องนี้ราว 10 กว่าวัน ก่อนที่พระราชกฤษฎีกาจะบังคับใช้และทุกอย่างจะเงียบงัน จึงอยากเห็นสื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันกระจายข่าวและส่งต่อความสำคัญของเรื่องนี้ไปให้ได้ไกลที่สุด

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณี กกต. ห้ามผู้สมัคร สว. แนะนำตัวหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อ ยืนยันว่า กกต. ไม่มีอำนาจออกระเบียบข้อห้ามลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดหลักการและขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. กลุ่มอาชีพสื่อมวลชน ได้แสดงข้อวิจารณ์ถึงการแบ่งกลุ่มอาชีพที่ไม่ยุติธรรม โดยได้ยกตัวอย่างการกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านพลังงาน มาอยู่กลุ่มเดียวกัน ซึ่งจีรนุชตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งกลุ่มลักษณะนี้อาจทำให้ตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนที่จะได้เป็น สว. น้อยกว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจพลังงาน

“อีกกรณีคือการแบ่งกลุ่มให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์อยู่กลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นกติกาที่ไม่แฟร์ ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเราจะได้ตัวแทนคนจาก 3 กลุ่มนี้อย่างเพียงพอ” จีรนุชกล่าว

นอกจากนี้อดีต สว. ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. คนอื่นๆ ร่วมกันแสดงความเห็นและตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า กติกาที่บิดเบี้ยวในการเลือก สว. ครั้งนี้ กำลังทำให้กระบวนการได้มาซึ่ง สว. เงียบงัน 

ต่อมา วงสนทนาหัวข้อ ‘การเลือก สว. ครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงประเทศ และนำมาสู่อะไรบ้าง’ โดย อธึกกิต แสวงสุข หรือ ‘ใบตองแห้ง’ และศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ ร่วมแสดงทัศนะในประเด็นนี้ว่า สว. ชุดใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผ่านกฎหมายมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งจะต้องถกเถียงกันต่อว่าจะให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ดังนั้น ประชาชนจึงต้องการเสียงของ สว. เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น

“คนที่ก้าวเข้าไปเป็น สว. ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยต้องมีความเด็ดเดี่ยว ต้องเปิดกว้างให้ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก สว. และล้มกติกาที่ไม่เป็นธรรม” อธึกกิตกล่าว 

ด้านศิโรฒน์ กล่าวว่า การเลือก สว. ครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้มีอำนาจต้องการให้การเลือกครั้งนี้เงียบที่สุด เพราะรับรู้ว่าสังคมมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีคนรุ่นใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา 

ความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนอยากเห็นคือ สว. จากภาคประชาชนที่จะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะ สว. คือหนึ่งในองค์ประกอบของสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจมากในประเทศ

เสียงจากผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. หลายคนสะท้อนว่า ความพยายามของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อกระบวนเลือก สว. ครั้งนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆ ทางการเมืองคลี่คลายลงได้ และหลังจากนี้รูปร่างหน้าตาขององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ สว. ชุดใหม่นี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสาร บทวิเคราะห์เจาะลึกในกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ ที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครบทุกมิติ ผ่านรายการสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตโดยสื่อในเครือมติชนร่วมกับ WAY ซึ่งจะเผยแพร่ผ่านทุกแพลตฟอร์มของมติชน 

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า