การเมืองในการแปล การแปรและแปลงอิสรภาพให้ขึ้นอยู่กับพระศิวะ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเข้าถึงโลกแห่งความหมายได้ด้วยพลังอำนาจของภาษา ภาษาเป็นอย่างแรกๆ ที่ถูกใช้เป็นเกณฑ์แยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ชุมชนของมนุษย์เป็นชุมชนที่ยึดโยงกันด้วยภาษา[1] ภาษาจึงเป็นปริมณฑลที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนสื่อสารซึ่งกันและกัน 

เมื่อเป็นการปฏิสัมพันธ์แล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความหมายของภาษาจะผันแปรไปตามบริบทแวดล้อม โดย “การเมือง (politics) คือกิจกรรมเฉพาะชนิดหนึ่งที่กระทำผ่านภาษา ขณะเดียวกัน ‘การเมือง’ ก็คือสิ่งที่ภาษาสร้างขึ้น… จึงไม่มีความจริงทางการเมืองที่เป็นสากลไม่เปลี่ยนแปลง”[2] หากกล่าวในภาษาของ ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Rancière) หัวใจของการเมืองก็คือตรรกะของการไม่เห็นด้วย[3]

โจน วอลแลค สก็อต (Joan Wallach Scott) เสนอใว้ในหนังสือ Only Paradoxes to Offer: French Feminists and the Rights of Man (1996) ว่า เหตุที่แม้หลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสไปแล้ว แต่ผู้หญิงต้องรอไปอีกกว่า 150 ปี (1789-1944) ถึงจะมีสิทธิทางการเมือง เกิดจากนิยามความหมายของปัจเจกชนนิยมและสิทธิของปัจเจก ที่ต่างอ้างว่ายืนอยู่บนหลักความเป็นสากล นามธรรม และเป็นกลาง แต่แท้จริงกลับล้วนยืนอยู่บนฐานคิดที่มีผู้ชายผิวขาวผู้มีทรัพย์สินเป็นใหญ่[4]

เมื่อหันกลับมามองประวัติศาสตร์ของสยาม คำศัพท์และกรอบคิดที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากตามแรงพลังของประเทศเจ้าอาณานิคม ได้สร้างความปั่นป่วนต่อโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมต่ำสูงอย่างรุนแรงไปตามกัน คำศัพท์และกรอบคิดที่กลายเป็นของแสลงเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการชำระล้างให้ปลอดซึ่งพิษภัยผ่านการแปล 

ภาษาจึงไม่ได้เป็นตัวสร้างความสามัคคีอย่างที่ใครหลายคนต้องการเสมอไป หากยังเป็นตัวแบ่งแยกและปะทะประสานกันในหลายๆ ครั้ง เพราะอย่างน้อยที่สุด การทำความรู้จักความหมายของคำหนึ่งคำใด ก็ต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างความหมายของคำนั้นออกจากความหมายของคำอื่น เช่น ความดีและความชั่ว กระทั่งต้องแยกสิ่งหรือเสียงที่อยู่นอกระบบภาษาให้ออกด้วย

สิ่งหรือเสียงที่อยู่นอกระบบภาษา ในหลายครั้ง ก็เป็นของแปลกปลอมซึ่งทรงอิทธิฤทธิ์มากพอที่จะปรับเปลี่ยนระเบียบในระบบภาษาได้ เมื่อสยามมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโลกตะวันตก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คำแปลกปลอมมากมายต้องหลั่งไหลเข้ามาจนสุดคณานับ คำที่อยู่นอกเหนือปริมณฑลแห่งความหมายในภาษาเหล่านั้น พร้อมเสมอที่จะนำพาความวิบัติมาสู่ภาษาและโครงสร้างอำนาจ

คำว่า ‘การเมือง’

สำหรับสยาม คำว่า ‘การเมือง’ ถูกทำให้รับรู้กันเป็นวงกว้างด้วยฝีมือของหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ในปี พ.ศ. 2465 (ตรงกับรัชกาลที่ 6) โดยก่อนหน้านั้น เวลาจะกล่าวถึงการเมืองก็มักใช้การทับศัพท์คำว่า ‘ปอลิติก’[5] ไปเลย

