ปกรณ์ สันติสุนทรกุล: ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Dek-D’ 18 ปี ที่วัยรุ่นไม่เคยเปลี่ยน

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: ศิริโชค เลิศยะโส

 

พูดแบบไม่ต้องอาย สมัยนั้นน่ะนะ… ใครๆ ก็อยากถูกเพื่อนแกล้ง โพสต์รูปตัวเองลงเว็บ ‘Dek-D.com’ กันทั้งนั้น

หรือถ้าทำกิจวัตรหลังเลิกเรียน คือ ‘วิ่งกลับบ้าน เอานิ้วตีนจิ้มปุ่มเปิดคอม เข้า MSN และฟังเพลย์ลิสต์จากใน Winamp’ จบ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเข้าเว็บบอร์ด Dek-D แล้วดูว่า มีกระทู้เกี่ยวกับดาวโรงเรียนของเราหรือของโรงเรียนข้างๆ ติดกระทู้ยอดฮิต ให้ตามข่าวหรืออัพเดทเอาไปเมาท์กับเพื่อนใน ‘เอ็ม’ หรือเอาไปคุยต่อในวันถัดไปหรือไม่ ฮู้ยยย… แซ่บ

เรารู้จัก โฟร์-ศกลรัตน์ วรอุไร, เบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคา, เต้ย- จรินทร์พร จุนเกียรติ หรือสาวๆ จากแก๊ง Strawberry Cheesecake (หรือสิ่งที่ทำให้พวกเขาดังเป็นพลุแตก) ก็จาก Dek-D

เรียกว่าถ้าเด็กที่เกิดปี 2530-2540 นัดแก๊งเพื่อน ม.ต้นมานั่งรวมตัวกัน แค่กิจวัตรประจำวันที่ผูกพันกับเว็บ Dek-D ก็คงเล่าถึงบรรยากาศข้างต้น (อย่างมีจริตวี้ดว้ายโวยวายเหมือนโลกจะแตก) ได้เป็นวันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แน่นอนว่าสิ่งที่วัยรุ่นเมื่อวานชอบ หน้าตาไม่เหมือนกับสิ่งที่วัยรุ่นวันนี้เขากรี๊ดกร๊าดกันอยู่แล้ว วัยรุ่นมีแก่มีดับ แม้เทคโนโลยีทุกวันนี้จะขยายช่วงอายุของการเป็นวัยรุ่นให้มากกว่าช่วง 13-19 ปีออกไปอีกหลายช่วงตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่า รู้ตัวอีกที… เราก็ไม่รู้แล้วว่าสมาชิกค่ายกามิกาเซ่รุ่นล่าสุด เขามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรกันบ้าง

ไม่ได้อยากพูดถึงวันวานเพราะอยากย้อนเวลากลับไปสู่วัยใส แต่ข้องใจว่าเหตุใดจึงได้ยินคำรำพึงดังขึ้นเรื่อยๆ ราวว่าเดี๋ยวนี้ ‘ผู้ใหญ่’ เข้าถึงโลกของเด็กๆ ไม่ติดแล้ว ทั้งที่อายุห่างกันแค่ 10 ปี (ขีดเส้นใต้ให้ชัด ไม่ใช่คนในกองบรรณาธิการแน่นอน พวกเราวัยรุ่น ใสๆ เอ๊าะๆ คำติดปากคือ ‘จ๊าบ’)

ดังนั้นแล้วเราจึงคิดถึงเว็บไซต์ Dek-D ซึ่งอายุราว 18 ปีแล้วในปัจจุบัน เป็นเว็บไซต์สำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยตาย ไม่เคยแก่ วัยรุ่นรุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องเปิดเบราว์เซอร์เข้าไปหา ไปคุยกับพี่ลาเต้ ไปอ่านนิยาย ไปหาเพื่อนซึ่งรักชอบในสิ่งเดียวกัน

WAY Magazine บุกบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ชวน ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D มาร่วมพูดคุยย้อนวันวาน ในฐานะผู้ปลุกปั้นและนั่งอยู่หลังคอมเพื่อเขียนโค้ดเว็บไซต์ร่วมกับเพื่อนอีกสามคนในวันที่เขาอายุ 16 ปี และเพิ่งขึ้น ม.5!!!

Dek-D ทำได้อย่างไรจึงไม่เคยแก่ กุมยึดหัวใจของแก๊ง ม.ต้น และ ม.ปลาย ความเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มเข้าเว็บบอร์ดตอนนั้นกับวัยรุ่นในตอนนี้คืออะไร อาถรรพ์ของ generation gap มีจริงรึเปล่า?

ร่วมหาคำตอบกับเราได้ ณ การไถนิ้วเลื่อนหน้าจอนี้… รับชมค่ะ 😊

อยากให้ช่วยเล่าที่มาที่ไปของเว็บ Dek-D ห้ฟังหน่อยค่ะ

เริ่มทำเว็บไซต์ Dek-D ตอน ม.5 กับเพื่อนสมัยเรียนห้องเดียวกันอีกสามคน ถึงตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 18 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเราอยากหาที่เรียนเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่เพิ่งขึ้น ม.5 ใหม่ๆ เราเคยไปเรียนวิชาฟิสิกส์ที่ติวเตอร์แห่งหนึ่งแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย… ทำไมวิธีการสอนของเขาไม่เข้ากับเรา เราไม่ใช่แนวนี้ สอนแล้วไม่เข้าใจเลย เราเลยลองไปถามในเว็บสาธารณะว่า มีครูคนไหนที่สอนแล้วเข้าใจตรงตามที่เราต้องการ ปรากฏว่า… คือต้องบอกก่อนว่าเว็บที่เราเข้าไปถามอาจจะเป็นเว็บที่ผู้ใหญ่ใช้งานเป็นหลัก แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจหรอกว่าเว็บไหนเว็บของผู้ใหญ่หรือของเด็กเพราะมันเป็นระบบเปิด ฉะนั้นคำตอบที่ได้มันก็จะเป็นคำตอบแบบผู้ใหญ่ๆ หน่อย เช่น ทำไมต้องเรียนกวดวิชาด้วย ทำไมไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน เปลืองเงินพ่อแม่นะ

