เรื่องดีๆ อยู่ที่ปลายทาง (3) พื้นที่สาธารณะ: สังคมที่คับแคบสร้างวัยรุ่นที่คับแคบ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

​(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ถัดจากเส้นกราฟสองเส้นแรกซึ่งมีปลายทางที่อุดมคติและจริยธรรม เราเลื่อนมาดูเส้นกราฟเส้นที่สามคือเส้นร่างกายสู่สาธารณะ แสดงให้เห็นในภาพด้วยเส้นแนวนอนจากซ้ายไปขวา

จิตวิทยาพัฒนาการเริ่มต้นที่ศูนย์กลางเสมอ เรียกว่าเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered) 

เมื่อเด็กอายุ 0-3 ขวบ จักรวาลมีเพียงร่างกายที่ศูนย์กลาง ดังนั้นคำแนะนำสำหรับพ่อแม่คือสอนให้เขารู้จักดูแลร่างกายของตัวเองที่ศูนย์กลาง 

ใช้คำว่า ตัวเอง เมื่อหมายถึงตัวเองที่เป็นรูปธรรมมากกว่า อาจจะหมายถึงร่างกายที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าหรืออาจจะหมายถึงจิตใจที่เป็นจิตสำนึก (conscious) คือจิตใจส่วนที่อยู่บนผิวน้ำ รู้สึกและสัมผัสได้

ใช้คำว่า ตนเอง เมื่อหมายถึงตนเองส่วนที่เป็นนามธรรมมากกว่า ควรหมายถึงส่วนของจิตใจที่อยู่ใต้จิตสำนึก (unconscious) แม้เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่ามีอยู่ เช่น ปากอาจจะยิ้มแต่ไม่รู้ว่าใจตนเองนั้นมิได้ยิ้ม เป็นต้น กินความถึงส่วนที่ผูกกับตนเอง เช่น คุณค่า อุดมคติ จริยธรรม เป็นต้น

สำหรับเด็กเล็ก ศูนย์กลางมีเพียงร่างกาย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ดังนั้นเราสอนเขากินข้าวด้วยตัวเอง อาบน้ำตัวเอง และแปรงฟันตัวเองให้เรียบร้อย ซึ่งจะไม่มีวันเรียบร้อย เป็นเราต้องเสียเวลาช่วยเก็บรายละเอียดหลังกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่ก็เป็นเรื่องควรทำและต้องทำ เพราะเป็นการสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการ

ถัดออกมาจากร่างกาย เมื่อเด็กอายุ 4-6 ปีโดยประมาณ พัฒนาการเลื่อนออกมาจากร่างกายไปสุดที่ปลายนิ้ว นี่คือพื้นที่รูปวงกลมรอบร่างกายของตัวเองที่เขาควรดูแลได้ ดังนั้นสอนเขาดูแลพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรรอบร่างกายของตัวเองให้เรียบร้อย

เช่น เก็บของเล่นให้เรียบร้อย เก็บที่นอนของตัวเองให้เรียบร้อย เก็บจานชามของตัวเองไปล้างให้เรียบร้อย เป็นต้น

ที่ช่วงอายุนี้เท้าตั้งมั่นแล้ว มือและนิ้วใช้การได้ดีพอสมควรแล้ว ตัวอย่างสามตัวอย่างที่ยกมาเป็นเรื่องควรทำได้และมีคำแนะนำให้พ่อแม่สอนแล้วปล่อยเขาทำเอง หากไม่เรียบร้อยให้ลงไปสอนเขาเก็บรายละเอียดด้วยตัวเองจนกว่าจะเรียบร้อย เวลาที่เราเสียไปกับสองพื้นที่แรกคือร่างกายและรอบร่างกายนี้เป็นเวลาวิกฤติ (critical period) หากเราปล่อยเวลาล่วงเลยโดยไม่สอน จะสอนใหม่ภายหลังมักทำได้ยาก

พัฒนาการเลื่อนออกจากปลายนิ้วมือที่อายุประมาณ 7 ขวบสู่โลกภายนอก

เมื่อเด็กอายุ 7-12 ขวบเป็นอย่างช้า เราควรสอนเขาดูแลบ้านทั้งหลัง นั่นคือทำงานบ้านต่างๆ นานา เช่น ล้างจาน เก็บจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ตากผ้า เก็บผ้า รีดผ้า เทขยะ ทั้งนี้แล้วแต่คุณพ่อคุณแม่จะจริงจังมากเพียงใด ตัดงานจากแม่บ้านหรือหุ่นยนต์ให้พวกเขาได้ฝึกทำมากเพียงใด

