ปิยบุตร แสงกนกกุล: หลังบ้านการเมืองฝรั่งเศส ถึงหน้าบ้านการเมืองไทย

หลังม่าน #โอลิมปิก2024 ที่กรุงปารีส การเมืองฝรั่งเศสอยู่ในภาวะชะงักงัน เพราะ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ยังไม่ได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ให้รอโอลิมปิกจบก่อน แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นลงไปก่อนพิธีเปิดโอลิมปิกเสียอีก โดยพรรคฝ่ายซ้ายสามารถรวมพลังสกัดพรรคขวาจัด จนสามารถชนะเลือกตั้ง แต่ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะรวมเสียงได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ขณะที่พรรคขวาจัดก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน จนดูเหมือนว่าการเมืองฝรั่งเศสอาจเดินมาถึงจุดวิกฤตทางการเมืองอีกรอบหนึ่ง

WAY จึงเดินทางไปพูดคุยกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และเลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้มีความรู้แจ้งและติดตามการเมืองฝรั่งเศสมาต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนภาพการเมือง ‘ขวาหัน’ ในยุโรป จากกรณีล่าสุดคือ พรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล พรรคขวาจัดฝรั่งเศสที่ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น กับคำถามว่าทำไมกระแสการเมืองขวาหันถึงได้เดินมาไกลเพียงนี้ ที่เขาเน้นยํ้าว่า ‘ฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส’ แม้จะชนะเลือกตั้งก็จริง จนทุกคนบอกฝรั่งเศสคงความเป็น ‘ซ้ายหัน’ เอาไว้ได้ แต่ในระยะยาวนั้น ปิยบุตรฟันธงว่า ‘ขวาจัด’ มาแน่นอน 

แม้ว่า ปารีสโอลิมปิกจะจบสิ้นในอีกสัปดาห์ข้างหน้า แต่การเมืองฝรั่งเศสจะเปิดฉากวิกฤตเอาได้ เพราะไม่มีพรรคไหนของการเมืองแบบ 3 ขั้ว คือ ซ้าย ขวา และสายกลาง ได้รับเสียงข้างมากในสภา อันเป็นผลมาจาก ‘รัฐธรรมนูญ’ และ ‘สาธารณรัฐที่ 5’ ที่ไปกำหนดระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ประธานาธิบดีก็ยังไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรี ไปๆ มาๆ จะก่อปัญหาทางการเมืองขึ้นหรือไม่ จากอำนาจอันล้นเหลือของประธานาธิบดี อย่างที่นักวิชาการเรียกกันว่า ‘ระบบกษัตริย์แบบสาธารณรัฐ’

การปรับตัวทางการเมืองของพรรคขวาจัดที่อาศัยกลยุทธ์ประชานิยม และใช้แนวทาง ‘พรรคมาร์เก็ตติง’ ผ่านเครื่องมือโซเชียลมีเดีย ปิยบุตรมองย้อนกลับมายังประเทศไทยว่า พรรคอนุรักษนิยมก็พยายามปรับตัวเช่นกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีพรรคไหนที่จะเป็น non-ก้าวไกล ที่ชัดเจนในจุดยืน หรือเป็นคู่แข่งที่สมนํ้าสมเนื้อกับ #ก้าวไกล เลย

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระแสขวาจัดในยุโรปสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างรุนแรงผ่านการเลือกตั้ง ภาพเช่นนี้สะท้อนอะไร

หากเราดูแนวโน้มผลการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ พรรคขวาจัด (far-right party) จะมีคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีของฮังการี พรรคฟิเด็สซ์ (Fidesz) ที่นำโดย วิกโตร์ โอร์บาน (Viktor Orbán) สามารถนำพรรคชนะการเลือกตั้งถึง 4 สมัยติดต่อกัน อย่างในกรณีของอิตาลี นายกรัฐมนตรีก็มาจากพรรคขวาจัดเช่นกัน หลากหลายประเทศก็แสดงให้เห็นว่า พรรคขวาจัดได้รับความนิยมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างกรณีล่าสุดคือ ฝรั่งเศส 

ทั้งหมดนี้ เราคงต้องมาทบทวนกันว่า อะไรคือเหตุและปัจจัยที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคขวาจัดเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นพรรคขวาจัดในลักษณะของประชานิยม (populism) ซึ่งผมคิดว่านโยบายของสหภาพยุโรป (European Union: EU) เดินตามแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของกระแสขวาจัด หมายความว่า เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้ไปบีบบังคับให้รัฐบาลในแต่ละประเทศตัดลดงบประมาณ รัดเข็มขัด ขยายการเกษียณอายุออกไป รวมถึงตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ 

ในขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดรับผู้อพยพผู้ลี้ภัยต่างๆ ตรงนี้เองเลยกลายมาเป็นปมปัญหาร่วมกันของแต่ละประเทศ ทำให้ประชาชนในรัฐต่างๆ รู้สึกว่า แทนที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือประชาชนในประเทศก่อน กลับไปตัดลดงบประมาณของพวกเขา และดันไปให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเข้ามาอีก พรรคขวาจัดจึงจับประเด็นตรงนี้ ซึ่งเป็น pain point ของสังคมขึ้นมา เพื่อมารณรงค์ สร้างบรรยากาศ ว่าเราจำเป็นต้องปกป้องคนภายในประเทศก่อน ต่อต้านผู้อพยพ สร้างศัตรูของสังคมขึ้นมา เพื่อที่จะผลักออกและจัดการไป ตรงนี้จึงถูกใจคนเป็นจำนวนมาก ทำให้กระแสขวาจัดนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 

ในอีกทางหนึ่ง กระแสขวาจัดจะเพิ่มขึ้นสูงขึ้น หากพรรคการเมืองที่ครองอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น ‘ขวากลาง’ (centre-right) ก็ดี ‘ซ้ายกลาง’ (centre-left) ก็ดี ไม่ปรับนโยบายตามความต้องการของประชาชน ซํ้ายังดำเนินนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะถูกบังคับด้วยลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ องค์การเหนือรัฐ (supranational organisation) อย่างสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเลือกขวากลางหรือซ้ายกลาง เข้ามาแล้วเหมือนกันหมด ส่งผลให้เกิดช่องว่างที่ทำให้ขวาจัดสามารถดึงคะแนนนิยมไปได้ ส่วนพรรค ‘ซ้ายจัด’ (far left) ก็ไม่สามารถดึงคะแนนจากตรงนี้ไปได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่พรรคขวาจัดนำเสนอ จึงดึงดูดยั่วยวนใจให้คนไปลงคะแนนให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ขวาจัดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วฝ่ายซ้ายจะต้องสู้อย่างไร

