วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Bookscape จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 (2565) หรือฉบับแปลไทยจาก On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century (2017) ผลงานของ ทิโมธี สไนเดอร์ (Timothy Snyder) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเยล แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
บทสนทนาบนเวทีไม่เพียงมีเนื้อหาทางวิชาการเข้มข้น เพราะได้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญปรัชญาการเมืองตะวันตก มาเป็นวิทยากร แต่ยังมีการบอกเล่าประสบการณ์ต่อสู้กับเผด็จการที่เกิดขึ้นจริงในเวทีการเมืองไทยผ่านปากคำของ ‘ผู้ประสบภัยทรราชย์’ อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทรราชย์คืออะไร?
“ทร- คือชั่ว ราชย์คือการปกครอง ดังนั้น ทรราชย์จึงหมายถึงผู้ปกครองที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และแหล่งที่มาของอำนาจไม่ได้มาจากส่วนรวม มิหนำซ้ำเขายังใช้อำนาจปิดปากและคุกคามคนอื่นๆ ด้วย
“ใครที่ใช้อำนาจไม่ถูกครรลองคลองธรรม ไม่อยู่ในร่องในรอย เราเรียกรวมๆ ได้ว่า ทรราชย์”
พริษฐ์ ชิวารักษ์ อธิบายความหมายของคำว่า ‘ทรราชย์’ (tyranny) เอาไว้ พร้อมกล่าวชมว่า หนังสือ On Tyranny ของทิโมธี สไนเดอร์ ได้ฉายภาพกลเม็ดต่างๆ ที่ระบอบทรราชย์ใช้ควบคุมมนุษย์ให้อยู่ใต้อำนาจ บางกลเม็ดเป็นลูกไม้ตื้นๆ ที่ประชาชนตระหนักและรู้เท่าทันได้ไม่ยาก แต่บางกลเม็ดก็แยบคายเสียจนผู้ถูกควบคุมแทบไม่รู้สึกตัว
“ทรราชย์จะทรงอำนาจไม่ได้ หากไม่สามารถควบคุมความคิดและชีวิตของคนในสังคม
“ทรราชย์ต้องการให้เราสูญเสียความมั่นใจในตนเอง สูญเสียสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการใช้ชีวิต และสุดท้ายก็เสียสิทธิในความคิดความรู้สึก เราอาจเป็นก้อนดินแค่ก้อนหนึ่ง เปราะบาง ไร้ค่า จนต้องไหลตามกระแสของอำนาจ” พริษฐ์ให้บทสรุป
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เสนอนิยามคล้ายพริษฐ์ว่า ทรราชย์คือ ระบอบการปกครองที่ชั่วร้าย ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน และยังใช้อำนาจเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้สไนเดอร์จะสรุปบทเรียนการต่อสู้กับระบอบเผด็จการจากศตวรรษที่ 20 แต่ธนาธรเห็นว่า หนังสือของเขายังใช้อธิบายโลกในศตวรรษที่ 21 ได้
“โลกเพิ่งเฉลิมฉลองการมีมนุษยชาติครบ 8 พันล้านคน แต่ทุกวันนี้ประชากรโลกประมาณ 2.6 พันล้านคน ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่า อำนาจนิยมหรือเผด็จการ”
