เรื่อง: น้ำหวานครึ่งแก้ว
ภาพ: น้ำหวานครึ่งแก้ว และ กวินทร์
-1-
“อย่าไปเลยนิวเซียม (Newseum) น้องเคยไปแล้วนี่นา ไปอินเตอร์เนชั่นแนล สปายมิวเซียมดีกว่า”
คุณป้าเจ้าของบ้านที่ฉันขอไปอาศัยด้วย ณ วอชิงตัน ดี.ซี. โน้มน้าวให้ฉันเปลี่ยนใจ ฉันเม้มปาก หนักใจ เพราะเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกามีมิวเซียมดีๆ เกินกว่าที่จะเก็บให้หมดในสองวัน
กูเกิลบอกว่า ดี.ซี. มีมิวเซียมกว่า 71 แห่ง (ตัวเลขมีขึ้นๆ ลงๆ ตามนิยามของคำว่ามิวเซียม) และหลายแห่งไม่ต้องเสียค่าเข้า แต่ก็สามารถรับชมงานระดับ ‘สมบัติของโลก’ ได้แบบชิลๆ เช่น งานภาพเพนท์ยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ของโมเนต์ หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ที่สมบูรณ์ราวกับเป็นซีจีจากภาพยนตร์เรื่องจูราสสิคพาร์ค
ทว่า ท่ามกลางมิวเซียมดีๆ เข้าฟรีจากภาษีประชาชนเหล่านี้ นิวเซียมกลับคิดเงินตั้ง 25 เหรียญ!!
แต่ฉันก็พ่ายแพ้ต่อนิวเซียม และยอมจ่ายเงิน (แถมจ่ายให้น้องชายเพื่อให้นางมาเที่ยว) เพราะคำโฆษณาที่นางโปรยไว้ในหน้าเว็บไซต์
“พันธกิจของนิวเซียม… คือการเพิ่มพูนความเข้าใจสาธารณะเกี่ยวกับความสำคัญของเสรีภาพของสื่อและบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 1 (The First Amendment) ผู้เยี่ยมชมจะได้สัมผัสเรื่องราวของข่าว บทบาทของสื่อเสรีในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ และการปรับใช้เสรีภาพที่บัญญัติใน The First Amendment เช่น ศาสนา การแสดงความคิดเห็น สื่อ การชุมนุม และการร้องทุกข์ ในชีวิตของพวกเรา”
ท่ามกลางตึกหน้าตาสมมาตรและเสาทรงกรีกอันแสดงความ ‘บ้ายุโรปยุคสาธารณรัฐโรมัน’ ของเหล่าบิดาผู้สร้างชาติสหรัฐอเมริกา ตึกของนิวเซียมมีหน้าตาดูทันสมัยกว่าเพื่อน ที่เรียงรายหน้าทางเข้านิวเซียม คือ หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐที่ตีพิมพ์ในวันนั้น

หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เรียงรายบนกำแพงหน้าทางเข้านิวเซียม เหมือนทางนิวเซียมจะเลือกหนังสือพิมพ์จากแต่ละรัฐมาอย่างน้อย 1 ฉบับ มาจัดแสดงอยู่ทุกๆ เช้า ข่าวที่เกือบจะอยู่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ คือ ข่าวการตายอย่างมีเงื่อนงำของ เจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินชื่อดังที่เป็นคนรู้จักของทั้งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และ โดนัลด์ ทรัมป์ บางที่ก็ยังรายงานเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐที่เกิดขึ้นติดต่อกันจนน่าใจหายเป็นสกู๊ปเล็กๆ
มีหนังสือพิมพ์ต่างชาติแขวนรวมอยู่ด้วย เพราะฮ่องกงกำลังประท้วงเดือด South China Morning Post สำนักข่าวโปรดของฉันก็เล่าเรื่องการประท้วงอย่างขึงขัง นอกจากที่แสดงอยู่หน้าทางเข้าและชั้น 6 ของพิพิธภัณฑ์ นิวเซียมยังมีพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ให้เข้าไปเช็คหน้าหนึ่งในแต่ละวันของสำนักข่าวรวมแล้วกว่า 700 ฉบับทั่วโลก!
(แต่ไม่มีหนังสือพิมพ์ของไทย… ลืมประเทศมหาอำนาจอย่างเราได้ยังไง! *ทำเสียงฟึดฟัดแบบลุงตู่*)
ฉันโชว์ตั๋วที่ซื้อทางเว็บไซต์ (ข่าวดีคือ ถ้าซื้อตั๋วจากหน้าเว็บของนิวเซียม จะเหลือราคาประมาณ 21 เหรียญ!) ให้เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ เขาให้เราเข้าไปนั่งรอในห้องฉายหนังซึ่งอธิบายว่าเราควรเข้าชมนิวเซียมอย่างไร สิ่งที่เตะตาฉันเป็นอย่างแรกคือ กำแพงเบอร์ลิน และป้อมยามที่ใช้ยิงคนจากฝั่งเยอรมนีตะวันออกที่พยายามจะเข้าใกล้กำแพง
วีดีโอแนะนำบอกว่า นิวเซียมเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงกำแพงเบอร์ลินที่ยังคงสภาพเดิมไว้ที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศเยอรมนี
และยังบอกว่า พลังของสื่อ และการนำเสนอข่าวสาร ทำให้กำแพงเบอร์ลินจึงล้มลงในที่สุด
-2-
วิดีโอแนะนำว่าเราควรจะขึ้นไปดูมิวเซียมจากชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด แล้วค่อยๆ ไล่ลงมาทีละชั้น มีทั้งงานนิทรรศการชั่วคราวและถาวร หลังจากชมวิวอาคารรัฐสภา (Capitol) ที่ตั้งอยู่ปลายถนนเพนซิลวาเนียที่ระเบียงตรงชั้น 6 ก็จะเจอพื้นที่สำหรับนิทรรศการเวียนอยู่อีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ โดยวันนี้เป็นเรื่องสื่อกับสิทธิของ LGBTQ ในสหรัฐ
ลืมบอกไปว่า ชั้น 4 ถึงชั้น 6 ของนิวเซียมจะเน้นเรื่องในสหรัฐเป็นหลัก เช่น ประวัติศาสตร์ของสื่อมวลชน การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในสหรัฐอเมริกา ทั้งการประท้วงของนักศึกษาผิวสีเรียกร้องความเท่าเทียมในยุค 60 การเกิดของ The First Amendment แต่ที่ฉันคิดว่าจัดทำได้น่าสนใจ คือ
– ห้องที่ชื่อ Pulliam Family History of Liberty Gallery ซึ่งเป็นบอร์ดเล่าถึงประวัติศาสตร์ของสื่อสหรัฐตั้งแต่สมัยก่อตั้งประเทศ โดยเล่าด้วยการ์ตูนภาพนิ่งและแอนิเมชั่น
-9/11 Gallery ซึ่งเล่าถึงสื่อกับการก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรดในวันที่ 11 กันยายน 2001 ถึงได้รู้ว่า มีช่างภาพอเมริกันคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะตึกเวิลด์เทรดที่ 2 ถล่มลงมา กล้องที่เขาใช้ในวันนั้นถูกเอามาจัดแสดงไว้ด้วย (เขาเป็นแฟนแคนนอนล่ะ เผื่อมีใครสงสัย)
และ
– News Corporation News History Gallery ที่เล่าประวัติศาสตร์ของการสื่อสารมวลชนย้อนไป 500 ปี พร้อม มี archive หน้าหนึ่งเจ๋งๆ กว่า 400 ฉบับ
นิวเซียมยังเคลมว่าตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์สุดอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งก็จริงอย่างที่กล่าวอ้าง มีฟุตเทจข่าวสำคัญๆ ในแต่ละปีให้ผู้ชมกดดูตามใจชอบ ส่วนตัวฉันชอบวิดีโอที่เล่าประวัติศาสตร์ของ ‘ชาวบ้าน’ ที่มีบทบาทในการสร้างสื่อมวลชนในยุคก่อตั้งประเทศสหรัฐในห้อง Pulliam Family เป็นพิเศษ เพราะมีนักวิชาการเล่าทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีของแต่ละคนอย่างตรงไปตรงมาได้สนุก เข้าใจง่ายมากๆ ส่วนห้อง News Corporation ฉันก็มัวแต่ไล่ดึงลิ้นชักเพื่อสำรวจว่าข่าวหน้าหนึ่งที่ถูกเลือกมาจัดแสดงในแต่ละปีมีอะไรบ้างอย่างเมามัน

