เต้านมแห่งชาติ: เต้านมต้องกินต้องใช้ ต้องพักผ่อน และดูเน็ตฟลิกซ์บ้าง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

(อ่านบทความ เต้านมตอน 1 ‘โลกทั้งใบเริ่มต้นที่เต้านม’)

เมลานี ไคลน์ แบ่งพัฒนาการของเด็กทารกขวบปีแรกออกเป็น 2 ช่วง คือช่วง 6 เดือนแรก เรียกว่า พารานอยด์ชิซอยด์ (paranoid-schizoid state) และช่วง 6 เดือนหลัง เรียกว่า ดีเพรสสีฟ (depressive state)

ท่านที่พอรู้คำศัพท์อาจจะรู้สึกได้ว่าเรากำลังเขียนเรื่องน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วมิได้น่ากลัวอะไร บางเรื่องที่ไคลน์เขียนถูกวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านสมองหักล้างไปแล้ว แต่บางเรื่องก็ยังคงอยู่ บทความวันนี้ถือเสียว่าอ่านเอาสนุก รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม

แต่ว่าผู้ป่วยวัยรุ่นกรีดข้อมือมีมากขึ้นทุกวัน ไม่น่ากลัวหรืออย่างไร?

กลไกทางจิตที่ดึกดำบรรพ์มากอันหนึ่งเรียกว่า การแบ่งแยก (splitting) กลไกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 6 เดือนแรกของชีวิตเมื่อทารกพบว่าวัตถุหนึ่งมีทั้งส่วนดีและส่วนเลว เขาจะแบ่งแยกหรือสปลิ๊ตวัตถุนั้นออกเป็นสองชิ้นอย่างเด็ดขาด เรียกว่า วัตถุดีและวัตถุเลว (good object & bad object)

จากนั้นทารกจะนำเข้าวัตถุดี (introjection) แล้วโยนออกวัตถุเลว (projection) สู่โลกภายนอก หากวัตถุเลวนั้นเลวมาก ทารกจะงัดกลไกทางจิตลำดับที่สองขึ้นมาใช้ ด้วยการแบ่งแยกหรือสปลิ๊ตวัตถุเลวนั้นออกเป็นวัตถุเลวชิ้นย่อยๆ หลายชิ้นแล้วโยนออกไปทั้งหมด  นั่นทำให้โลกไม่น่าอยู่มากขึ้นทุกที มีผู้ปองร้ายมากหน้าหลายตาเต็มไปหมด (multiple prosecutors)

เต้านมคือวัตถุดีในตอนแรกๆ ก่อนที่ฟันจะขึ้น มันเขี้ยว ขบกัด แล้วพบว่าเต้านมหนีตัวเองได้ บางทีเต้านมตีตัวเองได้ด้วย ตอนนี้เต้านมเป็นวัตถุเลวแล้ว

แต่เต้านมเป็นวัตถุที่ทารกขาดมิได้ รักสุดใจไม่มีฉุกเฉิน เต้านมจะเป็นวัตถุเลวอย่างไรก็รับได้ แต่ก่อนที่จะรับได้ ทารกต้องงัดกลไกทางจิตลำดับที่สามขึ้นมาใช้ ด้วยการเทิดทูนบูชาเต้านมอย่างคลั่งไคล้ใหลหลงเหนือเหตุผลทั้งปวง (idealization) แต่เอามาครอบครองคนเดียวมิได้ จะไม่เอาเลยก็มิได้ นำไปสู่ความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดวัตถุที่ชื่อว่าเต้านม (ambivalence)

ถึงตอนนี้ทารกมีวัตถุดีอยู่ภายใน มีวัตถุเลวที่แสนดีอยู่ภายนอก ทารกสามารถพัฒนาต่อไปได้แล้ว แต่โลกแบบนี้ไม่เสถียร เหตุที่โลกไม่เสถียรเพราะเต้านมนั้นเองที่ไม่เสถียร สรุปแล้วแม่ดีหรือไม่ดีกันแน่ แม่เกลียดเราหรือรักเรากันแน่ ไปจนถึงเราควรกำจัดแม่หรือรักษาแม่ไว้กันแน่ ความรู้สึกที่ไม่เสถียรเพราะมีแม่ที่ไม่เสถียรนี้ฝังอยู่กับทารกไปอีกนานจนถึงวัยรุ่น

วันหนึ่งเมื่อแม่ด่า แต่เพราะความรักและบูชาแม่นั้นสูงส่งเกินกว่าปกติ เขาจึงตวัดคัตเตอร์เข้าหาตนเองแล้วเริ่มกรีดข้อมือ

หากได้ดูผู้ป่วยวัยรุ่นกรีดข้อมือนานๆ จะรู้ว่าวัยรุ่นเหล่านี้ไม่เจ็บ พวกเขาสามารถเฉือนข้อมือเป็นริ้วๆ ได้ตั้งแต่ 5 นาทีถึงครึ่งชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดที่แผลเลย เหตุเพราะความเจ็บปวดในจิตใจรุนแรงมากกว่ามาก

เขาจะหยุดเมื่อรู้สึกเจ็บที่แผลเท่านั้นซึ่งใช้เวลาต่างๆ กันแล้วแต่ระดับพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น วัยรุ่นบางคนใช้คัตเตอร์สลักชื่อของตนเองบนท้องแขนได้จนสำเร็จ เราเรียกสภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นตอนนี้ว่า สภาวะแข็งกระด้าง (stifling) เกิดขึ้นเมื่อความรู้สึกผิดที่เกลียดแม่สะเทินกับความรู้สึกเทิดทูนบูชาแม่อย่างล้นเหลือ

แล้วพ่อแม่สมัยใหม่ก็ชอบตั้งชื่อยาวๆ ประเสริฐว่ายาวแล้ว ยังจะมีประเสริฐศักดิ์

ช่วง 6 เดือนหลัง กลไกการแบ่งแยกเริ่มอ่อนตัวลง ทารกเรียนรู้ว่าเต้านมเป็นวัตถุหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกมิได้ ไม่ว่าตนเองจะกัดทึ้งอย่างไรเต้านมก็ไม่เคยถอยหนี ความรักของเต้านมชนะทุกสิ่งอันนำไปสู่การรับรู้ว่าเต้านมมีทั้งดีและเลวอยู่ในวัตถุชิ้นเดียวกันเป็นธรรมดา ในทำนองเดียวกันตนเองคืออีโก้ (ego) ก็มีทั้งดีและเลวผสมกันอยู่ด้วย

ส่วนที่เลวของอีโก้จะเป็นมูลเหตุให้ตนเองสร้างซูเปอร์อีโก้ (superego) ขึ้นเพื่อจัดการส่วนที่เลวนี้ (แนวคิดเรื่องซูเปอร์อีโก้เกิดขึ้นเมื่อไรจะมีมากกว่าหนึ่งแนวคิด) ซูเปอร์อีโก้ทำหน้าที่กด (depress) ส่วนที่เลวให้เข้าที่เข้าทาง ระหว่างกระบวนการนี้ทารกจะรู้สึกผิดและโศกเศร้าเหตุเพราะว่าเต้านมไม่เคยทอดทิ้งเขา ทารกจัดการความรู้สึกผิดและโศกเศร้านี้ด้วยการรับรู้โลกแห่งความเป็นจริงตอนสิ้นสุดขวบปีแรกเมื่อพบว่าเต้านมเสถียรอย่างยิ่งและเป็นที่ไว้ใจได้ (trust)

เขียนมาตั้งยาวแปลไทยเป็นไทยว่าอย่างไร

เมื่อทารกฟันเริ่มขึ้น หรือโยเยงอแงด้วยเหตุอื่นใด ที่คุณแม่ควรมีคือความเสถียร (stable) มิใช่ทอดทิ้งหรือฟาดเขากลับ ด้วยวิธีนี้เขาจะไม่แบ่งแยกแม่ออกเป็นสองร่างคือนางฟ้าและแม่มด หลังจากนั้นแม่ยังคงเป็นแม่ที่เสถียรต่อไปจนสิ้นสุดขวบปีแรก ทารกจะไม่โทษตนเองที่เขาเป็นต้นเหตุให้แม่ใกล้บ้า และเมื่อพบว่าอย่างไรแม่ก็ไม่บ้า มีความเสถียรเป็นที่ไว้วางใจได้ เขาก็จะไว้ใจแม่และเสถียรตาม

มิใช่เอะอะก็กรีดข้อมือ คือพยาธิสภาพของ 6 เดือนแรก

หรือเอะอะก็โทษตนเอง คือพยาธิสภาพของ 6 เดือนหลัง

กลับมาที่ภาครัฐ รัฐมีหน้าที่สร้างระเบียบสังคมที่แม่ทุกคนไม่ต้องเป็นบ้าเพราะการเลี้ยงลูก เงินไม่พอ เวลาไม่มี มิหนำซ้ำคุณหมอประเสริฐยังเรียกร้องให้เล่นกับลูกทุกวัน อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกคืน 

อะไรที่เขียนมา 2 ตอน ใช้คำว่าเต้านมเป็นหลัก ขอให้ทราบว่าแม่ที่ไม่มีเต้านมหรือน้ำนมมิได้มีความผิดในตนเอง เต้านมเป็นเพียงสัญลักษณ์ (symbol) สามารถหมายถึงแม่ พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือพี่เลี้ยงสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ตั้งใจจริงเป็นแม่ทดแทน (surrogate mother) คนทุกคนสามารถเป็นเต้านมได้ด้วยกันหมดทั้งสิ้น

เต้านมต้องกินต้องใช้ ต้องการการพักผ่อน และดูเน็ตฟลิกซ์บ้าง เราจึงเรียกร้องให้พัฒนาสวัสดิการหลังการคลอดที่ดีที่สุดสำหรับแม่   

และพ่อ ซึ่งจะเป็นผู้หารสองงานทั้งหมดได้ดีที่สุด

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า