เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจากชุมชนบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านแม่โต๋ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move เข้ายื่นหนังสือถึง มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณ มูลนิธิโครงการหลวง บ้านหนองหอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันร่างกฎหมายประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยขอให้ กมธ. ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ และกฎหมายลำดับรองว่าอาจมีเนื้อหากระทบสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่
“สิ่งที่เราห่วงกังวลคือเนื้อหาในร่างกฎหมายลำดับรองที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ วิถีการทำไร่หมุนเวียนอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารหลักจะถูกจำกัดรอบหมุนเวียน จำกัดการทำกินในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 อนุญาตให้ทำกินได้เพียงครัวเรือนละ 20 ไร่ คราวละ 20 ปี … การดำเนินคดีในพื้นที่ทำกินบรรพบุรุษเพื่อยึดพื้นที่ และการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถึง 10,000 บาท” หนังสือร้องเรียนระบุ
หนังสือร้องเรียนดังกล่าวยังระบุข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ กมธ. ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับว่าสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเด็นใดบ้าง และ 2) ให้ชี้แจงมาตรการหรือแนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนเพื่อป้องกันผลกระทบจากกฎหมายทุกฉบับ รวมทั้งขอข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำกินและพื้นที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาตรวจสอบร่วมกันจนมีข้อยุติ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ เตรียมประกาศใช้ 8 ฉบับ อีก 4 ฉบับ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2564 มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 จำนวน 4 ฉบับ
สุพอ ศรีประเทืองชัย ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา กล่าวว่า หลังทราบเนื้อหาของกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ แล้วรู้สึกกังวลใจ ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าชาวบ้านสามารถดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้ โดยรัฐไม่ควรใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิชุมชน
“เรากังวลเรื่องไร่หมุนเวียนกับเรื่องการเลี้ยงสัตว์มากที่สุด เพราะพื้นที่ตรงนี้ 300 กว่าปีที่ผ่านมา บรรพชนของเราทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นเรื่องความหลากหลายทางพืชพันธุ์และการดูแลรักษาป่า เพียงแต่เราไม่มีเอกสารสิทธิ์ และยังถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนฯ ตอนนี้รัฐเตรียมการประกาศเป็นอุทยานฯ เขาบอกจะมาเอาป่าเท่านั้นเท่านี้ กล่าวหาว่าเราบุกรุกทำลายป่า จริงๆ น่าจะส่งเสริมไร่หมุนเวียนของเรามากกว่าส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวอีก พวกเรามั่นใจว่าถ้าให้พวกเราดูแลพื้นที่ของบรรพบุรุษ เราจะสามารถดูแลได้ยั่งยืนกว่า” ชาวบ้านป่าคากล่าว
ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ลานคำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน สะท้อนว่า พ.ร.บ. ของกรมอุทยานฯ กระทบกับชาวบ้านโดยตรง ทำให้ชาวบ้านหวาดระแวง กลัวถูกคุกคาม นอกจากนี้กฎหมายที่ออกมาก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่า
“อยากให้ กมธ. ช่วยดูแลกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น กฎหมายต้องร่างจากประชาชน ต้องครอบคลุมคนที่อยู่กับป่าซึ่งอยู่กันมานานแล้ว แต่กฎหมายอุทยานฯ มาออกทีหลัง กฎหมายต้องยุติธรรม ตอนนี้เขาไม่ได้ดูเรื่องความยุติธรรมเลย แต่ถ้าเป็นโฉนดชุมชน ถ้ามีสิทธิชุมชน เราสามารถดูแลกันได้” เขากล่าว
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษา กมธ.ชาติพันธุ์ฯ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า จากการจัดทำรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พบว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยหลังจากนี้จะเตรียมขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา
“ปัญหาการประกาศกฎหมาย 3 ฉบับ ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เมื่อปี 2562 กระทบต่อวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตอันเป็นปกติวิสัยของพี่น้องปกาเกอะญอ เราได้จัดทำรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับนี้ รวมถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า ตอนนี้รายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำให้ กมธ. พิจารณารับรอง” ณัฐพลกล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘กฎหมายลำดับรองออกตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ โดยชี้ถึงข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ชาวบ้านไม่ได้มีกระบวนการในการให้ความเห็น ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ว่าจะใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรอย่างไร ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใน 20 ปี
กฤษฎากล่าวไว้ว่า ผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวคือ ผู้ที่จะมีสิทธิในที่ดินเหล่านี้ได้ หนึ่ง – ต้องเป็นคนที่มีที่ดินทำกินในอุทยานฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หากใครตกสำรวจอาจเกิดปัญหาได้ สอง – ต้องมีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างการยื่นขอสัญชาติไทย ทำให้ผู้ที่ไม่เคยยื่นขอสัญชาติอาจถูกตัดสิทธิไป สาม – ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ เท่านั้น รวมถึงต้องมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและไม่มีที่ทำกินอื่น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาด้วยเช่นกัน
“ที่ผ่านมารัฐดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพี่น้องในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิจำนวนไม่น้อยเลย พวกเขามีโอกาสในการถูกกีดกันสิทธิ หลายชุมชนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหรือออกมาป้องกันสิทธิ หลายคนอาจจะยอมภายใต้การกำกับของอุทยานฯ ที่ผ่านมา นี่คือวิธีการแบ่งแยก ปกครอง และลิดรอนสิทธิของประชาชน” นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนากล่าว