“ชอบอันนี้หรอ” ฉันถามน้องหน้าซากเสาอากาศที่เคยตั้งตระหง่านบนตึกแฝด หลังจากดูวิดีโอสัมภาษณ์นักข่าวที่ร้องไห้เพราะช็อกเมื่อเห็นตึกเวิลด์เทรดถล่มต่อหน้าต่อตา
“เปล่า”
ฉันชวนน้องคุย เราไม่ได้คุยกันบ่อยเพราะอยู่กันคนละที่ ฉันค่อนข้างสนิทกับน้อง เพราะอายุห่างกันไม่มาก ฉันคิดไปเองว่า ตัวเองรู้จักน้องดีกว่าคนอื่นๆ ในบ้าน
แต่มาวันนี้ ถึงได้รู้ว่า ตัวเองรู้จักน้องชายน้อยกว่าที่คิด
-3-
มีชื่อ Fabio Polenghi และ Hiro Muramoto จารึกบนกำแพงกระจกใสมองทะลุออกไปเห็นผืนฟ้าใหญ่ ด้านขวาของกำแพงคือรูปพอร์เทรตของผู้คนจำนวนมาก
ไฮไลต์ของชั้น 3 คือห้อง Journalist Memorial ซึ่งมีเพื่อไว้อาลัยต่อเพื่อนนักข่าวและช่างภาพที่เสียชีวิตขณะพยายามจะนำเสนอความจริงอีกด้านหนึ่งให้โลกรู้
ฟาบิโอและฮิโระ ถูกบันทึกไว้บนกระจกใสว่าเสียชีวิตในประเทศไทยเมื่อปี 2010 จึงระลึกได้ว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงผ่านมาตั้ง 9 ปีแล้ว
แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้ายิ่งกว่า คือมีชื่อของคนไทยอีกหลายคนบนกระจกใสนั้นที่ฉันไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อ

ป้ายจราจรและรถกระบะพรุนกระสุน รูปถ่ายของช่างภาพที่หันกล้องสู้ปืนเพื่อบันทึกความจริง หมวกกันน็อค เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์บุบๆ เบี้ยวๆ และอุปกรณ์อีกหลายที่ถูกจัดแสดงในห้องนี้ เป็นประจักษ์พยานว่าการนำเสนอความจริงไม่ใช่งานสบาย
ด้านซ้ายของผนังกระจกใส คือ ที่ตั้งของโซนที่เรียกว่า Time Warner Wolrd News Gallery มีแผนที่โลกที่ประกอบด้วย สีเขียว เหลือง แดง ตั้งตระหง่านอยู่ นี่คือการ mapping แสดงความเป็นอิสระของสื่อ ซึ่งมาจากผลการสำรวจของโดย Freedom House ซึ่งเป็น NGO ที่ศึกษาและสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ และอัพเดทความอิสระของสื่อทุกๆ ปี

สีเขียว แปลว่า สื่อมีเสรีภาพ สีเหลือง แปลว่า มีบางส่วน สีแดง แปลว่า ไม่ฟรี!! ไม่ฟรีเลยเจ้าค่ะ!!
เขาบอกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ของโลกเป็นพื้นที่สีเขียว แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้สีเขียวไม่ได้เป็นตัวแทนของเมืองไทย (ฮือ)

ไม่เป็นไร! เพราะแผนที่โลกตรงหน้าก็บอกให้เห็นจะๆ ว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว (ที่โหล่คือเกาหลีเหนือ ส่วนนักเรียนดีเด่นอันดับหนึ่งคือนอร์เวย์) เมื่อคลิกประเทศบนจออินเตอร์แอคทีฟหน้าแผนที่ใหญ่ ก็มีคำอธิบายว่า สีนั้นแต่ละประเทศได้แต่ใดมา
“ตกลงนี่ชอบอันไหนสุด นี่จะเดินจนหมดละนะ” เราเดินย้อนกันมาจนถึงชั้น 1 แล้ว น้องก็ยังไม่ตอบฉันอยู่ดี
ทัวร์นิวเซียมของฉันจบลงที่ห้องที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายที่ชั้น 1 มีทั้งภาพขาวดำและภาพสี ทั้งหมดเป็นภาพรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ซึ่งมอบให้กับงานหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วรรณกรรม สื่อออนไลน์ และดนตรีในสหรัฐอเมริกาทุกปี นี่จึงเป็นคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่ดีที่สุดของการรายงานข่าวมาตั้งแต่ปี 1942
“คราวที่แล้วภาพมันไม่ใหญ่แบบนี้นี่นา” ฉันหันไปดูตามที่น้องบอก จึงได้เห็นว่าภาพใหญ่ที่แขวนเด่นเป็นสง่าท่ามกลางรูปรางวัลพูลิตเซอร์ด้วยกัน ก็คือภาพที่คนไทยสมัย 2519 ไม่มีโอกาสได้เห็น ชื่อรูปตั้งง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า ‘Brutality in Bangkok’
ภาพนักศึกษาถูกแขวนคอใต้ต้นไม้ พร้อมกับคนยกเก้าอี้ตีศพนักศึกษา
ภาพที่ย้อนไปเมื่อสี่สิบปีก่อน คนในประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็น
“ปกติผมจะบอกคนอื่นตลอดว่า เวลาทำงานห้ามกลัวหรือตระหนก แต่ตอนอยู่ในเหตุการณ์ผมกลัวมาก กลัวสุดๆ ตอนถ่ายภาพในสงครามเวียดนาม ห่ากระสุนยังไม่น่ากลัวเท่าวันนั้นเลย”

