บทบาทการเรียกร้องทวงคืนอินโดจีนของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา 2483 อาจไม่เป็นที่รู้จัก หากนับเฉพาะประวัติศาสตร์ยุคหลังจะพบว่า หมุดหมายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาครั้งสำคัญจะถูกปักไว้ที่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก่อนจะถูกทำลายและบดขยี้อย่างเหี้ยมโหดในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
หลังจากนั้น กล่าวได้ว่า แม้จะมีการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเป็นระยะ รวมไปถึงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ‘นักศึกษา’ ในฐานะของตัวแทนพลังบริสุทธิ์ก็กลับไม่เคยถูกกล่าวถึงมากนัก กระทั่งเงียบหายไปจากสังคม โดยเฉพาะหน้าประวัติศาสตร์การเมือง จนก่อให้เกิดเป็นคำถามที่คลาสสิกสองคำถาม จากสองฟากฝ่ายทางการเมืองที่แตกต่าง
หนึ่งคำถามคือ นักศึกษาหายไปไหน
กับอีกหนึ่งคำถามนั้นคือ เป็นนักศึกษา มายุ่งกับการเมืองทำไม
เพื่อตอบทั้งสองคำถาม และเพื่อเชิญชวนนักศึกษายุคปัจจุบันในภาพความหมายของเยาวชน ให้หวนกลับมาหาคำตอบต่อทั้งสองคำถามนั้น รวมไปถึงการมองไปยังอนาคตของขบวนการนักศึกษาต่อบทบาททางการเมืองต่อไป คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้จัดงาน ‘สัปดาห์ประชาธิปไตย’ ขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มกราคม 2561 โดยหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง’ โดย รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ วีระ หวังสัจจะโชค สองอาจารย์จากสองมหาวิทยาลัยที่มาร่วมกันให้มุมมองทั้งใกล้และไกลต่อบทบาทที่ผ่านมาและปัจจุบันของนักศึกษา เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า เป็นนักศึกษา (หรือเยาวชน) มายุ่งกับการเมืองทำไม
คำถามคลาสสิกไม่เคยเก่า
“ผมจะเริ่มต้นด้วยคำถามคลาสสิคก่อนที่จะกลับมาตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการนะครับ คือมันมีคำถามอีกด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็มีคนถามเวลามีการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย เอ๊ะ นักศึกษากำลังทำอะไรกันอยู่ ทำไมเดี๋ยวนี้นักศึกษามีน้อยจัง แต่ว่าอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณไปลองเคลื่อนไหว มันจะมีความคลาสสิก เก่ามาก โบราณมาก เป็นนักศึกษามายุ่งเรื่องการเมืองทำไม”
บุญเลิศกล่าวเกริ่นนำเพื่อจะตอบในประเด็นที่คนมักชอบตั้งคำถามว่า นักศึกษามายุ่งเรื่องการเมืองทำไม เพราะพวกเขากลัวนักศึกษา กลัวนักศึกษาจะมีความตื่นตัวทางการเมือง เพราะเขารู้ว่าหากคุณตื่นตัวทางการเมือง คุณจะทำอะไรได้มากกว่าความเป็นนักศึกษา ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามจะกล่อมเกลาให้คุณอยู่แต่ในห้องเรียน กระทั่งหากคุณถูกทหารมาถามว่า ทำไมไม่กลับไปเรียนมายุ่งการเมืองทำไม แล้วถ้าคุณถามกลับไปว่า เป็นทหารทำไมไม่ทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ มารัฐประหารทำไม แล้วได้คำตอบว่า เพราะทหารห่วงใยบ้านเมือง ทหารจึงต้องออกมา
คุณก็ตอบกลับไปว่า ถึงคุณไม่ใช่ทหาร แต่คุณก็ห่วงใยบ้านเมืองคนเดียวนะครับ นักศึกษาก็ห่วงใยบ้านเมืองได้ การแสดงออกทางการเมืองก็คือการแสดงออกซึ่งความห่วงใยในบ้านเมือง นักศึกษารู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นบทบาทที่ไม่ควรถูกปิดกั้น
ในฐานะอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2537-2538 เคยเข้าร่วมในเหตุการณ์เดือนพฤษภา ปี 2535 เมื่อครั้งยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชั้นปีที่ 1 บุญเลิศเล่าย้อนกลับไปยังข้อถกเถียงในหมู่นักศึกษาห้วงปีนั้นจากการสำรวจผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งหมดว่า มีนักศึกษาเข้าร่วมเป็นตัวเลขเพียง 8.4 เปอรเซ็นต์ ในขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลา จำนวนนักศึกษาเข้าร่วมอย่างเห็นได้ชัดกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามคลาสสิกข้อที่ 1 ถึงจำนวนที่หายไปของนักศึกษาที่เข้าร่วมน้อยกว่าเมื่อคราว 14 ตุลา
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ผมอยากจะบอกคือ มันไม่ได้แปลว่านักศึกษาไม่ได้ทำอะไร และมันไม่ได้แปลว่านักศึกษาไม่มีอิมแพ็คเลย หรือไม่มีผลอะไรเลย นิสิตนักศึกษาเป็นสายธารประชาธิปไตยที่ไม่เคยเหือดแห้งนะครับ คือมีบทบาทอยู่ตลอด ตอนปี 37-38 คนรุ่นตุลาก็จะบอกคนรุ่นพวกผมว่า ยุคนี้ทำไมคนน้อย จะทำอะไรได้บ้าง แต่ขอโทษทีนะครับ มันก็ยังทำอะไรได้บ้าง”
ประเด็นที่บุญเลิศต้องการจะสื่อคือ ด้วยความเป็น ‘นักศึกษา’ ไม่ว่าจะนักศึกษาจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาล หรือการเรียกร้องของเกษตรกรชาวไร่-ชาวนา จะต้องมีการดึงนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อทำให้มีพื้นที่ในการบอกกล่าวสิ่งที่อยากสื่อสารต่อสังคมได้ สถานะความเป็นนักศึกษาได้มอบสิทธิพิเศษบางอย่างที่บุญเลิศเรียกว่า ‘คุณลักษณะพิเศษของนักศึกษา’ เป็นเงื่อนไขที่สังคมยังให้ความสนใจ คุณลักษณะนั้นครั้งหนึ่งสังคมเคยเชื่อว่า นักศึกษาเป็นพลังที่บริสุทธิ์
‘นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์’ คำกล่าวนี้มักจะได้ยินอยู่เสมอเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการเมืองที่มีนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่บุญเลิศมองว่าเป็นต้นทุนสำคัญของนักศึกษา แม้ว่านักศึกษาอาจมีมวลชนไม่มาก (เมื่อเทียบกับยุคสมัย 14 ตุลา) และอาจไม่ได้นำเสนอประเด็นที่แหลมคมมาก แต่สิ่งที่สังคมให้คุณค่าแก่พลังนักศึกษาคือ นักศึกษาไม่ได้เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นักศึกษาเป็นพลังที่บริสุทธิ์ บุญเลิศยกตัวอย่างประสบการณ์ตัวเองจากคำกล่าวของอาจารย์สมัยยังเป็นนักศึกษาว่า องค์กรอย่างพวกคุณ หากเป็นในต่างประเทศ แล้วสื่อมวลชนรู้ว่าคุณมีคนไม่ถึง 20 คน คุณไม่มีทางเป็นข่าวได้เลย
“แต่เมืองไทยแค่คุณมีจำนวนคนไม่ถึง 10 คน แล้วไปชูป้ายประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล คุณก็เป็นข่าวได้ ทำไมถึงเป็นข่าวได้ เพราะคุณมีต้นทุนทางสังคมที่สั่งสมกันว่าถ้าเป็นนักศึกษาจะเป็นพลังบริสุทธิ์ มีการเคลื่อนไหวในเชิงที่บวกในเชิงประชาธิปไตย มันเลยส่งผลให้ทุกวันนี้แม้คุณจะมีคนไม่มาก แต่ว่าคุณก็ยังมีพลัง”
บุญเลิศยังกล่าวต่ออีกว่า ในยุค 14 ตุลา เราอาจมองขบวนการศึกษาว่ามีขนาดใหญ่ ส่วน 6 ตุลาถูกปราบไป พอมาถึงปี 35 มีส่วนร่วมน้อย แต่ในปี 2558-2559 การเกิดขึ้นของนักศึกษาจากการประท้วงด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ก็ทำให้เห็นว่า พลังของนักศึกษายังมีอยู่ จิตวิญญาณของขบวนการนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน
