ถึงนาทีนี้ แม้จะมีความเคลือบแคลงสงสัยในการประกาศวันเลือกตั้งจากทั้งเลขาธิการ กกต. และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทว่ากระแสข่าวการเมืองล้วนมุ่งไปในทิศทางที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างไม่บิดพลิ้วเหมือนในทุกๆ ครั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เคยประกาศ
ดังนั้น คำถามนับจากนี้จึงไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่อีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่ว่า การเลือกตั้งในปีหน้านี้นั้นจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีความเสมอภาคต่อทุกพรรคการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไรหรือไม่ต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและมีผลในทางปฏิบัติ’ หรือ Free, Fair & Fruitful Election (FFFE) จึงจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย’ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ภาคประชาชน และภาคพรรคการเมือง
เมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูกาลการเลือกตั้ง ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า 7 ตัวแทนพรรคการเมืองในวงเสวนา มีแนวคิดและมุมมองอย่างไรต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดย ภราดร ปริศนานันทกุล ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้กล่าวว่า
“ผมคิดว่าทุกอย่างวนกลับมาเหมือนเดิมแบบเมื่อ 45 ปีก่อน (ปี 2516) ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ผลพวงของการรัฐประหาร สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย เราอยู่ในสถานการณ์ที่เผด็จการครองเมืองเหมือนครั้งที่แล้ว แม่จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนาน แต่ผมเชื่อว่าด้วยพลวัตของโลก 5 ปีนี้ ยาวนานกว่า 15 ปีสมัยก่อน ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ชัยชนะตกเป็นของประชาชน วันนี้ผมหวังจะเห็นชัยชนะตกเป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”
ภราดรกล่าวต่ออีกว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น วันนี้พวกเราไม่ต้องไปคาดหวังหรอกว่าเราจะเห็นกติกาใดๆ ที่เป็นธรรมและยุติธรรม เนื่องจากมันถูกเขียนขึ้นจากฝ่ายเผด็จการ เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่จะเป็นธรรมอยู่แล้ว” และย้ำว่า การต่อสู้ของประชาชนคือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลสมัยใดก็ตาม
“สิ่งที่ผมอยากจะเรียกร้องก็คือ เราอยู่ในสถานการณ์กีฬาสีในหลายปีที่ผ่านมา ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนั้น เราต้องอยู่บนหลักของประชาธิปไตย ไม่ใช่เลือกข้างหรือพวกที่เราสนับสนุน”
จากนั้น ราเมศ รัตนะเชวง ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ กกต. ลืมเรื่องราวเมื่อครั้ง คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด กกต. ชุดเดิมไปเสีย แล้วมาตั้งหลักใหม่ ในฐานะที่เป็นคนกลาง เป็นองค์กรอิสระที่จะนำพาการเมืองไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม เสรี และเป็นธรรมต่อทุกพรรคการเมือง
“ไม่ว่ากฎเกณฑ์ กติกา จะเป็นอย่างไร การกระทำของ คสช. จะเป็นอย่างไร เรา ในฐานะนักการเมือง เราพร้อมที่จะสู้ตามเกมกติกา ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบธรรม ซึ่งผมมีเหตุผลอธิบายครับ เหตุผลที่ต้องต่อสู้คืออะไรครับ? เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า พร้อมที่จะก้าวไปสู่คำว่าประชาธิปไตย
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดครับ แม้นคำว่าประชาธิปไตยดูจะเป็นเพียงแสงริบหรี่ที่อยู่ปลายอุโมงค์ หรืออยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ที่ห่างไกลออกไป เราก็เชื่อเช่นกันว่าจะมีหลายคนที่ต่อสู้ และก้าวไปเพื่อที่จะจุดไฟประชาธิปไตยให้ลุกโชน เพื่อพี่น้องประชาชน และเพื่อประเทศชาติ”
โค้งสุดท้ายของ คสช.
ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงประเด็นบทบาทของ กกต. ในการจำกัดบทบาทของพรรคการเมือง โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายและขาลงของ คสช. โดยปิยบุตรเรียกร้องให้ฝ่ายองค์กรอิสระและข้าราชการออกมาแสดงบทบาทเพื่อยืนข้างฝ่ายเดียวกับประชาธิปไตย
“ประเทศไทย กฎหมายพรรคการเมืองใช้ระบบอนุญาต ไม่ใช่ระบบเสรีภาพ ระบบอนุญาตหมายถึงว่า เมื่อรวมตัวกันแล้ว ท่านเอาเอกสารไปยื่นกับ กกต. จึงจะได้รับอนุญาตให้ท่านตั้งพรรคได้ พรรคอนาคตใหม่นับตั้งแต่การประชุมพรรคใช้เวลาทั้งสิ้น 97 วัน กว่าจะได้ตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ นี่คือระบบอนุญาตที่ไม่ใช่ระบบเสรีเหมือนอย่างประเทศอื่น”
ปิยบุตรยังมองว่า กฎหมายพรรคการเมืองเต็มไปด้วยอุปสรรคต่อการตั้งพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ ขณะเดียวกัน พรรคที่ก่อตั้งมาก่อนก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค ทำให้เป็นกฎหมายตำรวจพรรคการเมือง มากกว่าจะเป็นกฎหมายพรรคการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย
ขณะที่บทบาทของ กกต. ปิยบุตรมองว่า ยังคงยึดติดระบบคิดแบบข้าราชการที่ดูจะสวนทางกับแนวทางพัฒนาประเทศ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระดาษในการทำเอกสารต่างๆ การไม่อนุญาตจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพื่อระดมทุนเข้าพรรค รวมไปถึงการระดมเงินบริจาค เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ยังล้าหลัง แม้จะมีท่าทีปรับเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่เห็นว่าความพยายามนี้จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562
“ยิ่งไปกว่านั้น ความกล้าหาญในการทำงานของ กกต. ตอนนี้ยิ่งลดน้อยถอยลง เพราะเมื่อคุณตั้งใจจะทำอะไรเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง คุณเงยหน้าขึ้นไปเจอ คสช. คุณก็ถดทันที สุดท้ายอุปสรรคสำคัญที่สุดคือตัว คสช. เอง ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อ คสช. เข้ามายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้เอง ออกคำสั่งต่างๆ แล้วเสกให้เป็นกฎหมาย โดยคำสั่งต่างๆ เหล่านี้มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก นี่คืออุปสรรคเริ่มต้น”
ไม่เพียงแต่การออกกฎหมายที่กลายมาเป็นอุปสรรค ปิยบุตรยังมองว่าการยึดอำนาจของ คสช. ที่ยาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 5 โดยไม่มีการกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว และยังมีความพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการกำหนดให้มี สว. จากการแต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯ นอกจากนี้ยังไม่นับการเปิดช่องทางให้มีนายกฯ คนนอก การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ คสช. เองยังตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจ
เมื่อหันกลับไปมองบทบาทของ กกต. ปิยบุตรเรียกร้องให้ กกต. ตลอดจนองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการต่างๆ กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอย กลับมาอยู่ฝ่ายเดียวกับระบอบประชาธิปไตย
“ผมไม่ได้เรียกร้องให้ กกต. ต้องทำงานช้าง เพราะท่านต้องเผชิญหน้ากับ คสช. โดยตรง เพียงแต่ท่านควรใช้กฎหมายมือท่าน คือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้เป็นคุณต่อพรรคการเมืองให้มากขึ้นเท่านั้น”
ไม่ free ไม่ fair
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ และการเมืองหลังเลือกตั้งจะมีภาพออกมาเช่นไร เป็นคำถามที่อวลอยู่ในบรรยากาศงานเสวนาที่ถูกจัดขึ้นในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ตัวแทนพรรคที่ถูกมองว่าเป็นหมากสำคัญทางการเมืองไทยมาตลอด ศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่คนในพรรคได้หารือกันตั้งแต่มีการยึดอำนาจก็คือ เราจะเดินหน้าต่อ หรือว่าจะหยุด ถ้าหยุด แล้วใครจะร่วมกันฟันฝ่าในการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พรรคภูมิใจไทยจึงตัดสินใจเดินหน้า แม้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม
“เรามุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะกลับไปสู่การเมืองปกติ เรามีเป้าหมายว่าในที่สุดแล้ว ถ้ามีโอกาสเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เรามีแนวคิดที่จะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ในขณะเดียวกัน เราก็เน้นหนักในเรื่องการเมืองซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และเราเห็นว่าวันนี้ที่เราคุยกัน บรรยากาศได้คลี่คลายลงไป”
มองไปยังการเลือกตั้ง ศุภชัยมีความเชื่อและเคารพในเกียรติยศของคนที่เข้ามาเป็น กกต. แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องความสุจริตเที่ยงธรรม ในขณะที่ประเทศกำลังคืบคลานเข้าสู่การเลือกตั้ง ศุภชัยพบว่าในองคาพยพบางส่วนอาจจะไม่ free และไม่ fair และทำให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้ง