นักทฤษฎีชาวเบลเยียม ชองตาล มูฟฟ์ (Chantal Mouffe) เคยคิดค้นทฤษฎีร่วมกับสามีชาวอาร์เจนตินาของเขาคือ เออร์เนสโต ลาคลาว (Ernesto Laclau) พยายามจะเสนอว่า หากคุณต้องการจะต่อสู้กับพวก ‘ขวาประชานิยม’ (right-wing populist) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง ‘ซ้ายประชานิยม’ (left-wing populist) ขึ้นมาสู้กัน เราไม่สามารถใช้แนวทางขวากลางหรือซ้ายกลางแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะทั้งขวากลางและซ้ายกลางคือผลิตผลจากเบ้าหลอมของชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่า คุณเลือก ‘ฉลาก’ (label) ว่าคุณจะเอียงซ้ายหรือเอียงขวาเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถต่อสู้กับขวาจัดได้ 

ขวาจัดมองประชาชนว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบโลก ระบบเศรษฐกิจ ขวาและซ้ายกลางก็ไร้นํ้ายาในการช่วยเหลือ ดังนั้น ซ้ายจัดหรือซ้ายประชานิยม จำเป็นต้องแสวงหาจุดนี้ขึ้นมาทดแทนเหมือนกับขวาจัด บนฐานคิดที่ว่า การต่อสู้ทางการเมืองไม่สามารถคิดในเรื่องขวา-ซ้ายแบบเดิมได้ แต่ให้คิดว่าคนทุกคน ทุกกลุ่ม รวมกันแล้วต่างก็เป็นประชาชนคนธรรมดา ที่ต้องต่อสู้กับชนชั้นนำ หรือกล่าวง่ายๆ คือ คน 99 เปอร์เซ็นต์ ต่อสู้กับชนชั้นนำ 1 เปอร์เซ็นต์ ผู้นำทางการเมืองจำเป็นต้องเชื่อมกลุ่มต่างๆ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพราะปัญหาของคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ทำให้ปัญหาของแต่ละกลุ่มที่เผชิญคือ ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมเผชิญเช่นเดียว เพื่อที่จะสู้กับชนชั้นนำ 1 เปอร์เซ็นต์นั้น 

การเสนอของมูฟฟ์แบบนี้คือ ทางออกในการต่อสู้กับขวาจัด มีหลากหลายพรรคการเมืองที่นำทฤษฎีนี้ไปปฏิบัติจริง เช่น ลา ฟรองซ์ แองซูมิส (La France Insumise) พรรคซ้ายจัดของฝรั่งเศสก็ดี โบลโก เด เอสเคดา (Bloco de Esquerda) พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ของโปรตุเกสก็ดี โปเดมอส (Podemos) ของสเปนก็ใช่ พอเอาไปใช้แรกๆ ก็ประสบความสำเร็จดี แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล หรือบางประเทศได้เป็นรัฐบาลบ้าง แต่เป็นรัฐบาลผสม สุดท้ายคะแนนก็ตกลง แต่ขวาจัดคะแนนกลับวิ่งเพิ่มขึ้นๆ กระแสนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องมานั่งขบคิดกัน อย่างอีกกรณีของอังกฤษ หากจะต้องสู้กับขวาอาจต้องใช้คนอย่าง เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbin) หรือในสหรัฐอเมริกาก็อาจต้องการคนแบบ เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) เพราะสุดท้ายไม่ว่าคุณจะเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกันมันก็เหมือนกันหมด มันก็คงต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ มาสู้กับกระแสหันขวา ชาตินิยม ประชานิยม ใช่หรือไม่ 

ขวาจัดในฝรั่งเศสมาแรง แต่ทำไมฝ่ายซ้ายยังชนะการเลือกตั้งได้ 

ถ้าวิเคราะห์กันตรงๆ ไม่ใช่แค่มองผลเลือกตั้ง ผมว่า ฝ่ายซ้ายก็ยังสู้ฝ่ายขวาจัดไม่ได้ สาเหตุที่พรรคฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 1 (แต่ไม่ใช่เสียงข้างมากของสภา) มี 2 สาเหตุหลักนั่นคือ หนึ่ง แต่ละพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายตัดสินตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองขึ้นในชื่อ ‘นูโว ฟรอนต์ ปอปูแลร์’ (Nouveau Front Populaire) ที่ประกอบไปด้วย พรรคลา ฟรองซ์ แองซูมิส พรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste) พรรคกรีน (Les Verts, Confédération écologiste) และพรรคคอมมิวนิสต์ (Parti Communiste Français) ทั้งหมด 4 พรรคซ้ายจับมือกันลงเลือกตั้งในนามกลุ่มพันธมิตรนูโว ฟรอนต์ ปอปูแลร์ ด้วยการสลับเขตเว้นเขต กางแผนที่ดูว่า เขตไหนจะให้พรรคพันธมิตรไหนลง เขตไหนพรรคใดมีโอกาสชนะเลือกตั้ง เพราะถ้า 4 พรรคนี้ลงพร้อมกัน จะเท่ากับว่าแย่งคะแนนกันเอง สุดท้ายจะต้องแพ้ขวากลางและขวาจัดไปหมด กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ สส. ในมือเยอะพอสมควร จนครั้งนี้ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 1 แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา

นูโว ฟรอนต์ ปอปูแลร์ (Nouveau Front Populaire)

เหตุผลข้อ 2 ที่ทำพันธมิตรฝ่ายซ้ายชนะ มาจากระบบเลือกตั้งของฝรั่งเศสคือ ‘ระบบเสียงข้างมาก 2 รอบ’ (two-round system) กล่าวคือ การเลือกตั้งในรอบที่ 1 หากผู้สมัครคนใดได้เสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าชนะไปเลย หากไม่มีใครได้รับเสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ให้เอาผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์ มาแข่งกันในรอบที่ 2 ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งรอบที่ 1 ผ่านไปจากคะแนนทั่วประเทศ พรรคขวาจัด คาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล (Rassemblement National: National Rally; RN) ของ จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) ได้คะแนนสูงมาก แต่ยังไม่ได้ สส. ต้องมาเลือกตั้งรอบที่ 2 ต่อ ซึ่งต้องเจอกับการผนึกกำลังกันระหว่างพรรคฝ่ายซ้าย พรรคขวากลาง ที่ต้องการสกัดกั้นรุมกินโต๊ะพรรคขวาจัดไม่ให้ขึ้นสู่อำนาจ 

