ช่องโหว่กฎหมาย PDPA เมื่อ ‘Big Brother’ จ้องคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน

“Big brother is watching you”

ประโยคข้างต้นสะท้อนนัยของการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชนผ่านการสอดส่องโดยรัฐ การสอดส่องการกระทำของประชาชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกวรรณกรรม แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ซึ่งล่าสุดในประเทศไทยก็เกิดกรณีที่นักกิจกรรมออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะถึงการได้รับคำเตือนทางโทรศัพท์ว่ากำลังถูกเจาะระบบ และนำมาสู่การเปิดเผยว่ามีการใช้สปายแวร์ ‘เพกาซัส’ ในประเทศไทย 

การล่วงล้ำเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวของประชาชน จากการใช้อำนาจรัฐหรือปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยการไม่คำนึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อจุดประสงค์ในทางการเมือง ถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐที่ทำกับประชาชนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันอาจจะเลวร้ายมากขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรีได้มีความพยายามที่จะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนด้วยข้อความที่คลุมเครือและเปิดช่องให้เกิดการตีความให้ได้เปรียบแก่รัฐในการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

บทความชิ้นนี้เป็นบทวิเคราะห์ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และอำนาจของประชาชนที่จะต่อสู้กับรัฐในสถานการณ์ที่รัฐไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาปัจจุบันที่รัฐพยายามละเมิดสิทธิประชาชนโดยอาศัยช่องโหว่ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565

การสอดส่องประชาชนโดยรัฐ = การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ

หลายคนอาจคุ้นหูและเคยเห็นข้อความว่า “Big brother is watching you” จากสื่อต่างๆ ซึ่งมีที่มาจากวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) พื้นหลังของเรื่องเล่าถึงประเทศสหราชอาณาจักรที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ โดยรัฐจะสอดส่องชีวิตของประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘telescreen’ ซึ่งใช้ในการสอดส่องการกระทำของประชาชน รวมถึงเพื่อให้แน่ใจว่า ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองจะประพฤติและปฏิบัติตัวเป็นไปตามที่ความต้องการที่ผู้ปกครองกำหนดหรือไม่ 

สถานการณ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะในงานวรรณกรรมเท่านั้น ทว่าการสอดส่องประชาชนโดยรัฐนั้นได้เกิดขึ้นจริง โดยมีตัวอย่างหลายกรณีทั่วโลก เช่น การสร้างระบบคลาวด์ตำรวจ (police cloud) ของประเทศจีน ซึ่งระบบจะทำการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ประวัติการรักษาพยาบาล ข้อมูลสมาชิกซูเปอร์มาร์เก็ต และข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขประจำตัวประชาชน ทำให้ระบบสามารถติดตามประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และทราบได้ว่าเป้าหมายนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลใด รวมถึงการคาดการณ์กิจกรรมในอนาคตของบุคคลนั้น โดยวัตถุประสงค์ของระบบคลาวด์ตำรวจนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับบุคคล เป็นต้น[1]

ย้อนกลับมาในกรณีของประเทศไทยล่าสุดนี้ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสอดส่องประชาชนโดยอาศัยสปายแวร์ (spyware) ที่มีชื่อว่า ‘เพกาซัส’ (Pegasus) โดยกลุ่มเป้าหมายที่ถูกสอดส่องส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ ทนายความ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทย 

จากการสรุปของ Citizen Lab หรือห้องปฏิบัติการสหวิทยาการจาก Munk School of Global Affairs พบว่า ปัจจุบันมีนักกิจกรรมทางการเมืองกว่า 30 คน ถูกสอดส่องโดยเพกาซัสในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564[2] และจากการศึกษาของ iLaw พบว่า ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่มีการพยายามเจาะระบบโทรศัพท์นั้นจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันออกจากตำแหน่ง หรือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์[3]

เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับภูมิหลังของสปายแวร์นี้แล้วจะพบว่า สปายแวร์ดังกล่าวเป็นของบริษัท NSO Group ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอิสราเอลที่เป็นผู้พัฒนาและให้บริการด้านความมั่นคงไซเบอร์ โดยบริษัทดังกล่าวจะให้บริการเฉพาะกับหน่วยงานของรัฐ และเป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศอิสราเอลแล้วเท่านั้น[4]

รายชื่อบุคคลผู้ถูกคุกคามและช่วงเวลาที่มีการเจาะระบบ

ที่มา: Citizen Lab (2022)

นัยของการสอดส่องประชาชนโดยรัฐนั้น ไม่เพียงแสดงถึงลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมโดยรัฐแล้ว การสอดส่องประชาชนโดยรัฐยังอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบอื่นๆ ต่อไปได้อีก เช่น การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา วรรณะ และลัทธิทางการเมือง เพื่อการสร้างความเกลียดชัง และเลือกปฏิบัติกับตัวบุคคลโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมา ดังเช่นในสมัยนาซีเยอรมันที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เป็นต้น หรือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยรัฐอาจใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีในประเด็นสาธารณะ และเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือคู่ขัดแย้งทางการเมือง[5]

นอกจากนี้ การคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยรัฐนั้นอาจจะเกิดจากวิธีการที่เป็นทางการ ผ่านการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายหรือปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับ หรือวิธีการที่มีความเป็นทางการน้อยกว่า อย่างปฏิบัติการเชิงข้อมูลข่าวสาร (information operation: IO) โดยการนำข้อมูลส่วนบุคคลหรือเรื่องส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อสร้างความเกลียดชัง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty international Thailand) ระบุว่า ปลายปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลได้เปิดเผยแผนการผลักดัน ‘ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก’ ในลักษณะสงครามไซเบอร์ ซึ่งกองกำลังไซเบอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารออนไลน์ของคนทำงานภาคประชาสังคมเพื่อระบุตัวผู้ต่อต้านรัฐบาล และมีความเป็นไปได้ที่กองทัพไซเบอร์นั้นจงใจปล่อยข่าวปลอมเพื่อคุกคามนักสิทธิมนุษยชนทางโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งดำเนินคดีกับประชาชนทั่วไปที่พยายามแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงออก[6]

การรุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความมั่นคงของรัฐ ในนามกฎหมาย PDPA

ดังจะเห็นได้ว่า นัยของสิทธิความเป็นส่วนตัวนั้นมีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่[7] และได้รับการรับรองเอาไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีการบัญญัติรับรองสิทธิความเป็นส่วนตัวเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ[8] โดยในบางประเทศสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล อาจได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษจากกฎหมายเฉพาะ เนื่องจากในชีวิตของคนหนึ่งคนประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก อาทิ ชื่อ-นามสกุล เพศ อายุ อาชีพ ศาสนา ความเชื่อ ความคิดเห็น หรือความเชื่อทางการเมือง สถานะทางเศรษฐกิจ จนถึงรสนิยมการดำรงชีวิตหรือการบริโภค ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผูกพันหรือยืนยันความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นให้แตกต่างไปจากบุคคลอื่น[9] ฉะนั้น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นสาระสำคัญของการรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะหากปราศจากการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พลเมืองก็จะปราศจากวิธีการและเครื่องมือในการใช้สิทธิความเป็นส่วนตัว และปกป้องสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองจากการล่วงละเมิด เพื่อบรรเทาการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว[10]

วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ การให้สิทธิกับประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ในการควบคุมและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองจากการถูกละเมิด กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชน หรือ NGO และไม่ว่าการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือกระดาษ[11] ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้นได้มีการตรา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ขึ้นมาเพื่อเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล[12]

