วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป หรือนับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘การเลือกตั้งสกปรก’ ที่มีการนับผลคะแนนยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน โดยพรรคการเมืองที่คว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่กวาดที่นั่ง ส.ส. ได้ถึง 83 ที่นั่ง
เหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจัดให้เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดมีหลายประการ อาทิ ช่วงก่อนเลือกตั้ง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ลูกน้องของจอมพล ป. ในขณะนั้น จัดงานเลี้ยงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงเหล่าอันธพาลที่เป็นหัวคะแนน เพื่อให้ช่วยเหลือพรรคเสรีมนังคศิลาในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
หรือกรณีอื้อฉาวอื่นๆ ที่เกิดเป็นศัพท์การเมือง เช่น ‘ไพ่ไฟ’ หรือการที่จู่ๆ ไฟในคูหาเลือกตั้งดับลง หลังไฟสว่าง ก็ปรากฏว่ามีหีบที่เต็มไปด้วยบัตรเลือกตั้งที่กากบาทรายชื่อผู้สมัครไว้แล้วโผล่ขึ้นมาเสียดื้อๆ และ ‘พลร่ม’ หรือการระดมกลุ่มคนไปเวียนลงคะแนนให้บางพรรคหลายรอบ
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์แปลกประหลาดอื่นๆ เกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง เช่น มีอันธพาลบุกเข้าทำร้ายคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วย บางหน่วยเลือกตั้งมีการเปิดคูหาล่าช้า ปิดคูหาเลยเวลาที่กำหนด ยิ่งกว่านั้น ในขั้นตอนนับคะแนน หากเจอบัตรเสียที่ลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคเสรีมนังคศิลา บัตรเสียนั้นจะถูกนับเป็นบัตรดี ตลอดจนมีหน่วยเลือกตั้ง 13 หน่วยที่นับคะแนนล่าช้า โดยใช้เวลากว่า 2 วัน เมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลง พรรคเสรีมนังคศิลากลับได้คะแนนพุ่งสูงเกินกว่า 200 เปอร์เซ็นต์
แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่พอใจผลการเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งการเดินขบวนประท้วงและเขียนประณามผ่านหนังสือพิมพ์ แต่สุดท้ายแล้ว พรรคเสรีมนังคศิลาก็สามารถครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2500
อย่างไรก็ตาม การขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งสกปรกของ จอมพล ป. ก็ทำให้รัฐบาลไร้ความเสถียรภาพ จนท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารโดยหนึ่งในผู้สืบทอดของจอมพล ป. เอง นั่นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500 นับเป็นการปิดฉากยุคสมัยของ ‘ผู้นำคณะราษฎร’ อย่างสมบูรณ์ และเข้าสู่ยุค ‘ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ ของจอมพลผ้าขาวม้าแดงอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ดี กาลเวลาผ่านไปจนมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เข้ามาท้าชิงตำแหน่ง ‘การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์’ นั่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 26 ของราชอาณาจักรไทย
การเลือกตั้ง 2562 เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเขียนกติกาเพื่อเตะตัดขาพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่น่าจะได้คะแนนเสียงจำนวนมากชนิดที่เรียกว่า ‘แลนด์สไลด์’ และเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่น่าจะได้คะแนนเสียงน้อย ซึ่งก็ชัดเจนว่า เป็นการสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยหรือเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้เข้าสู่อำนาจนั่นเอง
ในวันเลือกตั้ง (วันที่ 24 มีนาคม 2562) มีเหตุการณ์ประหลาดมากมายเกิดขึ้นไม่ต่างจากเมื่อปี 2500 จนชวนให้ประชาชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ‘บัตรเขย่ง’ ที่จำนวนบัตรเลือกตั้งมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ หรือกรณีบัตรเลือกตั้งจากคนไทยในนิวซีแลนด์จำนวนกว่า 1,542 ใบ ที่ กกต. ตัดสินว่า ไม่สามารถเอามานับคะแนน เพราะเดินทางมาถึงล่าช้า ทั้งๆ ที่มีการส่งบัตรเลือกตั้งเหล่านี้มาถึงไทยล่วงหน้าเกือบ 1 สัปดาห์ (วันที่ 18 มีนาคม 2562) มิหนำซ้ำ กว่า กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าการเลือกตั้งสกปรกสมัยปี 2500 เสียอีก
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2500 การเลือกตั้งปี 2562 ก็เป็นการเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีทหารกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเป็นปีที่ 5 หลังจากอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557
อ้างอิง:
- “เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500
- เลือกตั้ง 2562 : หนึ่งเดือนหลังเข้าคูหา คนไทยรู้อะไรแล้วบ้าง