ธนาธรเห็นว่า ทรราชย์เป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องปฏิเสธ เพราะสังคมการเมืองสมัยใหม่ล้วนตั้งมั่นบนหลักการที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพ และเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ดังนั้นอำนาจและทรัพยากรต้องถูกใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการของใครหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เห็นว่า ทรราชย์หรือระบบอำนาจนิยมเกิดขึ้นได้เพราะมีการเชื่อฟัง (obedience) จากมนุษย์คนอื่นๆ ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างคำอธิบายของ ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันผู้ลี้ภัยนาซี ว่า ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) จะถือกำเนิดขึ้นเมื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป เสรีภาพถูกคุกคาม และสังคมพินาศทางศีลธรรม (total moral collapse of society) จนกระทั่งมนุษย์ไม่มีความคิดของตนเองหลงเหลืออยู่ จึงพร้อมกลายเป็นกลจักรที่ผู้มีอำนาจสั่งให้ทำเรื่องเลวร้ายเพียงใดก็ได้
“คนธรรมดากลายเป็นคนที่ไม่ต้องคิดอะไรก็ได้ และพร้อมจะเชื่อฟังต่ออำนาจสั่งการ (authority)”
อำนาจ ความเชื่อง และความเกลียดชัง: ทรราชย์ทำอะไรกับคน
เพื่อจะตอบคำถามว่า ทำไมมนุษย์จึงเชื่อฟังอำนาจของทรราชย์ ชัยวัฒน์แนะนำให้เรารู้จักกับหนังสือ The Politics of Nonviolent Action (1973) ของ จีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักสันติวิธีชาวอเมริกันผู้สั่นสะเทือนเผด็จการทั่วโลก
ชาร์ปเสนอว่า มนุษย์บางคนเชื่อฟังอำนาจเพราะหวาดกลัว เนื่องจากรัฐและผู้ปกครองใช้ความรุนแรงสยบผู้คนเสมอมา บางคนเชื่อฟังเพราะมีพันธะทางใจว่า ผู้ปกครองจะทำให้สังคมดี บ้านเมืองสงบ บางคนเห็นว่าผู้ปกครองมีสถานะสูงส่งกว่า จึงมีความชอบธรรมในการออกคำสั่ง บางคนเชื่อฟังเพราะได้ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือความก้าวหน้าในชีวิต บางคนก็เชื่อฟังเพราะไม่ใส่ใจใยดี (indifference) ต่อปัญหาบ้านเมือง ในขณะที่บางคนเชื่อฟังอำนาจจนติดเป็นนิสัย ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่เชื่อในอำนาจและความคิดของตนมากพอจะลุกขึ้นมาคัดค้าน
ธนาธรเห็นพ้อง และยกตัวอย่างว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีความพยายามข่มขู่และทำลายความทรงจำของประชาชนขนานใหญ่ เช่น มีการ ‘ลบ’ หมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การ ‘อุ้ม’ นักกิจกรรมหายไปอย่างไร้ร่องรอย หรือการฆ่าแล้วเอาศพไปทิ้งในแม่น้ำโขง ทว่าเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้แทบจมหายไปในความเงียบ เพราะสังคมไทยไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม
“เผด็จการเหมือนกันทั่วโลก คือต้องการทำให้คนหวาดกลัว”
นอกจากนี้ ธนาธรยังเห็นว่า ลัทธินิยมต่างๆ (-ism) ไม่ว่าชาตินิยม ชาติพันธุ์นิยม หรืออำนาจนิยม ถูกนำมาใช้สร้างความเกลียดชัง สร้างความหวาดกลัว นำไปสู่การทำลายล้างและเข่นฆ่าชีวิตมนุษย์เหลือคณานับในหน้าประวัติศาสตร์
“คนธรรมดามักถูกชนชั้นนำทำให้เกลียดชังกัน ถ้าไม่เกลียดกลัวกันเองภายในประเทศ ก็เกลียดกลัวคนข้างนอก ไม่ว่าจะด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังจากชาติ ชาติพันธุ์ ศรัทธาทางศาสนา หรือสีผิว”
