ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ออกจากราชการก่อนอายุเมื่อปี พ.ศ. 2559 แล้วจึงเริ่มเขียนเพจ ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2559 คือ 20 ปีแรก มีหนังสือของตัวเอง 40 เล่ม หลังจากปี พ.ศ. 2559 คือ 6 ปีที่ผ่านมานับถึงวันนี้ มีหนังสือของตัวเอง 29 เล่ม เล่มที่ 69 ชื่อ โรงเรียนพ่อแม่
หากไปดูตัวเลขผู้ป่วยที่ตัวเองตรวจขณะรับราชการ พบว่าเป็นแพทย์ที่มีเวลาออกตรวจมากที่สุดและตรวจผู้ป่วยจำนวนมากที่สุดของโรงพยาบาล เวลาที่มิได้ออกตรวจจะไปทำงานส่งเสริมป้องกันและงานบริหารซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าพอใจ สาเหตุคือบ้านเมืองของเราไม่กระจายอำนาจ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งมีความคิดอ่านดีอย่างไรก็ทำมิได้ ไม่มีเสรีภาพในการคิดงาน และไม่มีงบประมาณของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านส่วนกลาง นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนของกระทรวงฯ หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าส่วนท้องถิ่นได้ทำอะไรดีๆ ไว้พอสมควร คำตอบคือไม่มากพอ
นับงานตรวจที่ทำมากกว่ามากก็มิอาจนับได้ว่ามีคุณภาพ เหตุเพราะจำนวนผู้ป่วยที่มากมายเหลือกำลัง ไม่นับว่าส่วนกลางสั่งงานที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนท้องถิ่นเข้ามาจำนวนมากตลอดเวลา กรณีของพวกคุณครูจะเห็นได้ชัด เมื่อดูตัวชี้วัดที่จำนวนหนังสือที่ผลิตได้หลังออกจากราชการจึงระลึกได้ว่า พวกเราเจ้าหน้าที่ราชการแต่ละคนถูกงานประจำทับถมจนไม่เป็นตัวของตัวเองมากมายเพียงใด ไม่นับว่าตัดความสามารถของพวกเราไปมากเพียงใด เป็นเช่นนี้มารุ่นต่อรุ่น คนรุ่นใหม่หลายคนมารับคำปรึกษาเพราะความคับข้องใจต่อระบบที่รังสรรค์งานมิได้ ฝ่าฝืนมิได้ และไม่มีความเป็นธรรม
นอกเหนือจากเรื่องผู้ป่วยได้รับการตรวจครบทุกคนทุกวันแล้วกลับไปนอนบ้าน อีกเรื่องหนึ่งที่มีคุณค่ามากคือ การตรวจผู้ป่วยเรือนร้อยซ้ำๆ เกือบทุกวัน ทำให้เราเห็นแพทเทิร์นของความเจ็บป่วยทางจิตเวชว่าเกิดได้อย่างไรซ้ำๆ อยู่เช่นนั้น กล่าวอย่างสั้นที่สุด โครงสร้างของความเจ็บป่วยทางจิตเวชเป็นผลรวมของปัจจัยด้านพันธุกรรม-การเลี้ยงดู-สังคมและสิ่งแวดล้อม
พันธุกรรมเป็นเรื่องชัดเจนและพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ แต่พันธุกรรมเป็นได้แค่เชื้อเพลิง หากไม่มีใครไปจุดชนวนเชื้อเพลิงย่อมไม่ปะทุ แล้วตามด้วยระเบิด
สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้จุดชนวนหลัก หากใช้กรอบประเด็นทักษะศตวรรษที่ 21 สี่เรื่องหลักที่พวกเรารับมือกันทุกวันมิใช่พีชคณิต ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ (ไทย) หลักภาษา (ไทย) ศีลธรรม (พุทธ) แต่เป็นเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง ตัวจุดชนวนให้พวกเราใกล้บ้ากันทุกวันนี้จึงเป็นโควิด-19 และโอไมครอน ความยากจนและความไม่ยุติธรรม โลกร้อนและฝุ่นควัน PM2.5
สุดท้ายคือความไม่มีประชาธิปไตย
การเลี้ยงดูเป็นประเด็นแน่ คือเนื้อหาหลักที่ตัวเองเขียนเพจตลอดมา นั่นคือเราควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้เขามีจิตใจแข็งแรงมากที่สุดเพื่อมีทักษะศตวรรษที่ 21 รับมือสี่ประเด็นหลัก ส่วนที่เป็นแกนกลางของการเลี้ยงดูคือเรื่องฟรอยเดียน
ฟรอยเดียน (Freudian) หมายถึงแนวคิดด้านจิตวิเคราะห์ทั้งหมดของฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856-1939) รวมไปถึงที่ลูกศิษย์ของเขาเขียนเพิ่มเติมในห้วงเวลาเดียวกัน กับที่มิใช่ลูกศิษย์ของเขาโดยตรงแล้วเขียนเพิ่มเติมในยุคหลัง ข้อเขียนเหล่านี้มาจากการสังเกตการณ์ผู้ป่วยมากที่สุด อะไรที่ฟรอยเดียนเขียนเอาไว้จะมีปรากฏในตัวผู้ป่วยของเราเมื่อนั่งดูพวกเขานานพอหรือมากพอ
