3 เล่มพ่อแม่ควรอ่าน เพื่อเป็นอิสระจากพันธนาการทางความคิดทั้งปวง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

มีนักข่าวคนหนึ่งถามผมว่าถ้าจะแนะนำหนังสือคู่มือพ่อแม่ให้พ่อแม่เมืองไทยอ่านสักเล่ม จะแนะนำเล่มไหน ผมตอบไปว่าจะแนะนำหนังสือสามเล่มของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี

ขอใช้เนื้อที่นี้อธิบาย

หนังสือ 3 เล่มนี้เป็นที่รู้จักกันดี จะอ่านเล่มไหนก่อนก็ได้ แต่แนะนำให้อ่าน เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ก่อน ตามด้วย 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 และ โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ งานทั้งสามเล่มนี้แปลไทยแล้วโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ซึ่งแปลดี เขียนเชิงอรรถดีมาก ที่ดีมากๆ คือเลือกใช้คำไทยแทนที่คำศัพท์วิชาการหลายคำได้ดีจริงๆ

เพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรอ่าน คำตอบคือถ้าท่านอ่านจบ ไม่มากก็น้อยท่านควรเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งปวงที่รัดความคิดของเราเอาไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและนำพาลูกหลานไปให้พ้นจากสังคมและการศึกษาที่เป็นอันตราย อันตรายจากความคิดและจิตใจที่คับแคบ ไปสู่โลกกว้างไร้พรมแดนในอนาคต ปัญหาคือพวกเราไม่เห็นอนาคต หนังสือสามเล่มนี้จะช่วยให้เห็น

หนังสือสามเล่มนี้มีเฉพาะเล่มที่สองที่หนาหนึ่งนิ้ว อีกสองเล่มหนามากกว่าหนึ่งนิ้ว จะอ่านเล่นๆ ก็ใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าจะอ่านไปคิดตามไปก็จะใช้เวลานานหน่อย ผมอ่านสลับกับการอ่านนวนิยาย จึงใช้เวลานานกว่าจะจบทั้งสามเล่ม และอยากบอกต่อว่าอ่านเถอะ สำนักพิมพ์ไหนแปล หาซื้อได้ที่ไหน หาข้อมูลได้ไม่ยาก

แม้ว่าจะบอกว่าควรอ่านเรียงกันสามเล่ม แต่ถ้าท่านต้องการทางลัด เอาแบบสรุปๆ ชัดๆ ง่ายๆ นำไปใช้ได้ทันทีก็ควรเริ่มที่เล่มที่สอง 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 แล้วท่านจะเข้าใจปัญหา 21 ข้อแห่งศตวรรษได้อย่างลึกซึ้ง ที่สำคัญคือเกิดความคิดคำนึงใหม่ ความคิดคำนึงใหม่ๆ นั้นเองคือที่อยากให้ได้กัน

ยกตัวอย่าง บทที่ 19 หน้า 345 การศึกษา

สองหน้าแรกของบทนี้ผู้เขียนทำให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยการเล่าเรื่องคนจีนในปี ค.ศ. 1018 ว่าพวกเขาล่วงรู้ได้ว่าจีนในปี ค.ศ. 1050 จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ลูกคนจนจะยังคงเป็นชาวนาและช่างทอผ้า ลูกคนรวยจะไปเรียนเป็นจอหงวนแล้วรับราชการ แต่สำหรับเด็กที่เกิดในปีนี้คือปี 2020 เราไม่สามารถทำนายอะไรเกี่ยวกับปี 2050 คือสามสิบปีข้างหน้าได้เลย

“สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนในวันนี้ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวกับโลกในปี ค.ศ. 2050 อีกแล้ว”

ความข้อนี้เราพูดแล้วพูดอีกก็ไม่เข้าหัวผู้กุมนโยบายการศึกษาประเทศไทย แต่ควรเข้าถึงหัวพ่อแม่ทุกๆ คน และถ้าเข้าถึงเข้าใจแล้ว ท่านจะเป็นอิสระจากสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนได้เลย แม้ว่าจะยังต้องส่งลูกไปโรงเรียนทุกวันเช่นเดิมก็ตาม

เนื้อหาทั้ง 21 บทนี้ครอบคลุมแทบทุกประเด็นรอบตัวที่เราเคยสงสัยและอ่านผ่านๆ จากเฟซบุ๊คหรือหนังสือเล่มต่างๆ ต้องยอมรับว่ายูวัลและนำชัยรวบทั้งหมดมาไว้ในหนังสือเล่มเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทที่ว่าด้วยศาสนาเป็นบทหนึ่งที่ดีมาก หากเรารู้ว่าผู้เขียนเป็นยิว ก็จะยิ่งช่วยให้เข้าใจเรื่องที่เขาเขียนมากขึ้น รวมทั้งอยากรู้นักว่าเขาจะเขียนถึงยิวว่าอย่างไร

