เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 กรกฎาคม 2564) ผู้รายงานพิเศษประจำองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (The UN Special Rapporteur) ประจำเมียนมา เรียกร้องให้ประชาคมโลกยื่นมือเข้าช่วยเหลือประชาชนเมียนมา เพื่อรับมือกับ ‘คลื่นพายุแห่งปัญหา’ (perfect storm) ที่โหมกระหน่ำเข้ามาจนอาจส่งผลให้ภาวะวิกฤติโควิด-19 ในเมียนมามีแนวโน้มทรุดตัวลง อันเนื่องมาจากระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย ภายใต้ปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมา
ทอม แอนดรูวส์ (Tom Andrews) กล่าวว่า สถานการณ์อันเลวร้ายหลายประการกำลังเกิดขึ้น อาทิ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta) การล่มสลายของระบบสาธารณสุขของเมียนมา และความรู้สึกหวาดระแวงของชาวเมียนมาอย่างยิ่งยวดต่อสิ่งใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดคลื่นพายุแห่งปัญหานี้ ซึ่งอาจ “นำไปสู่การสูญเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญในเมียนมา หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินจากประชาคมระหว่างประเทศ”
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า รัฐบาลทหารต้องมีความรับผิดชอบกับเงินช่วยเหลือจำนวน 350 ล้านดอลลาร์ (หรือราวๆ 10,000 ล้านบาท) ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้จัดสรรให้กับประชาชนชาวเมียนมาเมื่อไม่กี่วันก่อนเกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19
“รัฐบาลทหารขาดแคลนทั้งทรัพยากร ความรู้ความสามารถ และความชอบธรรมในการจัดการกับวิกฤติโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุม” แอนดรูวส์กล่าว
เขาเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่องค์กรที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหาร เพื่อดำเนินการประสานงานในเรื่องของการเริ่มต้นรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงจัดสรรและฉีดวัคซีนที่ประชาชนชาวเมียนมาสามารถให้ความไว้วางใจได้
ในถ้อยคำแถลงของเขา แอนดรูวส์กล่าวว่า “สิทธิที่จะเข้าถึงสุขภาพตามมาตรฐาน
ขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะได้รับ และสิทธินั้นถูกพรากไปจากผู้คนส่วนใหญ่ในเมียนมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง”
ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานระดับภูมิภาค รวมถึงองค์กรเอกชน ต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะเกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้ และนำไปสู่สถานการณ์อันเลวร้าย อาทิ เมียนมาอาจกลายเป็นประเทศผู้แพร่เชื้อไวรัสรายใหญ่ (super spreader) อันร้ายแรงนี้”
นอกจากนี้ แอนดรูวส์ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในขณะนี้ เมียนมากำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนออกซิเจนสำหรับใช้กับเครื่องช่วยหายใจ “ผู้คนกำลังจะสูญเสียชีวิต เนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ รวมถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการ” เขาระบุ
มีหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในระดับ ‘คลื่นพายุแห่งปัญหา’ ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ในเมียนมา พลเมืองต่างท้าทายมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยการออกตามหาถังออกซิเจนในยามวิกาล ด้วยความหวังที่จะนำไปให้กับสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักซึ่งกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19
หลายคนได้เตรียมเก้าอี้มาจากบ้าน เนื่องจากรู้ดีว่าต้องใช้ระยะเวลานานในการรอคิว และสำหรับบางคน เวลานั้นมีค่ามากเสียจนไม่สามารถทนรอได้อีกต่อไป “พี่สาวของผมป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาสามวันแล้ว” ตาน ซอ วิน (Than Zaw Win) กล่าวกับแหล่งข่าว ขณะเดินออกจากคิว
“ในวันแรก เธอวิงเวียนศีรษะ พร้อมกับมีความดันเลือดต่ำ…และเมื่อวานนี้ อาการของเธอย่ำแย่ลงมาก เพราะหายใจไม่ค่อยสะดวก…แต่ในขณะที่ผมรอคิวเพื่อเติมออกซิเจนเมื่อเช้านี้ หลานสาวของผมได้ติดต่อให้ผมกลับบ้าน เพราะพี่สาวของผมเสียชีวิตแล้ว”
นอกจากนั้น ผู้ต้องขังในเรือนจำของเมียนมา รวมถึงนักโทษการเมืองจำนวนหลายพันคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ก็ตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงเช่นเดียวกัน แอนดรูวส์ให้ความเห็นว่า “เหล่านักโทษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมองว่าโทษของการถูกคุมขังครั้งนี้ได้กลายเป็นโทษประหารชีวิตไปเสียแล้ว”
ในวันพุธที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมียนมามากกว่า 7,000 ราย ในขณะที่ต้นเดือนพฤษภาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ประมาณ 50 คนต่อวัน และปัจจุบัน เมียนมามียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 208,357 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้วกว่า 4,181 ราย (ข้อมูลอัพเดตเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564)
อ้างอิง
- Myanmar faces ‘perfect storm’ from COVID as health care collapses
- Desperate search for oxygen in Myanmar as latest Covid wave hits
- Total Coronavirus Cases in Myanmar