ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 โล และมรณกรรมของทหารเกณฑ์: สำรวจนโยบายพัฒนากองทัพกับคำหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะมี ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ฝ่าฝุ่นตลบในการจัดตั้งรัฐบาลมาหมาดๆ แต่ก็ต้องเจอพายุหมุนหลายลูกจากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง เมื่อ ‘ดิจิทัลฟุตปรินต์’ (digital footprint) จากการประกาศนโยบายต่างๆ ตามมาหลอกหลอนไม่จบไม่สิ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ และ สส. พรรคเพื่อไทย ต่างออกมายืนยันว่าจะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาคือแต่ละคนกลับพูดไม่เหมือนกันสักคน จนเกิดคำถามจากพี่น้องประชาชนว่าจะเป็นการโฆษณาเฉพาะในการหาเสียงหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจปากท้อง กองทัพ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกจับตาจากหลายฝ่าย

ภาพประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคเพื่อไทย เรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

นโยบายเกี่ยวกับการบริหารกองทัพของพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกจับตามากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เน้นสมัครใจ ลดขนาดกองทัพ ปรับลดงบกลาโหม คืนทหารอาชีพให้ประชาชน ซึ่งนำเสนอนโยบายไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ รวมถึงมีการผลิตออกมาเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาสัมพันธ์ตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ด้วย 

ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น นายสุทิน คลังแสง สส. พรรคเพื่อไทยหลายสมัยและนักสู้คนเสื้อแดงแห่งมหาสารคาม ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า นายสุทินไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในงานกองทัพ 

นับตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุทิน ได้ร่วมโต๊ะทานข้าวเที่ยงกับผู้นำเหล่าทัพที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เช่นกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในการทำงาน รวมไปถึงการเดินสายหานายพลเกษียณที่เคยมีบทบาทในกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร อดีต รมว.กลาโหม และอดีต ผบ.ทบ. รวมไปถึงเบอร์ใหญ่อย่าง ‘ขงเบ้งแห่งกองทัพไทย’ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในกองทัพและการเมืองมาแล้ว และนายทหารเกษียณชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ เพื่อขอคำแนะนำและเพื่อดึงตัวบางคนมาร่วมทำงานด้วย และล่าสุดนายสุทินเพิ่งได้รับคำแนะนำจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่า “อย่าไปกร่าง อย่าไปกร้าวกับทหาร” ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของนายสุทินในฐานะ ‘สนามไชย 1’ มีความประนีประนอมกับกองทัพมากขึ้น จนหลายคนมองว่า นายสุทินอาจไม่สามารถผลักดันนโยบายด้านกองทัพที่สัญญากับประชาชนไว้ได้

พัฒนาร่วมกัน ≠ ปฏิรูป 

ภายหลังนายเศรษฐาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ในระหว่างการจัดคณะรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ฝากความหวังไปยังว่าที่ รมว.กลาโหม คนใหม่กับภารกิจปฏิรูปกองทัพ ทำให้นายเศรษฐาตอบกลับว่า 

ผมบอกตลอดเวลาว่า ผมไม่ชอบคำว่า ‘ปฏิรูป’ เราจะพัฒนาไปด้วยกันดีกว่า”

เศรษฐา ทวีสิน, นายกรัฐมนตรี (28 สิงหาคม 2566)

จากคำให้สัมภาษณ์สื่อของนายเศรษฐาดังกล่าว ทำให้นายรังสิมันต์ โรม สส. พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งคำถามต่อคำพูดดังกล่าวว่า การพัฒนาร่วมกันจะสร้างความแตกต่างอย่างไร อย่าใช้คำเพื่อให้ดูสวยดูเท่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลนี้จะไม่มีการตระบัดสัตย์อีก 

อย่างไรก็ตาม ความกระจ่างชัดในเรื่องนโยบายกองทัพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อนายสุทินได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ภายหลังจากการร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับผู้นำกองทัพ ซึ่งนายสุทินได้เน้นยํ้าว่า กองทัพเองก็ได้ดำเนินการมานานแล้ว อย่างเช่นแผนการปรับลดกำลังพล โดยในเดือนเมษายน 2567 สามารถปรับลดกำลังพล ลดการเกณฑ์ทหาร เป็นระบบสมัครใจแทน 

เมื่อพิจารณาการเลือกใช้คำของนายสุทิน จะเห็นได้ว่าการ ‘ปรับลด’ ไม่เหมือนกับการ ‘ยกเลิก’ การเกณฑ์ทหารที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สมัครรับใช้ชาติในช่วงการเกณฑ์ทหารเป็นจำนวนมากพอสมควร ทำให้ในหลายพื้นที่ไม่จำเป็นต้องจับใบดำใบแดง จนเกิดคำถามว่า ปริมาณความต้องการทหารเกณฑ์ของกองทัพยังคงอยู่เช่นเดิมหรือไม่ คือ 100,000 นาย ถ้าสมัครครบก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ถ้าไม่ครบก็ต้องเกณฑ์ทหารอยู่ดีใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละกระบวนการกับการยกเลิกเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา นายสุทินได้ตอบคำถามสื่อว่า จะสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครใจเป็นทหารมากขึ้นอย่างไร โดยนายสุทินยํ้าว่า 1) สร้างแรงจูงใจ และ 2) ปรับทัศนคติ 