การแพร่หลายของคำว่า ‘การเมือง’ นี้ สายชล สัตยานุรักษ์ มองว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก “เพราะหมายถึงการขยายตัวของมโนทัศน์ที่เห็นว่าในรัฐและสังคมมีการต่อสู้หรือต่อรองในเรื่องสิทธิหรืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ฯลฯ … โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง มิใช่เป็นเรื่องของพระมหากรุณาธิคุณต่อทุกคนในชาติอย่าง ‘เสมอหน้ากัน’ ตามอุดมคติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป”[6]

การทับศัพท์คำว่า ‘ปอลิติก’ ตลอดถึงการแปลเป็นคำว่า ‘การเมือง’ จึงเป็นการกระทำที่สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจของ (ชนชั้นนำ) สยามอย่างมาก เพราะกรอบคิดเรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ซึ่งเป็นการปกครองที่ถือว่า ‘ไม่มีการเมือง’ เนื่องจากอำนาจเด็ดขาดสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยอุดมคติแล้วไม่มีใครจะสามารถต่อรอง หรือต่อสู้ หรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจได้”[7] การเมืองจึงเป็นเชื้อร้ายที่เข้ามาปนเปื้อนสังคมสยามให้เกิดมลทินมัวหมอง ณ เวลานั้น

ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นนำตระหนักถึงพลังอำนาจของภาษา และเริ่มให้มีการบัญญัติศัพท์ (หรือก็คือการแปล) ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้ความหมายทางการเมืองจากศัพท์ตะวันตกแพร่หลายออกไปในสังคมโดยปราศจากการควบคุม[8] ตลอดจนกำหนดทิศทางความหมายของคำต่างๆ ให้ ‘เชื่อง’ และเป็นไปตามที่ชนชั้นนำต้องการ การแปลจึงเป็นเรื่องการเมืองที่ปัญญาชนต้องเข้าไปจัดการ[9]

และเพื่อป้องกันไม่ให้ภาษาเกิดความวิบัติ ร.6 ได้จัดให้มีการสร้างกฎเกณฑ์ไวยากรณ์อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาศัยเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์ของภาษาอังกฤษและภาษาชาติอื่นๆ ในยุโรป[10] เพื่อให้คนในประเทศใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและสอดรับกับวัฒนธรรมแบบรู้ที่ต่ำที่สูงของสยาม[11]

เมื่อความหมายของการเมืองคือการต่อรองและต่อสู้ทางอำนาจ กรอบคิดเรื่องความเท่าเทียมจึงเป็นอุดมการณ์สำคัญ ซึ่งแฝงมาพร้อมกับการเมืองไปโดยปริยาย ความเท่าเทียมเป็นกรอบคิดเสรีนิยมที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องพูดได้ เถียงได้ แลกเปลี่ยนได้ และปรับเปลี่ยนได้ เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เสรีภาพ’ แม้จะเป็นศัพท์ตามกรอบคิดเสรีนิยม แต่ในสยามกลับใช้ไปในทางสรรเสริญพระราชกรณียกิจการเลิกทาส “โดยรับรู้กันทั่วไปในหมู่ชาวสยามและชาวต่างประเทศว่าการเลิกทาสทำให้ทาสมีเสรีภาพหรือมีอิสรภาพ”[12] มิติความหมายของความเท่าเทียมในคำว่าเสรีภาพและอิสรภาพจึงตกหล่นหายไป กลายเป็นการอาศัยบารมีของผู้มีบุญไปโดยปริยาย ตามนัยนี้ ความหมายของคำว่า ‘เสรีภาพ’ และ ‘อิสรภาพ’ จึงถูกทำให้เชื่องไปเรียบร้อยแล้ว

คำว่า ‘อิสรภาพ’

