สำนักพิมพ์ Bookscape ได้จัดพิมพ์หนังสือ การ์ตูนที่รัก ultimate edition ให้ 3 เล่มเรียบร้อยแล้ว ตั้งใจจะเขียนสเปเชียลฟีเจอร์เพื่อเล่าเบื้องหลังการทำงานร่วมกับอาจารย์ปกป้อง คุณวรพจน์ และน้องๆ ทีมบรรณาธิการให้อ่าน แต่ว่าอาจารย์ปกป้องชิงเขียนเผยแพร่ไปเสียก่อนด้วยความยาว 10 หน้า A4
หลังจากข้อเขียน 10 หน้านี้ยังมีเวทีพูดคุยระหว่างอาจารย์ปกป้องและตัวผมเองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหามากกว่าเนื้อหาของหนังสือ
มีประเด็นหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองยังพูดกันน้อยเกินไปเพราะเวลาหมดเสียก่อน คือเรื่องเอกสารอ้างอิง จึงเขียนบทความนี้ส่งมาให้คุณอธิคมเผยแพร่ในเพจและเว็บไซต์ของ way magazine ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ คุณอธิคมเป็นคนแรกที่ตามสัมภาษณ์ผมเรื่องเพราะอะไรถึงมาเขียนบทวิจารณ์การ์ตูนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน
ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการ์ตูนตั้งแต่โลกยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและไวไฟ ไม่มีกูเกิลหรือเซิร์ชเอนจินใดๆ ตัวเองอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงรายซึ่งไม่มีห้องสมุดระดับเอยูเอหรือบริติชเคาน์ซิลแบบที่กรุงเทพฯ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารอ้างอิงเพื่อเอาไว้ใช้เองในยามค่ำคืน
ปีนั้นๆ ยังมีหนังสือที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นน้อยมาก จำได้ว่าตัวเองเดินร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์และคิโนะคุนิยะทุกครั้งที่ไปกรุงเทพฯ ก็ยังหาได้ไม่มาก แต่ระหว่างที่หาอะไรเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้นั้นเองกลับไปพบหนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหญ่ยักษ์ที่เล่าเรื่องการ์ตูนดิสนีย์ วอร์เนอร์บราเธอร์ส มาร์เวลซูเปอร์ฮีโร่ และดีซีซูเปอร์ฮีโร่ ยืนอ่านในร้านก็เมื่อยมือ เพราะหนังสือหนักมาก ยิ่งอ่านก็ยิ่งเมื่อย เพราะพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเต็มไปหมด
ครั้นจะซื้อ พลิกดูราคาก็พบว่าแพง สนนราคาประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเล่ม
แต่เมื่อดูความหนาเล่มละประมาณเกือบ 1 นิ้ว หรือเกิน 1 นิ้วเล็กน้อย พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมัน 4 สี สวยสดทุกหน้าทั้งเล่ม แล้วเทียบกับราคาหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คในประเทศไทยจึงพบว่าราคามิได้แพงเท่าที่รู้สึก จะว่าไปออกจะราคาถูกด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับคุณภาพการจัดพิมพ์ ค่าเรื่องที่ได้จากการเขียนบทความเกี่ยวกับการ์ตูนต่อหนึ่งครั้งสามารถซื้อหาได้ก็ซื้อในทันใด
ในทันใดอยู่ไม่นาน รู้ตัวอีกทีมีหนังสืออ้างอิงเพื่อการเขียนบทความด้านการ์ตูนยามค่ำคืนในบ้านน่าจะประมาณ 100 เล่ม อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้เล็กน้อย แต่ละเล่มสนนราคาดังว่า ความหนาอย่างว่า และคุณภาพดีเลิศอย่างว่าทุกๆ เล่ม ถึงวันนี้ในบ้านมีตำราอ้างอิงการ์ตูนตะวันตกน่าจะครบทุกค่าย เรียกว่าดึกดื่นค่อนคืนสงสัยตรงไหนก็เดินไปเปิดดูได้