ลัทธินิยมต่างๆ จะเชิดชูอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งให้เด่นขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของความเป็น ‘เรา’ และเรียกร้องให้มนุษย์สร้าง ‘เรา’ ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดขึ้นมา แต่เมื่อมีพวกเราก็ย่อมมี ‘พวกเขา’ ที่ต้องขจัดให้สิ้นซาก ธนาธรเห็นว่า สภาวการณ์แบบนี้เปิดช่องให้ทรราชย์ตบเท้าเข้ามามีอำนาจชี้นำสังคมได้ไม่ยาก เมื่อระบอบทรราชย์เจอเครื่องมือสร้างความเกลียดชัง เราก็จะได้เห็น ความบ้าคลั่งกำลังก่อตัว และสงครามที่กำลังใกล้เข้ามา
“ผมคิดว่า ‘เรา’ ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด สร้างไม่ได้จากระบอบที่บังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันแน่ๆ”
โลกศตวรรษที่ 21: แม้แต่ประเทศเสรีประชาธิปไตยก็ก่อกำเนิดทรราชย์ได้
ชัยวัฒน์เสนอข้อถกเถียงว่า On Tyranny ไม่ใช่หนังสือสากล แต่เป็นหนังสืออเมริกันที่สไนเดอร์เขียนขึ้นเพื่อเตือนเพื่อนร่วมชาติ (fellow americans) ให้ระวังว่า แม้แต่ประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐเองก็อาจกลายเป็นเหยื่อของระบอบทรราชย์ได้
“หนังสือ On Tyranny พูดเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดเวลา โดยไม่เอ่ยชื่อทรัมป์แม้แต่นิดเดียว เพราะตัวแปรที่บอกว่าใครจะเลือกทรัมป์หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ ไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่การศึกษา แต่คือแนวโน้มความเป็นอำนาจนิยม (authoritarianism) ของคนอเมริกัน ซึ่งพร้อมระดมกันมา เดินตามและเชื่อฟังผู้นำที่เข้มแข็ง และเล่นงานคนนอกแรงๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกคุกคาม”
จริงๆ แล้วสไนเดอร์ไม่ใช่คนเดียวที่เห็นเค้าลางภัยคุกคามจากทรราชย์ในสหรัฐ ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างนักวิชาการชื่อดัง อาทิ อเล็กซิส เดอ ท็อคเคอวิลล์ (Alexis de Tocqueville) ที่เคยเตือนเอาไว้ในท้ายหนังสือ Democracy in America (1835) ว่า ลัทธิเผด็จการ (despotism) อาจถูกสถาปนาขึ้นได้ หรืองานของ ธีโอดอร์ อะดอร์โน (Theodor W. Adorno) เรื่อง The Authoritarian Personality (1950) ก็ได้ทำนายความเป็นไปได้ที่ชาวอเมริกันจะหันไปสมาทานลัทธิฟาสซิสต์
“ตรงข้ามกับสิ่งที่เราคิด สถาบัน (instituition) และบรรทัดฐาน (norm) ทางการเมืองของสหรัฐอ่อนแอ และเปิดช่องว่างให้ผู้นำที่มีบุคลิกแข็งกร้าว (strong personality) ขึ้นมาได้ และผู้สมัครที่มีทัศนคติสุดโต่ง (extreme view) สามารถแสดงบทบาทในเวทีการเมืองได้อย่างอิสระ”
สำหรับชัยวัฒน์ หนังสือ นี่แหละทรราชย์ จึงถูกเขียนขึ้นท่ามกลางความกลัวของคนตะวันตกผิวขาวในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับธนาธรซึ่งเห็นว่า รัฐบาลเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ทำสงครามคร่าชีวิตคนนับแสนๆ ด้วยระเบิดปรมาณู หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ไม่ต่างจากระบอบทรราชย์
“ไม่ได้หมายความว่า ประเทศเสรีประชาธิปไตยทำอะไรแล้วจะถูกต้องทั้งหมด เช่น สมัยโอบามาก็มีคุกพิเศษ ‘กวนตานาโม’