‘อิสรภาพ’ และ ‘อิสระ’ (ที่ถูกใช้ในการแปลคำว่า ‘liberty’) มีรากศัพท์สันสกฤตมาจากคำว่า ‘อิชวารา’ (is’vara; ईश्वर) หมายถึง เจ้าเหนือหัว ผู้ปกครอง ผู้นำ กษัตริย์ และพระศิวะ โดยพจนานุกรมสยามฉบับปี พ.ศ. 2397 หรือที่รู้จักกันในชื่อ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท จัดทำโดยพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Bishop Pallegoix) นิยามความหมายของอิสระว่าเป็น ‘เขาผู้ชายผู้ยิ่งใหญ่ เป็นหลักการ และทรงพลังอำนาจ’ และนิยามคำว่าอิสรภาพว่า ‘ผู้มีอำนาจสูงสุด’ ส่วนพจนานุกรมฉบับหมอบรัดเลย์ (อักขราภิธานศรับท์) ก็ให้นิยามไปในทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์[13]

จากนิยามในพจนานุกรมทั้งสองฉบับ ชัดเจนว่า อิสรภาพและอิสระเป็นสิ่งซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจสูงสุด หรือความเป็นใหญ่ อันเป็นอำนาจซึ่งอยู่ในมือของกษัตริย์และพระเจ้าเพศชาย ทามารา ลูส์ (Tamara Loos) จึงสรุปว่า มีแต่ผู้มีสถานภาพสูงเท่านั้นที่จะใช้อิสรภาพได้ ลูส์ยังได้อ้างถึงข้อสรุปของ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งมองไปในทางเดียวกัน คือ “อิสรภาพเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ไม่เท่าเทียม และบ่งบอกถึงการมีอำนาจเหนือ (supremacy over) มิได้หมายถึงการไม่ขึ้นตรงกับผู้อื่นแต่อย่างใด”[14]

กล่าวได้ว่า การจะใช้หรือจะมีอิสรภาพ จำเป็นต้องมีสถานะอยู่ในระดับเจ้าเหนือหัว กษัตริย์ หรือพระศิวะเท่านั้น อิสรภาพในภาษาไทยจึงต่างจาก ‘liberty’ ของตะวันตก (ที่ถูกทำให้มีความหมายเท่ากับคำว่าอิสรภาพ) เพราะ liberty ในฐานะคุณค่าซึ่งผูกติดและเสริมสร้างอำนาจให้แก่ปัจเจกชน เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในระบบวิธีคิดสยาม การแปล liberty ว่าอิสรภาพ จึงทำให้มิติอำนาจเชิงปัจเจกหล่นหายไป เพราะระหว่างคำสองคำนี้ มีชุดสมมุติฐานต่อเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจต่างกันอย่างมาก[15]

ทั้งนี้ ในรัชกาลที่ 5 คำว่าอิสรภาพก็มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปในเชิงที่ ‘เป็นกลาง’ (neutral) ทางเพศและสถานะทางสังคมมากขึ้น กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือชนชั้นใดก็มีอิสรภาพได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินไปพร้อมกับปัญหาการรักษาเอกราชจากชาติจักรวรรดิตะวันตกของสยาม[16]

ในแง่นี้ ความหมายของอิสรภาพ ที่เดิมหมายถึงการมีอำนาจเหนือ จึงไม่สามารถใช้การได้ เพราะหากยังคงความหมายนี้ไว้อยู่ อิสรภาพของสยามจะต้องตกเป็นของชาติตะวันตกผู้มีอำนาจเหนือกว่า[17] สยามจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตนเองเป็นราชอาณาจักรที่มีอารยะทัดเทียมกับชาติตะวันตกอื่นๆ[18]

กระบวนการสร้างความหมายใหม่ของคำว่าอิสรภาพนี้ ยังเกิดจากความจำเป็นต้องแปล Penal Code 1908 หรือกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (เทียบเท่า พ.ศ. 2451) ประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยในสมัย ร.5 จากอังกฤษเป็นไทย เนื่องจากประมวลกฎหมายนี้ เดิมถูกร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษก่อน

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เป็นตัวอย่างความพยายามในการสร้างความทันสมัยให้ทัดเทียมชาติตะวันตกชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง กล่าวคือ เป็นการ ‘นำเข้า’ กรอบคิดตะวันตกอย่าง liberty หรืออิสรภาพ (ในทางกฎหมาย) เข้ามาในสยาม 

ในกฎหมายใหม่นี้ อิสรภาพถูกจัดระเบียบความคิดใหม่ (reconceptualize) ให้กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสิทธิ แทนที่จะจำกัดเอกสิทธิ์ให้มีเฉพาะแต่ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์[19] และเพศชายแบบเดิม สิทธิกลายเป็นของที่คนธรรมดาสามารถครอบครองได้

