ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปหา ‘ร่างทรง’

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ปีสุดท้ายของการใช้ชีวิตนักศึกษาเป็นปีที่ผมสนุกที่สุดเพราะเราเลือกใช้ชีวิตการเรียนรู้ได้อย่างอิสระ ไม่ต้องยึดติดกับ ‘วิชาบังคับ’ เราจึงเลือกเสพสาระความรู้ที่ต้องการได้อย่างหลากหลาย ทั้งดนตรี กีฬา ภาษา ปรัชญาชีวิต

หนึ่งในวิชาที่ผมเลือกคือ ‘ปรัชญาพุทธศาสนา’ เพราะรู้มาว่าอาจารย์ผู้สอนมีชื่อเรื่องการคิดนอกกรอบ และยุยงให้เราออกไปหาความรู้กันจริงๆ นอกมหาวิทยาลัย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่มีในหลักสูตร โดยเฉพาะเรื่อง ‘คนทรงเจ้าเข้าทรง’ ที่เราเลือกเป็นหัวข้อในการทำรายงานกลุ่มนั้นไม่มีสอนในรั้วมหาวิทยาลัยแน่ๆ

พวกเราไปลงพื้นที่กันตามหมู่บ้านต่างๆ และเก็บข้อมูลอยู่หลายวัน ถึงจะไม่ได้เป็นงานวิจัยเต็มรูปแบบ แต่สิ่งที่เราได้มานั้นเปิดหูเปิดตาและทำให้เราเห็นบริบทของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนทรงเจ้าที่เราแบ่งออกเป็นห้ากลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีผมเชื่อว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก

1. Consultant ประจำชุมชน

‘เจ้าพ่อใหญ่’ เป็นสำนักแรกที่เราเลือกมาเพราะสถานที่ดูกว้างขวาง มีคนเข้าออกตลอดเวลา จึงดูปลอดภัยสำหรับเด็กนักศึกษาหน้าละอ่อนแบบพวกเรา ผมไปก่อนเพื่อนคนอื่นจึงเจอพ่อใหญ่ตั้งแต่ก่อนเข้าทรง เป็นชายสูงอายุท่าทางใจดี ถามผมว่ามาทำไม มากันกี่คน ซึ่งผมก็ตอบไปตามความเป็นจริงว่าเป็นนักศึกษามาทำรายงาน ซึ่งทั้งกลุ่มมีอยู่ห้าคน ต่อมาเมื่อเพื่อนอีกสามคนมาถึงจึงเริ่มพิธีทันที เราจึงได้เห็นการประทับทรงอย่างใกล้ชิด

เจ้าพ่อใหญ่: พวกเจ้าเป็นนักศึกษา มากันที่นี่เพื่อทำรายงานสินะ!
นักศึกษา: รู้ด้วยว่ะ สุดยอด! เพื่อนๆ กระซิบกระซาบกัน (เออ ก็มึงมาสายอะ กูบอกเขาไปแล้ว… อันนี้ผมได้แต่คิดในใจ)
เจ้าพ่อใหญ่: ไหนล่ะ อีกคนไปไหน ยังมาไม่ครบใช่มั้ย!
นักศึกษา: โห มีญาณแน่เลยเว้ย เริ่มฮือฮากระซิบกันดังขึ้น (อันนั้นกูก็บอกเค้าไปเหมือนกันแหละ… คิดไปขำไป)

พวกเราคุยกับเจ้าพ่อใหญ่ไปประมาณ 15 นาที ถามเรื่องทั่วไป อยากรู้ว่าชาวบ้านมาหาเจ้าพ่อใหญ่เรื่องอะไรบ้าง แกก็ตอบว่าส่วนใหญ่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาชีวิต และการเงิน ซึ่งแกก็ให้คำแนะนำไปอย่างกว้างๆ แกมีหน้าที่แบบนี้เพื่อต้องการสร้างบุญ สะสมบารมีในการช่วยเหลือชาวบ้าน พวกเราขอนั่งสังเกตการณ์ต่อ เจ้าพ่อใหญ่ก็อนุญาตโดยดี