วันนี้กระบวนการการเลือกตั้งได้เริ่มขยับแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีผลกระทบกับตัวผู้สมัคร ทว่าศุภชัยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจัดแบ่งในบางเขตเลือกตั้งเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น เขตเดิมที่ตนเป็น สส. ถูกตัดไปอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น นี่คือกระบวนการที่ทุกฝ่ายควรมาคุยกัน
“ดังนั้น ผมอยากฝาก กกต. ให้ท่านย้อนกลับไปคิดตรงนี้ และในอนาคต ผมเชื่อว่าอำนาจสูงสุดของประชาชนจะได้แสดงพลังอีกครั้งหนึ่ง”
ความท้าทายของพรรคเกิดใหม่
แม้ยังเป็นพรรคที่ไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. แต่การเป็นตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภายใต้เป็นเหตุผลสำคัญที่ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ขึ้นเวทีเสวนาเพื่อกล่าวแทนเสียงของพี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยอารีเพ็ญกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับที่แย่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา
“เราอย่าปฏิเสธพลังของประชาชน เพราะว่าประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศที่คนเชื้อชาติไทยสร้างชาติไทยตั้งแต่อยุธยาเพียงชนชาติเดียว มันมีหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม สมัยกรุงแตกครั้งที่ 2 คนที่ช่วยเหลือให้เราได้รับเอกราชภายใน 6 เดือน คือเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ซึ่งประวัติศาสตร์ไม่ได้จารึก ในไทยนั้นประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ จะบอกว่าไทยคืออาเซียนก็ยังได้ เพราะฉะนั้นสังคมพหุวัฒนธรรมนั้นต้องควบคู่กับประชาธิปไตย สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีก็ต้องมีประชาธิปไตย และคนไทยทั้งประเทศต้องเข้าใจคำว่าพหุวัฒนธรรม”
ขณะที่ วิรัตน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งว่า เป็นความท้าทายที่พรรคใหม่ต้องเจอ
“เท่าที่ดูแล้ว การเลือกตั้งยังเป็นปัญหา ตั้งแต่อดีตมา ถ้าทหารได้มีอำนาจ เขาจะคิดว่าเขารักชาติมากกว่าคนอื่น เขารักประเทศมาก และจะต้องสืบทอดอำนาจ โดยผ่านการปฏิวัติเพื่อให้อำนาจอยู่กับเขาคนเดียว เขียนรัฐธรรมนูญ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และโกง ต้องโกง ไม่โกงก็ไม่ชนะ สุดท้ายจึงชนะและสืบทอดอำนาจ การปฏิวัติมีเรื่อยมาจนมาถึงครั้งนี้ ดังนั้น ผมคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่การเมืองสกปรกมาก ต้องให้ท่านเสรีพิศุทธิ์ (พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) มากวาดล้างสักที ผมว่าการเมืองจะสะอาดขึ้นเยอะ”
อนาคตพรรคการเมือง อนาคตประชาธิปไตยไทย
สุดท้าย พรรคการเมืองซึ่งเป็นที่จับตาจากทุกฝ่ายว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกยุบพรรคมากที่สุด จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน มองประเด็นความสุ่มเสี่ยงที่พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบเอาไว้ว่า “ถ้าพรรคเพื่อไทยถูกยุบ ผมจะชวนอาจารย์ชูศักดิ์ (ชูศักดิ์ ศิรินิล) ที่ปรึกษากฎหมาย ท่านเลขาธิการพรรค ไปนั่งที่ไหนสักที่แล้วประกาศเชิญชวนประชาชนที่มีใจรักประชาธิปไตยหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีเจตนารมณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทุกรูปแบบ
“เรื่องที่น่าเป็นห่วงของการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องที่จะยุบพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องของการรัฐประหารไม่ให้เสียของ เป็นเรื่องของการทำอย่างไรไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แต่เรื่องนั้นยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการที่เขาพยายามทำให้การเลือกตั้งทั้งหมด ระบบพรรคการเมืองทั้งหมด ไม่ให้มีความหมายสำหรับประชาชนในการเป็นผู้บริหารประเทศ”
หากมองไปถึงอนาคตการเมืองไทย จาตุรนต์มองว่าเนื่องจากพรรคการเมืองถูกทำให้เล็กลง มีสมาชิกน้อยลง พรรคการเมืองไม่สามารถสื่อสารกับสมาชิกและประชาชนได้ และไม่สามารถทำนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ เพราะสิ่งที่ คสช. กลัวที่สุดคือกระบวนการที่ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศผ่านพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
“การเลือกตั้งทั่วโลกมีไว้เพื่อป้องกันการขัดแย้ง แต่การเลือกตั้งในไทยกำลังถูกทำให้กลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรุนแรง ทำให้ คสช. และพวกใช้การเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นที่เรารอกันมาเกือบ 5 ปีนั้น อย่าให้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีข้อมูลอะไรเลย อย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายจะปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายแบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่แล้ว สิ่งที่จะต้องทำคือ การร่วมกันผนึกกำลังเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม มีความหมาย เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในอารยประเทศ”