เห็นความคึกคักบนท้องถนน ที่มีไรเดอร์หลากหลายสีวิ่งรับส่งอาหาร คงจะเข้าใจว่าผู้ประกอบการแต่ละแพลตฟอร์มคงมีกำไรอู้ฟู่เป็นแน่ แต่ความจริงแล้วทุกแพลตฟอร์มกำลังประสบภาวะขาดทุน ตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีหลังบ้างติดลบร้อยล้าน บ้างติดหลับพันล้าน และบ้างก็ติดลบถึงสามพันล้านบาท
เห็นตัวเลขสีแดงเช่นนั้นเราก็อาจเอามือทาบอกและตกใจ แต่รูปแบบธุรกิจเช่นนี้มีกระเป๋าเงินจากการระดมทุนในตลาดหุ้นมหาศาลเพื่อให้สามารถนำมาทุ่มตลาด (subsidy) ในช่วงแรก เมื่อธุรกิจของตนใหญ่โตขึ้นกระทั่งเบียดคู่แข่งออกจากตลาดได้ก็จะสามารถทำกำไรในภายหลัง
กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Grab ที่ให้บริการ Food Delivery ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการควบรวมกิจการกับบริษัท Altimeter Growth Corp ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการระดมทุนไปใช้ในการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisition Companies-SPACs) พร้อมเดินหน้าเข้าสู่การกระจายหุ้นในตลาดแนสแดก (Nasdaq) โดยจากเดิมปี 2020 ที่ Grab มีมูลค่าบริษัท 370,000 ล้านบาท ได้มีการประเมินว่ามูลค่าดังกล่าวจะสูงขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นบริษัทที่เข้าตลาดผ่านวิธี SPAC ที่มีมูลค่าสูงสุดทำลายสถิติเดิมของ Lucid Motors
กระนั้น ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเอื้อให้คนที่อยู่บนท้องถนนอย่างไรเดอร์ หรือร้านค้า สามารถที่จะหยัดยืนไปด้วยกัน มีการจ่ายค่าแรง และกำหนดสถานะความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์อย่างเป็นธรรม
แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ไรเดอร์ถูกลดค่ารอบครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากค่าตอบแทนจะไม่คุ้มค่ากับหยาดเหงื่อแล้ว บ่อยครั้งที่เราพบว่าไรเดอร์บนท้องถนนต้องแบกรับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ บ้างเจ็บเล็กน้อย บ้างพิการ บ้างเสียชีวิตระหว่างการทำงาน
คำถามคือ ชีวิตของพวกเขาอยู่ตรงไหนในตัวเลขมหาศาลของมูลค่าของแพลตฟอร์ม
โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY
สนับสนุนโดย
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)