เราเลยอยากจะมีเว็บไซต์ หรือพื้นที่ให้วัยรุ่นเข้ามาพูดคุยกันโดยเฉพาะ แต่ก่อนมันไม่มีอะไรพวกนี้ จะมีแต่พวกเว็บวาไรตี้ดังๆ อย่าง Sanook หรือ Hunsa หรือไม่ก็เป็นเชิง community ที่เป็นผู้ใหญ่อย่าง Pantip ไปเลย แต่พื้นที่สำหรับวัยรุ่นเลยจริงๆ มันยังไม่มี เลยคุยกับเพื่อนว่ามาลองสร้างเว็บดีไหม เอาสนุกๆ ไม่ได้คาดหวังอะไร

แต่ความรู้ของเด็ก ม.5 กลุ่มหนึ่งที่อยากทำเว็บ แล้วก็ลงมือทำได้เลยจริงหรือ? ตอนนั้นคุณหาข้อมูลอย่างไรและทางไหนบ้าง

เราชอบอยู่กับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ตอน ม.4 เคยเรียนเขียนเว็บ ออกแบบเว็บ ออกแบบกราฟิกสำหรับขึ้นหน้าเว็บแล้วรู้สึกชอบมาก แต่พอทำไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เรียนไปเพื่ออะไร ซึ่งมันเป็นเวลาเดียวกับที่เพื่อนเรา (ผู้ร่วมก่อตั้ง Dek-D) ก็อยากจะลองทำเว็บเหมือนกัน เพื่อนที่ไม่เคยเรียนทำเว็บมาก็จะได้ลองวิชากันด้วย แต่ก็ใช้วิธีศึกษาตามอินเทอร์เน็ต หาข้อมูลจากเสิร์ชเอนจิ้นต่างประเทศ เช่น Yahoo หรืออะไรแบบนี้ ว่าการเขียนเว็บต้องมีขั้นตอนยังไงบ้าง คือเริ่มตั้งแต่การจองชื่อโดเมน การเขียนโปรแกรม การเอาขึ้นเซิร์ฟเวอร์

ทำไมจึงมาลงตัวที่ชื่อ Dek-D

คือชื่อเนี่ย คิดเอาไว้หลายชื่อมาก (ตอบทันที) แต่การคิดชื่อมันต้องคิดจากเนื้อหาก่อน คือเราอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นและก็คงจะเป็นเรื่องใกล้ตัวหน่อย และเพื่อนทุกคนเป็นเด็กเรียน เป็นเด็กห้องคิง ก็จะถนัดพวกเทคนิคการเรียน เทคนิคการทำโจทย์ การเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย อะไรแบบนี้ ส่วนพวกเรื่องดาราบันเทิง หรือเรื่องที่คิดว่าคนทั่วไปจะชอบ พวกเราไม่ค่อยถนัด

ชื่อที่คิดตอนแรกๆ ก่อนจะเป็น Dek-D เราก็อยากให้มีความหมายวัยรุ่นวัยเรียนหน่อย เช่น  ‘Generation X’ หรือ ‘Teenager’ อยากจะให้ดูอินเตอร์ๆ หน่อย แต่พอคิดไปคิดมายังไม่ถูกใจ เราอยากได้ชื่อไทยที่ดูแล้วรู้ว่าเป็นคนไทยทำ เลยย้อนกลับมาว่าอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับเด็กแล้วเป็นเรื่องดีๆ มีประโยชน์ ถ้างั้นเลยเป็น ‘เด็กดี’ ไหม

ในตอนนั้นภูมิทัศน์ของเว็บที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับวัยรุ่นเป็นยังไง ใครคือเบอร์หนึ่งหรือเว็บที่คุณมองเห็น และอยากแข่งด้วย

สื่อที่พูดถึงวัยรุ่นมากๆ น่าจะเป็นแมกกาซีนกับรายการทีวี อย่างแมกกาซีนก็จะเป็น Seventeen หรือ The Boy จำชื่อหัวอื่นๆ ไม่ค่อยได้แล้ว นานมาก แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นเนื้อหากึ่งๆ บันเทิง ความรัก ดูดวง คือจะเป็นวาไรตี้หรือเรื่องทั่วไป ไม่ได้เน้นเรื่องการศึกษามากเท่าไรนัก ถามว่าในช่วงนั้นเว็บเกี่ยวกับการศึกษามีไหม ก็มีอยู่นะ แต่จำได้ว่าพอเข้าไปแล้วมัน ‘ผู้ใหญ่’ มาก (เน้นเสียง) เหมือนเป็นครูแนะแนว ไม่ใช่บรรยากาศอย่าง ‘เพื่อนคุยกัน’ แต่ไม่เคยคิดว่าต้องไปแข่งกับใคร แค่คิดว่าอยากจะมีพื้นที่ๆสำหรับให้วัยรุ่นเข้ามาคุยกันจริงๆ

อยากทำเรื่องใกล้ตัวที่ถนัดคือเรื่องการเรียน อยากรู้ว่าเพื่อนที่โรงเรียนอื่นชีวิตเขาเป็นยังไง เขาไปเรียนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ที่ไหน เขาไปเที่ยวที่ไหนกัน

และเพื่อนที่เรารู้จักบางคนก็เป็นนักเล่าเรื่อง แต่งนิยาย แต่เขียนแล้วก็ให้เพื่อนอ่านกันเอง ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ เลยเนี่ย… เอาอะไรที่เป็นชีวิตวัยมัธยมของผู้ร่วมก่อตั้งกับเพื่อนๆ ที่รู้จักเอามารวมๆ ลงในเว็บ ซึ่งตอนนั้นมันยังไม่มีอะไรที่ว่านี้เลย เราเลยนึกไม่ออกว่าใครจะเป็นคู่แข่ง