เมื่ออ่านเล่มนี้จบแล้ว ค่อยถอยมาอ่านหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลกคือ เซเปียนส์ ก็ได้

ยูวัลเริ่มต้นหนังสือเซเปียนส์ที่ 13,500 ล้านปีที่แล้วด้วยปรากฏการณ์บิ๊กแบง คือ กำเนิดเอกภพ ตามด้วยการเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์

เวลาอ่านหนังสือทำนองนี้ หลายคนจะพยายามจดจำจำนวนปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น สองล้านปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น หรือ 75,000 ปีที่แล้วมีอะไรเกิดขึ้น ไปจนถึงมนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อไร การอ่านเพื่ออยากรู้ข้อเท็จจริงเช่นนี้มีไว้อ้างอิง แต่ถ้าเราอ่านเพียงเพื่อสร้างความคิดคำนึง เราจะอ่านอีกแบบหนึ่งและสนุกสนานกว่า โดยไม่ต้องใส่ใจข้อเท็จจริงมากนัก เอาแค่พอให้มีความคิดคำนึงเกี่ยวกับสองคำถามใหญ่ๆ ก็พอ

คนมาจากลิงจริงหรือเปล่า อย่าหัวเราะไป มีคนอีกมากที่เชื่อเช่นนี้ อย่าให้พูดว่าใคร

คนไทยคืออะไร มีสิ่งที่เรียกว่าไทยแท้หรือไทยบริสุทธิ์หรือไม่ อันนี้ก็อ่อนไหวเช่นกัน

หนังสือนี้มิได้ตอบคำถามนี้ตรงๆ เหมือนกับที่หนังสืออีกหลายเล่มมิได้ตอบคำถามนี้ตรงๆ แต่รายละเอียดที่ยูวัลเขียนนั้นมากพอที่จะช่วยให้เราวางคำถามที่ไม่สำคัญนี้ลง แล้วเลื่อนไปสู่บทต่อไปที่ยังมีคำถามที่สำคัญกว่ารออยู่อีกมาก

อ้อ บทที่ 1 นี้ยูวัลตั้งชื่อว่า An Animal of No Significance นำชัยแปลว่า สัตว์ที่ไม่สลักสำคัญ

เล่มที่สาม โฮโมดีอุส อ่านยากที่สุดจริงสมคำเล่าลือ และได้ยินว่านักอ่านชาวไทยบางคนถึงกับขว้างหนังสือเล่มนี้ทิ้ง ในทางตรงข้ามผมกลับเห็นว่านี่เป็นหนังสือปรัชญาที่อิงบนวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง อ่านแล้วแทบจะรู้แจ้งเอาเลยทีเดียว ไม่นับว่าหากเราตั้งใจอ่านสองเล่มแรกช้าๆ ก็แทบจะรู้แจ้งในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว

เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องแก่ระดับหนึ่งถึงอ่านโฮโมดีอุสสนุก อันนี้ไม่แน่ใจ

รู้แจ้งมิได้แปลว่าตรัสรู้ แค่แปลว่าหลายเรื่องเรารู้มาผิดๆ และหลายเรื่องเรายังไม่รู้อยู่ดี ความข้อนี้สำคัญ

การศึกษาที่ดีคือ ‘ทำให้เด็กๆ รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไร’ คล้ายๆ กับที่ยูวัลเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์มีข้อค้นพบข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือค้นพบความโง่เขลาของมนุษย์

ชวนอ่านหน้า 122 สิ่งมีชีวิตก็คืออัลกอริธึม เขียนดีมาก

สำหรับท่านที่ไม่เข้าใจคำว่าอัลกอริธึมหรือเข้าใจแล้วแต่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจถูกหรือเปล่าเหมือนผม นำชัยแปลสิ่งที่ยูวัลเขียนตอนนี้ได้ดีมาก อ่านง่าย เข้าใจ แต่ไม่รู้จะสรุปให้ฟังได้อย่างไร ได้แต่ชวนอ่านเอง

ยกตัวอย่าง รถยนต์ไร้คนขับของเทสล่าวันนี้สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางและเหตุฉุกเฉินถึงที่หมายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยอัลกอริธึมขั้นสุดยอด แต่รถคันนี้ไม่มี ‘ชีวิต’ อย่างแน่นอน มันหลบหลีกอันตรายได้มิใช่เพราะความกลัวตายแน่ๆ

คำถามคือเวลาไส้เดือนหนีเรา แม้กระทั่งมดหนีเรา หรือคำถามชวนให้ไม่สบายใจ เช่น หมูในคอก ไก่ในเล้า วัวในฟาร์ม ที่ถูกเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตสมัยใหม่ แน่ใจหรือว่าพวกมันกลัวเป็นและเสียใจเป็น

หากจะถามหาคู่มือพ่อแม่ดีๆ สักชุด ผมแนะนำสามเล่มนี้ครับ

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า