คุณนีล อูเลวิช (Neal Ulevich) ช่างภาพผู้ได้รับรางวัลจากรูปนี้ ให้สัมภาษณ์ไว้ในวิดีโอซึ่งนิวเซียมรวบรวมไว้ นอกจากคุณนีลแล้ว ยังมีวิดีโอสัมภาษณ์ช่างภาพอีกจำนวนมากซึ่งเล่าทั้งวิธีการทำงาน อุปสรรคที่พบในฐานะ photojournalist ความรู้สึกตอนที่ถ่าย รวมไปถึงปรัชญาในการทำงาน
“ผมกำลังจะโบกแท็กซี่กลับที่อีกด้านของสนามหลวง” ฉันคลิกดูวิดีโออธิบายตอนที่เขาถ่ายรูปนักศึกษาที่ถูกแขวนคอ นี่คือคำพูดของคุณนีลที่ฉันจำได้คร่าวๆ “แต่เห็นคนกำลังมุงกันตรงต้นไม้พร้อมเสียงเชียร์ เลยเดินไปดู… ผมเห็นคนกำลังตีศพนักศึกษาที่แขวนอยู่บนต้นไม้ โอเค… รูปนี้คงจะต้องถ่ายติดอันเดอร์แน่ๆ ล่ะ (คุณนีลหัวเราะแห้ง) แต่ผมก็รีบกดชัตเตอร์เงียบๆ บันทึกภาพแล้วเดี๋ยวค่อยไปแก้ตอนล้างรูปเอา…”