การจัดหมวดหมู่ของเว็บตอนนั้นเป็นอย่างไร

ส่วนใหญ่จะเป็นบอร์ดให้คนเข้ามาโพสต์ และมีบทความที่ทีมงานเอาลงเอง ทีมงานก็คือเว็บมาสเตอร์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเว็บมาสเตอร์แล้ว เพราะดูเชยมาก (หัวเราะ) คือมันจะแบ่งเป็นบอร์ดที่มีสาระ เราตั้งชื่อว่า ‘ปุจฉาวิสัชนา’ (แปลว่า ถามตอบกัน) (ยิ้ม) จุดประสงค์คือให้คนมาคุยเรื่องการบ้าน บทเรียน แล้วก็จะมีบอร์ด ‘ตามใจฉัน’ คือเรื่องเพื่อน เรื่องสถานที่เที่ยว หรือเรื่องอะไรก็ได้ตามใจฉัน

อีกบอร์ดหนึ่งจะเป็นเรื่องบันเทิง ฟุตบอล หรือคือสิ่งที่ผู้ร่วมก่อตั้งสนใจ ส่วนที่เป็นบทความก็จะมาจากที่เราเขียนกันได้ เช่นเรื่องเทคนิคการเรียน ประสบการณ์ของเพื่อน เช่นประสบการณ์อกหัก รักครั้งแรก ปั๊บปี้เลิฟ หรืออย่างพวกนิยาย ก็ให้เพื่อนเขียนแล้วเราก็มาลงกันเอง

สิ่งที่คาดหวังตอนนั้นเป็นอย่างไร และพอเริ่มรันเว็บ ผิดจากคาดหมายไหม

พูดจริงๆ ตอนนั้นมันเด็กมาก ไม่ได้มีภาพใหญ่ว่า โห… เว็บของเราจะต้องมีคนมาใช้เยอะๆ นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าคนใช้เยอะๆ คืออะไร

รู้แค่อยากให้มีคนมาลองดูผลงานของเรา แต่หลังจากเปิดแล้ว ที่ชัดที่สุดคือเว็บบอร์ด เพราะมันเปิดให้ใครเข้ามาใช้ก็ได้ เราก็จะเริ่มเห็นชีวิตของเพื่อนต่างโรงเรียน มันจะแบบ โหย… ไม่น่าเชื่อ สิ่งที่เราสร้างมามันมีคนมาใช้ ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ว่าโรงเรียนอื่นเขาคุยกันเรื่องนี้นะ เขาไปเรียนพิเศษกันที่อื่น ไม่ใช่เหมือนเราที่เรียนในละแวกนี้มาตั้งแต่ต้น คือเริ่มเห็นความหลากหลายแตกต่างมากขึ้น

ในฐานะเด็กวัยรุ่นที่ทำเว็บ Dek-D มีเรื่องไหน หรือกระทู้ไหนที่รู้สึกโดนใจอย่างแรงว่า “เฮ้ย มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นด้วยเหรอ?”

นานมากๆ จำไม่ได้จริงจัง (คิด) เช่น อย่างชีวิต ม.ปลาย ที่โรงเรียนชายล้วน สวนกุหลาบ เราอยู่แต่กับเด็กห้องคิง ทุกคนอยากเข้าคณะวิศวะ เข้าแพทย์ แต่พอเราเปิดเว็บ Dek-D เราจะเจอเด็กโรงเรียนอื่นที่เป้าหมายในชีวิตเขาไม่ใช่แบบนั้น มีคนที่อยากเรียนนิเทศ อยากจะเรียนอักษร ซึ่งเขาก็จะมีมุมมอง วิธีคิดในชีวิตซึ่งต่างไปกับเรา ตอนนั้นมันเป็นการเปิดโลกว่า เออ… เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการที่ได้อ่านความคิดของคนอื่น

แต่ถ้าถามถึงตลอดช่วงการทำเว็บที่ผ่านมา เราจะเจอกลุ่มคำถามเรื่องเพศศึกษาประเด็น ‘ท้องไม่พร้อม’ ซึ่งถ้าเข้าไปดูผู้ที่เข้ามาตั้งกระทู้มักจะเป็นเด็กอายุ 13-14 ปี ที่น่าสนใจคือคนที่เข้ามาตอบก็เป็นวัยรุ่นที่อายุไม่ต่างกัน 16-17 ปี คือเขาออกตัวว่าอยู่ ม.6 แต่คำตอบมีวุฒิภาวะและเป็นผู้ใหญ่มาก นอกจากนั้นเราพบว่ามีคุณพ่อคุณแม่โผล่เข้ามาตอบในกระทู้ Dek-D ด้วย แสดงว่าปกติแล้วจะมีผู้ใหญ่คอยเข้ามาดูความเคลื่อนไหวของวัยรุ่นอยู่บ่อยๆ คือแรกๆ เราจะหวั่นว่าเว็บ Dek-D จะโดนต่อต้านเรื่องนี้ไหม ปรากฏว่าทุกคนเข้ามาช่วยเหลือกันมากกว่า

ตลอดช่วงอายุของ Dek-D พอจะไล่เรียงความเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นให้เราฟังได้ไหมว่าหน้าตาหรือความสนใจของวัยรุ่นเปลี่ยนไปอย่างไร

พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง เอาจริงๆ แล้ว วัยรุ่นไม่ว่าจะยุคที่แล้วหรือยุคนี้ก็จะมีความสนใจ หรือเรื่องที่เขาติดตามใหญ่ๆ อยู่สี่กลุ่มหลักๆ คือ เรื่องการศึกษา งานอดิเรก ความสัมพันธ์ แล้วก็เรื่องเทคโนโลยี ส่วนใหญ่จะประมาณนี้ เพียงแต่วิธีการ การเข้าถึง ศิลปินที่ชอบ รายละเอียดต่างๆ ก็เปลี่ยนไปตามเวลาและยุคสมัย  

อย่างเช่น เรื่องเทคโนโลยี แต่ก่อนเราก็ใช้งานผ่านหน้า desktop ทุกคนเข้าเสิร์ชเอนจิ้นหาข้อมูลเอา แต่สังเกตว่าวัยรุ่นยุคนี้ หรือไม่ต้องวัยรุ่นหรอก คนในยุคนี้ จะหาข้อมูลโดยการถามแอดมินแฟนเพจหรือแอดมินเว็บแทนการค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองผ่านเสิร์ชเอนจิ้น