งานบ้านมิใช่เรื่องสนุก เด็กเกือบทุกคนไม่ชอบทำเพราะเสียเวลาเล่น แต่บ้านที่ชาญฉลาดจะยืนยันคำสั่งให้ทำ เพราะความอดทนต่องานที่ไม่สนุก น่าเบื่อ และเสียเวลา มีคุณค่ามากกว่าที่เราจะปล่อยผ่าน เท่ากับปลูกฝังนิสัยอดทน แต่ที่ได้มากกว่านิสัยอดทนคือวงจรประสาทที่รองรับ Executive Function (EF) คือความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ควบคุมตนเองไปสู่เป้าหมาย รวมทั้งวงจรประสาทในสมองที่รองรับพฤติกรรมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification) 

เมื่อเด็กมีอายุพ้น 12 ขวบ บัดนี้สมองสามารถใช้ข้อมูลส่วนที่เป็นนามธรรมมาคิดวิเคราะห์ คือเวลาที่เขาพร้อมและต้องการดูแลพื้นที่สาธารณะ คือรอบบ้านและที่ไกลออกไป ทั้งสังคม ทั้งประเทศ ทั้งโลก และบางคนอาจจะทั้งจักรวาล นี่คือวันเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของมนุษย์

เราเรียกว่าวัยรุ่น

เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาพร้อมจะเข้าคิว ข้ามทางม้าลาย ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน ไม่ใช้มือถือในที่สาธารณะ และไม่ทิ้งขยะลงทะเล หากสังคมมีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ลุงมนุษย์ป้า บัดนี้ก้างขวางคอตัวใหม่เกิดขึ้นแล้วคือพวกเจน Z และจะตามด้วยเจนอัลฟ่าในอีกไม่นาน

แน่นอน สังคมที่คับแคบสร้างวัยรุ่นที่คับแคบ สังคมที่เห็นแก่ตัวสร้างวัยรุ่นที่เห็นแก่ตัว และสังคมที่ปากไม่ตรงกับใจสร้างสังคมศรีธนญชัยได้ด้วย  

 

อย่างไรก็ตามวัยรุ่นพัฒนาได้ พวกเขากำลังขัดแย้งกับตัวเองมากมายหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือขัดแย้งกับพ่อแม่ เรื่องที่สองคือขัดแย้งกับครูและระเบียบโรงเรียน แต่มีเรื่องที่สามด้วยคือขัดแย้งกับตัวเอง จะเป็นเอะอะมะเทิ่งไม่เกรงใจผู้คนที่กำลังต่อคิวซื้อเคเอฟซีข้างหลังหรือจะทำตามกติกาสังคม จะเป็นศรีธนญชัยหรือจะปากตรงกับใจแม้ว่าจะต้องขัดแย้งกับพ่อแม่ ครู หรือค่านิยมของสังคม

เหล่านี้กำหนดคุณค่าของชีวิต ในทิศทางตรงข้ามพวกเขาจะวางคุณค่าของชีวิตไว้ที่ตรงไหน พวกเขาเป็นผู้เลือก

 

จะเห็นว่าอุดมคติก็ดี จริยธรรมก็ดี พื้นที่สาธารณะก็ดี รวมทั้งคุณค่าของชีวิตมิได้เกิดขึ้นมาอย่างเรียบง่าย แต่เป็นการผจญภัยของตัวเองและตนเองมาตลอดเส้นทางตั้งแต่เกิด ปะทะกับพ่อแม่ ครู และสังคมตลอดเวลา  กว่าจะได้รูปร่างอย่างที่เป็นอยู่

หากปะทะกับพ่อแม่ ครู หรือคนอื่นในกะลา เราจะได้วัยรุ่นแบบหนึ่ง คุณค่าชุดหนึ่ง

หากปะทะกันมากพอจนกะลาที่ครอบไว้เปิดออก เราจะได้คุณค่าอีกชุดหนึ่ง เหล่านี้เป็นจิตวิทยาพัฒนาการ    

คำถามอาจจะมีเพียงว่า เราจะเปิดกะลาดีๆ หรือรอให้ระเบิด

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า