ดังนั้น พอผลการการเลือกตั้งรอบที่ 2 จบสิ้น จำนวนที่นั่ง สส. ของคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล หายไปเลย แต่ต่อให้ที่นั่งหายไป มันก็ไม่สามารถอธิบายความนิยมของพรรคได้ ที่นั่ง สส. คือภาพสะท้อนของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ แต่คะแนนนิยม (popular vote) ก็คือ คะแนนรวมจากทั้งประเทศ ซึ่งคะแนนนิยมของพรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล ได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หากนับถอยหลังไปในรอบ 20 ปี คะแนนนิยมพรรคขวาจัดนี้ มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ในขณะที่ นูโว ฟรอนต์ ปอปูแลร์ ที่เป็นการรวมพลังของฝ่ายซ้าย เกาะอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์นิดๆ หากแยกออกไปเป็น 4 พรรค ก็ยิ่งไม่ถึงใหญ่ ส่วนขวากลางก็แค่ 20 เปอร์เซ็นต์นิดๆ เช่นเดียวกัน หากคิดตรงนี้จะเห็นได้ว่า พรรคขวาจัดมันมีก้อนเดียว คะแนนไม่กระจายออก 

ฉะนั้น หากใครมองว่า ฝรั่งเศส ‘ซ้ายหัน’ ยังรักษาความเป็นซ้ายไว้ได้ ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ในยุโรปที่เป็น ‘ขวาหัน’ หมด สำหรับผมเห็นว่า ไม่จริง ขวาจัดยังคงได้รับความนิยมสูงมาก เพียงแต่เขายังไม่สามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จากระบบการเลือกตั้ง การรุมกินโต๊ะจากทั้งฝ่ายซ้ายและสายกลาง แต่หากลองจินตนาการว่า ฝรั่งเศสใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของเยอรมนี ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ไม่ตกนํ้า เอามาคำนวณที่นั่งได้หมด เปอร์เซ็นต์ของพรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล ก็จะถึงครึ่งสภากลายเป็นอันดับ 1 เลย

จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella)

พรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล ทำไมถึงไม่ไปจับขั้วกับกลุ่มก้อนทางการเมืองไหนเลย 

การเมืองฝรั่งเศสตอนนี้มีขั้วการเมือง 3 ขั้วด้วยกันคือ ซ้าย ขวากลาง และขวาจัด แต่ขวาจัดมันอยู่โดดๆ อยู่ขั้วเดียว แม้จะมีร่วมกับพรรคขวาจัดขนาดเล็กอีกพรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่มีพรรคอื่นๆ แล้ว ต่างจากขั้วอื่นที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองในขั้วเดียวกันหลายพรรค แต่หากเมื่อไรที่การเลือกตั้งรอบ 2 เริ่มปั๊บ แล้วคะแนนของขวาจัดมาท่วมท้น ซ้ายกับขวา (กลาง) จะจับมือกันถล่มขวาจัดก่อนทันที แล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะเกิดเหตุการณ์สกัดขวาจัดแบบนี้อีก ดังนั้น ขวาจัดจะขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองได้ มีสถานเดียวคือ ต้องได้คะแนนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

ทำนองเดียวกัน หากพรรคซ้ายจัด ลา ฟรองซ์ แองซูมิส ซึ่งนำโดย ฌ็อง-ลุค เมล็องชง (Jean-Luc Mélenchon) ก็จะไม่มีวันได้เป็นเลย เพราะมีคะแนนนิยมเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ พอจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น เพราะพรรคขวากลาง ซ้ายกลาง บล็อกไม่ให้เป็น แม้จะจับมือลงเลือกตั้งด้วยกัน ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ที่ขั้วขวาจัดและซ้ายจัดไม่สามารถครองอำนาจรัฐได้เลย สุดท้ายไอ้พวกสายกลาง (moderate) มคปด. คาบไปกินหมด

พอเดินแบบนี้ต่อไป พรรคสายกลางเข้ามาได้ ก็จะดำเนินนโยบายแบบเดิมต่อไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะระบบการเมืองแบบนี้ แต่หากถามว่า คุณได้รับความนิยมมาเป็นลำดับที่ 1 จริงไหม ไม่ใช่แน่นอน สุดท้ายคนก็ไปนิยมขวาจัดเหมือนเดิม การจะลดความนิยมขวาจัดได้คือ ต้องมีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ได้ทำตาม EU แบบเดิมเหมือนที่ผ่านมา

หากเราพูดกันถึงชนชั้นทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นทางการเมือง คนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มจะเลือกพรรคฝ่ายซ้าย หรือชนชั้นแรงงาน เกษตรกร ก็น่าจะเลือกซ้าย แต่หากลองไปสำรวจจริงๆ จะพบว่า การเลือกตั้งในฝรั่งเศสครั้งนี้ เยาวชนคนหนุ่มสาว แรงงาน เกษตรกร จำนวนไม่น้อยเลือกพรรคขวาจัด ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า พลังของซ้ายไม่สามารถใช้ประเด็นสถานะทางชนชั้นทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเดิมได้อีก ในอนาคตก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ตรงนี้ผมดูทิศทางว่า ถ้าระบบการเมืองของฝรั่งเศสยังเป็นแบบนี้ต่อไป คาดการณ์ได้เลยว่า พวกสายกลางก็ยังคงตั้งรัฐบาลได้เหมือนเดิม ดำเนินนโยบายเหมือนเดิมอีก ฝ่ายขวาจัดก็จะยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก 

ทำไมทั้งซ้ายและขวาในฝรั่งเศสถึงกลัว ‘ขวาจัด’ ครองอำนาจทางการเมือง 

มันเป็นวิธีคิดแบบสากลนิยมกับแนวคิดความเป็นสาธารณรัฐที่มองว่า รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพความแตกต่างหลากหลาย ยึดคุณค่าประชาธิปไตย ที่ได้สะท้อนลงมาผ่านประเด็นผู้ลี้ภัย สวัสดิการต่างๆ ดังนั้น จึงมีความกังวลว่า หากขวาจัดขึ้นมาก็มีแนวโน้มที่สิ่งเหล่านี้จะถูกล้มเลิกไป แล้วคุณค่าหรือแบรนด์ความเป็นฝรั่งเศสเหล่านี้ที่เป็น ‘อุดมการณ์แห่งชาติ’ จะหายไป