“ผมต้องส่งรูปไปให้สำนักข่าว AP เอเชียแปซิฟิคที่โตเกียว ซึ่งสมัยก่อนไม่มีอีเมล วิธีการส่งที่เร็วที่สุดก็คือส่งโทรเลขรูป… ก็คือต้องเอารูปนี้ไปที่ไปรษณีย์ไทย ให้เจ้าหน้าที่คนไทยดูและส่งให้!!!!” คุณนีลหัวเราะในขณะที่ให้สัมภาษณ์ แม้ว่า 40 ปีก่อนหน้านี้ คุณนีลคงหัวเราะไม่ออก…
“โปรเซสนี่ใช้เวลา 90 นาที เป็น 90 นาทีที่เครียดที่สุดในชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่จะเลิกส่งรูปแล้วมาจับเราเมื่อไหร่ก็ได้… เวลาผ่านไป ผมถามเพื่อนร่วมงานคนไทยว่าเจ้าหน้าที่ว่ายังไงบ้าง เขาบอกว่า เจ้าหน้าที่ชม “nice photo”…”
คุณยังนีลหัวเราะให้กับเรื่องในอดีตอย่างอารมณ์ดี “เออ! ฟีดแบ็คนี้ก็คงดีกว่า ‘ขอโทษ รูปพวกนี้มีปัญหา’ แหละ…”
รางวัลพูลิตเซอร์ไม่ได้ทำให้คุณนีลต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ เขามีอารมณ์ขัน แต่ก็เครียดบ้าง กลัวบ้าง มีเพื่อน มีครอบครัว มีคนที่รัก รอการกลับมาของเขาอยู่เสมอ
จึงน่าใจหาย ที่ยังมีพื้นขาวเหลืออีกมากสำหรับวางภาพเพิ่มในห้อง Journalist Memorial แต่ในเมื่ออีก 83 เปอร์เซ็นต์ ของโลก สื่อยังถูกขัดขวางและคุกคาม อีกไม่นานก็จะมีภาพใหม่มาประดับ และมีอีกชื่อถูกสลักบนแผ่นแก้ว
“มันก็แปลกดี” คุณนีลพูดส่งท้ายถึงรางวัลที่ได้รับ “ที่รางวัลพูลิตเซอร์ที่ผมได้รับ เป็นรางวัลต่อเรื่องราวของผู้คนในประเทศที่แทบจะไม่รู้ถึงการมีอยู่ของรางวัลนี้เลย”
และความจริงบางอย่าง ที่คนกลุ่มหนึ่งยอมเสี่ยงตายเพื่อถ่ายทอด ก็ไม่เคยถึงมือผู้ที่ควรจะรับรู้มากที่สุด
-4-
เมื่อคำนึงถึงสถานที่ตั้ง มิวเซียมคู่แข่งรอบๆ ราคาค่าเข้า และปลายฤดูร้อนที่เด็กๆ นักเรียนเปิดเทอมหมดแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดว่าบรรยากาศในนิวเซียมดูจะเงียบเหงาจนน่าเสียดาย
ผลประกอบการของนิวเซียม ซึ่ง Freedom Forum องค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิวเซียมประกาศทุกปีนั้น อยู่ในขั้นขาดทุน จะว่าไม่น่าแปลกใจก็ใช่ เพราะคู่แข่งรอบๆ นั้นระดับโลกและฟรีเกือบทั้งนั้น แถมยังมีคำวิจารณ์เกี่ยวกับนิวเซียมจำนวนไม่น้อย หลายอันฉันก็เห็นด้วย เป็นต้นว่านิวเซียมนี้ค่อนข้าง American-centric ค่าสร้างตึกอลังการนี่ก็ไม่คุ้มทุนเสียที
“เขาขายตึกนี้ให้จอห์นส์ ฮอปกินส์ ไปแล้ว” น้องชายฉันหมายถึงมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในสหรัฐ “เขายังไม่ประกาศเหมือนกันว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนใหม่”
แต่อีกใจก็รู้สึกใจหายวาบ จนคิดว่ากลับมานั่งเสิร์ชว่าจะหาทางบริจาคเงินเพื่อต่อชีวิตให้นิวเซียมได้ยังไง

“ตกลงนี่ชอบส่วนไหนสุดเนี่ย” ฉันยังไม่เลิกถามน้องแม้เราจะเดินออกมาจากนิวเซียมแล้ว คิดว่าจะไปหาอะไรกินก่อนฉันจะเดินทางกลับ
น้องชายฉันจึงเฉลยอย่างตัดรำคาญ
“ก็ชอบเหมือนพี่อะแหละ ถามอยู่ได้”

ป.ล. 1 รายละเอียดของนิวเซียมดูเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ มีอีกหลายโซนที่ไม่ได้พูดถึงเพราะมีเวลาจำกัดจึงไม่ได้ดูละเอียด แต่ก็น่าสนใจมากๆ สามารถซื้อตั๋วได้จากในเว็บ ราคาจะถูกกว่าไปซื้อหน้างานประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องซื้อล่วงหน้า เดินไปหน้านิวเซียม กดซื้อในมือถือ แล้วเดินเข้าไปเลยก็ยังได้!! แถมตั๋วหนึ่งใบใช้เข้าได้ 2 วัน!! #ของมันต้องมี #ของมันต้องไป
ป.ล. 2 มาชวนรู้จักภาพรางวัลพูลิตเซอร์ในยุคหลังๆ บ้าง นี่เป็นเซ็ตภาพของ New York Times ที่ไปทำสกู๊ปเรื่องสงครามยาเสพติดที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2016 นอกจากภาพสวยแล้ว นิวยอร์คไทมส์ยังทำอินเตอร์แอคทีฟเว็บได้สวยงามน้ำตาไหล มีวิดีโอของช่างภาพให้สัมภาษณ์ในนิวเซียมด้วย แต่สงสัยเพราะเหตุการณ์ยังสดใหม่ ช่างภาพเลยไม่มีจังหวะได้หัวเราะแห้งอย่างคุณนีลนัก