Postpartum Depression: ความเศร้าซึมของคุณแม่หลังคลอด

หลังคลอดลูก ไม่ได้มีแค่ช่วงเวลาแสนสุขและเต็มตื้นไปด้วยความรักของสายใยระหว่างแม่ลูก

เพราะมีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ไม่รู้สึกผูกพันหรืออยากใช้เวลากับทารก กลัวว่าจะทำร้ายลูก เครียด กังวล ไม่อยากอาหาร และอื่นๆ ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น พวกเธอก็จะเข้าสู่ลูปความรู้สึกผิดในชั้นที่สอง เพราะนั่นไม่ใช่อาการของ ‘ความเป็นแม่’ ที่ควรจะรู้สึก ทำให้พานโกรธเกลียดตัวเองเพิ่มทับทวีคูณ

แต่อาการทั้งหมดนี้ อธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ในชื่อว่า Postpartum Depression (PPD) หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดบุตร

สถาบันส่งเสริมสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐ (National Institute of Mental Health: NIMH) ระบุว่า กว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่จะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดบุตร มีคุณแม่ 1-2 คนใน 1,000 คน จะเป็น PPD หนักไปกว่านั้น PPD เป็นมูลเหตุอันดับหนึ่งของคดีแม่ฆ่าลูกของสหรัฐอเมริกา และไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ผู้ชายหรือคุณพ่อ ก็มีโอกาสเป็น PPD ได้ด้วยเช่นกัน

Postpartum Depression: PPD คืออะไร?

ฉันประสบกับภาวะ PPD หลังคลอดลูกชาย ซึ่งมันทำให้ฉันหวาดผวามาก ความเข้าใจของฉันเกี่ยวกับอาการนี้ คือคุณไม่อยากจะอยู่กับลูกของคุณ คุณกลัวจะทำร้ายเขา คุณกลัวการตัดสินใจเกี่ยวกับลูก คุณกลัวว่าคุณจะเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันคุณก็หมกมุ่นอยู่แต่กับลูก ซึ่งมันทำให้ฉันไม่อยากมีลูกคนต่อไปเลย

อะเดล นักร้องสาวสัญชาติอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Vatiny Fair เมื่อปลายปี 2016 ถึงอาการหลังคลอดที่แท้จริงของเธอในช่วงปี 2012 ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ที่ได้รับความสนใจในคำตอบที่ ‘ซื่อตรง’ ในฐานะผู้หญิงที่ออกมาต่อต้านกับความกดดันของสังคมเกี่ยวกับบทบาทความเป็นแม่ของผู้หญิง และอธิบายความหวาดกลัวของการเป็นแม่ในอาการ PDD ได้อย่างเห็นภาพ

Adele นักร้องสัญชาติอังกฤษ คุณแม่คนหนึ่งที่เคยอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร

สำหรับผู้มีชื่อเสียงที่ออกมาอธิบายว่าตัวเองเป็น PPD ไม่ใช่แค่อะเดลเพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึง กวินเน็ธ พัลโทรว์, แอล แมคเฟอร์สัน และ เฮย์เดน แพนิตเทียร์ ด้วย นอกจากนี้ยังมีบทความของบล็อกเกอร์และสื่อมวลชนอีกหลายๆ คน ที่ออกมาพูดถึงภาวะ PPD ในช่วงหลังๆ นี้

NIMH อธิบายความหมายและอาการ PPD ไว้ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของอะเดล แต่เพิ่มเติมว่า อาการดังกล่าวจะปรากฏกับผู้หญิงหลังคลอดบุตร ซึ่งช่วงเวลาที่มักจะปรากฏอาการอยู่ที่ราว 1 สัปดาห์ – 1 เดือน หลังจากคลอดบุตร และผลกระทบของอาการดังกล่าว หากไม่เข้ารับการรักษา แน่นอนว่าต้องกระทบต่อสุขภาพจิตของคนเป็นลูกในที่สุด

การรักษา PPD จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการบำบัด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการพูดคุยเชิงลึก หรือการรับยา

