เพราะอะไรจึงตั้งชื่อคอลัมน์ว่า ‘จากฟรอยด์ถึง EF และทักษะศตวรรษที่ 21’ เพราะเพียงข้อความนี้ข้อความเดียวเขียนบทความได้ทั้งปีด้วยการเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ
จากนาฬิกาถึงทักษะศตวรรษที่ 21
จากเสือดำถึงทักษะศตวรรษที่ 21
จากปิดสนามบินสุวรรณภูมิถึงทักษะศตวรรษที่ 21
จากคนหายกลางเมืองถึงทักษะศตวรรษที่ 21
จากไฟป่าภาคเหนือและคนตาย 7 คน ถึงทักษะศตวรรษที่ 21
พอเท่านี้ก่อน บรรณาธิการจะค้อนควักด้วยได้ตีกินมาแล้ว 5 บรรทัด หากจะให้คัดลอกและวางในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้หลายหน้าโดยไม่ยาก
จากมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนหลายคนถึงทักษะศตวรรษที่ 21
อ้าว เผลอหลุดไปอีก 1 บรรทัด มีเยอะมาก
ลำพังเรื่อง ความรับผิดรับชอบ หรือ accountability เพียงเรื่องเดียวบ้านเราก็จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไปได้เรื่อยๆ จะเผลอทำลายโบราณสถานกันอีกหลายหลัง เป็นมานานและเป็นต่อไป
กล่าวคือไม่มีใครต้องรับผิดรับชอบอะไรเลย คุยกันพอให้มีบันทึกการประชุม แล้วเรื่องจะผ่านไป
ความรับผิดรับชอบหรือ accountability เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตหรือ Life Skills ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของทักษะศตวรรษที่ 21
ชีวิตที่ไม่ต้องรับผิดรับชอบการกระทำของตนเองเลยจะไม่พัฒนา เช่น ลูกชายคนหนึ่งเล่นพนันจนหมดตัวแต่แม่แอบให้เงินจุนเจืออยู่เสมอ เมื่อเงินแม่หมดก็กดดันลูกคนอื่นๆ ให้ช่วยเหลือลูกชายนักพนันอันเป็นที่รัก บางครั้งมีคดีก็เป็นพ่อซึ่งพอรู้จักกับใครบางคนช่วยวิ่งเต้นจนออกมาได้ในเวลาไม่นาน เช่นนี้ชีวิตของเจ้าตัวจึงมิได้พัฒนาอะไร ได้แต่เสวยสุขไปเรื่อยๆ
อ้าว ดีนี่ ไม่พัฒนาอะไรแล้วเสวยสุขไปเรื่อยๆ
คนรอบข้างมักให้เหตุผลแก่ตัวเองว่าเท่านี้ก็ดีแล้วล่ะ พวกเราเสียสละจุนเจือเขาไปเรื่อยๆ ได้อยู่ เราคนไทยรู้รักสามัคคีและมีน้ำใจ แต่หารู้ไม่หรือไม่ก็ไม่ยอมรู้ว่าเขยและสะใภ้ซึ่งช่วยทำงานหาเงินมา ต้องจ่ายเงินไปเพื่อช่วยนักพนันคนนี้ด้วย แทนที่จะเอาเงินไปส่งเสียลูกหลานของตนให้ได้รับการศึกษาดีๆ เช่น ไปจ่ายค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ดีๆ เป็นต้น
เมื่อลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของแม่ไม่ต้องทำอะไรก็มีกินมีเงินใช้เล่นพนันหาความสุขไปวันๆ วันหนึ่งอาการเสพติดก็ขยายมาถึงยาบ้าและผงขาว มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม บัดนี้เขาทำตัวเป็นไซฟอน อะไรนะ กาลักน้ำ ใช่แล้วเขามิได้ลักเองแต่ใช้อีกามาลักเงินของพี่น้องและเขยและสะใภ้และลูกหลานออกไปเรื่อยๆ ด้วยแรงสูบที่มากมายกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ
เงินถูกไซฟอนไป จำนวนคนยากจนมากขึ้นทุกที พนักงานออฟฟิศไม่พอกิน รับเงินเดือนหมื่นห้าไปทั้งชาติก็ไม่พ้นห้าหมื่น แรงงานรายวันรับสามร้อยไปทั้งปีก็ไม่มีเงินเหลือ สุดท้ายแม้แต่เงินออมที่ไปขอคืนมิใช่ขอทานก็ไม่มีอีกเหมือนกัน เหตุเพราะใครบางคนยังใช้โปรแกรม DOS
