[On This Day] 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นวิกฤตต้มยำกุ้ง

“ลดค่าเงินบาท หนี้นอกเพิ่มสองแสนล.”
“ยกธงขาว! ลดค่าเงินบาท”
“ชาตะเงินบาทเดิมพันประเทศ”

ในเช้าตรู่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับต่างรายงานข่าวพาดหัวใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงเป็นอย่างมากแก่บรรดานักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ‘ระบบคงที่แบบอิงตระกร้าเงิน’ (pegged exchange rate) ไปเป็น ‘ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ’ (managed float) จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของไทยอย่าง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ก่อนหน้า ในช่วงทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยในขณะนั้นเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพัฒนาการทูตและการค้ากับนานาชาติ นโยบายขยายโครงการ Eastern Seaboard โครงการรถไฟและทางด่วนต่างๆ เป็นต้น ส่งผลให้การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศเฟื่องฟูจนถึงขนาดมีคำพูดในขณะนั้นว่า “ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” 

ด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงินตามพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในปี 2533 เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างเสรี เปิดระบบการเงินไทยสู่สากล และนโยบายจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities: BIBF) ในปี 2536 ที่เปิดช่องให้สถาบันการเงินไทยสามารถกู้ยืมเงินจากแหล่งทุนต่างประเทศได้โดยตรง ทั้งนี้ เนื่องด้วยอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่ต่ำกว่าภายในประเทศ และอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแบบคงที่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจในไทยต่างนิยมกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อหรือลงทุนเก็งกำไรในธุรกิจต่างๆ 

ทว่านโยบายดังกล่าวกลับขาดมาตรการควบคุมสินเชื่อ รวมไปถึงไม่มีการกำกับดูแลสถาบันทางการเงิน จึงทำให้ประเทศไทยขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัดและการค้าเรื่อยมา อันเนื่องมาจากมีการเงินกู้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหนี้ที่กู้ยืมมาเป็นหนี้ระยะสั้น และเป็นการกู้เพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อภายในประเทศหรือเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ 

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีการคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะ ‘ฟองสบู่แตก’ อย่างช้าๆ จนนำไปสู่ ‘การโจมตีค่าเงินบาท’ ในเวลาต่อมา

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสัญญาณเตือนถึงสภาวะฟองสบู่แตก ได้กลายเป็นช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติอย่างกลุ่ม Hedge Funds ที่นำโดย จอร์จ โซรอส (George Soros) โจมตีค่าเงินบาทไทยตั้งแต่ปี 2539 ผ่านการระดมเทขายเงินบาทจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพของค่าเงิน จนธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาพยุงค่าเงินบาทเอาไว้ โดยในปี 2539 ประเทศไทยสามารถปกป้องค่าเงินบาทได้เรื่อยมา ด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มากถึง 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2540 สงครามโจมตีค่าเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสูญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินบาทไปถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 6 เดือน จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคมคงเหลืออยู่ประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นไม่อยู่ในสถานะที่จะพยุงค่าเงินบาทไว้ได้อีกต่อไป

จากข่าวลือมาร่วมครึ่งปีว่ารัฐบาลจะลดค่าเงินบาท จนในที่สุด วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต จงใจยุทธ และธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแทนที่จะเป็นการลดค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทในขณะนั้นอ่อนค่าอย่างฉับพลัน จากเดิมมีอัตราคงที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ และทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนมาสู่จุดต่ำสุดที่ 56.50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ในปี 2541

จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี 2540 ประเทศไทยต้องขอความความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นจำนวนเงินถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์นี้ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทบ้านจัดสรร บริษัทอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นหนี้จากการกู้เงินต่างประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเหตุที่ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว นำไปสู่การปิดกิจการของสถาบันการเงินและบริษัทหลายแห่ง พนักงานจำนวนมากถูกปลดออกจากงาน กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยอย่างรุนแรง ก่อนที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกในชื่อ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ 

ถึงแม้ว่าจะล่วงผ่านมาถึง 26 ปีแล้ว แต่บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงปรากฏร่องรอยในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นตึกร้างกลางกรุง สถาบันทางการเงินที่ควบรวมกัน บรรดาธุรกิจทั้งที่ล้มหายตายจากและกำเนิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ หรือแม้แต่ละครภาพยนตร์ในขณะนั้นที่หากพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจก็มักจะมีฉากหลังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 อยู่เสมอ 

วิกฤตต้มยำกุ้ง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ฝังใจของสังคมไทย และบทเรียนของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดในอดีตที่ทำให้ระเบียบทางการเงินไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ศิรวิชญ์ สมสอาง
นักศึกษาฝึกงานที่ผ่านทางมา ผู้เขียนมากกว่าพูดและชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า