ผมเขียนบทวิจารณ์การ์ตูนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 บุคคลที่เห็นคุณค่าของข้อเขียนคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี จาก รักลูกกรุ๊ป และ คุณเสถียร จันทิมาธร จาก มติชนสุดสัปดาห์ ยังมีบุคคลที่สามคือ คุณอธิคม คุณาวุฒิ จาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เขาเป็นคนแรกที่ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องข้อเขียนวิจารณ์การ์ตูน ไม่รู้เขาคิดอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ของข้อเขียนยุคแรกๆ วางอยู่บนฟรอยเดียน
คงเป็นการยากที่จะใช้เนื้อที่จำกัดนี้ชวนให้ท่านผู้อ่านรู้จักฟรอยเดียน เป็นจังหวะดีที่ทาง Doc Club&Pub ของ คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ และ คุณสุภาพ หริมเทพาธิป จัดฉายหนังเพลงฝรั่งเศสรุ่นเก่าของผู้กำกับและนักประพันธ์เพลงคู่หูคือ ฌากส์ เดอมี (Jacques Demy) และ มิเชล เลอกรองด์ (Michel Legrand) เรื่อง The Umbrellas of Cherbourg (Les Parapluies de Cherbourg, 1964) นำแสดงโดย แคเธอรีน เดอเนิฟ (Catherine Deneuve) ในวัย 20 ปีกำลังสวยสะพรั่งอย่างที่สุด
หนังน่ารักมากเสียจนหลังจากดูจบแล้วไปรื้อแผ่นดีวีดีที่ซื้อมาจากต่างประเทศของเขาสองคนมาดูต่ออีกสองเรื่อง ยังคงเป็นหนังเพลงทั้งสองเรื่องและได้ แคเธอรีน เดอเนิฟ นำแสดง นั่นคือ The Young Girls of Rochefort (Les Demoiselles de Rochefort, 1967) กับ Donkey Skin (Peau d’Âne, 1970)
จะเล่าเรื่องสุดท้ายให้ฟัง Donkey Skin หรือ เจ้าหญิงหนังลา เป็นหนังเพลงสร้างจากนิทานพื้นบ้านของ ชาร์ลส แปร์โรต์ (Charles Perrault, 1628-1703) แคเธอรีน เดอเนิฟ รับบทราชินีที่ตายไป ก่อนตายสั่งพระราชาว่า “ให้แต่งงานกับคนที่สวยกว่าข้าเท่านั้น” เอาเข้าไป
แต่ไม่มีใครสวยกว่าราชินี ปีนั้นใครจะไปสวยกว่า แคเธอรีน เดอเนิฟ ได้ คณะรัฐมนตรีกดดันให้พระราชาหาราชินีใหม่ให้ได้จะได้มีราชบุตรสืบสกุล พระราชาจึงไปปรึกษานักปราชญ์ ได้ความว่าใต้หล้ามีคนเดียวที่สวยกว่าราชินีคือพระธิดา – นั่น!
เมื่อนักปราชญ์เปิดตำราโบราณดู ตำราว่า “ลูกสาวทุกคนอยากแต่งงานกับพ่อ” – ว่าแล้ว
พระราชาจึงไปขอพระธิดาแต่งงาน จะเป็นใครไปได้นอกจาก แคเธอรีน เดอเนิฟ อีก แต่นางฟ้าแม่ทูนหัวของพระธิดาไม่ให้ จึงแนะนำพระธิดาให้ขอชุดเพริศแพร้วอลังการประหนึ่งทอจากเดือนและดาว จากพระราชา 3 ครั้ง ช่างตัดเสื้อพระราชาก็ตัดชุดมาให้สวมใส่ได้ทั้ง 3 ครั้ง ทำเอาพระธิดาเป็นปลื้มสุดๆ อยากแต่งงานกับพ่อจริงๆ คุณพ่อใจดีให้ทุกอย่างเลย
นางฟ้าแม่ทูนหัวจึงบอกให้ขอหนังลาวิเศษที่ขับถ่ายเป็นเงินตราของพระราชาซึ่งพระราชาหวงมาก พระราชาก็ตัดใจให้อีก สั่งลอกหนังลามาให้ลูกสาวสวมใส่ ครั้นลูกสาวสวมหนังลาแล้วก็ตัวสกปรกมอมแมมส่งกลิ่นจนใครเข้าใกล้ไม่ได้ ต้องไปอยู่คนเดียวในกระท่อมปลายนา
แล้ววันหนึ่ง แต่น แตน แต๊น เจ้าชายรูปงามเสื้อแดงแรงฤทธิ์ก็ผ่านมา แล้วออกประกาศขอสวมแหวนที่เก็บได้ให้แก่หญิงทุกนางในราชอาณาจักรเพื่อตามหาเจ้าของแหวน
เนื้อเรื่องยังดำเนินต่อไปอย่างยืดยาวจนกระทั่งเจ้าชายรูปงามได้แต่งงานกับพระธิดาสุขสันต์นิรันดร ส่วนพระราชาคว้าเอานางฟ้าแม่ทูนหัวของพระธิดาไปเป็นราชินีเฉย – นั่น!
ฟังเรื่องแล้วจะรู้สึกได้ว่านิทานพื้นบ้านช่างซ่อนประเด็นกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเอาไว้มากมาย ทั้งเรื่องลูกสาวอยากได้พ่อ เจ้าชายอยากสวมใส่เจ้าหญิง หรือมูลลาที่มีค่าดั่งทองคำ เอาเป็นว่าเรื่องเพศที่ฟรอยเดียนเขียนมากที่สุด และถูกโจมตีมากที่สุดมีปรากฏในเรื่องเล่าแต่โบราณของทุกชาติทุกภาษาก่อนฟรอยด์เกิดหลายร้อยปี จะว่าเป็นเหตุบังเอิญคงมิใช่
เราอาจจะไม่เชื่อฟรอยเดียนได้ แต่ที่แน่ๆ คือการเลี้ยงดูในวัยเด็กเป็นประเด็นแน่
ปี 2022 เข้าไปแล้ว พันธุกรรมแก้ไม่ได้ สังคมหมดทางแก้ไข เลี้ยงลูกให้ดีๆ เพื่อรับมือโลกให้ได้ครับ