คำถามสำคัญก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 สามารถที่จะคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและการคุกคามความเป็นส่วนตัวจากรัฐได้หรือไม่ ซึ่งหากในสถานการณ์ปกติอาจจะกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้อาจช่วยบรรเทาการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยการเรียกร้องให้การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กับการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานรัฐ การดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงาน ศาล อัยการ และผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยมิให้นำบทบัญญัติในหมวดเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การร้องเรียน ความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษมาใช้บังคับหน่วยงานของรัฐในวัตถุประสงค์ดังกล่าว[13] ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวนั้นกว้างกว่าข้อยกเว้นเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้[14] และอาจทำให้หน่วยงานของรัฐทั้งหลายตบเท้าเข้ามาเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยประชาชนปราศจากเครื่องมือในการต่อสู้

ปัญหาสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็คือ ขอบเขตของการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบรรดาถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจง สุดแต่ผู้มีอำนาจจะตีความ และที่ผ่านมาการตีถ้อยคำว่า ‘การรักษาความมั่นคงปลอดภัย’ ‘ความปลอดภัยสาธารณะ’ หรือ ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ล้วนแต่มีปัญหาในการตีความที่นำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมเกี่ยวกับความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงข้อยกเว้นดังกล่าวยังตอกย้ำวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ตามวิถีนิติรัฐแบบไทยๆ ที่มอบอภิสิทธิ์อย่างล้นๆ เกินๆ แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ในนามของกฎหมาย

ท้ายที่สุดหากรัฐบาลมีความจริงใจ โปร่งใส และมุ่งหมายที่จะเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว รัฐบาลควรที่จะระงับแผนการที่จะผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง

เชิงอรรถ

[1] Human Right Watch, ‘China: Police ‘Big Data’ Systems Violate Privacy, Target Dissent Automated Systems Track People Authorities Claim Threatening’ (Human Right Watch, 19 November 2017). <https://www.hrw.org/news/2017/11/19/china-police-big-data-systems-violate-privacy-target-dissent> accessed 22 July 2022.

[2] John Scott-Railton, Bill Marczak and others, ‘GeckoSpy: Pegasus Spyware Used Against Thailand’s Pro-Democracy Movement’ (The Citizen Lab, 17 July 2022). <https://citizenlab.ca/2022/07/geckospy-pegasus-spyware-used-against-thailands-pro-democracy-movement/> accessed 22 July 2022.

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] iLaw, ‘ปรสิตติดโทรศัพท์ : ข้อค้นพบเมื่อสปายแวร์เพกาซัสถูกใช้ต่อผู้เห็นต่างจากรัฐบาล’ (iLaw, 16 กรกฎาคม 2565). <https://freedom.ilaw.or.th/report-parasite-that-smiles-th> สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565.

[5] See Privacy Internationaol, ‘The Keys to Data Protection: A Guide for Policy Engagement on Data Protection’ (5 September 2018). <https://www.privacyinternational.org/report/2255/data-protection-guide-complete> accessed 23 July 2022, 26.

[6] แอมเนสตี้, ‘สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์’ (Amnesty) <https://www.amnesty.or.th/our-work/onlinefreedom/> สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2565.

[7] ดู ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 12.

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32.

[9] นคร เสรีรักษ์, ความเป็นส่วนตัว: ความคิด ความรู้ ความจริง และพัฒนาการเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, พี.เพรส 2563) 101.

[10] Privacy Internationaol (no 5) 12.

[11] Ibid; เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘PDPA101: มาเข้าใจกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบนับหนึ่งกันเถอะ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 1 มิถุนายน 2565). <https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1121> สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2565.

[12] ดู พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ.

[13] รัฐบาลไทย, ‘สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2565’ (รัฐบาลไทย, 5 กรกฎาคม 2565) <https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/56572?fbclid=IwAR3urkjQeTG60Xuu0gDYBT6rBmBityC30hJwHTtQncP8bEmGGPfCz30DdrA> สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2565.

[14] พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 4.

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
นักวิจัยประจำฝ่ายกฎหมายเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สนใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า