ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกที่ห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย โดยกำหนดให้บริจาคให้องค์กรการกุศลหรือ Food banks แทน เพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก ความยากจน และต่อต้านการทิ้งอาหารอย่างฟุ่มเฟือย
เริ่มต้นจากการรับเรื่องร้องเรียน และจุดประเด็นโดย อาราช เดอรอมบาร์ค สมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายนี้ได้เข้าสู่รัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และได้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรมอาหาร กิโยม กาโร ซึ่งปลายทางของการเคลื่อนไหวนี้อยู่ที่การโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปกำหนดให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในประเทศสมาชิกทั้งหมด
กฎหมายฉบับนี้ของฝรั่งเศส ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก Food banks องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานแจกจ่ายอาหารแก่คนยากจนเพื่อลดปัญหาความหิวโหย ที่ตอนนี้เริ่มโครงการในการหาอาสาสมัครพิเศษ, รถบรรทุก, โกดัง และสถานที่เก็บความเย็น เพื่อรับมือกับของบริจาคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากร้านค้าและผู้ผลิตอาหารต่างๆ
ที่ผ่านมา บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ถูกมองว่าทิ้งอาหารอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อป้องกันไม่ให้คนเร่ร่อนมาคุ้ยหาอาหาร แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ครอบครัว นักเรียน คนว่างงาน และคนไร้บ้านในฝรั่งเศสเพิ่มจำนวนมากขึ้น คนจำนวนไม่น้อยไปหาอาหารในถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตตอนกลางคืนเพื่อประทังชีวิต พวกเขาแค่ต้องการหาของกินได้ที่ถูกโยนทิ้งเพียงเพราะถึงวันหมดอายุ
ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ก็ใส่สารฟอกสี/ฟอกขาวลงไปในถังขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเป็นพิษถูกเก็บไปกินต่อ แต่บางแห่งก็ทิ้งอาหารลงไปในโกดังที่ล็อคเอาไว้ รอให้รถบรรทุกขยะมารับไป
หลังจากบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เจ้าของร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องเซ็นสัญญาว่าจะบริจาคอาหารแก่องค์กรการกุศลต่างๆ ถ้าฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับประมาณ 3,750 ยูโร หรือประมาณ 151,408 บาท
ชาร์ค ไบเล หัวหน้าเครือข่าย Food banks ในฝรั่งเศส อธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นประโยชน์และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก
“เพราะจะเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หันมาบริจาคอาหาร ที่สำคัญคือ การที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องเซ็นสัญญาบริจาคอาหารให้องค์กรการกุศลนั้น จะทำให้เราสามารถเพิ่มคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการและความหลากหลายของอาหารที่เราได้มาและแจกจ่ายได้ ตอนนี้เราขาดอาหารประเภทเนื้อ ผักและผลไม้ ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะอนุญาตให้เราได้รับอาหารประเภทนี้มากขึ้น”
ไบเล เผยว่า จนถึงตอนนี้ Food banks ในฝรั่งเศสได้รับบริจาคอาหารแล้วประมาณ 100,000 ตัน ในจำนวนนี้ 35,000 ตันมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต
“การได้รับอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงอาหารราว 10 ล้านมื้อในแต่ละปี” ไบเลเปรียบเทียบ
ด้านความปลอดภัยของอาหารบริจาค กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ Food banks และองค์กรการกุศลต่างๆ ต้องเก็บอาหารให้อยู่ในสภาพที่สะอาด ปลอดเชื้อ ปรุงและแจกจ่ายด้วยมาตรฐานเดียวกับอาหารทั่วไป นั่นหมายความว่าอาหารต้องถูกจัดหาและจัดทำจากส่วนกลางอย่างเหมาะสม ภายใต้การบริหารจัดการอย่างถูกต้อง
เดอรอมบาร์ค สมาชิกสภาฝรั่งเศส วางเป้าหมายต่อไปว่า จะเสนอให้ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลองด์ กดดันไปยัง ฌอง โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ให้เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ
“การต่อสู้ครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น เรายังต้องสู้กับอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหาร ร้านเบเกอรี โรงอาหารโรงเรียนและห้องอาหารบริษัทเอกชนต่างๆ อีกมาก” เดอรอมบาร์คให้สัมภาษณ์
ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของฝรั่งเศสอย่างคาร์ฟูร์ แถลงว่า ยินดีและเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางห้างทำอยู่แล้ว
ทั้งนี้แต่ละปี ฝรั่งเศสมีอาหารเหลือทิ้งราว 7.1 ล้านตัน เป็นการทิ้งโดยผู้บริโภค 67% ร้านอาหาร 15% ร้านค้า 11% ถ้าคิดเป็นปริมาณทั่วโลกแล้ว แต่ละปีมีอาหารเหลือทิ้งถึง 1.3 พันล้านตัน