I
การรวมตัวครั้งใหม่ของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายองค์กร ในนาม ‘People Go Network Forum’ ได้สรุปสาระสำคัญที่ต้องจับตาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 และประเด็นปัญหาของประชาชนที่ถูกทำให้เลือนหาย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
สองมือและสองเท้าของประชาชนพร้อมเดินหน้ากิจกรรม ‘People Go: ก้าวไปด้วยกัน’ เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. นับจากวันนี้ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง
สาระสำคัญที่ควรจับตา
- สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่หายไป
- ประเทศไทย 4.0
- ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …
- การจัดการปัญหาประมง
สิ่งที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญ
สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่หายไปในร่าง รธน. 2559
- จากสิทธิชุมชนมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ถูกย้ายไปอยู่ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 มาตรา 58
- สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หลักการที่สำคัญซึ่งมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้หายไป
หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
มาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
บทเฉพาะกาลที่เร่งรัดการออกกฎหมาย
มาตรา 278 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐร่างกฎหมายที่จำเป็นตามมาตรา 58 ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน นับแต่วันรับร่าง
สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญใช้ได้เมื่อใด
มาตรา 25 สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายใช้บังคับ บุคคล ชุมชน ย่อมใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อฟ้องศาลหรือต่อสู้คดีได้
ประชาชนจะติดตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างไร
มาตรา 51 หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญถ้าการใดเป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ประชาชนและชุมชนมีสิทธิติดตาม เร่งรัด ฟ้องร้อง ให้รัฐดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ โดย คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปและมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จนกว่ารัฐบาลใหม่รับหน้าที่
มาตรา 265 ให้ คสช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557
มาตรา 279 ประกาศ คำสั่ง การกระทำของ คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญและที่ใช้ต่อไปในระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ให้มีผลใช้บังคับและชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อไป การยกเลิก แก้ไข ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติหรือมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ประกาศ คำสั่ง คสช. ใดที่ละเมิดสิทธิตรวจสอบไม่ได้ จึงมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะยกเลิก
รัฐธรรมนูญหมวดแนวนโยบายรัฐ
มาตรา 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ
- เป็นเป้าหมายการพัฒนา
- เป็นกรอบการจัดทำ เป้าหมาย ระยะเวลา รายละเอียด การมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นประชาชน ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น
ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
สิ่งน่ากังวลนอกรัฐธรรมนูญ
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …
- การผลักดันร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความล่มสลายอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั่วประเทศได้
- การกันเขตทรัพยากรแร่ออกจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นให้ชัดเจน ได้บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ในหมวด ‘การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ’ คล้ายๆ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในกฎหมายการค้าการลงทุนที่ยกเว้นมาตรการบังคับบางอย่างและให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น
- การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นเพื่อพิจารณาการอนุมัติ/อนุญาตจะถูกตัดทิ้งหมด
- จัดทำรายงาน EIA/EHIA สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ล่วงหน้าไว้ก่อน แล้วนำพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA แล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ได้เลย
*หลักการนี้ในร่างกฎหมายแร่ เป็นหลักการที่ขัดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษา
- เมื่อพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมงโดยมีนิยาม ‘เรือไร้สัญชาติ’ ในที่นี้หมายความว่า ‘เรือที่ไม่ได้จดทะเบียน’ หรือ ‘เรือที่มีตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป’ หรือ ‘เรือที่เปลี่ยนธงในระหว่างการเดินเรือ’
- ‘เรือที่ไม่ได้จดทะเบียน’ นั้น ได้รวมเอาเรือแพ/เรือขุด/เรือเล็กๆ ทุกๆ อย่างของชาวบ้าน แต่ไม่รวมถึงเรือบรรทุกสินค้า หมายความว่า ชาวบ้านจะใช้แพหรือเรือเล็กถ่อไปตกกุ้ง ‘เพื่อขาย’ ไม่ได้ เพราะแพหรือเรือเล็กไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรือ
- การกำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง โดยกำหนดให้ประมงพื้นบ้านทำประมงห่างจากชายฝั่งออกไปไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล หรือไม่เกิน 5,400 เมตร มีผลให้ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือที่มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากร ได้รับความเดือดร้อนและเป็นการจำกัดสิทธิของชาวประมงขนาดเล็กของประเทศไทย (เรือประมงขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส)
- ในขณะที่ให้สิทธิชาวประมงพาณิชย์ ได้สิทธิทำการประมงในพื้นที่ตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเล ไปจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (ประมาณ 200 ไมล์ทะเล)
- พระราชกำหนดฉบับนี้ กำหนดให้เขตประมงจะมีพื้นที่มหาศาลนี้ให้ตกเป็นสิทธิของ ‘ชาวประมงแบบพาณิชย์’ เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวจึงเกินความจำเป็น และจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อมีการกระทำความผิดขึ้นมีบทลงโทษที่มีความรุนแรงในระดับริบเรือประมง พร้อมเครื่องมือการประมง และกำหนดโทษปรับสูงถึงห้าหมื่นถึงห้าแสนบาท
ประเทศไทย 4.0
