ภาพ: คีรีบูน วงษ์ชื่น
เจอกับ หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์ ครั้งแรกตอนไปดูหนัง Life, Animated ขอบคุณนะที่โลกนี้มีการ์ตูน มันเป็นทั้งงานเสวนาและจัดฉายหนังโดย Documentary Club ในคราวเดียว เราเจอกันในห้องน้ำ ห้องน้ำที่ติดป้ายว่าเป็นห้องน้ำสำหรับผู้พิการ แต่มารู้กันภายหลังว่าอาจมีคนติดป้ายผิดหรือต้องมีเจ้าหน้าที่คนใดหนึ่งเข้าใจผิดเป็นแน่ เพราะห้องน้ำที่ว่าประตูทางเข้าและบานเปิดมันแสนแคบ ไม่มีทางลาด และพอชะโงกหน้าไปมองในห้องน้ำ ก็จนใจจริงๆ ว่าจะเข็นวีลแชร์ของเธอเข้าไปได้อย่างไร
บังเอิญอีกว่าคนที่มากับหนู ก็เป็นคนรู้จักของฉันอีกทอด เขา-ซึ่งเป็นผู้ชาย จึงเป็นคนอุ้มพาหนูเข้าไปในห้องน้ำ และขอให้ฉันช่วยดูขณะที่เธอกำลังอยู่ในห้องน้ำ
อันที่จริงฉันวางตัวไม่ถูก เพราะลำพังตัวฉันคงอุ้มยกเธอไม่ไหว ความช่วยเหลือมากสุดที่ทำได้ คือการยืนเฝ้าที่หน้าประตู เมื่อเธอจัดการตัวเองเรียบร้อย ฉันจึงบอกให้เขาคนนั้นมาอุ้มประคองหนูขึ้นรถวีลแชร์อีกที ตอนนั้นเราคุยกันนิดหน่อย พอให้รู้ว่าใครเป็นใคร และเราต่างบังเอิญเป็นเพื่อนของเพื่อนกันอีกที รวมทั้งร่วมบ่นบริภาษต่อป้ายห้องน้ำชวนเข้าใจผิดนิดหน่อย สุดท้ายจึงแยกย้ายกันไปนั่งฟังเสวนาและดูภาพยนตร์
ความประทับใจแรกของฉันมีเท่านี้ แต่สิ่งที่ยังติดใจอยู่ คือ ‘ลุค’ และ ‘เคสโทรศัพท์’ ของเธอ
หนูตัดผมบ็อบประบ่า ที่ปลายผมย้อมประกายทองนิดๆ (ซึ่งต่อมารู้ในภายหลังว่านั่นคือเศษซากความเคยย้อมผมทองของเธอ ที่เห็นประกายๆ นั่นคือสีผมที่ยังติดเหลืออยู่) ใส่แว่นกรอบสี่เหลี่ยมทรงใหญ่ และทาสีปากด้วยสีแดงหม่นเกือบน้ำตาล วันนั้นเธอใส่เสื้อโอเวอร์ไซส์สีขาว ชายคอปิดสูงจนเกือบคล้ายเสื้อคอเต่า ที่หน้าตักมีผ้าคล้ายลายดอกไม้ปิดคลุมอยู่
และแน่นอน เคสโทรศัพท์ของเธอเป็นสีรุ้ง ไล่จากสีฟ้าลงมาเป็นเฉดชมพู
ทำไมจึงจำได้น่ะเหรอ? ก็เพราะก่อนหน้านั้นวันหนึ่งฉันเจอเคสสีและแบบเดียวกัน ลังเลอยู่นานสุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อกลับมา แต่ในมือที่เธอกำลังถือมันอยู่น่ะสิ…
ติดใจมากๆ รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เท่ฝุดๆ
แต่เพราะเป็นเธอ มันจึงเกิดคำถาม
ผู้หญิงคนนี้เข้าถึงโลกแฟชั่นได้อย่างไรกันนะ
เดินตลาดเหรอ แล้วเดินไปยังไง หรือว่าเธอจะสั่งจากไอจี
เคสไอโฟนที่เธอใช้ สีปากที่เธอเลือก เสื้อทรงใหญ่ที่สีไม่ซีด นี่อนุมานไปได้เลยนะว่า เธอนี่ก็สาวกแฟชั่นและสาวนักสำรวจตลาดตัวจริง