หากพิจารณาความหมายของอิสรภาพในช่วงก่อนการเกิดขึ้นของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จะเห็นว่า ภายใต้วัฒนธรรมแบบรู้ที่ต่ำที่สูงของสยาม อิสรภาพมีความหมายแฝงอยู่สองนัย นัยแรกคือ เป็นความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนฐานของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ อันจะนำไปสู่อีกนัยหนึ่งคือ ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่คนใต้ปกครองจะมีอิสรภาพ 

สำหรับคนใต้ปกครอง อิสรภาพเป็นกรอบคิดที่ไม่ใคร่สู้ดีนัก เพราะพวกเขา ‘ไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่ง’ ในปริมณฑลความหมายของคำว่าอิสรภาพ จากการที่ “อิสรภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากอธิปไตย พลังอำนาจ ตลอดจนการมีอำนาจเหนือตนเองและคนใต้ปกครอง”[20] ของบรรดาชนชั้นปกครอง 

ตามนัยนี้ สิทธิ (ในกฎหมาย) จะมีให้เฉพาะแต่คนที่มีอิสรภาพเท่านั้น ในสายตาของกฎหมาย ผู้หญิงและเด็กมิได้เป็นประธานแห่งสิทธิ สิทธิของผู้หญิงและเด็กจะเกิดจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นเท่านั้น เช่น ความสัมพันธ์ต่อสามีและครอบครัว ผู้หญิงและเด็กจึงต่างไม่มีอิสรภาพเป็นของตัวเอง แต่อาศัยอยู่ภายใต้อิสรภาพของสามีและครอบครัว[21]

ลำดับศักดิ์ทางเพศและสังคมนี้ ชัดเจนมากในพระไอยการลักษณผัวเมีย มาตรา 81 ที่วางหลักว่า “ผู้ปกครองมีอิสรภาพเหนือลูกสาวทั้งหลาย ตราบเท่าที่เธอยังไม่ได้แต่งงาน เมื่อเธอแต่งงานแล้ว อิสรภาพจะถูกโอนจากผู้ปกครองไปยังสามี” กล่าวคือ เด็กและผู้หญิงต้องถูกปกครองภายใต้ร่มเงาอิสรภาพของพ่อ (แม่)[22] และผู้ใหญ่ ในกรณีของลูกผู้ชายนั้น อิสรภาพจะเกิดแก่ตนก็เมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นตอนปลายแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าอะไรหรือเมื่อใดคือ ‘วัยรุ่น’[23] การแต่งงานจึงมักถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการบอกสถานะความเป็นเด็กและวัยรุ่น (หรือผู้ใหญ่) โดยหากลูกผู้ชายคนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน พ่อแม่ก็มีสิทธิเอาไปขายเป็นทาสได้[24]

ทาสและคนรับใช้เป็นกลุ่มซึ่งไม่อาจอ้างสิทธิการมีอิสรภาพได้เช่นกัน เพราะพวกเขาไม่มีแม้กระทั่งอิสรภาพเหนือตนเอง[25] ในแง่นี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดชาวสยามจึงเชื่อมโยงความหมายของคำว่าอิสรภาพเข้ากับพระราชกรณียกิจการเลิกทาส กล่าวคือ เมื่อมีการเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 ทาสก็ไม่ต้องอาศัยอิสรภาพของเจ้านายต้นสังกัดอีกต่อไป เนื่องจากทาสได้มีอิสรภาพเหนือหัวของตนเองแล้ว แต่อิสรภาพนี้ก็ไม่ใช่อำนาจเหนือหัวตนเองอย่างสมบูรณ์ เพราะยังคงอยู่ภายใต้อิสรภาพของกษัตริย์ ผู้เข้ามาปลดปล่อยความเป็นทาสของตน ในทำนองเดียวกับผู้มีอิสรภาพล้นเหลือ ได้ใช้อิสรภาพของตนไปเป็นร่มเงาแก่ผู้อื่น[26]

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า ก่อนการมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 กฎหมายได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ชายและชนชั้นสูงอย่างเปิดเผย[27] เป็นการทั่วไป

ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ที่กำหนดให้อิสรภาพกลายเป็นสิทธิพึงมีพึงได้ของแต่ละบุคคลเป็นครั้งแรก จึงมิได้หมายถึงการมีอิสรภาพ หรือเสรีภาพที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง (self-determination) อันเป็นหัวใจสำคัญของเสรีนิยมแต่อย่างใด กลับกัน อิสรภาพตามกฎหมายนี้ คล้ายจะกินความหมายเฉพาะภาระหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายอาญา สิทธิเสรีภาพที่สัมพันธ์กับอิสรภาพในลักษณะนี้ จึงเป็นไปในทำนอง ‘หน้าที่มาก่อนสิทธิ’ และ ‘เสรีภาพบนความรับผิดชอบ’

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จึงไม่ได้ดำเนินไปอย่างที่ควรเป็นตามหลักกฎหมายสมัยใหม่ เพราะแทนที่จะเป็นกลไกปกป้องคุ้มครองอิสรภาพของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงเพศและยศถาบรรดาศักดิ์ แต่นิยามของปัจเจกที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ กลับยังจำกัดเฉพาะคนบางพวกเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงปัจเจกชนทุกคนในแผ่นดิน เช่น สามียังคงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการลักพาตัว กักขัง และทารุณกรรมทางเพศ ต่อหญิงผู้เป็นภรรยา[28] เป็นต้น 

ครั้นมองไปที่ประวัติศาสตร์หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายนี้แล้ว พบว่ายังคงมีอำนาจอะไรบางอย่างที่ ‘อยู่เหนือ’ และ ‘ยกเว้น’ อิสรภาพของปัจเจกบุคคลอยู่ เช่น ความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการต่อสาธารณะ ภาพลักษณ์ของกองทัพ หรือชื่อเสียงของกษัตริย์และประเทศ[29]

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 แล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดคดีความเกี่ยวกับอิสรภาพขึ้น อิสรภาพกลายเป็นสิทธิที่สามัญชนใช้คัดง้างต่อการควบคุมตัว/กักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (unlawful detainment) ของบรรดาข้าราชการมากที่สุด[30] แต่ด้วยความช่วยเหลือจากบรรดานักสร้างกฎหมาย (lawmakers) ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำที่ละเมิดกฎหมายของคนบางกลุ่มบางพวก สามารถถูกทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้น อิสรภาพจึงยังคงหมายถึงการใช้อำนาจเหนือกดขี่ผู้ด้อยอำนาจกว่า ดังที่เคยเป็นในช่วงก่อนหน้าอยู่ดี[31]

การแปลความหมายของ ‘อิสรภาพ’ ใหม่ จึงไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีอำนาจเหนือกับคนที่ด้อยอำนาจกว่าจะอันตรธานไป ตรงกันข้าม อคติทางเพศและสถานะทางสังคมกลับถูกลากมาฝังกลบภายใต้นิยามใหม่อย่างแนบเนียน (?) ภายใต้สิ่งสุดโต่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นกลาง’

ครั้นเมื่อพิจารณาไปยังกระบวนการร่างกฎหมายก็จะพบว่า คณะร่างกฎหมายนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจเหนือคนจำนวนมากในสังคม และคนกลุ่มเดียวกันนี้ ยังเป็นผู้กำหนดทิศทางและแปลงความหมายแนวคิดตะวันตก[32] (ในที่นี้คือแนวคิดเรื่อง liberty และ independent) อาจกล่าวได้ว่า การบัญญัติศัพท์จำต้องพึ่งพากับอำนาจอะไรบางอย่าง (จึงจะทำให้ยอมรับได้) เช่น อำนาจของรัฐ กับอำนาจของบัณฑิต (ผู้ทรงความรู้)[33] เป็นต้น

