มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) และภาคีเครือข่ายจัดงานมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมเป็นประจำทุกปี สำหรับในปี 2557 นับเป็นปีที่ 6 และเภสัชกรที่ได้รับรางวัล คือ เภสัชกรหญิงอัจฉรา เอกแสงศรี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
ภายหลังพิธีมอบรางวัล มีงานเสวนา ‘การปฏิรูประบบผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเองของสังคม’ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมร่วมแลกเปลี่ยน ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงระบบผลิตยาจำเป็นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
+ เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม 2557
สืบเนื่องจากเป้าหมายและวัตุประสงค์ของมูลนิธิเภสัชกรศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ที่มุ่ง “ริเริ่ม สรรสร้างเภสัชกรให้มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาสุขภาพสังคม การบริหารจัดการระบบยา ระบบสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุภาพ อย่างถึงพร้อมด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม” จึงมีมติดำเนินการพิจารณาคัดเลือก ‘เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม’ เพื่อสรรหาเภสัชกรที่ประกอบวิชาชีพเพื่อสังคมอย่างถึงพร้อมด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เชิดชูเกียรติ รวมทั้งเป็นแบบอย่าง ความภาคภูมิใจและแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพตามบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรทุกสาขา
เภสัชกรหญิงอัจฉรา เอกแสงศรี เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม ทุ่มเททำงานหนักเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี ในฐานะเภสัชกรที่เติบโตมาจากนักวิทยาศาสตร์ตรี หัวหน้าแผนกวิเคราะห์วัตถุดิบ หัวหน้าส่วนวิชาการและข้อมูล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา จนถึงขณะนี้ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อัจฉราได้ทำงานวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญ ทั้งการพัฒนาสูตรตำรับเพื่อทดแทนการใช้ยาต้นแบบ และพัฒนาสูตรตำรับยาให้สามารถใช้ได้โดยสะดวก อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ยาป้องกันสารกัมมันตรังสี ยาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2544 ได้ร่วมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิทธิบัตรยา เนื่องจากพบว่าระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรได้ง่าย ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 อัจฉราทำโครงการวิจัยวัคซีน Pandemic Flu Vaccine H1N1 และได้รับอนุมัติให้ใช้เมื่อเกิดการระบาดจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี พ.ศ. 2552 ได้จัดตั้งศูนย์ชีวสมมูล (Bioequivalence: BE) เพื่อศึกษาชีวสมมูลของยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานการขึ้นทะเบียนของ อย. ปี พ.ศ. 2553 พัฒนาตำรับยาสูตรผสม Triferdine และ Iodine ชนิดเม็ด ร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งเป็นยาเม็ดเสริมไอโอดีน โฟเลต และเหล็ก สำหรับสตรีมีครรภ์
ผลงานบางส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2557 ของมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม
+ Local Production, Long Term Solution
แนวคิดเรื่อง “Local Production is a Long Term Solution.” หรือการผลิตยาได้เองในประเทศจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว คือแนวคิดที่ ศ.ดร.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออกและคณบดีกิติคุณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดประเด็นขึ้นในวงเสวนา ‘การปฏิรูประบบผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเองของสังคม’ ซึ่งจะทำให้ตลาดยาไม่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ และช่วยให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงยาจำเป็นในราคาเป็นธรรม
ปกติแล้วในอุตสาหกรรมยาต้องมีการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการพัฒนายาแต่ละรายการนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และใช้เวลานานกว่าจะถูกกระจายสู่ตลาด เพราะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพก่อน ทำให้ยาที่จดสิทธิบัตรหรือยาต้นแบบ (original drugs) มีระยะเวลาจำหน่ายในท้องตลาดโดยไม่มีคู่แข่งประมาณ 10-15 ปี ส่งผลให้ยามีราคาสูงเพราะมีการผูกขาดในตลาดของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้
เมื่อถึงเวลาที่สิทธิบัตรหมดอายุลง บริษัทผลิตยาชื่อสามัญ (generic drugs) จึงจะสามารถผลิตยาออกมาจำหน่ายได้ สามารถกล่าวได้ว่า ยาชื่อสามัญมีคุณสมบัติเทียบเท่าตัวยาต้นแบบ เนื่องจากมีสูตรทางยา เช่นเดียวกับยาต้นแบบ
ในบางกรณี เป็นยาที่มาจากสายการผลิตเดียวกัน แต่มีชื่อทางการค้าที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งบริษัทผลิตยาชื่อสามัญเหล่านี้จะช่วยลดการผูกขาดในตลาดยาได้ แต่ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถขายได้ในประเทศที่มีการประกาศใช้สิทธิบัตร หรือมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะมีแต่ยาต้นแบบ ที่ผลิตโดยบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น ที่จะขายในประเทศนั้นๆ ได้ ดังนั้นบรรษัทข้ามชาติจึงต้องพยายามรักษายอดขายไว้ให้ได้เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุ
ภญ.กฤษณาเล่าถึงประสบการณ์ที่มีโอกาสร่วมทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกฎกระทรวงที่มีการรณรงค์ให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น โรงพยาบาลในจังหวัดภาคใต้จึงริเริ่มผลิตยาสมุนไพร แต่ตัวยาดังกล่าวยังไม่ได้มาตรฐาน เธอเห็นว่าเมื่อผลิตแล้วก็ควรจะทำให้ได้มาตรฐาน โดยเริ่มเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนเพื่อให้การผลิตยาดังกล่าวผ่านมาตรฐาน GMP และต่อมาได้มุ่งเน้นพื้นที่บริเวณสามจังหวัด ภญ.กฤษณากล่าวว่า