และที่รู้สึก ‘ว้าว’ ไปกว่านั้น อาจเพราะฉันยังคงเป็นคนธรรมดา ที่ตื่นตาตื่นใจกับการที่ผู้พิการคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาแต่งตัว (แน่สิ ฉันจึงเลือกสัมภาษณ์เธอไง) และอาจเพราะเราต่างเดินอยู่ในประเทศที่คน ‘ปกติ’ เป็นใหญ่ รถยนต์เป็นใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้พิการน้อยจนแทบไม่มี
ไม่ต้องพูดไปถึงเส้นทางที่ผู้พิการแต่ละคนจะเดินทางจากบ้านไปยังตลาดนัดสวนจตุจักร ลำพังแค่ผู้พิการคนหนึ่งจะได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลให้ออกจากบ้าน เป็นผู้กำหนดตารางชีวิตตัวเองในแต่ละวัน ก็เป็นเรื่องที่…ซับซ้อนเกินกว่าคน (ที่ถูกทำให้อยู่) ข้างนอก จะเข้าใจได้เลย
อย่างที่หนูบอกไว้ตอนหนึ่งขณะสนทนากัน
เราว่าเราเป็นคนที่แต่งตัวธรรมดามาก อาจจะต่ำกว่ามาตรฐานของเพื่อนเราด้วยซ้ำไป แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้สึก ‘ว้าว’ กับการที่ผู้พิการคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาแต่งตัว อาจเพราะคนส่วนใหญ่คาดหวังให้ผู้พิการต้องเรียบร้อย และอีกอย่างคือ ผู้พิการต้องแต่งตัวอย่างที่ผู้ดูแลคิดว่าเหมาะสม และง่ายต่อการสวมใส่ดูแล
หนู: เธอคือใคร
หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์ หรือที่รู้จักในฐานะนักข่าวประจำประชาไท ขณะนี้เธอเป็นบรรณาธิการให้กับเว็บไซต์ข่าว Thisable.me เว็บไซต์ข่าวเพื่อผู้พิการ หากก่อนหน้านั้นสองปี เธอยังคงมุ่งมั่นทำงานศิลปะด้วยเสื้อนิสิตตัวใหญ่โคร่ง และกระโปรงทรงสอบสั้นเท่าเข่า ในฐานะนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ตอน ม.ปลาย เราเรียนสายวิทย์-คณิต และไม่ได้คิดว่าจะเข้าคณะนี้เลย ไม่เคยติวเพื่อสอบเข้าเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่รู้ว่าชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ มันอาจเริ่มต้นมาจากว่าสักช่วงอนุบาลถึงประถม เราเข้าแถวเคารพธงชาติกับเพื่อนๆ ไม่ได้ เพราะยืนไม่ไหว เลยต้องนั่งอยู่ที่ห้อง อาจารย์เห็นก็กลัวจะเหงา เลยให้ครูศิลปะมาสอนวาดรูปแก้เหงาระหว่างนั้นไป”
หนูเล่าว่าครอบครัวรู้ว่าเธอมีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเมื่ออายุได้ราว 8 เดือน ที่เด็กๆ ทั่วไปเริ่มจะพลิกคลานได้แล้วแต่เธอยังไม่ จึงเริ่มทำกายภาพบำบัดอย่างจริงจังมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่มารู้แน่ชัดว่าคือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท Spinal Muscular Atrophy (SMA) เมื่อเธออายุได้ราว 12 ปี
“แม่ให้เราเข้าโรงเรียนตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เร็วมาก เพราะเขากลัวว่าเราจะตามเพื่อนไม่ทัน ก็เลยยิ่งผลักให้เข้าโรงเรียนเร็ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทันอยู่ดี เราเริ่มเดินได้ตอน 6 ขวบ แต่ก็ไม่ได้เดินแบบฉับๆ นะ คือเกาะโต๊ะ เกาะเก้าอี้อะไรไป ตอนก่อนหน้านั้นที่ยังตัวเล็กๆ คุณครูก็จะคอยอุ้มพาเปลี่ยนห้องเรียน”
ความจำแรกของเธอเกี่ยวกับโรงเรียน คือภาพที่หนูค่อยๆ เกาะราวระเบียงหน้าห้อง เดินไปตามทางเดินเรื่อยๆ
“จำได้ว่าตอนเด็กๆ เรายังเดินตามเพื่อนไปเรียนทันนะ เพื่อนไม่ต้องหยุดรอมาก แต่สักช่วง ป.4 เราเดินตามไม่ทันแล้ว เดินๆ ไปก็ต้องหยุดพักแล้วค่อยเดินใหม่ จากที่เคยเข้าสายแค่ไม่เท่าไหร่ มันกลายเป็นครึ่งชั่วโมง จากนั้นเลยเปลี่ยนมานั่งวีลแชร์แทน”
หนูย้ายโรงเรียนอีกครั้งตอนอยู่ ม.4 ด้วยเหตุผลเพราะเมื่อยิ่งเปลี่ยนช่วงชั้นการเรียน ชั้นเรียนก็ยิ่งอยู่สูงขึ้นไป
“เราย้ายโรงเรียนตอนจะเข้า ม.4 ซึ่งชั้น ม.4, 5 และ 6 ชั้นเรียนมันจะยิ่งอยู่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และโรงเรียนไม่มีลิฟต์ ปกติเวลาขึ้นชั้นเรียน เพื่อนๆ ก็จะช่วยกันยกอุ้มเราขึ้นไป ซึ่งพอมันอยู่ชั้นสูงๆ ขึ้น มันก็เริ่มจะยากขึ้นแล้วใช่ไหม เราเลยเลือกโรงเรียนใหม่ ซึ่งสิ่งที่มองหาหลักๆ ก็คือพวกสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการนั่งวีลแชร์”
คล้ายเป็นการเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นคนหนึ่ง เปลี่ยนโรงเรียน เปลี่ยนกลุ่มเพื่อน และลำพังการเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน ที่เขาสนิทและรู้ใจกันมาก่อน ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและการพิสูจน์ตัวเองมากอยู่แล้ว แต่สำหรับหนู อาจต้องบวกเพิ่มความไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าหลังเลิกเรียนด้วยกันไม่ได้ และอาจต้องงดเว้นกิจกรรมใดๆ ที่ต้องใช้สองเท้าก้าวขึ้นรถขนส่งสาธารณะ
“ช่วงแรกๆ มันยากมาก เพราะเราไปเดินห้างกับเพื่อนหลังเลิกเรียนไม่ได้ เราจะบอกเขายังไงว่าให้ช่วยยกเราหน่อยนะ หรือให้เราขี่หลังหน่อยสิ เราเลยตัดปัญหาด้วยการไม่ไปเลย แต่พอสนิทกันไปช่วงหนึ่ง เพื่อนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าต้องช่วยอุ้มเรายังไง หลังจากนั้นมันก็มีการโดดเรียนไปเดินเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง ตามประสาวัยรุ่นทั่วไปเลย”
คำถาม (โง่ๆ) มีว่า ถ้าการเดินทาง การออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนมันมีอุปสรรคมากขนาดนี้ ยอมแพ้ (give up) ไปเลยจะง่ายกว่าไหม?