กระนั้น ด้วยเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในโลกปัจจุบัน รัฐไม่อาจควบคุมความหมายของศัพท์ หรือผูกขาดอำนาจการบัญญัติศัพท์ได้อีกต่อไป ด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้นทุกวัน การปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนสื่อสารเกิดขึ้นและดับลงในระดับวินาที ตัวแปรมหาศาลวิ่งเข้าออกในระบบภาษาจนยากจะถอดรหัส ทั้งหมดนี้ทำให้ความเฉื่อยชาของระบบราชการไม่มีทางคลานตามทัน คำศัพท์และความหมายกลายเป็นสินค้าเสรี แต่ถึงที่สุดแล้ว แม้ชุมชนมนุษย์อาจยึดโยงด้วยภาษาและการเมือง แต่ทั้งภาษา มนุษย์ และการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับรัฐ (เหมือนที่แปล ‘Political Science’ ว่า ‘รัฐศาสตร์’) 

ตามกรอบคิดสัจนิยมของทุน (capitalist realism) หนทางรอดเดียวที่รัฐเหลืออยู่ (เพราะมันไม่มีตัวเลือกอื่นเหลือแล้ว?) คือ การทำให้หน่วยงานรัฐ (กระทั่งรัฐ?) กลายเป็นของเอกชน (privatization) ลด/ยกเลิกกฎระเบียบทั้งหลาย (deregulation) เพื่อให้เกิดการแข่งขันสูงสุด ผ่านการให้ (ความหมายและ) ความรู้ไหลเวียนไปอย่างเสรี (free flow of knowledge) ตามกลไกตลาด กล่าวได้ว่า ทุนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจเหนือคนใหม่

แต่หนทางการแยกร่างนี้ก็ดูเป็นไปได้ยาก ในรัฐที่มีแต่การแยกที่ต่ำที่สูง แยกภาษาคนกับภาษาเทวดา แต่กลับไม่เคยแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ อำนาจทุนกับอำนาจรัฐ และไม่เคยแยกพระศิวะออกจากอิสรภาพ

เชิงอรรถ

[1] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2553. “ภาษากับการเมือง”. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 31 ฉบับที่ 2. หน้า 141.

[2] อ้างแล้ว. หน้าเดียวกัน. 

[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2556. ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา. หน้า 233.

[4] Loos, Tamara. 1998. “ISSARAPHAP: Limits of Individual Liberty in Thai Jurisprudence”. Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies. p. 39-40.

[5] สายชล สัตยานุรักษ์. 2558. ประวัติศาสตร์การบัญญัติศัพท์: มิติหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมก่อนและหลังปฏิวัติ 2475. ใน ธนาพล ลิ่มอภิชาต และ สุวิมล รุ่งเจริญ. (บรรณาธิการ). เจ้าพ่อ ประวัติศาสตร์ จอมขมังเวทย์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. หน้า 269

[6] เรื่องเดียวกัน. หน้าเดียวกัน.

[7] เรื่องเดียวกัน. หน้าเดียวกัน.

[8] เรื่องเดียวกัน. หน้า 263 และ 269-271.

[9] เรื่องเดียวกัน. หน้า 256.

[10] เรื่องเดียวกัน. หน้า 260-261.

[11] เรื่องเดียวกัน. หน้า 262.

[12] เรื่องเดียวกัน. หน้า 268.

[13] Loos, Tamara. 1998. p. 36-37.

[14] Loos, Tamara. 1998. p. 37.

[15] Loos, Tamara. 1998. p. 41.

[16] Loos, Tamara. 1998. p. 37.

[17] Loos, Tamara. 1998. p. 70.

[18] Loos, Tamara. 1998. p. 38.

[19] Loos, Tamara. 1998. p. 42.

[20] Loos, Tamara. 1998. p. 41.

[21] Loos, Tamara. 1998. p. 46.

[22] Loos, Tamara. 1998. p. 47.

[23] ดูคดีตัวอย่าง Loos, Tamara. 1998. p. 47-48.

[24] Loos, Tamara. 1998. p. 48.

[25] Loos, Tamara. 1998. p. 55.

[26] Loos, Tamara. 1998. p. 59.

[27] Loos, Tamara. 1998. p. 60-61.

[28] Loos, Tamara. 1998. p. 66.

[29] Loos, Tamara. 1998. p. 65.

[30] Loos, Tamara. 1998. p. 67.

[31] Loos, Tamara. 1998. p. 68-69.

[32] Loos, Tamara. 1998. p. 70.

[33] สายชล สัตยานุรักษ์. 2558. หน้า 272.

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า