วิวาทะเรื่องกล้อนผมเด็กนักเรียนปี 2020 นี้ ดูเหมือนจะดุเดือดและกินเวลายาวนานมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องดี เถียงกันเยอะๆ เลย เผื่อมีความหวัง
เรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายนักเรียน รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ นานา เป็นเรื่องที่สมควรคุยกันให้มาก อย่าง ‘ผู้เจริญ’ ซึ่งเป็นคำที่ติดอยู่ในคำขวัญของโรงเรียนจำนวนมาก
เหตุผลทั้งสองฝ่ายพูดกันจนไม่รู้จะมีอะไรพูดอีกแล้ว
ฝ่ายหนึ่งว่าเป็นการฝึกเด็กๆ ให้อดทนต่อระเบียบ
ฝ่ายหนึ่งว่าผิดกฎหมาย ชัดดี
เรื่องเส้นผมนี้ ตัวเองเขียนตั้งแต่ครั้งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ช่วงพุทธทศวรรษ 2530-40 เวลาผ่านมาเกือบ 30 ปี เราทะเลาะกันเรื่องเดิม นับว่าศิวิไลซ์จริงๆ
ผมถูกตีหน้าห้องเรียน 6 ครั้งเรื่องผมยาว ตอนนั้นอยู่ ม.ศ.3
นายประเสริฐเนี่ยนะ นักเรียนเก่งของทุกชั้นปี (ก็เกินไป สอบได้ที่ 2 ก็มี) เด็กดีของอาจารย์ทุกๆ คน (เขากระแนะกระแหน ไม่จริงหรอกครับ) ถูกตีหน้าห้องเรื่องผมยาว
ผมจำหน้าครูที่ตีได้ จำชื่อได้ด้วย เป็นครูสอนหนังสือที่เก่งคนหนึ่ง ปีนั้นน่าจะดำรงตำแหน่งฝ่ายปกครองด้วยหากจำไม่ผิด ท่านรู้จักผมดี ใครบ้างจะไม่รู้จัก (ว่าเข้านั่น)
“น้องประสิทธิ์ก็ด้วยหรือ” ท่านทัก อมยิ้ม
“เออ น้องประสิทธิ์นั่นแหละ” ผมคิดในใจ
จะว่าไปข้อเขียนเรื่องผมยาวนี่ คุณหมอประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนขึ้นเพจแล้ว ขณะเขียนต้นฉบับนี้เขียนไปแล้ว 2 ตอน หัวข้อว่า ‘โควิด 49 และ โควิด 49/1’ น่าจะเป็นข้อเขียนสองชิ้นที่ดีที่สุดวันนี้ ใครพลาดลองกลับไปเสิร์ชดู พี่ประสิทธิ์เป็นนักอ่าน เขียนแต่ละเรื่องมีหลักฐานแบบนักวิทยาศาสตร์เสมอ
ผมจำได้ว่าวันนั้นอาจารย์ยิ้มน้อยๆ ทำท่าเหมือนไม่อยากตี แต่ระเบียบต้องเป็นระเบียบ เพื่อนๆ โดนตีผมก็ต้องโดนตี ละเว้นเพราะเป็นเด็กดีหรือเรียนเก่งนั้นมิได้
ป้าบ ป้าบ ป้าบ ป้าบ ป้าบ ป้าบ ตีแรงมาก สุดแขน
ความรู้สึกแรกคืออับอาย มิใช่พวกถูกตีจนชินนี่นา เพื่อนฝูงที่สนิทกันหลายคนเป็นพวกถูกตีจนชิน พวกนั้นยิ่งตียิ่งหัวเราะ หลายปีถัดมาผมจึงรู้ว่าเป็นปฏิกิริยา negative reinforcement การวางเงื่อนไขทางลบ ยิ่งตียิ่งทำ พวกคุณครูน่าจะได้เรียนกันครั้งเรียนครูนะครับ
แต่เชื่อได้ว่าอาจารย์ที่สอนเรื่องนี้สอนไม่รู้เรื่อง
นอกจากอับอายแล้วยังโกรธแค้น อับอายเพราะส่วนหนึ่งของตัวตนถูกทำร้าย หลายปีต่อมาจึงรู้ว่าฟรอยด์เรียกว่า ego (อีโก้) และบ้างเขียนว่าเป็น self (ตัวตน) ในเวลาต่อมา อีกหลายปีถัดมาจนกระทั่งเรียนจิตเวชศาสตร์แล้ว มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยแล้ว จึงเข้าใจว่าอีโก้หรือตัวตนที่ถูกทำร้ายก่อพยาธิสภาพทางจิตอะไรบ้าง
มิน่า ป่วยกันทั้งประเทศ
ความโกรธแค้นน่าจะเกิดจากฮอร์โมน เขาเล่าว่าผมโกรธคนน้อยมาก พวกที่ทำให้โกรธได้นี่เลวๆ ทั้งนั้น ส่วนใหญ่นั่งอยู่ในห้องประชุม แต่วันที่ถูกตีนั้นโกรธทั้งที่อาจารย์ที่ตีก็เป็นครูที่ดี
แต่ว่าครูทำผิด พอๆ กับที่ผมทำผิด
บางที ตรงนี้คือประเด็น เราผิดทั้งคู่ เพราะอะไร เพราะระเบียบมันผิดก่อนตั้งแต่แรก ปีที่เกิดเหตุนั้นเป็น พ.ศ. 2510 กว่าๆ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่นาน ก่อนการเผาวรรณคดีกลางสนามโรงเรียน แต่ไม่ก่อนเวลาที่ ธงชัย วินิจจะกูล และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขึ้นเวที เวลานั้นผมเป็นฝ่ายขวา ครูรัก ก็ต้องฝ่ายขวาดิ
ระเบียบผิดๆ ใช้กันมาอีกหลายสิบปีโดยไม่แก้ไข สร้างทั้งอภิสิทธิ์และสร้างความทุกข์ยากให้แก่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถึงวันนี้ นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินจินตนาการจริงๆ นะครับ ไม่ขำหรือขนหัวลุกกันบ้างหรือ
ตัดผมสั้นแล้วจะไม่มีอภิสิทธิ์? ผมว่าตัวเองได้อภิสิทธิ์มากมายในจังหวัดทั้งที่เป็นแค่หมอ
มนุษย์สร้างระเบียบ ต่อให้ระเบียบนั้นสลักในหินแต่ถ้ามันผิด เป็นหน้าที่ของผู้มีปัญญาต้องแก้ไข หรือว่าเราไม่มีผู้มีปัญญาเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก หรือว่าเราจะเป็นมนุษย์ยุคหินจริงๆ จึงบูชาหินสลักระเบียบข้อนี้ไว้อย่างมั่นคงเรื่อยมา
จะสู้กับแบบนี้ไปอีกห้าสิบปีก็ทำได้ แต่ความเสียหายต่อสติปัญญาของเด็กไทยรุ่นต่อรุ่นจะไม่จบ สังคมและประเทศชาติกำลังต้องการคนรุ่นใหม่
คนสูงอายุมีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ มิใช่มีหน้าที่ทำลาย เลิกเถอะครับ