“มันเป็นความเท่ของการเป็นวัยรุ่นที่ได้ออกไปข้างนอกขณะที่ครูกำลังสอน (หัวเราะ) เราเห็นเพื่อนๆ ทำกันได้ เราก็อยากลองบ้าง ตอนเด็กๆ เราถูกมองว่าเป็นเด็กตั้งใจเรียน ขยัน รู้สึกว่าชีวิตเราอยู่ในกรอบ ในกฎเกณฑ์ และอยู่ในความคาดหวังของคนอื่น เราอยากต่อต้าน อยากหลุดจากกรอบนี้
“แล้วเพื่อนเราก็สนับสนุน พร้อมช่วยเหลือถ้าเจออุปสรรคหรือความไม่สะดวก มันเลยทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเราไปได้”
หนู: เธอเป็นสาวสะพรั่งแล้ว
หนูสอบติดภาควิชาทัศนศิลป์ (Visual Arts) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถ้าจัดอันดับความ ‘แฟชั่นเนเบิล’ ความพลังเยอะ ความกล้าหาญในทางแฟชั่นแล้ว คณะศิลปกรรมของทุกๆ มหาวิทยาลัยอาจอยู่อันดับต้นๆ ในความรับรู้ของคนหนุ่มสาวทั่วไป
ซึ่งจะพูดได้ไหมว่า นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ในการมองโลกและใช้ชีวิตของเธอ?
“คือคณะเรา ทุกคนแต่งตัวเต็มมากกก (หลับตาพริ้ม ลากเสียงยาว) บางคนผมสีขาว ปากดำมาเรียนเลย ถ้าถามว่าเราแต่งตัวเยอะขนาดนั้นไหม ไม่เลยนะ อย่างเราเรียกว่าต่ำกว่ามาตรฐานมากๆ แต่สิ่งที่คณะนี้ให้เรา คือให้ความมั่นใจในการแต่งตัวมากขึ้นอีกนิด คือเข้าใจไหมว่า ถ้าเราจะแต่งตัวเยอะขึ้นอีกหน่อย มันก็จะยังธรรมดาอยู่ดี
“ชีวิตมหา’ลัยของเรามันมีสีสันมาก เข้าใจไหมว่าคณะเรามันอยู่ติดกับซอยอังรีดูนังต์เลย ตรงหน้าเรามันคือสยามฯแล้ว ช่วงปีหนึ่งนี่แล้วใหญ่ เพราะวิชาส่วนใหญ่เป็นวิชาทฤษฎีที่คลาสเรียนจะเลิกประมาณ 4 โมง จบคลาสปุ๊บ ก็เข็นรถออกไปสยามฯเลย ไปกินข้าว กินไอติม ดูเสื้อผ้า แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อตอนกลางคืน แล้วเพื่อนคือดีมาก ทุกคนพร้อมจะเดินไปกับเรา เพราะขึ้นรถป๊อปของมหา’ลัยไม่ได้ คือถ้าจะขึ้น ก็ต้องมีเพื่อนอย่างน้อยสี่คนคอยประกบอยู่ ก็พากันเดินไป”
หนูเล่าว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เธอ ‘ไฝว้’ เพื่อการใช้ชีวิตของเธอมากที่สุด หนึ่ง-เพราะวิชาเรียนของเธอคือวิชาศิลปะ ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทำงานในห้องสตูดิโอของคณะ ทุกๆ วันเธอต้องเข็นรถวีลแชร์ขึ้นรถไฟฟ้ามาเข้าคณะ อยู่ทำงานตั้งแต่มืดจนถึงเช้า แล้วออกไปเรียนหรือกลับบ้านเพื่อออกมาทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อาจเพราะความเคยชินในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า อาจเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนให้เธอมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นเพราะความท้าทายที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเธอสามารถและต้องใช้ชีวิตของเธอด้วยตัวเธอเองได้