รัฐบาลโดยทีมงานเศรษฐกิจได้ประกาศวาทกรรมการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า ‘ประเทศไทย 4.0’ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ที่ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศไทยใหม่
ผู้ขับเคลื่อน ‘ประเทศไทย 4.0’ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
- เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
- เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
- เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services
- เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
พร้อมทั้งการพัฒนา ‘5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย’ ประกอบด้วย
- กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
- กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)
- กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
- กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
- กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
สิ่งที่ คสช.ทำ
สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน
- เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา/โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่านถ่านหินกระบี่/ท่าเรือปากบารา/แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล/โรงไฟฟ้าขยะ/โรงไฟฟ้าชีวมวล/เหมืองแร่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้วยเหตุผลพัฒนาเศรษฐกิจ เร่งรัดนโยบายการพัฒนา เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559
- หน่วยงานรัฐผลักดันกฎหมายโดยขาดการกลั่นกรองและการมีส่วนร่วม เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ร่างพระราชบัญญัติแร่ ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- แก้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 7/2558 ให้โรงไฟฟ้าขยะขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำ EIA
- การใช้อำนาจควบคุม จำกัด การใช้สิทธิชุมชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ประเทศไทย 4.0
การใช้กลไกประชารัฐ โดยการเอ่ยอ้างชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรสองบริษัทเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ
แร่
ในยุครัฐบาล คสช. ได้มีการผลักดันนโยบายการเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ ให้ประทานบัตรหรือต่ออายุประทานบัตรจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ปัญหาการจัดการมลพิษจากเหมืองแร่เดิมที่มีผลกระทบต่อชุมชนกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เกิดการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีเหมืองทองคำจังหวัดเลย เหมืองทองคำจังหวัดพิจิตร เหมืองแร่สังกะสีจังหวัดตาก และกรณีเหมืองตะกั่วคลิตี้ล่างจังหวัดกาญจนบุรี
การจัดทำพระราชกำหนดการประมงแบบเป็นความลับ
ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปและชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติอาจก่อให้เกิดปัญหาจากการที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่ทราบข้อกำหนดของกฎหมาย รวมทั้งการที่หน่วยงานรัฐมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการรับขึ้นทะเบียนเรือ การทำอาชญาบัตร หรือการออกใบอนุญาต การประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงพื้นบ้านทราบกฎเกณฑ์ใหม่ที่ต้องปฏิบัติ จนอาจทำให้ชาวประมงพื้นบ้านผิดกฎหมายโดยไม่เจตนา ซึ่งการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดควรมีกลไกการมีส่วนร่วม มีระยะเวลาให้มีการดำเนินการที่เหมาะสมสอดคล้องกับขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐด้วย
สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น
สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ประชาชนต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการออกกฎหมายให้สิทธิชุมชนสามารถมีปฏิบัติการได้จริงในสังคมไทย เรียกร้องให้รัฐจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎหมาย โดยต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม
ประเทศไทย 4.0
- จัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินและส่งเสริมโฉนดชุมชน
- ปรับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชให้มีเป้าหมายสร้างเกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์และวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์
- ขยายชลประทานโดยสร้างระบบชลประทานในไร่นาแทนการสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่
- ปฏิรูประบบสินเชื่อเพื่อสร้างความเป็นธรรมและกำหนดให้มี ‘กรีนเครดิต’ อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์
- ยกเครื่องกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและหลักป้องกันเอาไว้ก่อน
- พัฒนานวัตกรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพโดยเน้นยกระดับความสามารถของวิสาหกิจท้องถิ่นเกี่ยวกับอาหารและยา
- ขยายตลาดท้องถิ่นและตลาดทางเลือกให้มีบทบาทหลักในระบบกระจายอาหาร
- ปรับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าให้ประชาชนมาร่วมกำกับขจัดการทับซ้อนผลประโยชน์
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …
- รัฐควรถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาเพื่อปรับปรุง รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน นักวิชาการใหม่อีกครั้งหนึ่ง
- รัฐควรดำเนินการตรวจสอบการทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตและควบคุมให้มีการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษโดยเร็ว และการออกกฎหมายใหม่ควรให้ความสำคัญในการควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบ กระบวนการฟื้นฟูภายหลังการดำเนินการเหมืองแร่ การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เหมาะสม
- การพิจารณาในการทำเหมืองแร่ควรคำนึงถึงศักยภาพของระบบนิเวศ ศักยภาพการพัฒนาด้านอื่นที่มีความยั่งยืนและคำนึงถึงสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การจัดการปัญหาประมง
เขตทะเลนอกชายฝั่ง ถือเป็นแหล่งที่ควรจับสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชาวประมงควรได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม แต่ในพระราชกำหนดประมงกำหนดให้เขตประมงพื้นที่มหาศาลนี้ให้ตกเป็นสิทธิของ ‘ชาวประมงแบบพาณิชย์’ เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวจึงเกินความจำเป็น และจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้าน
ที่มา: People Go Network Forum