ด้วยวัยแบบนี้ ยอมรับว่าครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร พวกคุณทำได้ขนาดนี้ นักศึกษาได้ทำให้เส้นแบ่งของความกลัวมันถูกพังทลายลง ก็คุณจะชุมนุมแล้วทำไม สิบกว่าคนแล้วยังไง จะจับฉันเหรอ แล้วคุณก็มีขบวนการเรียกร้องเครือข่ายนักศึกษามา และนี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ นะครับ ที่ทำให้ขบวนการอื่นๆ ตามมา
ไม่มีพื้นที่หรือไม่สนใจการเมือง
จากคำถามคลาสสิกสองคำถาม มาสู่ประเด็นที่ชวนใคร่ครวญต่อคือ ภายใต้บริบทปัจจุบัน การลดน้อยถอยลงไปของขบวนการศึกษาและเยาวชน เป็นเพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่หรือเพราะไม่สนใจการเมืองกันแน่ เพื่อจะตอบคำถาม วีระยกตัวอย่างหนังสือสมัยเรียนปริญญาเอกกับอาจารย์ที่ชื่อ โคลิน เฮย์ (Colin Hay) ในชื่อเรื่องที่ว่า Why We Hate Politics? หรือ ทำไมเราถึงเกลียดการเมือง? โดยเนื้อหาในหนังสือตั้งคำถามแบบเดียวกับประเด็นที่กลายมาเป็นหัวข้อการบรรยายคือ บทบาทการมีส่วนร่วมของเยาวชนกับการเมือง วีระแสดงตัวเลขจากงานวิจัยในหนังสือที่ระบุว่า ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่การมีส่วนร่วมลดน้อยถอยลงไป ในห้วงเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา นักศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่เคยเข้าร่วมกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม มาปัจจุบันก็กลับให้ความสนใจกับสิ่งอื่นที่อยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนมากกว่า กระนั้น วีระยังบอกว่าการมีสวนร่วมสามารถแบ่งออกได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด การไปเลือกตั้ง การโพสต์เฟซบุ๊ค ไปจนถึงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือปิดหอประชุม
“ในสังคมที่ต้องการการเมืองแบบประชาธิปไตย มันปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองไม่ได้ เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมจึงสำคัญ สำหรับเยาวชน การมีส่วนร่วมพื้นฐานที่สุด คือการไปเลือกตั้ง ซึ่งในยุโรปก็มีการพยายามเปลี่ยนเกณฑ์การเลือกตั้ง ตั้งแต่ 16 ปีไปจนถึง 20 ปี แต่ก็มีความพยายามที่จะบอกว่าคนอายุต่ำกว่า 18 ไม่ควรไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเรามองในฐานะพลเมืองรัฐเหมือนๆ กัน การมองว่าอีกฝ่ายยังเป็นเด็ก ไม่ควรมามีส่วนร่วมทางการเมือง ก็เหมือนที่บอกว่าคนไม่มีการศึกษาไม่สมควรมีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง”
อีกประเด็นจากหนังสือ Why We Hate Politics? คือนับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ได้เกิดการตั้งคำถามที่แปรเปลี่ยนไปเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อระบอบการเมืองปกติ ทั้งการเมืองในรูปแบบรัฐสภา การเมืองในลักษณะนิติบัญญัติบริหารตุลาการ คนรุ่นใหม่เริ่มไม่วางใจเพราะว่าพอเราเข้าไปเลือกตั้ง พรรคการเมืองนี้ก็มีกลุ่มนายทุนหนุนหลัง แล้วตกลงผลประโยชน์กันเอง พอตกลงกันไม่ได้ ทหารก็เข้ามา คนในยุคนั้นจึงตั้งคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจะเลือกตั้งไปทำไม คนเริ่มตั้งคำถามว่า เรามีตัวแทนจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งกลายเป็นกระแสจากในยุค 70 มาจนถึงยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เมื่อคนไม่เชื่อมั่นในการเมืองแบบเสรีนิยมอีกต่อไป อย่างไรก็ดี การที่คนไม่ออกไปเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าไม่สนใจการเมือง เพราะการไม่ออกไปเลือกตั้ง ในอีกมุมหนึ่งก็คือการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่พอใจการเมืองในรูปแบบปกติ