พอเลือกตั้งรอบที่ 1 เสร็จ กระแสขวาจัดมาแรงมาก ก็มีการรณรงค์กันยกใหญ่เลยว่า ต้องสกัดไม่ให้ขวาจัดได้รับการเลือกตั้งในสภา ปกติคนฝรั่งเศสนอนหลับทับสิทธิมากนะ ไม่ค่อยไปเลือกตั้ง เพราะมันต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ไหนจะอยู่ในช่วงการพักผ่อนฤดูร้อน ไปเที่ยว ไหนจะโอลิมปิกอีก แต่ระบบเลือกตั้งของฝรั่งเศสสามารถมอบอำนาจให้คนที่ไว้วางใจไปเลือกตั้งหย่อนบัตรแทนได้ โอ้โห! มีคนมอบอำนาจให้คนอื่นไปใช้สิทธิแทนตัวเองเต็มไปหมด ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงช่างมัน พออัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น แล้วดันมีประสิทธิภาพในการสกัดขวาจัดได้ แต่คะแนนของขวาจัดคือ คะแนนที่มุ่งมั่นมาก คืออยากให้ขวาจัดเป็นรัฐบาล ดังนั้น เขาจึงพยายามไปเลือกตั้งให้มากที่สุด 

แต่หากยังมีการตั้งรัฐบาลแบบสายกลางแบบเดิม แล้วพรรคฝ่ายซ้ายไม่สามารถดึงกลุ่มแรงงาน เกษตรกร เยาวชน ที่หันไปเลือกขวาจัดกลับมาได้ ผมเชื่อว่าอนาคต พรรคขวาจัดจะได้รับชัยชนะในที่สุด ในเงื่อนไขที่ว่าจะเดินไปให้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

สภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ เกษตรกร และแรงงาน หันไปเป็น ‘ลัทธิปกป้อง’ (protectionism) มากขึ้นหรือไม่ เลยหันไปเทคะแนนให้ขวาจัด 

พรรคการเมืองจะต้องทำงานทางความคิด เพราะแต่ละคนเขาจะมี ‘จิตสำนึก’ (consciousness) หากใช้ภาษาแบบมาร์กซ์ก็จะบอกว่า “บางช่วงบางตอนเขาจะใช้จิตสำนึกที่ผิดพลาด” ดังนั้น พรรคการเมือง นักการเมือง ปัญญาชน จะต้องจับจุดให้ได้แล้วรณรงค์ว่า เฮ้ย! ทุกคนกำลังตกเป็นเหยื่อของระบบโลก ตกเป็นเหยื่อทางนโยบายของสหภาพยุโรป ตกเป็นเหยื่อของลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แต่เวลาที่เราตกเป็นเหยื่อแล้วนั้น หนทางที่จะแก้ปัญหานั้นคืออะไร มันใช่หรือที่จะต้องไปโทษผู้อพยพ มันใช่หรือที่จะต้องไปใช้หนทางแบบชาตินิยมสุดโต่งแบบนี้ จริงๆ แล้วยังมีวิธีการช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีมาตรการหลากหลายไปหมด ไม่จำเป็นต้องไปกีดกันผู้อพยพก็ได้ 

ผมยกคำพูดของ ฟรองซัวส์ คุฟฟอง (François Ruffin) อดีตสื่อมวลชนและผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เขาลงสมัครในนามพรรคลา ฟรองซ์ แองซูมิส ได้กล่าวภายหลังการเลือกตั้งรอบนี้ว่า “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของพวกเราแล้วที่จะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมาเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง” แต่ผมประเมินดูแล้วมันยากมาก เพราะว่ามันไปพันกับ ‘รัฐธรรมนูญ’ ฝรั่งเศสในสาธารณรัฐที่ 5 อีก

ระบบรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก่อปัญหาในทางการเมืองอย่างไร

ระบบรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส กำหนดให้รูปแบบทางการเมืองเป็น ระบบลูกครึ่งระหว่าง ‘ระบบประธานาธิบดี’ และ ‘ระบบรัฐสภา’ ถ้าเป็นระบบรัฐสภาแบบเยอรมนีล้วน ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจมากขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีจะมาจากเสียงข้างมาในสภา ประธานาธิบดีจะยุบสภาได้ต้องถามนายกรัฐมนตรีก่อน เช่นเดียวกับประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์จะทำอะไรเองไม่ได้ สภาหรือนายกรัฐมนตรีต้องแนะนำ 

แต่ของฝรั่งเศสมันลูกครึ่ง ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีอำนาจเต็ม สส. ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและใช้ระบบเสียงข้างมากในสภา พอมันเป็น ‘หัวมงกุฎ’ และ ‘ท้ายมังกร’ มาผสมพันธุ์กันแบบนี้ ใช้ไปใช้มา ใช้มาใช้ไป มันทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีอำนาจมากมายมหาศาลโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในระบบประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาได้ ในระบบรัฐสภาแบบเยอรมนีหรืออิตาลี ประธานาธิบดียุบสภาเองไม่ได้ ต้องถามนายกรัฐมนตรีก่อน ทำนองเดียวกัน พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นหรืออังกฤษ ยุบสภาตามพระราชหฤทัยไม่ได้ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น 

ลองมาดูที่ฝรั่งเศสสิครับ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนเดียว อยากยุบเมื่อไรก็ยุบ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสระบุว่า ประธานาธิบดีต้องปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานวุฒิสภาก่อน แต่พอไปถามนายกฯ บอกว่า ไม่ได้มีการปรึกษา ประธานวุฒิสภาบอกไม่มีการปรึกษา ประธานาธิบดียุบเองคนเดียว นี่เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดด้วยตัวเอง พอยุบสภาเสร็จแล้วเป็นยังไง ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ มันก็ไปลำบาก สส. ที่ต้องไปลงเลือกตั้งใหม่ ไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ประธานาธิบดีลอยตัว เดินยิ้มแป้นแล้นไปประชุมนาโต้ ไปประชุมที่สหรัฐ แล้ววันนี้ก็เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แล้วก็อยู่ต่อในวาระไปอีก 3 ปี โดยที่ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย

หากเกิดขึ้นในสหรัฐ ไม่มีทางที่ประธานาธิบดีจะมายุบสภา หากเกิดขึ้นในเยอรมนี ไม่มีทางที่ประธานาธิบดีจะมายุบสภาเอาดื้อๆ หากเกิดที่อังกฤษไม่มีทางที่พระมหากษัตริย์จะมายุบสภาเอง แต่นี่ฝรั่งเศสทำได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิดรับชอบเลย ทำนองเดียวกัน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นระบบรัฐสภา ใครรวมเสียงข้างมากได้ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไป ประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ก็ต้องแต่งตั้งคนนั้นจากความเห็นชอบของรัฐสภา แต่พอเป็นระบบลูกครึ่งแบบฝรั่งเศส ก็อ้างว่าติดเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และจะไม่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะจบโอลิมปิก ลองคิดดูสิครับว่า หากเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพูดแบบนี้ รับรองเลยว่า ตาย! หากเป็นประธานาธิบดีเยอรมนีพูดแบบนี้ รับรองเลยครับ ตาย! แล้วไม่รับผิดชอบอะไร อยู่ไปอย่างนี้หรือ 

พอเป็นแบบนี้ นักวิชาการฝรั่งเศสเลยตั้งชื่อไอ้ระบอบนี้ว่า ‘ลา โมนาร์ชี เคพลุบลิกัน’ (La monarchie républicaine) คือ ‘ระบบกษัตริย์แบบสาธารณรัฐ’ เหมือนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นคนธรรมดาที่ลงเลือกตั้ง แล้วคอยดูสิครับ คนที่ลอยตัวบนอากาศทุกครั้ง ปล่อยให้ทุกคนตีกันไปคือ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) พอฝ่ายซ้ายเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก็ไม่เอา ขวาก็เสนอมาก็ไม่เอา เพราะไม่ได้เสียงข้างมากในสภา ขวาจัดก็หมดสิทธิ สุดท้ายเขาเลยคุยกันว่าพอไม่มีใครได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ก็อาจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน ให้พรรคอันดับที่ 1 คือพรรคฝ่ายซ้ายเป็นรัฐบาลไปก่อน แต่พออำนาจอยู่ในมือมาครงเพียงคนเดียว ฉันยังไม่อยากตั้ง ก็เลยไม่ตั้ง รอจนจบโอลิมปิกก่อน 

เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron)

พอเป็นเช่นนี้จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเมืองในฝรั่งเศสหรือไม่ หรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ เข้าสู่การเป็น ‘สาธารณรัฐที่ 6’ แทนในอนาคต? 

นักวิชาการพูดกันถึงเรื่องนี้ นักการเมืองก็หาเสียงกันว่า หากเข้ามามีอำนาจจะเข้าไปจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เข้าสู่การเป็น ‘สาธารณรัฐที่ 6’ (Sixième République) เช่น เอาระบบรัฐสภาที่เป็นรัฐสภาจริงๆ กลับมา เป็นต้น แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า สาธารณรัฐที่ 5 เกิดขึ้นด้วยสถานการณ์พิเศษในยุคสมัยของ ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ตอนเริ่มต้นนั้น ประธานาธิบดีไม่ได้มีอำนาจมากถึงขนาดนี้ เพราะประธานาธิบดีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ เดอ โกล ไปทำประชามติ เปลี่ยนให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง พอเปลี่ยนเสร็จ ประธานาธิบดีได้อำนาจเต็ม แล้วดันเป็นอำนาจที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจชักใยอยู่ข้างหลัง ไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วสาธารณรัฐที่ 5 ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองเรื่อยๆ อย่างแน่นอน พอถึงเวลา ประธานาธิบดีจะกลายเป็นพระมหากษัตริย์โดยปริยาย ส่วนสภาก็ล่อกันเองจนเละ 

ถ้าคิดจะทำรัฐธรรมนูญใหม่จะทำได้อย่างไร ก็ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ประชุมร่วม 2 สภา ทำประชามติ มันยากมาก เพราะว่า สส. และ สว. จะต้องเห็นตรงกันก่อน แล้วจะเห็นตรงกันได้อย่างไรในเมื่อองค์ประกอบของ สส. เป็นอย่างที่เห็น มี 3 ขั้ว สว. ฝ่ายขวาคุม อย่าง เมล็องชง บอกว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี จะทำอย่าง เดอ โกล เลย เอาไปให้ประชาชนลงประชามติโดยตรงเลย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี 

สุดท้าย ต่อให้มีเสียงเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นสาธารณรัฐที่ 6 แต่ถึงเวลาการเมืองแบบผู้แทนที่มีสภาพเช่นนี้ มันก็เปลี่ยนไม่ได้สักที 

พอเห็นภาพการเมือง 3 ขั้วฝรั่งเศส พรรคการเมืองสายกลางก็ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน แล้วพรรคการเมืองในอนาคตทั้งเทศและไทยควรจะเป็นแบบไหน 

พรรคการเมืองในปัจจุบันจะค่อยๆ ถอนตัวออกจากวิธีคิดของการเป็น ‘พรรคอุดมการณ์’ (ideological party) ที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ชนะเลือกตั้ง ทำนโยบายอย่างไรให้ครอบคลุม 

ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ พรรคการเมืองจะมีพื้นฐานอยู่บนอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง เช่น พรรคฟาสซิสต์ พรรคนาซี พรรคชาตินิยม พรรคเสรีนิยม พรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ ไล่เลียงจากเฉดจากขวาไปซ้าย โดยที่มีอุดมการณ์อะไรบางอย่างกำกับอยู่ เป็นเข็มทิศที่ชี้นำพรรคอยู่ ถ้าเห็นฉลากก็รู้เลยว่า พรรคนี้มีอุดมการณ์แบบไหน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การชี้นำพรรคด้วยอุดมการณ์มันลดความสำคัญลงไปมาก เพราะคิดกันว่าหากฉันตึงอยู่อย่างนี้คงไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ ทั้งซ้ายจัดและขวาจัดก็พยายามปรับวิธีคิด อย่างพรรคฝ่ายซ้ายจะเกาะกุมอยู่แค่ชนชั้นแรงงานเพียงอย่างเดียวก็คงไม่รอด จะเป็นพรรคชาตินิยมสุดโต่ง ฟาสซิสต์ นาซี ประกาศไปคนโห่ตาย สุดท้ายก็ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของประชาชน เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล พอปรับแล้วก็คล้ายกันหมดอีก คนก็ไม่มีทางเลือก ดังนั้น คนจึงไม่ได้เลือกจากอุดมการณ์หรือนโยบายแล้ว แต่เลือกเพราะความรู้สึก ‘เบื่อ’ พรรคนี้เป็นมานานละ เลยอยากเปลี่ยนบ้าง

พอพรรคการเมืองออกห่างจากการเป็นพรรคอุดมการณ์ หรือมีนโยบายเหมือนๆ กันหมด สุดท้ายเขาจะเป็นผู้แทน (represent) ให้กับใครหรือกลุ่มไหน 

อันนี้ก็เป็นปัญหาของพรรคการเมืองอยู่มากเหมือนกัน ยกตัวอย่าง พรรคแรงงาน (Workers’ Party) บราซิล นำโดย ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ซึ่งเคยเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน นิ้วขาดเพราะเครื่องจักรในโรงงาน ลงประธานาธิบดีมาหลายครั้ง แล้วเพิ่งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เมื่อปีที่แล้ว พรรคแรงงานบราซิลก็ต้องปรับเยอะเช่นกัน เพราะถ้าไม่ปรับก็ไม่ได้เป็น ก็ต้องเป็นผู้แทนของหลายๆ กลุ่มให้ได้ พอเข้าไปเป็นแล้ว ก็ต้องประนีประนอมกับกลุ่มทุนที่เคยสนับสนุนการทำรัฐประหารด้วย ดังนั้น แต่ละพรรคเลยต้องหาจังหวะให้ได้ รู้ว่าตอนนี้ให้เบา ตอนนี้เอาให้หนัก ก็ต้องออกแบบกัน พรรคการเมืองที่ต้องการเข้าไปเป็นรัฐบาลเร็วๆ รอไม่ได้แล้ว ก็จะมีลักษณะแบบนี้ 

ประกอบกับความหลากหลายของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น วิธีคิดทางชนชั้นเสื่อมคลายลงมากขึ้น วิธีคิดว่าด้วยการสังกัดชนชั้นนี้ ต้องเลือกพรรคนี้มันเลยหายไป กลายเป็น ‘ปฏิบัตินิยม’ (Pragmatism) มากขึ้น เลือกอันใหม่ เทอันเก่า

ก่อนหน้านี้อาจารย์ปิยบุตรพูดถึง ‘พรรคมาร์เก็ตติง’ มันเป็นอย่างไร 

สื่อโซลเชียลมีเดีย ทำให้การสื่อสารทางการเมืองแพร่ขยายไปได้กว้างขึ้นและรวดเร็วขึ้น การรับรู้ของประชาชนก็มาจากโซเชียลมีเดียหมด จึงต้องมาคิดว่า แบบไหนถึงจะถูกใจคน ไม่ว่าจะซ้ายจะขวาก็ต้องมาทางนี้หมด หาผู้นำพรรคที่คนเห็นแล้ว ว้าว! มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน สุดท้าย พรรคก็จะไปทุ่มงบประมาณสำหรับการสื่อสารทางการเมืองมากๆ มุ่งโฆษณาชวนเชื่อ มุ่งประชาสัมพันธ์ ไปหาตัวละครที่คนนิยมชมชอบ 

มาครง นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะอายุน้อย ประสบความสำเร็จมาแล้ว เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้ว 1 สมัย วันที่มาครงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ข่าวลงในประเทศไทย คนไทยกรี๊ดกร๊าด เท่จัง โดยไม่รู้ว่าเบื้องหลังเขาเป็นใคร หรือผู้นำของออสเตรีย อายุน้อย หน้าตาดี แต่เขาเป็นขวาจัดนะ ทำนองเดียวกัน จอร์แดน บาร์เลลา ผู้นำพรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล อายุเพียงแค่ 27 ปี ก็เข้าตำราพิมพ์นิยม หน้าตาดี มาจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง พูดเก่ง สื่อสารได้ไม่อายใคร พรรคก็ต้องไปเฟ้นหาคนแบบนี้มาให้ได้

ในกรณีของฝรั่งเศส พรรคคาซอมบลีมองต์ นาซิยองนาล เขารู้จุดนี้ เพราะอย่าง มารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) เขานำพรรคมานาน เขาจึงตัดสินใจลงจากตำแหน่งประธานพรรค แล้วให้บาร์เลลาขึ้นแทน แล้วเจ้านี้เขาเล่น TikTok เก่ง คนดูแล้วเพลิน ในขั้วตรงข้ามอย่าง ลา ฟรองซ์ แองซูมิส เปิดโซเซียลมาเจอหน้า เมล็องชง ก็แก่แล้ว พูดจาดูดุดันแข็งกร้าว คนก็วิจารณ์ว่า ถึงเวลาหาคนหน้าใหม่ได้แล้วไหม ที่มันดูพิมพ์นิยม ดึงดูดคนได้มากกว่านี้ แต่ทางทีมงานพรรคก็เป็น สส. หน้าใหม่หลายคน ถามว่าเรื่องแบบนี้ผิดไหม ผมมองว่าก็คงไม่ผิด เพราะว่าเป็นช่องทางการหาเสียงในยุคสมัยใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเสียดายคือ ตอนนี้คนเรามันไม่ต้องดูอะไรกันเยอะ ดูกัน 3 เดือนสุดท้าย ดูกันเดือนสุดท้าย พอผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกบริโภคแบบนี้ พรรคเลยต้องทำมาขายแบบนี้ 

เมื่อพรรคการเมืองต่างทุ่มงบเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น แล้วนโยบายล่ะ ยังสำคัญอยู๋ไหม

แน่นอน พรรคใช้แม่เหล็กจากตัวบุคคล (magnet icon) ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์พรรค แต่ด้านหลังก็ต้องมีทีมนโยบาย อย่างซ้ายสุดและขวาสุด ลา ฟรองซ์ แองซูมิส กับ คาซอมบลีมอนต์ นาซิยองนาล ไม่ว่าจะรักใครชอบใคร สองพรรคนี้มีนโยบายที่ละเอียดชัดเจนว่าจะทำอะไร แต่เขาก็ต้องไปหาพรีเซ็นเตอร์ ในฐานะเครื่องมือที่จะดึงดูดคน แต่สำคัญที่สุดคือ ‘เนื้อหา’ (content) ของนโยบาย ไม่ใช่กลวงๆ 