หลังจากคณะเรา ก็เป็นคิวชาวบ้านแถวนั้นที่แวะเวียนมาหาเจ้าพ่อใหญ่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นอาการป่วยเบื้องต้น ซึ่งเจ้าพ่อใหญ่ก็จะให้ดื่นน้ำมนต์ ทำพิธีไปตามเรื่องตามราว บางคนปวดหลังเมื่อยแขน เจ้าพ่อใหญ่ก็เอาโสมเกาหลีที่เคยมีคนเอามาถวายให้ลองกิน ยกเว้นบางรายที่ดูแล้วอาการหนัก เจ้าพ่อใหญ่จะบอกให้ไปหาหมอหลวงที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งชาวบ้านก็เชื่อฟัง

ทุกรายที่มาหาเจ้าพ่อใหญ่ จะไม่มีการคิดเงินทำบุญหรือค่าทำพิธีใดๆ ใครอยากบริจาค เจ้าพ่อใหญ่จะให้ไปทำบุญกับโรงพยาบาลใกล้ๆ ใครมีปัญหาเรื่องเงิน เจ้าพ่อใหญ่ก็จะแนะนำให้ลดค่าเหล้าค่าบุหรี่ และจะช่วยหางานทำให้ ชาวบ้านจึงมองเจ้าพ่อใหญ่เป็นที่พึ่ง ไม่ต่างอะไรกับที่ปรึกษาประจำชุมชนเลย

2. Fear Maker เว่อร์วังอลังการเพื่อผลาญเงิน

เราเจอคนทรงเจ้าสองคนที่มีลักษณะคล้ายๆ กันคือเป็น ‘คอเหล้าเจ้าพิธีกรรม’ มักอ้างตัวเป็นร่างทรงของบุคคลสำคัญในอดีต ซึ่งดื่มเหล้าจัดมากตามที่เขาอ้างว่าเป็นบุคลิกของร่างทรงนั้นๆ แต่ดื่มยังไงก็ไม่เมา เพราะเราสังเกตได้ว่าเขาไม่เคยลืมคิดค่าดอกไม้ธูปเทียน ค่าพิธีกรรม ค่าครู ค่าน้ำมนต์ ฯลฯ แบบละเอียดทุกเม็ด เจ้านี้มักอ้างอิทธิฤิทธิ์ปาฏิหาริย์โดยเฉพาะคนที่เคยลบหลู่ว่าโดนของ โดนเอาคืนต่างๆ นานา ทำให้คนที่เข้ามาหาไม่กล้าถามอะไรมากนัก โดยคนที่นั่งประจำอยู่จะมีจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนหน้าม้า คอยรับลูกโยนลูกต่อกันอย่างลื่นไหล

ร่างทรง: ไอ้คนที่แล้วที่มาหาแล้วไม่ยอมทำพิธีน่ะ ชีวิตดี! นั่งกินนอนกินไปตลอดชีวิต
หน้าม้า:ใช่ๆ แม่งรถชน กลายเป็นคนพิการไปไหนไม่ได้ นั่งกินนอนกินบนรถเข็นนั่นแหละ

ชาวบ้านที่มาหาจึงต้องทำพิธีตามที่ร่างทรงบัญชามา ส่วนใหญ่ถ้าเจ็บป่วยก็จะบอกว่าโดนของ โดยมีสารพัดวิธีในการพิสูจน์ เช่นเอาไข่ไก่มาถูๆ ตรงที่เจ็บปวด เมื่อแกะไข่ออกมาก็จะเห็นมีตะปู มีเส้นด้าย ฯลฯ ซึ่งร่างทรงจะบอกว่าถูกคู่อริเสกมาเข้าร่างกาย จึงต้องทำพิธีแก้ ซึ่งชาวบ้านคนหนึ่งต้องรีบออกไปหาเงินมาทำพิธีเกือบๆ 10,000 บาทเพราะต้องใช้แม่ชีแปดรูปมาร่วมสวดปัดรังควาญ ฯลฯ

สำนักเจ้าพิธีกรรมในลักษณะนี้จะมีผู้ช่วยเป็นชายฉกรรจ์คอยอำนวยความสะดวกให้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการยกพาน ชุดเครื่องบูชา ฯลฯ และคอยพูดกับคนที่มีท่าทีไม่เชื่อถือ เช่นนักศึกษาหน้าละอ่อนอย่างเราที่ดูไม่ค่อยเข้าพวก จึงทำได้เพียงดูอยู่ห่างๆ และย่องออกไปในเวลาไม่นานนักเพราะไม่มั่นใจสถานการณ์สักเท่าไร