ว้าย ด๊อซ! อย่าบอกนะว่าพวกเธอยังใช้เวิร์ดจุฬา ๒.๐ กับโลตัส ๑ ๒ ๓
(เรียนบรรณาธิการ ใช้เลขไทยเดิมบริเวณนี้ด้วยครับ)
บริเวณนี้คือบริเวณไหน คือบริเวณที่ปักป้ายเขตราชการห้ามเข้า ด้วยป้ายนี้หรือด้วย ‘ความรู้สึก’ นี้ชาวบ้านหรือประชาชนในพื้นที่มักจะถอยออกไป บางทีถอยออกไปด้วยความเคารพป้าย บางทีถอยออกไปด้วยความกลัวป้าย และบางทีถอยออกไปด้วยความไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม
เช่น ป่าเป็นของราชการ ห้ามเข้า ห้ามเก็บของป่า ห้ามทำไร่ และห้ามเผา เพียงเท่านี้ชาวบ้านที่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เก็บเห็ดถอบมากินและแบ่งปัน ทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และเผาด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพกว่าการสั่งทำป้ายและคัตเอาท์ห้ามเผาติดทุกหัวถนน ชาวบ้านเหล่านี้ถูกกีดกันออก กลัว และเริ่มทำตัวธุระไม่ใช่ ควันไฟป่าจึงมืดมัวบังป้ายห้ามเผานั้นเสียสิ้นทุกปี ปีต่อปี นับสิบปี โดยที่ไม่มีใครรับผิดรับชอบอะไรเลย
เคยเก็บก้านบุหรี่เดี๋ยวนี้เลิกเก็บ เคยเผาไล่รังต่อแล้วดูไฟฟืนให้เรียบร้อยเดี๋ยวนี้เสร็จงานแล้วไปไม่ดูแล เคยเผาไร่ขนาดย่อมเสียงไม้แห้งแตกกระเซ็น เพียะๆๆๆๆๆๆ จนครอบคลุมพื้นที่ที่กำหนด เดี๋ยวนี้จุดไฟแล้วไป เหตุหนึ่งเพราะกลัว อีกเหตุหนึ่งเพราะธุระไม่ใช่
ธุระนั้นใช่จะเป็น ทักษะการทำงานเป็นทีม หรือ collaboration อันเป็นส่วนหนึ่งของทักษะเรียนรู้ หรือ Learning Skills ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของทักษะศตวรรษที่ 21
เช่น นักเรียนได้เรียน PBL (Project Base Learning) เรื่องป่าไม้ของเราด้วยการเดินป่าและเก็บของป่ามาศึกษาแม้กระทั่งนำกลับบ้านเป็นที่ระลึก นักเรียนไม่เพียงมีทักษะการทำงานเป็นทีมแต่ยังก่อร่างสร้างตัว ‘สำนึกของการมีส่วนร่วม’ และจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคนรักป่าในอนาคต
ลักษณะการศึกษาเช่นนี้ทำได้ที่ชายทะเลเพื่อสำนึกรักชายหาดและทะเล ทำได้ที่ตะเข็บชายแดนเพื่อสำนึกรักท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้าน ทำได้ที่กรุงเทพมหานครเพื่อสำนึกรักถนนหนทางและท่อน้ำไม่มีฝาปิด ให้เด็กๆ เรียนโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการทำงานเป็นทีมเสียตั้งแต่แรก จะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม
บ้านเก่าหลังหนึ่งที่จังหวัดแพร่1 ศาลเจ้าโบราณแห่งหนึ่งที่ใจกลางกรุงเทพฯ2 จะได้มีประชาคมช่วยกันดูแลและหวง มิใช่พลาดท่าเสียทีปล่อยใครก็ไม่รู้มารื้อทำลายเฉย
ความไม่รับผิดรับชอบ ความไม่สามารถมีส่วนร่วม เป็นจุดอ่อนของบ้านเราเสมอมา ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาที่หล่อหลอมให้มาถึงวันนี้ และจะเป็นเรื่อยไปหากไม่ปฏิรูป
1 ใครรับผิดชอบ? ปมรื้อบ้านเขียว 127 ปี จ.แพร่
2 ประชาชนร่วม #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนจุฬาฯ รื้อถอน