สกอตแลนด์กลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มสหราชอาณาจักรที่ออกกฎหมายห้ามทำโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย หลังสภารัฐบาลสกอตแลนด์ค่อนข้างมั่นใจว่า ร่างดังกล่าวจะสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติได้อย่างแน่นอนภายในสัปดาห์นี้
ความพยายามครั้งนี้เกิดขึ้นจาก จอห์น ฟินนี (John Finnie) โฆษกฝ่ายยุติธรรมของพรรคกรีนสกอตแลนด์ (Scottish Greens) ที่ต้องการถอดถอนกฎหมาย ‘การตีอย่างสมเหตุสมผล’ (justifiable assault) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมารับรองว่า การลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเด็กไม่ผิดหากการลงโทษนั้นทำไปด้วยหลักสมเหตุสมผล
“่ต่อจากนี้ไป เด็กสกอตแลนด์ทุกคนควรได้รับสิทธิคุ้มครองร่างกายและจิตใจเฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ การทำโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งผิดกฎหมายใน 52 ประเทศ การผลักดันให้ร่างดังกล่าวออกมาเป็นตัวกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ผมต้องการให้เด็กสกอตแลนด์ทุกคนได้รับความคุ้มครองที่จำเป็นนี้ เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคนที่รักเขา”
บรูซ อดัมสัน (Bruce Adamson) คณะกรรมาธิการเด็กแห่งสกอตแลนด์ (Children and Young People’s Commissioner Scotland: CYPCS) มองว่า สาเหตุที่ทำให้สกอตแลนด์สามารถผลักดันกฎหมายดังกล่าวเป็นที่แรกในสหราชอาณาจักรได้สำเร็จเพราะ
ในทางการเมืองแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สิทธิมนุษยชนหรือสิ่งที่ควรจะทำ แต่มันเป็นสิ่งที่เราน่าจะทำตั้งแต่หลายปีที่แล้ว หากเราภาคภูมิใจที่ตัวเองเป็นประเทศก้าวหน้า ก็ควรเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ และมุ่งมั่นที่จะมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในชีวิตให้กับพวกเขา
หลังจากข่าวคราวดังกล่าวปรากฎไปทั่วสหราชอาณาจักร กลุ่มบุุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิและกฎหมายเด็กและเยาวชนต่างก็ออกมาเรียกร้องว่า ควรทำให้กฎหมายนี้แพร่ขยายในเชิงปฎิบัติทั่วเกาะสหราชอาณาจักรด้วย
ซัลลี่ ฮอลแลนด์ (Sally Holland) หนึ่งในคณะกรรมาธิการเด็กแห่งเวลส์ (Children’s Commissioner for Wales) แสดงความคิดเห็นต่อข่าวน่ายินดีดังกล่าวว่า
“ฉันดีใจอย่างยิ่งที่ได้ยินว่ารัฐบาลสกอตแลนด์มีความตั้งใจที่จะแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะกล่าวว่า รัฐบาลเวลส์เองก็มีความพยายามเช่นกันที่จะถอดกฎหมายตีอย่างสมเหตุสมผลนั้นทิ้งด้วย การเร่งเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมผ่านกฎหมายลักษณะนี้ ฉันหวังว่าจะช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักรู้ถึงผลลัพธ์ระยะยาวจากข้อเสียของการตีเด็กที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต”
การทำโทษลูกด้วยการทำร้ายร่างกาย เช่น การตี ถือเป็นมาตราการทำโทษเด็กขั้นพื้นฐานของพ่อแม่และครู แม้จะรู้กันเต็มอกว่า การทำโทษแบบเก่าไม่เหมาะสมสำหรับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป โดยเฉพาะที่อังกฤษเอง ที่นี่เป็นหนึ่งในสี่ประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปที่ไม่มีความมุ่งมั่นในการพยายามปฎิรูปกฏหมายเกี่ยวกับการทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเด็กอย่างจริงจัง
ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติเด็กและเยาวชนปี 2014 การทำโทษลูกตนเองหรือเด็กที่อยู่ภายใต้อำนาจของตนด้วยการตีถือเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’ แต่ก็มีกฎหมาย ‘การตีอย่างสมเหตุสมผล’ ออกมารองรับให้ผู้ใหญ่สามารถทำได้อยู่ดี ส่งผลให้ทุกวันนี้การตีเด็กในสหราชอาณาจักรไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น
แอน ลองฟิลด์ (Anne Longfield) คณะกรรมาธิการเด็กแห่งอังกฤษ (Children’s Commissioner for England) กล่าวถึงความพยายามในการผลักดันประเด็นนี้ว่า
“กฎหมายในอังกฤษล้าสมัยไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำควบคู่เพื่อปรับปรุงคือสะท้อนให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่าการตีเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และมีวิธีที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ในการสั่งสอนหรือลงโทษพวกเขาเพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวก”
แต่ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมและขนบสังคมแก้ไขยากกว่าข้อกฎหมายเพราะมีการสำรวจชาวอังกฤษ 400 คน ว่า ‘ควรห้ามตีลูกหรือไม่’ 59 เปอร์เซ็นต์ออกกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่ควร’ และมีเพียงห้าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บอกว่าการลงโทษด้วยการตีเป็นเรื่องล้าสมัย สอดคล้องกับอีกผลสำรวจหนึ่งที่ออกมาว่า ชายอังกฤษ 76 เปอร์เซ็นต์และหญิงอังกฤษ 65 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าบางครั้งก็ต้องใช้ไม้แข็งในการสอนลูกๆ
อาจเป็นจริงอย่างที่พวกเขาว่า ควรเริ่มต้นจากข้อกฎหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ซึ่งคงต้องรอดูต่อไปว่า พวกเขาสามารถผลักดันกฎหมายให้ออกมาใช้ได้จริงเหมือนสกอตแลนด์หรือไม่ หรือจะยืนกรานใช้มาตราการทำโทษเด็กแบบเก่าๆ เหมือนเดิม