ที่เป็นแบบนี้ก็คิดว่า หนึ่ง – คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยใช้คอมแต่ใช้งานผ่านมือถือ ซึ่งการเปิดหน้าเบราว์เซอร์เพื่อเข้าเสิร์ชเอนจิ้นหาข้อมูลในมือถือไม่สะดวกมากเท่าไหร่ แถมยังต้องมาย่อยข้อมูลเองอีก แต่การไปถามผ่านแชทด้วยโปรแกรมต่างๆ ผ่านมือถือทำได้สะดวกกว่ามาก

สอง – มันจึงมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของกูรู หรือเพจเฉพาะทาง ซึ่งหลากหลายและมีจำนวนมาก ทำให้เราสามารถหย่อนคำถามไว้ได้หลายๆ ที่ได้อย่างสะดวก สักพักก็จะมีเพจใดเพจหนึ่งยินดีตอบให้ ก็เป็นไปได้กระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เคยชินกับการแชทถาม แล้วถ้าไปที่เพจไหนแล้วไม่ตอบก็จะเสียผู้ใช้ไปง่ายๆ

ถ้าดูเฉพาะตัวเองทางสถิติการเข้าเว็บที่แต่ก่อนยอดคนเข้าถึงเว็บสูงๆ จะเป็นเสาร์-อาทิตย์หรือช่วงหัวค่ำ แต่เดี๋ยวนี้สถิติแทบจะราบเรียบเท่ากัน เกือบจะไม่มีความต่างของวันแล้ว เพราะออนไลน์ได้ทุกวันและตลอดเวลา

และเราคิดว่าเด็กวัยรุ่นยุคปัจจุบัน มีเส้นแบ่งระหว่างวัยทำงานกับวัยรุ่นตอนต้นไม่ค่อยชัดมากแล้ว เพราะด้วยความที่การใช้โซเชียลมันมีความทะลุทะลวงมาก หลายๆ คอนเทนต์เริ่มจะไม่เห็นอายุชัดเจน เพราะผู้ใหญ่ก็อ่าน เด็กก็อ่าน รวมถึงการใช้ภาษาและสำนวนการคอมเมนต์ในโซเชียลทั้งผู้ใหญ่กับวัยรุ่น จะเห็นว่าแทบไม่ต่างกันเลย คือซึมซับภาษาและสำนวนซึ่งกันและกัน ถ้าไม่กดเข้าไปดูโปรไฟล์จะไม่รู้เลยว่าเป็นคนต่างวัย  

ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงทางภาษา ด้วยความที่ Dek-D เป็นบอร์ดสนทนาของวัยรุ่น คุณพอจะเล่าได้ไหมว่าการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่น่าสนใจในบอร์ดสนทนาของ Dek-D คืออะไร

จุดเริ่มต้นของมันน่าจะมาจากการเป็นเว็บบอร์ด ที่ user จะโพสต์อะไรก็ได้และใช้ภาษาแชท คำไหนพิมพ์ยากๆ ก็จะกร่อนให้มันพิมพ์ง่าย ใช้คำแสดงอารมณ์ที่ถ้าใช้ภาษาเขียนจะกระด้างมาก

ถ้าพูดเฉพาะเรื่องภาษาวิบัติ ถ้าถามความเห็นส่วนตัว เรารู้สึกว่า เฮ้ย… เจ๋งดี คิดได้ยังไง เพราะบางทีมันคือการบิดคำให้อ่านได้เหมือนเดิมแต่เขียนอย่างประดิษฐ์ตัวอักษร สร้างสรรค์ดีนะ ไม่ได้ต่อต้าน รู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่มันคิดได้เนอะ ตลกอะ แต่ในเว็บมันมีหลายโซน เช่น นิยาย นักเขียนส่วนใหญ่ก็จะจริงจังกับเรื่องการสะกดตัวอักษรมาก โซนนี้ก็จะไม่ค่อยใช้คำวิบัติกัน ถึงขนาดมีแคมเปญรณรงค์ ไม่ให้ใช้ภาษาวิบัติในการแต่งนิยาย

ทีนี้เว็บ Dek-D ทำอะไรไหม ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็ปล่อยให้เป็นธรรมชาติไป เพราะเรายอมรับว่าบางอย่างมันเป็นไปตามยุคสมัย ภาษาที่อยู่ในพื้นที่คุยเล่นมันก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ถ้าทำการบ้านส่งอาจารย์ ภาษาควรจะถูกต้องนะ คือขอให้รู้ตัวว่าใช้ในพื้นที่ไหนมากกว่า

ตลอดการทำ Dek-D พวกคุณต้องปรับเปลี่ยนภาษาหรือการใช้ภาษาบ้างไหม

ถ้าพูดถึงบทความในเว็บ Editor Talk ของ Dek-D ไม่เคยใช้ภาษาวิบัติที่ตั้งใจเลยว่าจะต้องสะกดผิด เพียงแต่มีคำสแลงตามยุคสมัย คือให้รู้สึกว่าเป็นเพื่อน เป็นพี่

ด้วยระบบเว็บบอร์ดที่ใครจะชวนคุยเรื่องอะไรก็ได้ ต้องมีกฎหรือคอยมอนิเตอร์ไหมว่า ถ้าเป็นเรื่องนี้ต้องลบเลย

อันนี้เรื่องใหญ่เลย มันจะแยกเป็นสองส่วน อย่างเว็บบอร์ดก็จะต้องมีกฎชัดว่าถ้าเป็นข้อความหยาบคาย ไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท คำหยาบ รูปโป๊ ลงข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น อันนี้จะไม่ได้ จะมีทีมนั่งดูแลทั้งวันเลย อะไรที่เข้าข่ายก็ลบไป