ตอนปีหนึ่งเราเที่ยวยับ อยู่สยามฯ ไปฟังเพลงกับเพื่อน ไปจตุจักร ไปสำเพ็ง ไปทุกที่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราต้องการพิสูจน์ตัวเองกับแม่ว่าเราดูแลตัวเองได้นะ ตอนแรกๆ แม่จะบ่นว่าจะไปยังไง ใครจะเป็นคนดูแล แต่หลังๆ มาคำบ่นของเขาจะเป็นแค่ ‘ไปอีกแล้วเหรอ เที่ยวบ่อยเกินไปแล้วนะ ‘ ซึ่งเป็นคำบ่นธรรมดาไปแล้ว
“ตอนเด็กๆ เราไม่เคยไปเข้าค่ายกับเพื่อนเลยนะ เพราะเขากังวลว่าจะไม่มีใครมาดูแลเรา ใครจะพาไปอาบน้ำ ใครจะพาเข้านอน มากสุดคือ เอาเราไปส่งที่ค่ายตอนเช้า แล้วพอเย็นๆ ก็ไปรับกลับมา เรื่องไปนอนค้างบ้านเพื่อนก็ไม่เคย เพื่อนๆ มานอนบ้านเราแทน”
หนู: เสื้อผ้าในตู้ เธอเป็นคนเลือกเอง
ว่ากันตามตรงแล้ว บทสนทนาทั้งหมด มาจากความตื่นตะลึงอันแสนตื้นเขินของผู้สัมภาษณ์ เราเพียงแต่สงสัย (เชิงตัดสิน) ว่าเธอเดินทางไปช็อปปิ้งอย่างไร ทำไมจึงเข้าถึง สนุก และตามเทรนด์แฟชั่นทันราวกับมีเวลาไปเลือกและอัพเดทในถิ่นขายเสื้อผ้าฮิปๆ แบบนี้ เพราะมองไปรอบตัว ลำพังคนเดินเท้า ยังหงุดหงิดกับความไม่สมประกอบของสถานที่และการเดินทางเลย
และเมื่อรวมกับความคุ้นชินในภาพลักษณ์ของผู้พิการส่วนใหญ่ ที่มักจะแต่งตัวสุภาพ ไม่สมัยนิยม หรือให้ภาพที่ชวนคิดว่า ผู้พิการ ไม่เท่ากับ ‘ความแฟชั่นเนเบิล’ เลย
“เวลาที่ทำงานตรงนี้ เราจะได้คุยกับน้องวัยรุ่นหญิงที่เป็นผู้พิการ มีคนหนึ่งเขาตัดผมสั้นกุดแบบทรงผู้ชายเลย คือมันมีทรงผมสั้นที่เป็นทรงผู้หญิงใช่ไหม แต่อันนี้คือสั้นแบบผู้ชาย เขาใส่เสื้อที่เป็นเสื้อแถม ใส่ถุงเท้าที่ดูไม่เข้ากับชุดนั้นเลย ถามเขาว่าชุดนี้เลือกเองไหม เขาบอกว่า เปล่า แม่เลือกให้
คำว่า ‘ผู้ดูแลผู้พิการ’ (Care Giver-CG) ที่เธอพูดถึง หากดูตามพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ให้ความหมายว่าคือ บิดา มารดาบุตร สามีภรรยา ญาติ พี่น้องหรือบุคคลอื่นใดที่รับดูแลหรืออุปการะคนพิการ
คำว่า ‘ผู้ช่วยผู้พิการ’ (Personal Assistant) คือบุคคลซึ่งให้ความช่วยเหลือคนพิการเฉพาะบุคคลเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสวัสดิการที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยคนพิการจากการพึ่งพิง CG ในระยะยาว
“ปัญหาที่ดูซับซ้อนลงไปอีก คือผู้ช่วยผู้พิการส่วนใหญ่ในบ้านเราคือพ่อแม่ พอจะเห็นภาพไหมว่า พอเป็นพ่อแม่ มันจะมีอำนาจบางอย่างที่เป็นผู้เลือกสิ่งที่คิดว่าดีให้กับผู้พิการได้
“ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นปัญหาอยู่พอสมควร มันทำให้อำนาจของผู้ที่ถูกดูแลลดลงไป เช่น ถ้า PA ที่ดูแลเราไม่ใช่พ่อแม่ เราจะมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ เราบอกให้เขาทำผมทรงนี้ อยากให้เขาหยิบชุดนั้นให้ แต่พอเป็นพ่อแม่ เป็นคนที่ดูแลใกล้ชิด ทำให้บางครั้ง เขาซื้ออะไรมาให้ก็ต้องกิน หยิบอะไรมาให้ใส่ก็ต้องใส่”
อีกหนึ่งปัญหา คือผู้พิการส่วนใหญ่มักถูกขังให้อยู่แต่ในบ้าน
ซึ่งถ้าเราบอกว่าแฟชั่นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งที่อาจไม่จำเป็น สำหรับผู้พิการ มันมากกว่านั้นอีก เพราะการจะออกจากบ้านหนึ่งครั้ง คนปกติก็อาจประหยัดสตางค์ได้ด้วยการขึ้นรถเมล์ แต่ผู้พิการทำแบบนั้นไม่ได้ บางครั้งเขาต้องขึ้นแท็กซี่ อย่างต่ำก็ 200-300 บาท มันทำให้เขาจำเป็นต้องตัดอะไรบางอย่างทิ้งไปด้วย
“เราไม่ได้บอกให้ผู้พิการทุกคนลุกขึ้นมาแต่งตัวสวย เพราะเราเข้าใจว่าทุกคนมีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในแบบของตัวเอง แต่กำลังชี้ว่า ถ้าผู้พิการอยากจะทำอะไร ผู้ดูแลต้องสนับสนุนเขาเท่าที่ทำได้ เราคิดว่าคนพิการก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากเป็นด้วย ไม่ใช่อยู่ในแผนว่าเดือนนี้ต้องไปหาหมอ เดือนหน้าต้องไปตัดอุปกรณ์ใหม่ เสื้อผ้าก็มาจากสิ่งที่คนอื่นซื้อมาให้ตลอดเวลา”
แต่หากเป็นเคสของผู้พิการรุนแรง มันอาจเข้าใจได้ไหมว่า ความเป็นอยู่ของเขาก็พัวพันกับความสะดวกสบายของผู้ช่วยจริงๆ?
“ถ้าเราจะบอกตั้งแต่ต้นว่ามันไม่ควรมีใครที่ต้องถูกขังอยู่ในบ้าน ดีไหม? เราคิดว่ามันไม่ควรมีใครที่ต้องถูกขังอยู่ในบ้าน แล้วใส่ชุดเดิมๆ สถานการณ์แบบนี้มันไม่ควรจะเกิดตั้งแต่แรก มันควรแก้นะ แต่ถ้ามันมีแล้ว มันก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องแต่งตัวด้วยชุดนอน หรือชุดโทรมๆ ตลอดเวลา
“เคยไหมที่อยู่บ้านคนเดียวแล้วอยากจะลุกขึ้นมาแต่งหน้า แบบขอลองหน่อยเหอะนะ เราว่ามันเป็นสถานการณ์เดียวกันกับคนที่อยู่บ้านตลอดเวลา แล้วรู้สึกว่าชีวิตต้องการอะไรมากกว่าการใส่ชุดนอนแล้วดูป่วยๆ พอคนมาเห็นก็มองว่าเขาป่วย
ความพิการกับการป่วย มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันนะ
หนู: ‘ดูสิ… พิการแล้วยังอุตส่าห์แต่งตัวสวยอีก’
แต่ในฐานะที่ท้าทายและพิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่า การออกจากบ้านสำหรับผู้พิการเป็นเรื่องทำได้ การเข้าไปช็อปปิ้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร สยามฯ หรือสำเพ็งที่คนแสนเยอะก็ไม่ใช่อุปสรรค เมื่อรวมกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีพลังงานทางแฟชั่นสุมอยู่มาก
คำถามคือ เคยมีไหมที่คิดอยากจะแต่งตัวให้เปรี้ยวตามใจอยากไปจนสุดทาง?
