การทูตและสิทธิมนุษยชน “นี่ไม่ใช่เรื่องของพวกคุณ” จริงหรือ

วันที่ 9 เมษายน 2562 หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ในวันดังกล่าว มีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งเข้าร่วมสังเกตการณ์

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มดังจากหลายทิศว่าเป็นการแทรกแซงของต่างชาติ โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าร่วมสังเกตการณ์ครั้งนี้ขัดหลักกติกาสากล เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในประเทศ

การทูตเป็นเครื่องมือระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ของ ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ ข้อเขียนของ พอล เบห์เรน (Paul Behren) เรื่อง ‘None of their Business? Diplopmatic Involvment in Human Rights’ ว่าด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในงานด้านการทูต อาจจะช่วยตอบคำถามด้านการทูตไทยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ได้ ว่าเข้าข่าย ‘None of their business’ – ไม่ใช่เรื่องของพวกคุณ จริงหรือไม่

งานเขียนของเบห์เรนกล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทูตในแต่ละประเทศ ว่าจะต้องมีส่วนผูกพันกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เหตุผลแรก คือ การทูตในปัจจุบัน ลำพังสถานทูตสำหรับปฏิบัติการทางการทูตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาตินั้นไม่เพียงพออีกต่อไป การควบคุมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐผู้รับ (receiving state) ในเวลาที่หลักการสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นสากลที่คนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนและตระหนักร่วมกัน เป็นวาระทางการทูต ซึ่งส่วนใหญ่สามารถยกระดับความเข้มข้นของการทำงานในรัฐผู้รับได้ ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียง การต่อรอง และการวิพากษ์ประเด็นสิทธิมนุษยชน มันเป็นเรื่องที่มาจากบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่อนุญาตให้เกิดปฏิบัติการเพื่อทำนุบำรุงหลักการสิทธิมนุษยชนขึ้นได้

อธิบายเพิ่มเติมถึง ‘รัฐผู้รับ’ ว่าหมายถึง รัฐที่เป็นผู้รับตัวแทนคณะทูต หรือมีลักษณะของการเป็น ‘host’ และแน่นอนว่าการมีรัฐผู้รับ จำเป็นจะต้องมี ‘รัฐผู้ส่ง’ (sending state) รัฐผู้ส่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหมายถึง รัฐต้นทางที่ส่งตัวแทนคณะทูตเข้าไปยังรัฐผู้รับ เช่น ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง สหรัฐและคิวบา สหรัฐส่งเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) ไปยังคิวบา หมายความว่า รัฐผู้ส่งคือ สหรัฐ และรัฐผู้รับคือคิวบา นั่นเอง

ข้อสอง กรณีทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับหลักการสิทธิมนุษยชน การทำงานทางการทูตว่าด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่เป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่รัฐผู้ส่งสามารถแสดงออกได้ รัฐผู้ส่งอาจจะถอนความช่วยเหลือ คว่ำบาตร งดให้ความร่วมมือทางวัฒนธรรม และยุติความสัมพันธ์ทางการทูต หรือหากมีกรณีใดที่เป็นเรื่องขัดหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล รัฐผู้ส่งอาจจะตัดสินใจฟ้องร้อง

และข้อที่สาม รัฐผู้รับที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจมีทางเลือกไม่มากในระบบนี้ การถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนจะกลายเป็นประเด็นสาธารณะในระดับสากล รัฐผู้รับจะเสียหน้าเมื่อมีการฟ้องร้องผ่านกระบวนการต่างๆ เพราะฉะนั้น ในระดับสากล เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการทูตเช่นนี้ได้

ความรู้จำเป็นอีกประการสำหรับการทำความเข้าใจการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ การทำความเข้าใจ อนุสัญญาเวียนนา (Vienna Convention on the Law of Treaties-1969) ในบทบัญญัติที่ 3 ของอนุสัญญา แม้ไม่ได้ระบุถึงการนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นกิจกรรมของตัวแทนทางการทูตโดยตรง แต่ย่อหน้าแรกของบทบัญญัติก็ได้กล่าวถึงหลักการ 5 ประการของกิจกรรมที่สถานทูตของแต่ละประเทศจะต้องทำ

  1. ตัวแทนทางการทูต คือการเป็นตัวแทนของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ
  2. ตัวแทนทางการทูต มีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
  3. ตัวแทนทางการทูต มีบทบาทในการเจรจาต่อรอง
  4. ตัวแทนทางการทูต สามารถสังเกตเงื่อนไขและการพัฒนาในรัฐผู้รับ พร้อมทั้งรายงานส่งประเทศต้นทางหรือประเทศผู้ส่งได้
  5. ตัวแทนทางการทูต ต้องทำหน้าที่การสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ฉันมิตรขึ้น

ตัวอย่างสำคัญของเหตุการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับในกรณี ‘ไม่ใช่เรื่องของคุณ’ เกิดขึ้นในปี 1996 ระหว่างสหรัฐกับคิวบา เลขานุการโท โรบิน เมเยอร์ (Robin Meyer) จาก United States Interests Section in Havana (ตัวแทนของสหรัฐก่อนที่ทั้งสองประเทศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในสมัย บารัก โอบามา ปี 2015) กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรัฐผู้รับ ทว่ากระทรวงการต่างประเทศของคิวบาได้กล่าวหาเธอว่าเป็นผู้มีส่วนในการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ แทนที่จะมองว่าเป็นรูปแบบทางการทูต คิวบาเลือกขับไล่เธอออกจากประเทศ ทั้งที่กิจกรรมของเมเยอร์นั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสัมภาษณ์ผู้ประท้วง

ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมและความเกี่ยวพันในเรื่องของหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการทางการทูตอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราอาจจะต้องหันมามองรูปแบบการทูตในระดับสากล และยอมรับเอาหลักการและคุณค่าในประเด็นสิทธิมนุษยชน ดังข้อสรุปของ พอล เบห์เรน ที่ว่า “เราเลี่ยงการทูตแบบนี้ไม่ได้หรอก มันสำคัญและจำเป็น แม้จะเหมือนปีศาจร้ายก็ตาม”

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า