อีกส่วนคือนิยาย ก็จะคล้ายๆ กันแต่จะลำบากกว่านิดหนึ่ง เพราะมันประเด็นเรื่องนิยายติดเรท คือหลายคนจะบอกว่า อะไรที่ไม่ดีหรือคิดว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ต้องเข้าไปอ่านซิ แต่ภาพรวมมันถูกครอบด้วยคำว่า ‘เด็กดี’ ทุกคนคาดหวังว่าจะต้องดูแลข้อความให้เหมาะสมกับสังคม (หัวเราะ) มันเลยจะมีกฎว่า ถ้าเป็นเนื้อหาระดับนี้ๆๆ จะถูกล็อคเอาไว้ชั่วคราวจนกว่าจะแก้ไขนะ

คือบางทีมันจะมี ‘เอ๊ะ’ อยู่บ้าง เพราะเราเห็นว่าบอร์ดต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ต้องคำนึงถึงภาพรวมของสังคม มันก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้ใช้พอใจหรือไม่พอใจ หมายความว่าส่วนหนึ่งถ้าผู้ใช้รับได้ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นกฎ

จะเห็นว่าคอนเทนต์ในเว็บมีเยอะมาก คอนเทนต์พวกนี้มาจากไหนและใครเป็นคนเขียน

เริ่มแรกเลยก็มาจากคนก่อตั้งเองเป็นคนเขียน ต่อมาก็เพื่อนๆ ที่รู้จักมาช่วยเขียนให้ พอตั้งเป็นบริษัทเด็กดี เราก็ขยายทีมงานจ้างทีมคอนเทนต์ ทั้งด้านการศึกษา ไลฟ์สไตล์วัยรุ่น ด้านแฟชั่น คอนเทนต์หลักๆ อีกส่วนก็จะเป็นน้องๆ ที่เข้ามาใช้งานเว็บบอร์ดบ่อยๆ ชอบโพสต์นู่นนี่นั่นหรือหาเรื่องที่น่าสนใจมาแชร์ เราก็ว่าจ้างให้เขาช่วยเขียนบทความเพิ่มให้ ซึ่งคอนเทนต์ที่มันเยอะๆ ก็จ้างผู้ใช้หรือ user และกระทู้ที่เปิด public post แต่คอนเทนต์ที่ได้จาก user จะไม่เยอะมาก ไม่เหมือนกับบอร์ดนิยายที่มาจาก user ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย

อย่างนั้นช่วยเล่าทีมทำงานของเว็บ Dek-D ว่าคือใคร ทำอะไรบ้าง

เวลาอธิบายทีมทำงานมันจะซับซ้อนนิดหนึ่ง คือจะมีทีมคอนเทนต์ ทีมพัฒนาระบบหรือทำโปรแกรม เช่นระบบบอร์ด แอพฯ นิยาย แอพฯ การศึกษา แอพฯ แอดมิชชัน ส่วนที่เหลือจะเป็นทีมแอดมินดูแลข้อความที่เข้ามา และก็จะมีแอดมินของบริษัท เช่นฝ่ายบัญชี ฝ่ายบุคคล

ถ้าเฉพาะทีมคอนเทนต์ก็จะต้องไปดูว่า ตอนนี้วัยรุ่นเขาสนใจอะไร เขาอ่านอะไร อะไรที่กำลังเป็นกระแส ถ้าจะเกาะกระแสได้มากที่สุดตอนนี้ก็ต้องตามในโซเชียล เช่น ทวิตเตอร์ เพราะมันจะ real time มากที่สุดว่าเขากำลังคุยอะไร หรือมี tag อะไรที่โผล่ขึ้นมา Dek-D ก็เอาอะไรแบบนี้มาเล่าต่อ แต่ไม่ใช่เอามาแปะเป็นการเล่าข่าวนะ แต่มาเล่าว่าเกิดจากอะไร ทำไมจึงเป็นแบบนี้ คือเล่าในเชิงลึกขึ้น

ทำไมจึงแค่เล่าธรรมดาไม่ได้แล้ว

วัยรุ่นยุคนี้หาข้อมูลเองเก่ง เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทุกคนมีความรู้ที่ลึกมากอย่างที่เว็บ Dek-D ก็ให้เขาไม่ได้ เพราะเขาจะมีแหล่งข้อมูลเฉพาะทาง เช่น ถ้าพูดถึง ‘ติ่ง’ มันคือติ่งจริงๆ เขารู้ลึก รู้จริง และเร็ว ซึ่งถ้าคุณไม่รู้ลึกจริงๆ คุณไม่มีทางเกิดได้แน่นอน เพราะมันจะมีคนที่รู้จริงกว่าคุณอีกมาก และคนที่รู้เหล่านั้นเขาก็จะกลายเป็นคนดังในวงการนั้นได้เองอีก

คือทุกวันนี้อะไรที่เราไม่เชี่ยวชาญจริงๆ เราจะไม่ทำเลย เพราะเด็กรู้มากกว่า เขารู้ว่าต้องติดตามอย่างไร ช่องทางไหน เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการ อาจจะเอาข้อมูลของเขามาวิเคราะห์ต่อ เหมือนช่วยมองอีกชั้นหนึ่งให้เห็นอะไรที่กว้างกว่า ลึกกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือคอนเทนต์เชิงวาไรตี้นะ แต่ถ้าด้านการศึกษาก็คิดว่าเราก็ยังไวที่สุด

คนทำงานอายุประมาณเท่าไร

มีตั้งแต่เด็กจบใหม่อายุ 22-23 ถึงประมาณ 35 แต่สมัยนี้ อายุ 40 ก็ยังไม่แก่นะ คือยังเชื่อมกับโลกของวัยรุ่นได้เพราะโซเชียลทำให้เราเข้าถึงเด็กได้ง่ายกว่ายุคที่แล้วเยอะมาก คือชีวิตประจำวันของเด็กไหลมาอยู่ในโซเชียลให้เราเห็นเองโดยที่เราไม่ต้องไปโรงเรียนกับเขาแล้ว

แต่ก่อน ถ้าเราอยากรู้จักโลกของเขามันต้องเข้าไปในโรงเรียนหรืออะไรใช่ปะ แต่เดี๋ยวนี้ข้อมูลมันไหลมาในฝีดเราแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าวันๆ หนึ่งวัยรุ่นสนใจอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดนี้มันก็อยู่ที่เราอีกว่าจะเปิดรับมันมากแค่ไหน 

ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าสังคมมันเลวลง เสื่อมลง ขณะที่เว็บบอร์ดแบบนี้เป็นพื้นที่ที่ดี ที่ทำให้คนเข้ามาสอบถามปัญหาแบบนิรนามได้ ในฐานะที่เป็นคนทำเว็บ ได้เห็นความคิดของวัยรุ่นอยู่ตลอดและเป็นเวลาหลายปี คุณคิดแบบนั้นไหม

ถ้าเอาผู้ใหญ่เป็นที่ตั้งและเทียบกับบรรยากาศเมื่อ 20 ปีก่อน ก็อาจจะใช่ที่ว่าแต่ก่อนเราอาจจะปกปิดความคิดเห็นกันมากกว่า อย่างการด่ากันอย่างหยาบคายสมัยก่อนต้องไปโพสต์ตามเว็บ และเป็นนิรนาม แต่เดี๋ยวนี้คือธรรมดา เป็นเรื่องบนดิน เราใช้เฟซบุ๊คด่ากันบนโซเชียล ซึ่งมีชื่อนามสกุลและรูปเราติดอยู่ในนั้นได้เลย

ถามว่ามันเสื่อมลงไหม ถ้ามองแบบนั้นมันก็อาจเสื่อมลง แต่มันเป็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกว่ารับไม่ได้ แต่คนที่อยู่ในรุ่นเดียวกันเขาอาจจะรู้สึกว่าธรรมดา อนาคตถ้าคนกลุ่มนี้อายุมากขึ้น แล้วมีการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่และไม่ยอมรับ มันก็จะวนลูปแบบเดียวกันนี้แหละ แต่คิดว่านอกจากข้อเสีย ข้อดีของมันก็ดูเป็นการสื่อสารที่โปร่งใสดี  

หมวดการศึกษา เป็นหมวดหลักของ Dek-D แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามเรื่องการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เหมือนเราอยู่ในสถานการณ์พิเศษ

พอทำ Dek-D มาได้สักสองสามปี จากผู้ก่อตั้งกลายเป็นรุ่นพี่ เราจะเห็นว่าน้องๆ ส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระบบการสอบเข้าหรือการเตรียมตัวเลย ถ้าคือเราเข้าใจจริงๆ มันจะเพิ่มโอกาสในการสอบติดของเขาได้มาก เราเลยตั้งตัวกันว่าเราต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้เขาหลุดหรือพลาดข้อมูลสำคัญต่างๆ

แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษามันเปลี่ยนไปมาก ถามว่าคนออกกฎเขาตั้งใจให้มันแย่รึเปล่า คิดว่าไม่นะ ก็เห็นความพยายามของหน่วยงานรัฐที่จะทำให้ระบบมันดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มันไม่เพอร์เฟ็คท์หรอก คือพอเปลี่ยนตรงนี้ก็ไปกระทบตรงนี้ แต่ถ้าถามความเห็นเรา เราว่ามันค่อยๆ ดีขึ้น ต้องให้เวลากันหน่อย 

Dek-D วาง Positioning ของตัวเองไว้ว่าอย่างไร เป็นครูแนะแนว เพื่อน พี่?

ในภาพการศึกษา จะมองว่าเป็นพี่ แต่ถ้าเป็นไลฟ์สไตล์ เป็นทั้งพี่ เพื่อน หลายๆ อย่างแล้วแต่สถานการณ์ แต่เราไม่คิดว่า Dek-D เป็นครูแนะแนว เป็นพี่ที่ให้คำแนะนำมากกว่า ครูแนะแนวอาจให้ข้อมูลแบบหนึ่งต่อหนึ่ง รองรับนักเรียนเป็นหมื่นๆ ไม่ได้ แต่ Dek-D มีระบบที่รองรับได้และให้ข้อมูลที่เร็วกว่า

ถ้ามีคนบอกว่า Dek-D เป็นตัวแปรหนึ่งที่สร้างความกดดันให้แก่เด็กๆ ที่กำลังเตรียมสอบ คุณเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร  

ก็โดนว่าอยู่ประจำนะครับ คือทีมงานเข้าไปมอนิเตอร์ตลอดนะ ทั้งทวิตเตอร์หรือในคอมเมนต์ทางโซเชียลมีเดีย  เราจะเห็นความเห็นของเด็กๆ เลยว่าเขาพูดถึงเราว่าอะไร เช่น รุ่นพี่จะชอบแนะนำว่า ถ้าอยากสอบติดอย่าไปเข้าเว็บ Dek-D คือเข้าไปแล้วแกจะเครียดมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่เราจะบอกว่าอะไรดี… (นิ่งคิด) คือมันเป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้อะ แต่เรายังเชื่อว่าถ้าน้องๆ ได้รู้เทคนิค ข้อมูล ประสบการณ์จากรุ่นพี่ มันจะเป็นประโยชน์ต่อเขามากกว่า

ถ้าบอกว่า Dek-D เป็นแบรนด์ของวัยรุ่น กลัวไหมว่าวันหนึ่ง Dek-D จะเริ่มแก่ตัวลง

กลัวสิครับ (ยิ้ม) แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าอยู่มาได้ ตอนทำเว็บอายุ 16 แต่ตอนนี้ 34 แล้ว บางคนมีลูกแล้ว แต่แบรนด์ Dek-D มันยังไม่แก่ เพราะเราพยายามเปลี่ยนแปลงให้ยังอยู่ในกระแสตลอด

เป็นผู้บริหาร ต้องรู้ไหมว่าวัยรุ่นเสพอะไร

รู้ระดับหนึ่ง แต่ไม่รู้เท่าทีมคอนเทนต์ที่ดูแลโดยตรง พอเป็นผู้บริหารมันต้องดูภาพรวม ทำยังไงให้องค์กรมันเติบโตได้ ก็ต้องส่งคนรุ่นใหม่เข้าเป็นด่านหน้าแทน