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเคลื่อนไหว เกิดการเคลื่อนไหวที่ออกมาเล่นการเมืองข้างนอกมากขึ้น มันเลยเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษามากขึ้น มันเลยเกิดความพยายามที่จะจำกัดกรอบนิสิตนักศึกษา ด้วยการเอาการเมืองออกจากการเมือง เป็นกระแสที่พยายามจะดึงการเมืองออกมา เช่นเรื่องนี้มันไม่ใช่การเมือง เรื่องนี้ก็ไม่ใช่การเมือง เมื่อมันไม่ใช่การเมืองหมายความว่ายังไงครับ เราก็ไม่ต้องไปมีส่วนร่วมอะไร เราก็ไม่ต้องเข้าไปแสดงความคิดเห็นอะไร
วีระกล่าวต่ออีกว่า การพยายามแยกการเมืองออกจากการเมือง เกิดขึ้นจากกระแสทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในส่วนภายในประเทศ เกิดขึ้นจากผู้คนที่เบื่อหน่ายในสถาบันการเมืองที่เป็นมาแต่เดิม ในส่วนของต่างประเทศ ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย การเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องอัปลักษณ์ ชั่วช้าสามานย์ ในขณะที่ความสนใจทางการเมืองถูกทำให้ย่อยสลายไป ปัจจัยสำคัญต่อมา คือการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ทำให้การเมืองแบบมีส่วนร่วมลดน้อยลงกลายเป็นการเมืองแบบปัจเจกผ่านเครื่องมืออย่างอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ไม่ใช่การพาตัวเองออกไปประท้วงแบบในยุคก่อน
พื้นที่บนความเสี่ยงทางการเมือง
ปัจจัยที่วีระว่ามานี้ กลายเป็นส่วนที่ทำให้การมีส่วนร่วมลดน้อยลงไป จนอาจจะเรียกว่า ‘พื้นที่’ ทางการเมืองได้ถูกปรับเปลี่ยนจากการเมืองนอกรัฐสภามาสู่การเมืองบนโลกออนไลน์ กระนั้น คำถามยังมี โดยเฉพาะเมื่อมองจากบริบทการเมืองไทยปัจจุบันที่การแสดงออกบนพื้นที่นอกโลกออนไลน์ สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย กระทั่งนำไปสู่การจับกุม ติดคุกติดตะรางในที่สุด
เช่นนี้แล้ว หากนักศึกษาหรือเยาวชนไทยในปัจจุบันอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง พื้นที่การมีส่วนร่วมในปัจจุบันก็อาจไม่ได้เอื้อให้เกิดสภาพเช่นนั้นได้ ต่อกรณีนี้ วีระบอกว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตมันให้พลังอย่างหนึ่ง คือ พลังของบุคคลนิรนาม พลังที่เราจะเป็นใครก็ได้ในโลกอินเทอร์เน็ต
“เพราะฉะนั้น ภาระบางอย่างที่คุณจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงในชีวิตประจำวัน เช่น ชื่อของเรา นามสกุลของเรา สถานะบางอย่างของเราที่ทำให้แสดงออกไปไม่ได้เต็มที่ เราหลบได้บนโลกอินเทอร์เน็ต คุณไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อย่างแต่ก่อนเราอาจจะหนีเข้าป่า แต่ทุกวันนี้เราหนีเข้าโลกอินเทอร์เน็ต โลกอินเทอร์เน็ตก็จะกลายเป็นศูนย์รวมใจ และแน่นอนเวลาเราถูกวิจารณ์ว่าเป็นนักเลงคีย์บอร์ด มันเป็นเรื่องปกติ อย่าไปสนใจ เราเป็นนักเลงคีย์บอร์ดต่อเมื่อเราโพสต์สิ่งที่ไม่เหมือนกับเขา แต่ถ้าเราโพสต์สิ่งที่เหมือนกับเขา เราก็จะเป็นอะไรครับ…ประชาชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจการเมืองจริงๆ เลย