สังคมยังมีทัศนคติเชิงลบที่มีต่อทหารเกณฑ์อยู่ คือผู้ปกครองยังติดภาพเดิมๆ ว่าระบบการฝึกมันทารุณโหดร้าย เด็กเจ็บ เด็กตายอะไรอย่างนี้ เราต้องปรับความเชื่อเขา จริงๆ มีเคสไม่มาก แต่ว่าเป็นข่าวเยอะ

สุทิน คลังแสง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (4 กันยายน 2566)

ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ ‘ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 โล’ เมนูจุกๆ ของทหารเกณฑ์

กองทัพไทยคือ ‘แดนสนธยา’ ในความคิดของผู้คนจำนวนมาก ประเด็นการทุจริต ประพฤติมิชอบในหลายกรณียังคงไร้ความกระจ่างชัด ไร้การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ในแต่ละปีจะมีข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับการทุจริตอาหาร การทำร้ายร่างกายทรมานทหารเกณฑ์ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จนทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต อย่างเหตุ ‘กราดยิงโคราช’ ที่มีต้นตอมาจากการทุจริตเงินกู้สวัสดิการซื้อบ้านพัก จนปัจจุบันเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงเลยมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และดูเหมือนจะค่อยๆ เลือนหายไปจากหน้าสื่อ ไร้ความคืบหน้าของคดี 

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงแฝงฝังอยู่ในระบบและโครงสร้างของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนทั่วไปยากที่จะปรับทัศนคติจากสิ่งที่ตนเองรับรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากหลากหลายกรณีตลอดหลายปี รวมทั้งที่ได้รับการเปิดเผยและปกปิดอีกเป็นจำนวนมาก

การทุจริตอาหารของทหารในกองทัพเป็นอีกหนึ่งในกรณีที่ถูกพูดถึงกันมาก มีการแชร์ภาพอาหารผ่านโซเชียลมีเดียจากทหารในค่ายทหารอยู่บ่อยครั้ง จนถึงขึ้นมีศัพท์ทหารเกี่ยวกับอาหารว่า ‘ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 โล’ ที่พรรณนาถึงเมนูที่มีแต่ผัก เนื้อแทบไม่มี

แกงเขียวหวานมะเขือ เมนู ‘ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 โล’ ที่มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดีย

จากข้อมูลที่พบล่าสุดคือ การรายงานข่าวของ ThaiPBS เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา จากกรณี ‘นํ้าซุป’ พร้อมด้วยฟักและเศษไก่เป็นอาหารประกอบเลี้ยงของกองทหารในจังหวัดนราธิวาส โดยกองทัพบกได้ออกมาชี้แจงว่า นํ้าซุปดังกล่าวทหารเกณฑ์ขอเอาไปปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของกำลังพลเองที่นำมาแชร์ผ่านเฟซบุ๊กจนเกิดความเข้าใจผิด อีกทั้งกองทัพบกยังเน้นยํ้าถึงคุณภาพอาหารประกอบเลี้ยงกำลังพลมีมาตรฐานครบ 3 มื้อ มื้อละ 70 บาท เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมกำลังพลคนดังกล่าวถึงต้องนำนํ้าซุปไปปรุงกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีก หากทหารคนดังกล่าวได้รับประทานอาหารเต็มที่แล้ว

คำว่า ‘กองทัพต้องเดินด้วยท้อง’ ไม่ใช่คำเกินจริง นักวิชาการทหารจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับอาหารของทหาร อาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรตสูง ครบ 5 หมู่ ถูกหลักอนามัยถือว่ามีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกายทหาร ซึ่งกองทัพในประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับโภชนาการเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีกรณีซุปฟักวิญญาณไก่ เป็นเพียงแค่กรณีตัวอย่างล่าสุดที่ยกมาเท่านั้น ขณะที่หน่วยทหารจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า ทหารทุกคนโดยเฉพาะทหารเกณฑ์ได้รับอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ทำให้ผู้ปกครองทหารคลายกังวล ด้วยการโปรโมต ‘หน่วยสูทกรรม’ ผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมกับคอนเทนต์การทำอาหารเมนูต่างๆ ของพลสูทกรรม เป็นต้น จนคนจำนวนมากแซวว่านี่เป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) หรือไม่

มรณกรรมของทหารเกณฑ์ มีไม่กี่เคส? 

กรณีการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการชั้นประทวน จากการฝึกหรือการธำรงวินัยอย่างหนักหน่วง และอาจรวมไปถึงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ไม่ได้มีแค่ไม่กี่เคสที่โด่งดังจนเป็นข่าว ถ้านับตั้งปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 20 กรณีด้วยกันและอาจมากกว่านั้น ทั้งที่เป็นข่าวและได้รับการปกปิดจากกองทัพ

การเสียชีวิตในค่ายทหารของพลทหารเหล่านี้ ล้วนเป็นการเสียชีวิตที่น่าพิศวง ไม่มีความชัดเจนในการพิสูจน์ทราบความตาย การลงความเห็นว่าตายอย่างไรกลับเป็นเพียงเช็กลิสต์ประเภทหนึ่ง เช่น เป็นลมแดด จมนํ้า ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ทั้งที่หลายก็กรณีมีหลักฐานและพยายานชัดเจน การชันสูตรพลิกศพนำมาสู่การพิสูจน์ทราบว่าพวกเขาถูกซ้อมทรมาน ลงโทษเกินกว่าเหตุ จนเสียชีวิตด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งพอจะประเมินได้จากผลการชันสูตรว่าพวกเขาไม่ได้เสียชีวิตตามเช็กลิสต์

จากการรายงานของประชาไทล่าสุด ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา รวม 2 กรณี โดยทั้ง 2 กรณีล้วนเป็นทหารเกณฑ์คือ

  1. พลทหารวรรณวุฒิ ลำพะพา เสียชีวิตคาเตียง เพราะลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในค่าย คาดถูกทำร้ายร่างกายจนม้ามแตก แต่ผลชันสูตรจากโรงพยาบาลระบุว่า ไม่พบรอยฟกชํ้า เสียชีวิตจากโรคประจำตัว ต้นสังกัดระบุว่า พลทหารหมดสติ เนื่องจากทำกายบริหาร ไม่มีการลงโทษแต่อย่างใด
  2. พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้นสังกัดไม่มีคำชี้แจงว่าเสียชีวิตจากอะไร บอกเพียงว่าเป็นการฝึกและการลงโทษตามระเบียบกองทัพ ต่อมานายทหารระดับผู้บังคับบัญชาเสนอเงินช่วยเหลือ 230,000 บาท 

จากกรณีข้างต้นที่ตกเป็นข่าวบนหน้าสื่อ แต่ในแดนสนธยาของกองทัพไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่ายังมีกรณีแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ขณะที่ญาติของทหารเกณฑ์ที่เสียชีวิตอาจต้องประสบพบเจอกับแรงกดดันของกองทัพ ด้วยข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธของผู้กระทำการ เช่น เกลี้ยกล่อมให้รับสภาพ การเสนอเงินเยียวยา และข่มขู่ให้เกิดความกลัว เป็นต้น ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากไม่อยากต่อสู้เพื่อดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้รับผิดต่อการกระทำ ตามการศึกษาของ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ ‘วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องความตายที่เงียบงันของสามัญชนในภาวะปกติที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยกรณีศึกษาสำคัญของวิสามัญมรณะนี้คือ การเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร

ปรับทัศนคติใครก่อน ‘ประชาชน’ หรือ ‘กองทัพ’?

ทัศนคติในแง่ลบของประชาชนที่มีต่อกองทัพไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเกิดจากการรับรู้ถึงความเป็นแดนสนธยาของกองทัพ จากการทุจริตในทุกระดับชั้นจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเงินสวัสดิการบ้านพัก หรือการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย และข่าวการเสียชีวิตของพลทหารในค่ายทหาร ล้วนทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย 

ความพยายามของกองทัพในการสร้างความเชื่อมั่น ล้วนขัดแย้งกับภาระหน้าที่ที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การปฏิบัติการข้อมูลข่าวหรือ IO ต่อบุคคลผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง การสร้างภาพลักษณ์แบบหน่วยงานรัฐทั่วไป หรือกรณีเครื่องบินรบกองทัพอากาศเมียนมาลุกลํ้าน่านฟ้าไทยแต่กลับไร้การขับไล่ เป็นต้น จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทัศนคติและหน้าที่ของกองทัพที่แท้จริงคืออะไร และควรเป็นอย่างไร เนื่องจากกองทัพสมัยใหม่โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ประเด็น ‘สิทธิมนุษยชน’ ในกองทัพถือเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างเช่น การเอาผิดต่อทหารที่ทำร้ายทรมานทหารเกณฑ์ในเกาหลีใต้ การฝึกซ้อมที่มุ่งเน้นพัฒนาการด้านร่างกาย กลยุทธ์ในการรบ และความทันสมัยของเทคโนโลยีการทหารที่มุ่งเน้นการลดอัตราการเสียชีวิตในสนามรบ มากกว่าความพยายามหลอมคนให้เป็นเหล็ก รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นที่กองทัพจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เรียกโดยรวมได้ว่า ‘การปฏิรูปกองทัพ’ หากรัฐบาลของนายเศรษฐาและนายสุทินสามารถผลักดันการปฏิรูปเหล่านี้ กองทัพก็จะเป็นกองทัพที่สร้างความมั่นใจ สร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ประชาชนไปโดยปริยาย

อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า