“แม้แต่ผู้มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้ามีอำนาจอย่างยาวนาน ก็ใช้อำนาจหลุดโลกได้เหมือนกัน” ธนาธรตั้งข้อสังเกต
ธนาธรเสนออีกว่า เราไม่ควรคิดว่าเสรีภาพเป็นของฟรี (Don’t take freedom for granted.) เพราะก่อนที่เราจะมีสิทธิเสรีภาพได้เท่าทุกวันนี้ มีคนมากมายต้องล้มตาย เสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อต่อสู้ให้ได้มา ธนาธรย้ำว่า เสรีภาพไม่ใช่ของตาย ถ้าเราไม่เฝ้าระวังและปกป้อง เราอาจสูญเสียมันได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศไทย หลังรัฐประหารปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แทบไม่มีใครคิดว่า ทหารจะกล้าทำรัฐประหารอีกครั้ง
“เราคิดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ล้าสมัย (outdated) ไปแล้ว แล้วเป็นยังไงครับ สุดท้ายก็เกิดรัฐประหาร 2549 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราเริ่มได้กลิ่นตุๆ แล้ว มีการปูทาง มีการสร้างเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย ทำให้คนรู้สึกว่า ไม่อยากไปต่อสู้กับเรื่องเล่าแบบนี้ ไม่เถียงดีกว่า อยู่เงียบๆ ตัวเองจะปลอดภัยกว่า คนจึงไม่ออกมาช่วยกันปกป้อง
แต่ราคาที่ต้องจ่ายจากการไม่ออกมาต่อต้านอำนาจนิยม เผด็จการ หรือทรราชย์ กลับใหญ่หลวง และส่งผลพวงต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหาร 2549 รัฐประหาร 2557 และกระทั่ง ‘ระบอบประยุทธ์’ ในปัจจุบัน
เราจะต่อต้านทรราชย์อย่างไร?: บทเรียนต่อสู้เผด็จการจากโลกถึงไทย
“ประเทศเรายังอยู่ในระบอบทรราชย์ แสดงว่ากลไกที่พูดถึงในหนังสือ 20 ข้อ ไม่เกิดขึ้นจริงใช่ไหม?”
พริษฐ์เห็นว่า ระบอบทรราชย์แบบไทยๆ สร้าง ‘สถาบัน’ จำนวนมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม มากดทับประชาชน ขณะเดียวกันสถาบันทางสังคม สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพต่างๆ กระทั่งสื่อมวลชน ก็ตกอยู่ภายใต้เครือข่ายชนชั้นนำ
“คนที่เข้าใจบริบทสังคมไทยคือคนที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ สังคมไทยยังวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์และสังคมที่มีช่วงชั้น ซึ่งเอื้อให้มีทรราชย์ควบคุมมาจากข้างบน เราจะออกแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างไรให้ออกจากวังวนนี้ คนธรรมดาอย่างเราจะสร้างสถาบันอะไรเป็นของตัวเองและให้ประชาชนได้ยึดเหนี่ยวกันเองบ้าง ประเทศไทยเป็นของทุกคน ต้องหาทางออกร่วมกัน
“การลงถนนและการเดินขบวนเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่เวลาเราล้มยักษ์ มันก็ต้องใช้หลายๆ เครื่องมือ สิ่งที่ใกล้มือเราที่สุดที่พอจะเขย่าและสั่นคลอนอำนาจได้คือ ความคิด”
ด้านธนาธรเห็นไม่ต่างกันว่า ทรราชย์ของไทยไม่ได้กุมเพียง ‘อำนาจดิบ’ อย่างการใช้กำลังหรือคุมขังคนเท่านั้น แต่ยังกุม ‘อำนาจนำ’ ทางวัฒนธรรมและการสร้างเรื่องเล่าหลักของชาติด้วย อย่างไรก็ตาม อำนาจวัฒนธรรมของทรราชย์เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนรุ่นใหม่พบว่า ยังมีความจริงอีกหลายด้านซึ่งซุกซ่อนความเจ็บปวด การกดขี่ และความทุกข์ยากของสังคมไทย และยังไม่ถูกเล่าออกมา