เพราะฉะนั้นบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ต้องไปซีเรียสกับมันมาก สำหรับผม โลกอินเทอร์เน็ตมันทำให้คนไม่รวมกลุ่มกันจริง แต่มันทำให้คนสนใจทางการเมืองได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โลกบนอินเทอร์เน็ตมันก็กลายเป็นเครื่องมือของการไล่ล่าได้เหมือนกัน
ขณะที่บุญเลิศมองว่าโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งต่อการเรียกร้องทางประชาธิปไตย แม้การออกไปเรียกร้องบนท้องถนนอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเอง แต่บุญเลิศก็อธิบายว่า เพราะเหตุนี้การเรียกร้องจึงเป็นศิลปะในตัวมันเองที่จะทำอย่างไรเพื่อท้าทายอำนาจที่เรามองว่าไม่เป็นธรรม
“คือมันอยู่ที่คุณจะเล่นกับกรอบหรือเล่นกับเส้นของมันยังไง ไม่ใช่พูดกันโต้งๆ ซัดกันโต้งๆ หรือหยาบคายอะไร มันไม่ได้แปลว่าทำอะไรไม่ได้ มันมีอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างการอยู่บนคีย์บอร์ดเฉยๆ กับการออกไปชุมนุมให้ถูกจับ และการเคลื่อนไหวนอกคีย์บอร์ดยังไงไม่ให้ถูกจับ ผมคิดว่านี่ต่างหาก คือนักเคลื่อนไหว คุณจะเป็นคนเคลื่อนไหว คุณจะเป็นคนเปลี่ยนแปลง เหมือนกับเรื่องเครื่องแบบ คุณอาจจะมองว่าทำไมเราต้องไปศิโรราบกับคุณธรรมบางประการ แต่ถึงที่สุดคุณอาจจะมองว่ามึงเล่นกับกู กูเล่นกับมึงก็ได้ ถึงที่สุดแล้ว ผมมองว่าเป็นแค่เปลือก คือมองได้ทั้งสองมุม เรื่องแค่นี้คุณยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้ แค่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง ยอมๆ คุณกับอีแค่เรื่องเสื้อนี้ก็ได้ แต่ต้องฟังในสิ่งที่ผมพูดหน่อย แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นหน้าคุณแล้วไม่อยากฟังเลย ข้อสำคัญก็คือ คุณต้องรู้เท่าทันว่ากำลังทำอะไรอยู่ อะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก อะไรคือเป้าหมาย อะไรคือเครื่องมือ”
จากคำถาม “นักศึกษาหายไปไหน” “เป็นนักศึกษามายุ่งเรื่องการเมืองทำไม” จนมาถึง “พื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองระหว่างบนโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ แบบไหนจึงจะเรียกว่ามีส่วนร่วมมากกว่า” อาจไม่มีคำตอบให้กับการบรรยายที่จบลงในบรรยากาศครึ้มฝนเหนือชายทะเลภาคตะวันออกมากนัก เพราะใช่หรือไม่ว่าคำตอบที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ในห้องบรรยาย กระทั่งอาจไม่ได้อยู่ที่ผู้บรรยาย หรือในตำราหนังสือเรียน
ใครสักคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ใบปริญญาเทียบได้กับกระดาษใบเดียว ซึ่งอาจผิดและถูกในเวลาเดียวกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าความหมายของการเป็นนักศึกษาลดน้อยลง ไม่ได้ทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้การมีส่วนร่วมน้อยลง
คำถามประดามี อาจดูเหมือนเป็นการผลักภาระ แต่ถ้าไม่ฝากอนาคตไว้กับเยาวชน จะให้ฝากไว้กับคนรุ่นเก่าแก่ที่ไม่อาจมีคำตอบอย่างน่าเชื่อถือได้ แม้แต่องค์กรตรวจสอบจริยธรรมทางการเมืองเองก็ตาม
เป็นนักศึกษามันเหนื่อย…ก็อาจจริง แต่ถ้าไม่ลืมนักศึกษาคนหนึ่งที่ต้องรับใบปริญญาในคุก คำถามประดามีอาจไม่ได้สำคัญอีกต่อไป