ต้องทำงานกับวัยรุ่น มีปัญหาเรื่องความต่างของเจนเนอเรชั่นไหม

ไม่ห่างกันมากนะ (หัวเราะ) แค่สิบปีนิดๆ เอง เท่าที่เจอนะ คือเด็กรุ่นใหม่มีความอดทนที่แตกต่างกัน ทั้งมุมมองเรื่องอนาคตในการทำงาน วิธีการที่เราจะกระตุ้นเขาหรือสร้างแรงบันดาลใจให้เขา สมัยก่อนเราอยากได้งานที่มั่นคงเป็นหลัก แต่ยุคนี้อาจเป็นขอให้ได้ทำงานสนุกท้าทาย สวัสดิการที่หวือหวา แฮปปี้และเต็มที่กับวันนี้ให้มากที่สุด

เด็กรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับบริษัทจริงๆ นะ คืออยู่ที่ว่าทำงานแบบไหนแล้วสนุกและสวัสดิการดีสำหรับเขา และถ้าเป็นไปได้อยากทำงานอิสระ แปลกมากเลย คือบางตำแหน่งหาพนักงานพาร์ทไทม์ง่ายกว่ามาก ไม่คิดว่าจะเป็นขนาดนี้ แต่เพราะเทคโนโลยีมันเอื้อมาก เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่เราอยากจะให้เขาทำงานกับเราไปนานๆ มันอาจจะยากหน่อย

สวัสดิการที่หวือหวา เช่นอะไร

อย่างที่ Dek-D ก็มีหมอนวดไทยมานวดที่ออฟฟิศ เพราะเราต้องทำงานกับคอม มีบุฟเฟต์เลี้ยงทุกเดือน มีวันจองคอร์ทให้ไปตีแบดฯร่วมกันทุกสัปดาห์ มีวันเลี้ยงกาแฟฟรี  คือในหนึ่งเดือนจะมี ‘วันที่รอคอย’ เพิ่มสีสันอยู่หลายวัน นอกเหนือไปจากรอคอยเพียงวันเงินเดือนออก และในรอบปีๆ หนึ่งเราจะตั้งเป้าไปเอาต์ติ้งต่างประเทศกัน จ่ายโบนัสกลางปีและปลายปี คือเราอยากให้พนักงานอยู่แล้วแฮปปี้ตลอดเวลา สม่ำเสมอ  ไม่อยากให้พนักงานลาออก  ซึ่งนั่นก็เป็นหน้าที่สำคัญมากของฝ่ายบริหาร

ไปเอาหลักคิดแบบนี้มาจากไหน เช่น อ่านหนังสือคู่มือนักบริหาร?

ไม่ๆ (หัวเราะ) ก็คิดกันเอง แล้วก็คอยดูผลตอบรับของทีมงานเรื่อยๆ

กาแฟฟรี นี่มันจำเป็นเหรอ

เหมือนเป็นสีสัน ทุกๆ ต้นเดือนก็จะแบบ… อะน้องๆ สั่งกาแฟ ชานมไข่มุกหรืออะไรก็ได้ จดมา ซึ่งพวกนี้มันเบิกบิลไม่ได้ ต้องควักส่วนตัว เหมือนให้เค้าถลุงเจ้านายเล่น สนุกๆ (หัวเราะ)

ในฐานะเจ้าของบริษัท และอาจเป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าข่าย ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ อยากจะฝากอะไรสำหรับเด็กจบใหม่ ที่กำลังไล่ตามความฝันไหมคะ

พูดจริงๆ ว่าเราทำเว็บเป็นงานอดิเรกมาเรื่อยๆ แต่มันมีรายได้เข้ามา ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าอนาคตมันจะเป็นยังไงนะ เพราะหน้าที่หลักคือเรียนหนังสือแต่ได้ค่าขนมจากเว็บเป็นของแถม แต่พอเรียนจบ ถึงเวลาต้องคิดว่าเราจะไปทำงานตามบริษัทต่างๆ เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ หรือจะเอาเว็บ Dek-D มาปั้นต่อ ตรงนี้เราต้องตัดสินใจ สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ เว็บมันเติบโตขึ้นทุกปีนะ ตัวเลขคนใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเท่านี้ รายได้จะประมาณนี้ คนก็เริ่มจำ Dek-D ได้ แบรนด์เริ่มแข็งแรง เราก็ไม่ควรจะทิ้งไป

แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องประเมินด้วยว่ามันมีอนาคตไหม ถ้ามี เราก็สู้ไป อย่ายอมแพ้ คือมันจะมีความคิดเข้ามาว่า สิ่งที่ทำอยู่มันเหนื่อยมากเหลือเกิน เด็กอายุ 18-19 ปี ทำไมต้องมาทำเรื่องวุ่นวาย ทำไมเพื่อนคนอื่นเขาได้ไปเที่ยวเล่น แล้วทำให้ทิ้งโอกาสดีๆ ไปตามทาง

คือถ้ามองว่าสิ่งที่ทำมันยิ่งใหญ่ เติบโตได้ ก็อย่าทิ้งมัน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองว่ามันไม่มีอนาคต ก็ไม่ต้องฝืนต่อ ต้องกล้าตัดสินใจที่จะหยุด 



จัดอันดับ ‘เทรนด์’ ความสนใจที่เด็ดๆ จ๊าบๆ ของวัยรุ่นในปัจจุบันผ่านการแอบมองเขาคุยกันในกระดานสนทนา โดย พี่ๆ ทีมงาน Dek-D.com มีดังต่อไปนี้ 

หมวดเว็บบอร์ดพูดคุยทั่วไป

เรื่องที่คลาสสิคตลอดกาลของสาววัยมัธยมฯ ยังคงเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การแต่งหน้า แต่งตัว สิว รักแร้ขาว ผิวขาว โดยเฉพาะอยากให้ผมยาวเร็วๆ เพราะโดนฝ่ายปกครองสั่งตัดผมเท่าติ่งหู ที่เป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะสมัยก่อนผู้คนไม่ได้สนใจความสวยงามมากเพราะไม่ค่อยมีคนได้เห็น แต่ยุคนี้เรื่องความสวยความงาม  เด็กมัธยมเองให้ความใส่ใจกันจริงจัง เพราะมีข้อมูลและเทคนิคในเน็ต ในโซเชียลที่เทียบเท่าผู้ใหญ่ เขามีโอกาสนำเสนอความสวยได้ตลอดเวลาบนโซเชียล ไม่ต้องรอหลังเลิกเรียน หรือวันหยุดที่ออกไปเรียนพิเศษ

แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ประเด็นความหลายหลายทางเพศ หรือ LGBTQ วัยรุ่นพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย เปิดกว้าง มองเป็นเรื่องปกติมากขึ้น แต่ประเด็นส่วนมาก ยังเป็นเรื่อง ‘จะบอกผู้ปกครองอย่างไรดี?’