การทำคอนเทนต์ของนักการเมือง เช่น ทำคอนเทนต์ผ่าน TikTok มันแฝงไปด้วยนโยบายมากน้อยเพียงใด

ด้านหลังคอนเทนต์มันมีเนื้อหานโยบายที่ซึมซาบอยู่ข้างหลังด้วย เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้นเอง ใช้อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีเนื้อหานโยบายด้วยมันถึงจะดึงดูดคน

หากนักการเมืองมาเน้นการทำคอนเทนต์ ประชาชนจะโฟกัสไปที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรคหรือไม่ บางนโยบายก็ไม่ทราบมาก่อน แต่ไปลงคะแนนเสียงให้ แต่แล้วนโยบายนั้นก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติ

เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะทำให้พี่น้องประชาชนรู้นโยบายทั้งหมด ไม่มีทาง ประชาชนก็เยอะมากหลากหลาย สนใจการเมืองไม่เท่ากัน ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ แต่ในท้ายที่สุด มันคือ emotion ในช่วงโค้งสุดท้าย ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ คุณคิดไว้แต่ต้นแล้ว ไม่ว่าจะส่งใครลง ฉันก็เลือก แต่อาจมีกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ กลุ่มนี้จะมาตัดสินใจในช่วงเดือนสุดท้าย 2 สัปดาห์สุดท้าย ทำให้พรรคการเมืองต้องวางกลยุทธ์ว่า โค้งสุดท้ายจะยิงอะไร จะพูดเรื่องอะไร 

อย่างของไทย พรรคสไตล์บ้านใหญ่ คุณไม่สนใจเรื่องนี้ คุณสาดกระสุนซื้อเสียงอย่างเดียว เพื่อเอา สส. เข้ามาแล้วไปแลกรัฐมนตรี ถ้าคุณเป็นพรรคใหญ่อยากเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะฝ่ายไหน คุณก็ต้องไปคิดกิมมิก คิดแคมเปญ ให้กลุ่มตรงกลางนี้หันมาเลือกคุณ 

การเลือกตั้ง 2562 และ 2566 ขั้วของพรรคเพื่อไทย เขาจะเน้นคำว่า ‘โหวตทางยุทธศาสตร์’ ตลอด ต้องเลือกเขา ไม่งั้นคะแนนทิ้งนํ้า ตรงกันข้าม ก้าวไกลจะไปเน้นที่ ‘จุดยืน’ ทางการเมืองว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับ 3 ป.

ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกล อะไรคือทฤษฎีหรือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคทั้งสองนี้ 

ตอนก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมใช้ทฤษฎีชี้นำมาจาก ชองตาล มูฟฟ์ นี่แหละ เราประเมินสังคมว่า การเมืองเหลือง-แดง ที่ต่อสู้กันมาเกือบ 2 ทศวรรษมันไม่เวิร์กแล้ว และการแบ่งเหลือง-แดงเช่นนี้ มันจะสร้างขั้ว (polarised) จนไม่ว่าใครก็ตามก็บริหารประเทศไม่ได้ และสุดท้ายทหารก็เอาไปกินในที่สุด 

เราเลยมานั่งคิดกันว่า ในมุมคนทั่วไปที่เป็นเหลืองนี่เขาคิดอย่างไร เช่น ไม่ชอบคอร์รัปชัน ในมุมของคนที่เป็นแดงนี่เขาคิดอย่างไร เช่น ต้องเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่วนเวียนกับการรัฐประหาร ยุบพรรค ตัดสิทธิ เราเอาทั้งสองมาเป็นตัวตั้ง ไม่มีใครผิดใครถูก ดีทั้งคู่ แล้วเราจะเอาทั้งสองอย่างคือ ไม่มีรัฐประหาร รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่มีคอร์รัปชัน ไม่ได้หรือ

แต่การขีดเส้นออกเป็น 2 ฝ่ายนั้น กลายเป็นการมองหน้ากันไม่ติด ทั้งที่มันมีประเด็นร่วมกันเต็มไปหมด อย่างเช่นการกระจายอำนาจท้องถิ่น ไปถามคนภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่ตอนนั้นเป็นแดง ภาคใต้ที่เป็นเหลือง ก็ต้องการเหมือนกัน พูดเรื่องทุนผูกขาดที่ทำลายผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME) ทั้งเหลืองทั้งแดงเห็นด้วย พอพูดเรื่องที่ดินทำกิน ภาคเหนือก็มี ภาคใต้ก็มี ภาคอีสานก็มี พูดเรื่องไหนๆ พวกเขาก็มีจุดร่วมกันหมด เราจะไปติดกับดักแบ่งขั้วเหลือง-แดง ที่ฝังรากมา 2 ทศวรรษทำไม เพราะสุดท้ายแล้วชนชั้นนำทางการเมืองจะฉวยโอกาสนี้กินอิ่มหมด แต่คนข้างล่างอย่างเราต้องมาตีกิน 

ดังนั้น ตอนตั้งพรรคอนาคตใหม่เราจึงคิดว่า ไม่ว่าเราจะเป็นเหลือง เป็นแดง อย่างไร สุดท้ายเราก็คือคนธรรมดา 99 เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น ที่ต้องสู้กับคนข้างบน 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ว่าระบบการเมืองเป็นแบบไหน ใครมาเป็นรัฐบาล มาจากรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง แม่ง! อิ่มตลอดเลย 

ผมเลยเอาทฤษฎีนี้มาใช้ พรรคคือยานพาหนะสำคัญ มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะสร้าง ‘chain of equivalence’ ที่จะหยิบยกปัญหาเฉพาะของแต่ละคน ของแต่ละกลุ่ม เอามาร้อยรัดเข้าด้วยกัน ทำให้สังคมได้เห็นว่ามันคือปัญหาร่วมของทั้งสังคมและเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ สุดท้าย คนจากส่วนต่างๆ ก็มารวมกัน ไม่ว่าจะชนชั้นกลาง นายทุนน้อย ผู้ประกอบการ แรงงาน รอยัลลิสต์สุดขั้วก็มาร่วมพรรคกันหมด แต่หากพูดถึงการบริหารจัดการภายในพรรค แน่นอนมันย่อมมีรอยปริ ไม่เหมือนพรรคแบบดั้งเดิมที่รวมตัวจากชนชั้นทางเศรษฐกิจ พรรคอุดมการณ์ แต่เราเกิดจาก problem based ที่มาจากทุกฝ่าย จากทุกพลัง มันก็ย่อมมีกลุ่มที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย กับนโยบายบางอย่าง แต่ผมอยากให้มองว่า มันเป็นธรรมชาติ อยากให้สู้ทางความคิดกันไปเรื่อยๆ 

จากพรรคอนาคตใหม่ มาสู่พรรคก้าวไกล วันข้างหน้าจะมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์หรือไม่

ในหมู่แกนนำพรรคก้าวไกลที่โตมาด้วยกันตั้งแต่อนาคตใหม่ ยังทราบเรื่องประเด็นเหล่านี้อยู่ ว่าเราตั้งพรรคกันมาเพื่ออะไร แต่คนใหม่ๆ ผมไม่ทราบว่าพวกเขาทราบตรงกันหรือไม่ เพราะเป็นไปได้ว่ามาเพราะกระแสพรรค มาเพราะตัวเลือกตอนนี้มันมีแค่ 3 พรรคคือ ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย แล้วพอดีคัดเลือกผ่านเข้ามา ไม่รู้ว่าซาบซึ้งหรือศึกษาประเด็นมาอย่างไร 

มองอนาคตพรรคก้าวไกลว่าจะเดินบนแนวทางมาร์เก็ตติงมากขึ้นหรือไม่ หรือทำมาร์เก็ตติ้ง แต่นำเสนอนโยบายไปด้วย 

ผมมองว่า การสื่อสารคือสิ่งที่เราใช้กันมาตั้งแต่อนาคตใหม่อยู่แล้ว ทุกพรรคการเมืองก็ต้องใช้ ตอนก่อตั้งอนาคตใหม่ เราเป็นพรรคใหม่ ไม่มีคอนเน็กชันกับสื่อสารมวลชนใดๆ ไม่มี สส. เลย แต่ตอนนั้นโซเชียลมีเดียมันมาแล้ว เราเลยทำคอนเทนต์ด้วยตนเอง ประหยัดด้วย ไปวงกว้างด้วย หลายคนในพรรคก็มีทักษะเรื่องนี้ ตอนตั้งพรรคแรกๆ เราตั้งทีมสื่อสารก่อนเลย เพื่อจะทำให้คนรับรู้ว่า มีพรรคแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว พอมาเป็นพรรคก้าวไกลก็ง่ายขึ้น เพราะมีผู้ให้ความสนใจเยอะ เป็นพรรคใหญ่มากขึ้น แกนนำ สส. ไม่ว่าจะทำอะไร โพสต์อะไร ก็กลายเป็นข่าวได้ทันที

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ข้อสำคัญที่สุดของก้าวไกลนั่นคือ ‘เนื้อหา’ ที่แหลมคมและ ‘จุดยืน’ (stance) ที่แข็งแกร่ง วันก่อนผมไปลงพื้นที่ภาคใต้มีนักวิชาการคนหนึ่งถามผมว่า อะไรคือความสำเร็จของพรรคก้าวไกล ถ้าเอาคำถามนี้ไปถามนักวิชาการอื่นๆ พรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะมีความคิดที่ตัดสินไปแล้วว่า ก้าวไกลชนะได้เพราะคนรุ่นใหม่ ใช้โซเชียลเก่ง หรือคิดไปถึงว่ามีกองทัพ IO ผมเห็นมาตั้งแต่อนาคตใหม่จนวันนี้ ผมพูดตามตรงเลยว่า พวกนี้คิดผิดหมด 

สิ่งที่เรายืนระยะมาถึงทุกวันนี้ได้คือ จุดยืนที่ชัดเจนกับเนื้อหาสาระ ต่อให้คนมีงบประมาณมหาศาลในการสร้างกองทัพ IO จ้างทีมสื่อเอเจนซี ตากล้อง ครีเอทีฟ ตัดต่อระดับโลกมาทำงานให้ แต่ถ้า สส. รมว. ของคุณไม่มีคอนเทนต์เลย สื่อสารไม่ได้ จุดยืนไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด มันก็ไม่มีทางสำเร็จ การสื่อสารสิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบ เป็นส่วนที่ทำให้ความคิดไปไกล ให้คนเข้าถึงได้และเข้าถึงง่าย แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่าจะชนะ สำหรับผมยังเห็นว่า เราจะต้องชนะกันด้วยความคิดที่แจ่มชัดก่อน 

ฝ่ายขวาไทยเขาปรับตัวมากน้อยขนาดไหนแล้ว

พรรคการเมืองในระยะหลังเขาก็หันไปเน้นเรื่องการทำสื่อ เอาคนหน้าตาใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา อย่างพรรคเพื่อไทยก็ให้ สส. หน้าใหม่ขึ้นมาพูด นี่ก็คือทิศทางที่เขาเริ่มขยับกัน แต่สำหรับผม สิ่งที่จะสามารถวัดกันได้มากที่สุด พรรคการเมืองจะต้องมีอัตลักษณ์ (identity) มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพรรคนี้เอาแบบไหน 

อย่างก้าวไกลเขาก็ชัดเจนในแบบของเขา ส่วนพรรคที่เหลือต้องหาคอนเซปต์ตัวเองให้ได้ว่า ถ้าก้าวไกลเป็นแบบนี้ แล้ว non-ก้าวไกล เป็นแบบไหน ซึ่งทุกวันนี้ผมยังไม่เห็นแบบนั้น ก็ต้องทำให้ชัดเจน เป็นตัวเลือกของประชาชน ให้ก้าวไกลมีคู่แข่งที่สมนํ้าสมเนื้อ

ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษนิยมหรืออะไร คุณก็ต้องหาว่าการเป็นอนุรักษนิยมแบบไหน ทำให้คนรุ่นใหม่เขาเลือก ขณะที่พรรคสไตล์บ้านใหญ่แบบไทยๆ ก็ไม่ได้มีอัตลักษณ์อะไรที่ชัดเจน แค่รวบรวม สส. ให้ได้มากๆ แล้วเอาไปแลกตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ ณ วันนี้ พรรคก้าวไกลเขาไปแนวทางของตัวเองชัดเจน หลายคนที่มาเลือกก้าวไกล เขาอาจไม่ได้รักก้าวไกลขีดสุด แต่เพียงเขาไม่อยากเลือกพรรคเดิมๆ เท่านั้น

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า