“เมื่อเราเชื่อมโยงกับอาเซียนแล้ว ตรงนี้ เราสามารถเป็นศูนย์กลางที่จะส่งผลิตภัณฑ์ฮาลาลไปยัง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้”
นอกจากนี้ ยังเข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยา เพื่อให้ชาวบ้านนำวัตถุดิบมาแปรรูปยังโรงงานแปรรูปสมุนไพร ทั้งยังมีการสร้างศูนย์เรียนรู้ครบวงจร ที่มีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านการแปรรูปวัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อไปจำหน่ายปลีก โดยมีทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย ซึ่งทำให้โรงงานสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ได้และยังเป็นฐานการผลิตที่ยั่งยืนของชุมชนในระยะยาว
+ คิวบา: ปฏิรูประบบยาเพื่อการพึ่งตนเอง
ข้ามซีกโลกไปดูกระบวนการปฏิรูประบบการผลิตยาในคิวบา หนึ่งในประเทศสังคมนิยมที่ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ให้ข้อมูลว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้คิวบาไม่สามารถนำเข้าเทคโนโลยีทุกอย่างจากภายนอก ทำให้ในขั้นแรกคิวบาต้องหาทางพึ่งตัวเอง ปัจจุบันคิวบาเป็นประเทศที่ปลูกผักออร์แกนิคเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่มีการนำเข้าสารเคมีเข้ามาในประเทศ
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังครอบคลุมไปถึงการที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมขายยาและเครื่องมือการแพทย์ให้แก่คิวบา แต่กลับกลายเป็นว่าคิวบาสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เป็นจำนวนมาก และยาบางตัวมีสิทธิบัตรในประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย
เมื่อถูกคว่ำบาตร แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างทยอยหนีออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด ทำให้คิวบานำเงินที่เหลือมาใช้ในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และทุ่มกับการวิจัยพัฒนาระบบ โดยอาศัยสถานทูตเป็นสถานที่ในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) การวิจัยและพัฒนามีโจทย์สำคัญในการทำงานในการตอบโจทย์ว่า “ปัญหาสาธารณสุขคืออะไร?” ซึ่งในช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาโรคติดต่อ แล้วจึงเริ่มติดตามปัญหาโรคไม่ติดต่อ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา คิวบาสามารถเป็นประเทศที่ยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งตัวเอง
“คิวบาถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศยากจน แต่คิวบาก็เป็นประทศที่พึ่งตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้บอกเราอยู่เสมอว่า ถ้าสมมุติว่าเราเห็นในเรื่องความสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างจริงจังสักที มันน่าจะเห็นทางรอดของประเทศได้” กรรณิการ์กล่าว
+ บทบาท อย. และอุปสรรคในการผลิตยาจำเป็น
เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูประบบผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเองของสังคม ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ชี้ให้เห็นถึงระบบการผลิตยา ที่ต้องมีการคัดเลือกก่อนและผ่านกระบวนการจัดหา การกระจายยาและการนำไปใช้
แต่ก่อนจะมีการผลิตก็ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกว่าจะผลิตอะไร ซึ่งต้องมีการพัฒนาที่ดีเพื่อจะต่อยอดว่าเราสามารถผลิตยาเหล่านั้นได้จริง และเมื่อผลิตแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะมีการกระจายยาเพื่อนำไปสู่การใช้ยาได้ นิยดาชี้ให้เห็นถึงการผลิตที่มีส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นที่บทบาทและหน้าที่ของ อย.
“การขึ้นทะเบียนยา ควรมุ่งเป้าไปที่การผลิตยาเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ซึ่งยาจำเป็น หรือยาชื่อสามัญ คือยาที่ควรจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นิยดากล่าว
จากนั้นจึงนำไปสู่คำถามว่า ทำอย่างไรให้การขึ้นทะเบียนยาไปสู่การผลิตยาที่ดีได้โดยไม่ต้องเสียเวลามากกับการผลิตยาที่ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันยาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่จำเป็นก็มีจำนวนมาก ควรจะมีนโยบายสนับสนุนแก่หน่วยงานที่ผลิตยาจำเป็นให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยแทบไม่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องเหล่านี้เลย ทั้งนี้ การทำงานของ อย. ควรเอื้อต่อการขึ้นทะเบียนยาเหล่านี้ให้มากขึ้น
นิยดายังแสดงความกังวลถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนไม่น้อยมักเป็นอุปสรรคต่อการผลิตยาจำเป็นในประเทศ นิยดากล่าวว่า
“อยากให้เข้มงวดเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ยาชื่อสามัญของเราสามารถผลิตออกมาได้เร็วขึ้นและเหมาะสมกับเวลามากขึ้นด้วย” นิยดาทิ้งท้าย
ปัจจุบัน เภสัชกรและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเภสัชกรรมล้วนให้การยอมรับว่าเทคโนโลยีการผลิตยาของประเทศไทยอยู่ในระดับพึ่งตนเองได้แล้วส่วนหนึ่ง รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “เทคโนโลยีการผลิตยาของประเทศไทยอยู่ในสถานะที่เราพึ่งตนเองได้ระดับที่ดีทีเดียว” และยังมีขีดความสามารถที่จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน
การปฏิรูประบบผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเองของสังคมของสังคมไทยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ผูกโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน การจะแก้ปัญหาแค่ภาคส่วนใดส่วนหนึ่งคงไม่สามารถทำให้การปฏิรูปดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยดี