หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้ออกแถลงการณ์ถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ จากการติดตามการทำงานของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงยังคงเป็นปัญหาสำคัญ บางชุมชนยังมีการแจกจ่ายเงิน 200-300 บาท โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งยิ่งมีการแข่งขันจ่ายเงินถึง 500 บาท
นอกจากนี้ มูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีเพียงร้อยละ 60.73 ซึ่งน้อยกว่าที่ กกต. คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ถึงร้อยละ 70 อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเสียถึง 40,017 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.50 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งของ กกต.
มากกว่านั้น จากการสังเกตการณ์เลือกตั้งของอาสาสมัครจากหลายเครือข่าย รวมทั้งประชาชนที่ช่วยกันสอดส่องการเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก พบว่า แม้ กกต.จะมีประสบการณ์การเลือกตั้งมาหลายสิบปี แต่การทำงานของ กปน. (กรรมการประจำหน่วย) ยังคงไม่เป็นมืออาชีพ มีข้อผิดพลาดให้เห็นในหลายส่วน เช่น ภายหลังการยื่นบัตรแสดงตน กปน. ส่วนใหญ่ไม่บอกให้ผู้มาใช้สิทธิ์ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อตรวสอบใบหน้าก่อนรับบัตรเลือกตั้ง ดังเช่นข้อสังเกตจากอาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งชุมชนคลองเตย ที่พบว่ามีผู้นำบัตรประชาชนของคนอื่นมาลงคะแนนเสียงแทน จากการที่ กปน. ไม่ตรวจสอบใบหน้าผู้มาใช้สิทธิ์ก่อนรับบัตรเลือกตั้ง หรือในกรณีที่หลายหน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช้กระดาษปิดหน้ากล่องบริเวณช่องหย่อนบัตร ส่งผลให้มีเสียงนับคะแนนดังสับสนระหว่างคะแนนผู้ว่าฯ กับคะแนน ส.ก. ในช่วงการขานนับคะแนน อีกทั้งในบางสถานที่ของหน่วยเลือกตั้ง เปิดแสงไฟไม่สว่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้สังเกตการณ์แทบมองไม่เห็นกระดานนับคะแนน เป็นต้น
ส่วนกรณีบัตรเสียที่มีสูงถึง 40,017 ใบ มูลนิธิองค์กรกลางฯ พบว่า ผู้มาใช้สิทธิ์สับสนระหว่างหมายเลขผู้สมัครผู้ว่าฯ กับหมายเลขของ สก. เพราะในบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีสังกัดกลุ่มหรือพรรคการเมือง มีเพียงหมายเลขโดดๆ ที่แตกต่างกันระหว่างผู้สมัครผู้ว่าฯ กับผู้สมัคร สก. ทั้งที่มาจากทีมเดียวกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจำนวนมากต้องสิทธิ์ลงคะแนน เพราะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยฯ ที่ตนได้รับมอบหมายหน้าที่ ฯลฯ
จากปัญหาต่างๆ ที่มูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้รวบรวมไว้ระหว่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นำมาสู่การออกแถลงการเพื่อตั้งคำถามถึง กกต. ว่า องค์กรจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้จริงหรือไม่ โดยในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า
“คงไม่ต้องพูดถึงปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่ดูเหมือน กกต. จะไม่ทำงานแก้ปัญหานี้แล้ว ขณะที่ กกต.ให้ความใส่ใจกับการใช้ปากกาลงคะแนนว่าควรเป็นสีอะไร ซึ่งเรื่องนี้ กกต. น่าจะทราบดีว่า การวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสียต้องมีกฎระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน มิใช่ตามอำเภอใจ เพราะคะแนนเสียงแต่ละคะแนน มีค่าความหมาย และเป็นการแสดงออกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ใช้สิทธิ์อย่างมีศักดิ์ศรี ในฐานะเจ้าของอธิปไตย การจะมาขีดฆ่าคุณค่านั้นต้องชอบด้วยกฎหมายมิใช่อำเภอใจ”
ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ มูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้รวบรวมข้อเสนอแนะถึง สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ดังนี้
1. ควรจัดให้มีการจัดอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) อย่างสม่ำเสมอ หรือจัดทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญการจัดการในหน่วยเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่กำกับให้คำแนะนำแก่กรรมการประจำหน่วย
2. หาก กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้มากขึ้น
3. การกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง มีชื่อพรรคหรือ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะช่วยลดจำนวนบัตรเสีย และช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้สิทธิ์สามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกได้อย่างไม่ผิดพลาด
4. กกต. ควรสนับสนุนให้มีอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งประจำหน่วย และส่งเสริมให้ผู้สมัครทุกคนส่งตัวแทนผู้สมัครไปสังเกตการณ์ โดยงบส่วนนี้ไม่ต้องนำมารวมเป็นค่าหาเสียง เพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง และยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรมอีกด้วย
ที่มา
https://www.facebook.com/laddawan.tantivitayapitak