อาการที่เข้าข่ายเป็น Postpartum Depression

  • เศร้าล้ำลึก ไม่มีความหวัง รู้สึกว่างเปล่า
  • ร้องไห้บ่อยครั้ง ง่ายและมากกว่าที่เคยเป็น
  • กังวล และตื่นตระหนก
  • หงุดหงิด รำคาญ อ่อนเพลีย
  • ถ้าไม่นอนมากเกินกว่าปกติ ก็อาจนอนไม่หลับไปเลย
  • มีปัญหาเรื่องการจดจ่อ สมาธิ ความจดจำต่อรายละเอียดเล็กน้อย หรือมีปัญหาด้านการตัดสินใจ
  • ไม่อยากทำ ไม่สนใจ ในสิ่งที่เคยชอบ เคยสนุก หรือเคยเป็นงานอดิเรกมาก่อน
  • หลีกเลี่ยงการพบปะกับเพื่อนหรือครอบครัว
  • ไม่สนใจ ไม่อยากดูแล ไม่อยากอยู่กับลูก
  • สงสัยในความสามารถของตัวเองต่อการดูแลลูก
  • คิดถึงการทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

ที่มาของอาการดังกล่าว

ต่อประเด็นที่มา ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าอาการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการวิจัยหลายๆ ชิ้นอธิบายไว้ว่า ในกรณีของผู้หญิง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายๆ ตัวระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งระดับเอสโตรเจน โพรเจสโตรเจน ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปิน รีลิสซิง (corticotropin releasing hormone) และคอร์ติซอล

ซึ่งหลายๆ ครั้งผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น PPD จำนวนหนึ่งเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตใจมาก่อน เช่น เป็นซึมเศร้า หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งความเครียดจากความกดดันต่อความเป็นแม่ของคนในสังคม การไม่ได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงลูกในช่วงแรกๆ และความอ่อนเพลียจากการอดนอนอย่างต่อเนื่อง เมื่อหลายมูลเหตุผสมคละเคล้า ก็อาจทำให้คุณแม่หลายๆ คนเข้าสู่ภาวะเครียดสะสมต่อเนื่อง และพัฒนาไปสู่ความซึมเศร้าหลังการคลอดได้

ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ผู้ชายก็เป็น PPD ได้

งานวิจัยโดยการรวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2010 โดย เจมส์ พอลสัน (James F. Paulson) ใน Psychiatric Times วารสารที่เผยแพร่บทความวิชาการเกี่ยวกับโรคจิตเภท อธิบายที่มาที่ไปและประเมินว่า PPD จะเกิดได้ในผู้ชายหรือคุณพ่อราว 1-26 เปอร์เซ็นต์

คำถามคือ เกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะถ้าคำอธิบายของ PPD ในผู้หญิงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ แล้วผู้ชายซึ่งตั้งครรภ์ไม่ได้นั้น จะอธิบายอย่างไร

พอลสันชี้ว่า การศึกษาเรื่องนี้ในผู้ชายยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพียงแต่พบว่ามีผู้ชายที่ถูกพิจารณาว่าเป็น PPD ซึ่งเขาเห็นว่าสาเหตุส่วนมากที่เกิดในผู้ชาย อาจมาจากปัญหาส่วนตัวระหว่างเขากับภรรยาที่เป็น PPD รวมทั้งปัญหาการหย่าร้างด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก:
  • independent.co.uk
  • vanityfair.com
  • ncbi.nlm.nih.gov

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Author

ชิน เอกก้านตรง
กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีลายเส้นมักน้อย แต่บรรจุความหมายในปริมาณตรงข้ามลายเส้น ‘Shhhh’ เป็นอีกนามหนึ่งที่เขาใช้ผลิตงานศิลปะ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการออกเสียงให้ถูกต้อง แหล่งวัตถุดิบในการทำงานของเขามาจากคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทย เพลงอินดี้พ็อพ เพลงสตริงคอมโบไทยยุคอิเล็กโทนครองเมือง และบาร์หลายแห่งในพระนครยามค่ำคืน (ศิลปกรรม WAY ถึงปี 2560)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า