“เราอยากทำผมสีควันบุหรี่ ย้อมผมให้สีขาวๆ ไปเลย แต่เพราะเราต้องนั่งวีลแชร์ มันเด่นอยู่แล้ว เรากลัวว่าการที่เราปล่อยตัวเองไปให้สุด คนจะมาพอยท์ที่ความพิการเรา มากกว่าสีผมของเรา
เช่นว่า ‘ดูสิ พิการแล้วยังอุตส่าห์แต่งตัวสวยอีกนะ’ มันไม่ใช่เรื่องอุตส่าห์โว้ย มันเป็นเรื่องของความอยาก มันบั่นทอนเหมือนกันนะ บั่นทอนคนพิการที่อยากจะทำอะไรที่มันดูสวยงามกับตัวเอง เพราะทำออกมาแล้วมันโดนคำพูดแบบนี้
คำตอบของเธอทำให้ต้องครุ่นคิดอยู่ในใจไปอีกระดับ เพราะบางครั้งการใส่เสื้อผ้า เป็นการแสดงรสนิยม แสดงความเป็นตัวเอง ไปจนถึงอยากดูสะดุดตาเป็นที่สนใจ
“อีกเรื่องคือผู้พิการ มักถูกคาดหวังให้แต่งตัวน่ารัก เรียบร้อย สุภาพ เช่นบางครั้งเราใส่เสื้อแขนกุดออกไปข้างนอก ถ้าปกติเวลาที่อยู่กับเพื่อน มันอาจจะรู้สึกปลอดภัยใช่ไหม แต่บางครั้งเราถูกจดจ้องจนต้องหยิบเสื้อคลุมมาใส่ แต่อีกใจลึกๆ มันประกอบกับข้อจำกัดและสิ่งที่สังคมปลูกฝังด้วยแหละ
“อย่างเราจะมีความกลัวอย่างหนึ่งเลยว่า ถ้าเราถูกคุกคาม เราหลบหนีไปไหนไม่ได้เลยนะ ซึ่งไม่รู้ว่าคิดแบบนี้มันถูกหรือเปล่า เราอาจไปตัดสินคนอื่นอยู่ แต่มันจะมีความกลัวลึกๆ ตรงนี้ ที่ทำให้บางครั้งก็ไม่ได้ใส่ทุกอย่างอย่างที่คิด”
อีกประเด็นที่ทำให้เธอ ‘ไปไม่สุดทาง’ คือข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง
“ยกตัวอย่างการขึ้น BTS เราต้องแยกไปขึ้นลิฟต์ โดยที่อาจเป็นมุมอับมากๆ และเราต้องอยู่กับพี่ยามสองคนในที่แคบๆ มันอึดอัดนะ เราไม่รู้จักกันมาก่อน และเขาจะมาเกาะรถเรา ซึ่งรถนี่เหมือนเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งของร่างกายเราเลย เราไม่ได้หวงตัวขนาดนั้นนะ แต่มันเป็นความไม่สบายใจ และคิดว่าเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เราต้องพิจารณาด้วย”
คำถามสุดท้าย เคยมีคนกล่าวไว้ว่า กว่าที่ผู้หญิงหรือใครสักคนที่ใส่ใจเรื่องการแต่งตัวจะก้าวเท้าออกจากบ้าน เราจะต้องเปลี่ยนชุดอย่างต่ำประมาณแปดชุด สำหรับคุณ ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนชุดอยู่ที่เท่าไร?
“เพราะเราเปลี่ยนชุดยากใช่ไหม ก่อนใส่เราก็จะเลือกเอาไว้ก่อน นั่งแช่อยู่หน้าประตูนานมาก จนบางครั้งน้องถามว่านี่ทำไรอยู่หน้าตู้เสื้อผ้าเนี่ย? (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่เราจะเลือกไว้ตั้งแต่ก่อนนอนเลย มันจะคิดเยอะมาก เช่น วันนี้เราจะไปเจอใคร เขาเคยเจอเรารึเปล่า เดี๋ยวเขาจะหาว่าเรามีเสื้อตัวเดียวหรือเปล่าวะ
“แต่เชื่อไหมว่า เลือกไปเลือกมา เราใส่เสื้อผ้าตัวเดิมๆ เลย”