เวลาที่ผ่านมา มีตำราว่าด้วยการ์ตูนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ทั้งมังงะและอะนิเมะ ทั้งที่เล่าเรื่องการ์ตูนเรื่องเดียวโดดๆ หรือเล่าภาพรวมของการ์ตูนญี่ปุ่น ซื้อไปซื้อมานับได้เกือบ 20 เล่ม
ตำราเหล่านี้มีทั้งที่เล่าเรื่องเบื้องหลัง ดิอาร์ตออฟ (The art of…) กาลานุกรม (Almanacs) หรือสารานุกรม (Encyclopedias) กว่าจะรู้ตัวอีกทีรอบโลกก็มีกูเกิลแล้วเรียบร้อย คิดมากก็เสียดายเงินทั้งหมดที่จ่ายไปเป็นอันมาก เพราะจะว่าไปหลายๆ อย่างค้นเอาในกูเกิลก็น่าจะหาได้ แต่ว่าแม้จะรู้ดังนี้ก็หาได้หยุดซื้อไม่
เหตุเพราะการอ้างอิงจาก ‘บุ๊ค’ จะอย่างไรก็รู้สึกมั่นใจกว่าอ้างอิงจากเน็ต ใครจะเถียงอย่างไรถ้ามีอารมณ์ก็เดินไปเปิดค้นได้ ถ้าไม่มีอารมณ์ก็สามารถตอบกลับไปได้ว่าถ้าสงสัยก็ไปหาอ่านเอง (สิครับ) อย่างมั่นใจ
ประเด็นอยู่ที่ตรงนี้ เอาค่าเรื่องมาซื้อตำราพวกนี้ได้เพราะตัวเองเป็นหมอ รายได้จากหมอนั้นพอซื้อข้าวกินเหลือเฟือมิต้องใช้รายได้จากค่าเขียน ดังนั้นยิ่งเขียนมาก ได้ค่าเขียนมาก็เอาไปซื้อตำราได้มาก ยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเขียนสนุก
ที่สำคัญกว่าคือ ความอยากรู้มากขึ้นอีก พอเวลาผ่านไปนานๆ เซลล์สมองในกะโหลกศีรษะก็เชื่อมต่อกันได้เองเวลาเขียนหนังสือ เพราะว่ารู้ไปหมด เชื่อมเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งมิใช่เรื่องยาก เชื่อมดรากอนบอลไปที่ไซอิ๋วนั้นเป็นเพียงแค่ตอนเริ่มต้น เชื่อมสตาร์วอร์สไปที่ประชาธิปไตย หรือเชื่อมดาบพิฆาตอสูรไปที่ความยากจนเป็นของไม่ไกลเกินเอื้อม
นี่คือความเหลื่อมล้ำ
ผมรู้สึกมานานมากแล้ว จะว่าไปตั้งแต่เริ่มซื้อตำราอ้างอิงพวกนี้ ว่าเด็กไทยจำนวนมากไม่มีโอกาสอ่านตำราเหล่านี้ เด็กๆ ทำได้เพียงแค่ซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นอ่าน หรือดูหนังการ์ตูนโทรทัศน์สนุกๆ แต่ไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลังการ์ตูนแต่ละเรื่องเท่าไรนักนอกจากฟังคอลัมนิสต์บางท่านเล่า จนกระทั่งมาถึงยุคเน็ตฟลิกซ์ แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าเรารู้จักดิสนีย์มากขึ้น รู้จักมาร์เวลมากขึ้น รู้จักดีซีมากขึ้น แต่เด็กๆ ของเรายังไม่มีโอกาสอ่านกราฟิกโนเวลตะวันตกเล่มหนาๆ ที่เล่าเรื่องสังคม การเมือง สงคราม ความยากจน และชาติพันธุ์ต่างๆ มีกราฟิกโนเวลที่เล่าเรื่องเหล่านี้มากมายก่ายกองที่เอเชียบุ๊คส์ คิโนะคุนิยะ หรือในอะเมซอน
เด็กไทยหาซื้ออ่านเองเหมือนผมมิได้เพราะไม่มีเงิน ติดกำแพงภาษาอังกฤษ หาคนแปลไทยขายมิได้ กับเชื่อได้ว่าถึงแปลมาแล้วก็ขายไม่ออก เพราะราคาที่สูงมาก
อยากให้เด็กไทยได้อ่านอย่างที่ผมอ่าน แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไร
มิใช่แค่กราฟิกโนเวล อยากให้ได้อ่านตำราและเอกสารอ้างอิงเล่มหนาๆ เหล่านี้ที่เด็กของเราเข้าไม่ถึงด้วย หลายครั้งที่ผมเห็นนักศึกษานั่งถ่ายรูปทีละหน้าๆ ในร้านหนังสือ เห็นแล้วก็อดสงสัยมิได้ว่าที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไม่มีหนังสือเหล่านี้ให้ค้นคว้าหรืออย่างไร
หนังสือราคาสูง ห้องสมุดไม่เพียงพอ กำแพงภาษาที่สอง ติดขัดไปเสียทุกๆ เรื่อง
จบครับ ไม่มีทางไป เหมือนทุกๆ เรื่องนั่นเอง