เราสรุปกันเองว่า คนที่หากินกับความกลัวและรีดเงินจากชาวบ้านแบบนี้คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมิจฉาชีพที่ทำกันเป็นขบวนการ แต่แย่หน่อยที่เราได้ยินมาว่ามีนายตำรวจใหญ่ๆ แวะเวียนเข้ามาเสมอ ได้แต่หวังว่าจะเป็นแค่เหยื่ออีกคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวหน้าขบวนการก็แล้วกัน

3. Bipolar ดราม่าตัวแม่

ในบรรดาคนทรงเจ้าที่เราเจอมาทั้งหมด ต้องยอมรับว่าร่างทรงแบบนี้ ‘เอนเตอร์เทน’ ที่สุดแล้ว เพราะเราเจอคุณป้าสองคนที่อ้างเป็นร่างทรงพระนางในตำนานองค์หนึ่ง กับอีกหนึ่งพระชายาที่ทั้งสององค์นี้อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ไม่รู้ว่าได้สนทนาธรรมกันเองบ้างไหม

คุณป้าทั้งสองคนเราเจอตั้งแต่ยังไม่ประทับร่างทรงก็ดูเป็นคนขรึมๆ พูดจาเนิบๆ ช้าๆ คล้ายๆ กัน แต่เมื่อองค์ลงแล้วนิสัยจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ร่างทรงพระนางฯ จะดุดัน พูดจากระโชกโฮกฮาก ในขณะที่ร่างทรงพระชายาฯ จะเสียงดังแต่ออกขบขันให้ชาวบ้านและพวกเราได้พอหัวเราะได้

คุณป้าร่างทรงพระนางฯ เล่าให้เราฟังว่าก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปีมีคนทักว่า “มีองค์” อันหมายถึงมีองค์เทพ เพราะมีเหตุการณ์แปลกๆ ในชีวิตเกิดขึ้นติดต่อกัน เช่น ปวดหัวข้างเดียวเป็นประจำ หูแว่วบ่อยๆ แน่นหน้าอก มีนิมิต ฯลฯ จึงมีคนแนะนำให้ทำพิธีรับขันธ์เทพ รับองค์ และผันตัวเองมาเป็นร่างทรงนับแต่บัดนั้น

ตลอดเวลาที่พวกเราพูดคุย ร่างทรงจะพยายามทักเรื่องโน้นเรื่องนี้กับเราตลอด อย่างเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เช่น “ปวดหัวบ่อยๆ ใช่ไหมล่ะ” หรือเตือนให้ระวังอุบัติเหตุ ซึ่งเพื่อนที่มีประสบการณ์ในการหาหมอดูบ่อยๆ จะบอกว่าเหมือนกันเลย คือพูดเหวี่ยงแห ผิดๆ ถูกๆ ซึ่งผิดยังไงก็แถไปได้เรื่อยๆ

พระนางฯ: เนี่ยเห็นนะอยู่ในบ้านเนี่ย มีน้องสาวอีกคนใช่มั้ยตัวขาวๆ
นักศึกษา: มีน้องค่ะ แต่เป็นน้องชาย ตัวเตี้ย ผิวคล้ำนะคะ
พระนางฯ: เอ็งจะไปรู้อะไร! (ตวาดลั่น) โตขึ้นมันก็เป็นผู้หญิงเอง มันถูกลิขิตไว้แล้ว!

ทั้งสองรายนี้พวกเราลงมติว่า “ผิดปกติทางจิต” ชัดเจนแน่ แม้ยุคนั้นพวกเราก็ยังไม่รู้จักคำว่าไบโพลาร์ แต่ชัดเจนว่าเขาต้องมีความผิดปกติบางอย่างจนทำให้มีสองบุคลิกที่ขัดแย้งกันแบบนั้น และทั้งคู่ดูจะไม่มีใครทำเงินได้จากอาชีพนี้สักเท่าไร อย่างมากก็มีคนเอาข้าวของมาฝากเท่านั้น ไม่มีการคิดเงินค่าบริการกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ประการใด

4. The Show Must Go On – ตกกระไดพลอยโจน

แบบที่ 4 พิเศษหน่อยเพราะเป็นลุงของ ‘คฤจภัคฐ์’ เพื่อนในกลุ่ม เราจึงไม่ได้ไปสังเกตการณ์โดยตรงแต่ฟังเรื่องราวจากคฤจภัคฐ์โดยละเอียดในฐานะประจักษ์พยาน ซึ่งเล่าให้ฟังว่าลุงของเธอนั้นเป็นร่างทรงมาเกือบสิบปีแล้ว โดยจุดกำเนิดในการเป็นร่างทรงนั้นเป็นเพราะสถานการณ์พาไป

