Senator For Change: ศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน นักวิชาการ เปิดหน้าชน กกต. พร้อมลงสมัคร สว. เปลี่ยนประเทศไทย

กลุ่มศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน และนักวิชาการ ได้ร่วมจัดงาน ‘Senator For Change เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน’ ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อแนะนำตัวในการลงสมัครคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประจำปี 2567 แทน สว. ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หลังดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 5 ปี จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

งานเปิดตัวในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการอ่านบทกวีโดย รอนฝัน ตะวันเศร้า ที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของกลไกการเมืองไทย ที่ชนชั้นนำไทยมองประชาชนดั่งเช่นแมลง แต่พวกเขาก็ยังคงยืนหลังตรง แข็งขืนต่อต้านความไม่เป็นประชาธิปไตย และกาลเวลาจะอยู่ข้างประชาชน 

ย้อนรอย สว. ไทย ประวัติศาสตร์นั่งร้านเผด็จการ

จากนั้นมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘เหลียวหลังแลหน้า วุฒิสภาไทย เอาอย่างไรกันต่อดี’ โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนดูมิติทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาของวุฒิสภาไทยตั้งแต่ การรัฐประหาร 2490 ถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.ประจักษ์ ได้พาผู้เข้าร่วมงานย้อนเวลาหาอดีตเพื่อสำรวจที่ไปที่มาของ สว. โดยฉายภาพให้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญกลเกมของชนชั้นนำไทยที่กำลังฉุดรั้ง ขัดขวาง และทำลายประชาธิปไตย ด้วยการ 1) เปลี่ยนกติกา (changing rules) 2) คุมควบกรรมการ (capturing referees) และ 3) ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอ (sidelining opposition) โดยการรัฐประหารเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตย รศ.ดร.ประจักษ์ยํ้าว่า สว. คือข้อต่อสำคัญในเกมของชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่เชื่อมกลเกมทั้ง 3 แบบเข้าด้วยกัน เพราะ สว. มีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดกลไกเหล่านี้มาโดยตลอดเวลา 

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต ประวัติศาสตร์สมาชิกวุฒิสภาของไทยค่อนข้างมีความซับซ้อน ผันผวนไปตามระดับความเป็นประชาธิปไตย โดย สว. ของไทยส่วนใหญ่มีลักษณะหน้าที่ดังนี้

1) คํ้าจุนระบอบอำนาจนิยมมากกว่าระบอบประชาธิปไตย

2) พิทักษ์รักษาระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำกลุ่มน้อย (minority elite) เป็นผู้พิทักษ์รักษา (guardian) ให้ระบบระเบียบของชนชั้นนำยังคงอยู่ ผ่านเครือข่ายอุปถัมป์ขนาดใหญ่

3) สว. ไม่ได้ถูกออกแบบให้ตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล (ยกเว้นรัฐธรรมนูญ 2540) แต่เป็นส่วนขยายของรัฐบาล คํ้าจุนรัฐบาล

ด้วยลักษณะอันเด่นชัดของการมี สว. เช่นนี้ นำมาสู่ข้อถกเถียงทางการเมืองว่าประเทศไทยควรมี สว. หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาในช่วงระหว่างปี 2475-2489 รัฐสภาของไทยมีลักษณะเป็นสภาเดี่ยว ไม่มี สว. แต่ภายหลัง นายปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ สว. หรือ ‘พฤฒิสภา’ มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เพื่อเป็น ‘สภาพี่เลี้ยง’ ของ สส. ในการกลั่นกรองกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็เป็นการแสดงออกว่าด้วยความไม่ไว้วางใจต่อ สส. และราษฎร 

ภายหลังการรัฐประหาร 2490 สว. มาจากการแต่งตั้งครั้งแรก มีอำนาจทางการเมืองอย่างสูง ผ่านมาจนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร สว. ได้รับอำนาจมากขึ้นเพราะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ขณะที่ สว. ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 สว. ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นทหาร สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เลือกนายกฯ ได้ รวมไปถึงเสนอชื่อนายกฯ ได้ มากไปกว่านั้น มีการกำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งทำให้ยิ่งมีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร

ความเปลี่ยนแปลงไปสู่บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยภายหลังปี 2535 ทำให้ สว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สว. มีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย ถ่วงดุลอำนาจ และสรรหาองค์กรอิสระ ซึ่งจุดนี้เองอาจเป็นหนึ่งในปัญหา เพราะหากหน้าตาของ สว. เป็นอย่างไร องค์กรอิสระก็จะเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายหลังการรัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำหนดให้ สว. มาจากการเลือกตั้งและสรรหาอย่างละครึ่ง จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ที่มาของ สว. กลายเป็น ‘สูตรพิสดาร’ ย้อนเวลาหาอดีตไปสู่ยุคถนอม อีกทั้งยังมีความชัดเจนมากกว่ายุคถนอมและยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเสียอีก กล่าวคือ มีการกำหนดหน้าที่ของ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจนในตัวบทกฎหมาย 

สว. ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงนี้ มีที่มาจากความพยายามในการบิดเบือนกลไกในระบอบประชาธิปไตย เพื่อรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า 1) ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ชนชั้นนำควบคุมได้ (corporatism) 2) เปลี่ยนจากการเลือกตั้งเป็นเลือกสรร (จาก election เปลี่ยนเป็น selection) กีดกันประชาชนออกจากสมการ (selectorate) และ 3) การดึงพวกพ้องเข้ามายึดกุม (co-potation) 

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ชนชั้นนำอนุรักษนิยมยังคงต้องการกลไกวุฒิสภาไว้คํ้าจุนอำนาจของตนเอง แม้ว่าในวันที่ผู้อำนาจไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว แต่กลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยังคงอยู่ เหมือนมีพินัยกรรมที่เขียนให้ สว. เป็นผู้รักษาพินัยกรรม 

รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ไปถึงบทเรียนว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร มักจะทำให้ สว. มีอำนาจมากและมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ยิ่งวงแคบมากเท่าไร ยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น และเน้นการสืบทอดอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำให้เกิดคำถามว่า เรายังควรมี สว. อยู่อีกหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามใหญ่สำหรับทุกคน แต่ตอนนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน และจะต้องตั้งคำถามว่า ถ้ายังคงมี สว. เราควรจะกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างไร 

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าด้วยการกำหนดบทบาทหน้าที่ สว. ต้องอย่าติดในกรอบของการมี สว. ว่าจะต้องเป็นสภาพี่เลี้ยง ราชประชาสมาศัย หรือสภาคนดี แต่จะต้องไปให้ไกลกว่านั้น 

สุดท้ายนี้ การเลือก สว. ชุดใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือ เดิมพันทางการเมืองของประชาชนที่จะต้องเข้าไปแก้กติกาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย สู้ในเกมเพื่อเปลี่ยนเกม เพราะไม่มีคนใดคนหนึ่งที่จะสร้างประชาธิปไตยได้โดยลำพัง 

สว. แต่งตั้ง ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเชิญให้ขึ้นพูดบนเวทีในฐานะผู้เสนอตัวลงสมัครเป็น สว. ในปีนี้ โดยระบุว่าวิธีการที่ได้มาซึ่ง สว. นั้นเป็นการกีดกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความคิดเช่นนี้ล้วนเป็นผลผลิตของความไม่เป็นประชาธิปไตย 

พนัสเสริมว่า ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สส. และ สว. ต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน แต่ในทางตรงกันข้าม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2561 ให้ สว. มาจากการแต่งตั้งด้วยการสรรหา ผลักประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่นนี้ จึงเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 

นอกจากนี้ นายพนัส เตรียมยื่นศาลปกครอง คัดค้านระเบียบแนะนำตัว สว. ว่า กกต. ไม่มีอำนาจ ทำขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผลักประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเลือกผู้แทนปวงชนชาวไทย

ตั้งความหวังเปลี่ยนประเทศด้วย สว. ประชาธิปไตย

วงเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น ‘เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศเปลี่ยน’ โดย ‘จอห์น’ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ตัวแทนคนทำสื่อออนไลน์จาก Spokedark TV ‘ทนายแอน’ ภาวิณี ชุมศรี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ‘แพรว’ แพรวไพลิน กสิวัฒนา Miss Trans Global Thailand 2022 ร่วมแลกเปลี่ยนและฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการมี สว. ภาคประชาชน

“สว. ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสำคัญมาก เพราะเราต้องการจำนวน สว. เข้าไปโหวตแก้รัฐธรรมนูญ เราจะได้ไม่ต้องอยู่ในวังวนของการสืบทอดอำนาจ และสุดท้ายหวังว่าคดีทางการเมืองจะหมดไป มันมีเยอะมาก คดีที่มันไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก อยากเห็นหน้าตาของกติกาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ” ทนายแอนให้ความเห็นในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับคดีทางการเมืองมาโดยตลอด

ทั้งสามคนยืนยันว่าการเลือก สว. ครั้งนี้สำคัญอย่างมากในแง่การพลิกฟื้นประชาธิปไตยให้กลับมาเข้มแข็ง พร้อมกับสร้างรากฐานหลักการให้มั่นคงผ่านกลไกวุฒิสภา เนื่องจากการมีบทบาทในการคุมกติกาส่งผลกับประเทศอย่างมาก

ทางด้านแพรวไพลินในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ กล่าวถึงการแบ่งกลุ่มอาชีพสำหรับการรับสมัคร สว. โดยไม่มีกลุ่ม LGBTQ+ ว่า 

“กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มใหญ่ที่เราไม่สามารถระบุได้เลยว่ามีจำนวนเท่าไร มันไม่น่าขาดไป แล้วจะมีใครเข้าไปบอก สว. ชุดใหม่นี้ได้ว่าคนกลุ่มนี้กำลังต้องการอะไร มีเจตนารมณ์อย่างไร หรืออยากผลักดันอะไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ช่วงท้ายของการเสวนา จอห์นทิ้งท้ายไว้ว่า โอกาสนี้คือการแสดงพลัง และยืนยันเสียงของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เสมือนกับเป็นการแก้เกมของประชาชนอย่างแท้จริง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า