หมวดนิยาย

แต่ก่อนจะเป็นแนวรักหวานแหววหรือแฟนตาซี แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นนิยายแฟนฟิคศิลปิน และเป็นหมวดที่ได้รับความนิยมมากๆ รวมทั้งความนิยมในนิยาย Y มีสูงขึ้นมาก ผู้แต่งและผู้อ่านส่วนมากเป็นผู้หญิง

หมวดดูดวงหรือทายนิสัย

ก็ยังได้รับความสนใจตลอดมา แต่เกมส์การทายนิสัยแบบถามตอบ มีช็อยส์ให้เลือกติ๊กแล้วเอาคะแนนไปบวกกัน (เช่นทายนิสัยในนิตยสาร I Like –กองบรรณาธิการ) ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่เคยแล้ว แต่กลายร่างเป็นการทำควิซ ซึ่งคำนวณคะแนนให้เสร็จสรรพ คือทุกอย่างต้องไว อะไรที่มีขั้นตอนเยอะๆ นี่เรตติ้งไม่ดีแน่นอน

หมวดการศึกษา

1. วัยรุ่นยุคนี้สนใจเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ช่วงมัธยม และปริญญาตรี โอกาสในการเรียนต่อมีมากและหลากหลายขึ้น

2. แต่ถ้าเป็นการศึกษาในประเทศ เห็นว่าจะมีการจัดค่ายหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้กับน้องๆ มัธยมมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการให้แต่ละคณะเปิดสอบรับตรงเองได้ จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมแนวนี้เพื่อให้ข้อมูล

3. เด็กๆ เองก็กล้าไปเข้าร่วม หนึ่งคนอาจไปหลายๆ คณะ เข้าร่วมหลายๆ กิจกรรม รู้ว่าควรหาข้อมูลหรือรีวิวในอินเตอร์เน็ตซึ่งก็มีข้อมูลสะสมไว้หลายๆ ปีก่อนจะเข้าร่วมว่าไปดีหรือไม่

4. วัยรุ่นยุคใหม่มั่นใจและยึดมั่นในประโยค “เรียนคณะที่ชอบ ที่เป็นตัวของตัวเอง อย่าเลือกเรียนคณะเพราะจะได้ทำงานที่มั่นคง” ส่วนหนึ่งอาจมาพร้อมกับเทรนด์การเกิดกูรูเฉพาะทางของคณะต่างๆ ที่เรียนคณะไหนก็สำเร็จได้

5. ความคิดเรื่องม. ปลายควรเรียนสายวิทย์ก่อนจะได้มีคณะให้เลือกได้เยอะๆ ยังมีอยู่ แต่อัตราเด็กจบสายวิทย์ ไปเรียนต่อคณะสายศิลป์ บัญชี อักษร นิเทศ ดูมีอัตราส่วนเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติ

6. ซึ่งทั้งข้อ 4 และ 5 ทำให้พบว่าการย้ายคณะ การซิ่ว เป็นเรื่องปกติมากสำหรับวัยรุ่น บางคนซิ่วมากกว่า 1 รอบ อาจจะเพราะมีรุ่นพี่มีประสบการณ์เดียวกันเข้ามามาแนะนำ

นั่งไล่ดูก็เจอกระทู้ที่น่าสนใจมากๆ คือ ซิ่ว1ปี เสียเวลามากไมคะ สับสนมากเลย และ หาเพื่อนซิ่ววววโว้ยยย 61 (มาคุยกันหน่อยมา)

7. สมัยก่อนต้องเรียนหมอ วิศวะ อักษร นิเทศ แต่เดี๋ยวนี้ครุศาสตร์ กับพยาบาล ก็เป็นคณะที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก และฮอตฮิตอย่างเปิดเผย เลือกเรียนได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าเรื่องรายได้อาจจะไม่ได้โดดเด่นนัก  ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากและเป็นกลุ่มคณะที่ติดอันดับคนเลือกเยอะและมีอัตราแข่งขันสูงทุกปี

8. ช่วงสามปีหลัง คณะที่เรียนเกี่ยวกับภาษาที่สองและสามจะฮอตมากเป็นพิเศษ

9. นอกจากนีสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการบริการ การท่องเที่ยว โลจิสติค ก็มาแรงมากๆ อาจจะมาจากอิทธิพลซีรีส์ต่างชาติประเทศ และเรื่องกระแส AEC

10. ผู้ใหญ่หลายคน (วัยประมาณ 30-40 ซึ่งเคยเป็นวัยรุ่น Dek-D มาก่อน) ที่ลูกยังไม่โตเป็นวัยรุ่น อาจจะยังไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้วัยรุ่นเรียนพิเศษที่สถาบันชั้นนำ ไม่ได้เป็นแบบนั่งดูวีดีโอพร้อมกันทั้งห้อง เปิดปิดเป็นเวลาเหมือนสมัยเรียนแต่ก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้เด็กไปที่สถาบันกี่โมงก็ได้ตามสะดวก มีคอมฯ ให้คนละเครื่อง เปิดคลิปติวดูเองตามสะดวก กรอกี่รอบก็ได้  หรือบางคนเดี๋ยวนี้ติวจากคลิปติวฟรี ไลฟ์ติวฟรีได้ง่ายขึ้นมาก (แต่ต้องเรียบเรียงเองหน่อย)


 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า