10 กว่าปีที่แล้ว ‘ลุงทองหยอด’ แอบเห็นขาโจ๋ในหมู่บ้านสองสามคนกำลังลุกลี้ลุกลนขุดดินฝังอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่นานลุงก็รู้ข่าวว่ามันไปขโมยของในบ้านเศรษฐีคนหนึ่งแล้วเอามาฝังไว้ที่นี่ เมื่อคนในหมู่บ้านระแคะระคายจึงช่วยหาที่ซ่อน ลุงแกจะบอกตรงๆ ว่าเห็นเหตุการณ์ก็กลัวจะถูกโจรพวกนั้นล้างแค้น จึงออกอุบายทำทีเป็น ‘เจ้าเข้า’ สั่นพั่บๆ แล้วก็บอกชาวบ้านให้ไปขุดหาตรงนั้น

แน่นอนว่าชาวบ้านขุดเจอแบบตรงเผง ลุงทองหยอดจึงได้อัพเกรดเป็นเจ้าพ่อทองหยอดในบัดดล จนแกแทบจะเลิกทำนามาหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดสำนักอย่างเดียวได้เลย ผมถามเพื่อนต่อว่า หลังจากนั้นไม่มีอภินิหารอะไรแล้วลุงแกจะทำยังไง ก็ได้คำตอบว่าสิ่งที่ชาวบ้านถามก็ล้วนใช้สามัญสำนึกคาดคะเนได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ครั้งหนึ่งเด็กไปเล่นน้ำกันในคลองแล้วหายตัวไปมาขอให้ลุงช่วยหา ลุงแกก็รู้ว่าตรงนั้นน้ำลึกมากแล้วมีคนจมน้ำตายบ่อยๆ จึงบอกให้ไปหาเด็กในจุดที่ไกลไปสัก 1 กิโลเมตร ซึ่งก็เจอศพเด็กแถวนั้นจริงๆ เพราะลุงแกประมาณได้ว่าน่าจะลอยไปถึงตรงไหน

กรณีลุงทองหยอดจึงเป็นการตกกระไดพลอยโจน ที่เจ้าตัวรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ได้มีอภินิหารอะไร แต่ the show must go on ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปซึ่งแกคงคิดว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

5. Supernatural วิญญาณและอภินิหารของแท้

สังคมไทยยอมรับเรื่องเหนือธรรมชาติกันมายาวนานนับร้อยปี เราจึงปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ไปไม่ได้และช่วงชีวิตของเราย่อมเคยได้ยินเรื่องเล่าขานเหล่านี้กันมาไม่มากก็น้อย จึงเป็นปริศนาว่าเรื่องนี้มีจริงหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่กับสังคมไทยเท่านั้น แต่ในหลายๆ ประเทศก็มีความเชื่อแบบนี้เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

แม้จะไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่ใช้พิสูจน์เรื่องราวเหล่านี้ แต่การปิดการรับรู้และปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้โดยสิ้นเชิงก็อาจทำให้เราพลาดศาสตร์ที่อาจจะสำคัญที่สุดของมนุษยชาติก็เป็นไปได้

แต่ในยุคนั้น เด็กมหาวิทยาลัยที่อยากสัมผัสเรื่องราวที่หาไม่ได้ในโลกวิชาการจะทุ่มเทกำลังจนไขปริศนาลี้ลับเหล่านี้ได้ก็คงจะมีแต่ในนิยายเท่านั้น เราจึงต้องยอมรับว่ายังหา ‘ของจริง’ ไม่พบ

ชื่อเจ้าพ่อ รวมถึงชื่อเพื่อนทั้งหลายในบทความนี้ล้วนเป็นนามสมมุติ แต่ข่าวคนทรงเจ้าเข้าทรงที่ได้ยินแทบไม่เว้นแต่ละวันไม่ใช่เรื่องสมมุติ จะมีใครบ้างที่เป็นตัวจริงจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ซึ่งเท่าที่ดูมาแล้วก็ไม่น่าผิดไปจากสี่ประเภทแรกนี้สักเท่าไร

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า