“แต่วันนี้คุณคุมมันไม่ได้ เพราะคนไม่เชื่อเรื่องเล่าหลักของชาติและเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น คุณเลยต้องใช้ความรุนแรงและอำนาจดิบๆ จับคนเข้าคุก
“ชนชั้นนำพยายามทำให้คุณหลงลืมสิทธิ บอกให้เราไปทำบุญ ชาติหน้าจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น บอกให้ยอมรับยถากรรมของวันนี้ เพราะชาติที่แล้วคุณทำบุญมาไม่พอ”
สำหรับธนาธร การปกป้องและต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมการเมืองจึงสำคัญ ตั้งแต่เรื่องน้ำประปาที่สะอาด ไปจนถึงสิทธิในการประกันตัวของนักโทษคดีการเมือง
ก่อนจะเสนอทางออก ชัยวัฒน์ชวนให้พิจารณาบทบาทของ ‘ความจริง’ (truth) และ ‘ข้อเท็จจริง’ (facts) ซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจสามารถกำหนดได้ว่า อะไรคือความจริงที่ประชาชนต้องเชื่อ ทำตาม และห้ามสงสัย โดยไม่สนว่าข้อเท็จจริงคืออะไรและเป็นอย่างไร
แม้อาเรนท์จะเสนอความหวังว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตย พลังของข้อเท็จจริงจะเอาชนะความเท็จทั้งหลายได้ แต่ชัยวัฒน์ก็เตือนว่า เมื่อเอาชนะด้วยข้อเท็จจริง (factual truth) ไม่ได้ ผู้มีอำนาจมักตอบโต้ด้วย ‘ความเท็จอย่างซึ่งๆ หน้า’ (plain lies)
แต่ชัยวัฒน์ยังเหลือทางออกเอาไว้ด้วยการกลับไปพิจารณา ‘ความจริง’ อีกครั้ง ในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยค้ำยันกับระบอบอำนาจนิยม เพราะความจริงไม่ได้ทำงานด้วยการชักชวนให้คล้อยตาม หากแต่ธรรมชาติของความจริงแทบไม่ต่างจากทรราชย์ที่มีความเผด็จการ (despotic) และครอบงำบังคับมนุษย์ได้
“ทรราชย์ทั้งหลายเกลียดชังความจริงและคนพูดความจริง เพราะไม่ต้องการเผชิญคู่แข่งขันในสนามแห่งความเชื่อถือของผู้คนที่ตนเคยเป็นฝ่ายผูกขาดตลอดมา
“อาวุธที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ ‘เรื่องเล่า’ (story) และสิ่งที่จะชนะคือเรื่องเล่าที่ดี (best story) ไม่ใช่เรื่องเล่าที่จริง (true story) คำถามก็คือ เรามีเรื่องเล่าที่ดีให้เล่าหรือยัง”
สำหรับชัยวัฒน์ แม้อนาคตจะเป็นของทุกคน แต่เราต่างก็ฝากมันเอาไว้ในมือของคนรุ่นใหม่ๆ ไม่มากก็น้อย โจทย์สำคัญคือ พวกเขาจะนำพาสังคมไทยไปในทิศทางใด โลกใหม่ที่น่าถวิลหาคือ สังคมที่เสมอภาค ไม่รังแกและเอาเปรียบกันมากเหมือนโลกที่เป็นอยู่หรือเปล่า
“แน่นอน ต้องมีคนถามว่า อนาคตเป็นของใคร ของทุกฝ่ายหรือเปล่า แล้วอนาคตที่คุณออกแบบ มีความสามารถพอที่จะโอบกอดความแตกต่างขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไหม ยอมรับเถอะว่ามันท้าทายและทำยาก แต่ก็ไม่ใช่ภารกิจที่ทำไม่ได้เอาเสียเลย
“เราจำเป็นต้องรักษาความเชื่อว่า โลกใหม่ใบอื่นๆ เป็นไปได้ (Another world is possible.) ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ลำบากในอนาคต”