ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ไม่ชัดเจนว่าจะมีการปิดโรงเรียนใน 28 จังหวัดมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามจะปิดหรือไม่ปิดก็อาจจะมิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการไปโรงเรียนไม่มีประโยชน์อะไรมากนักอยู่ก่อนแล้ว
เชื่อได้ว่าหากมีการปิดโรงเรียน 1 เดือนตลอดเดือนมกราคมจริง โรงเรียนต่างๆ คงจะใช้วิธีเรียนออนไลน์เช่นเดิม ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรมากมายนักอีกเช่นกัน นี่ไม่เพียงเป็นยุคทองของบ้านเรียนหรือโฮมสคูล แต่อาจจะเป็นยุคไม่มีทางเลือกเสียมากกว่า
น่าจะถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก ‘บ้านเรียน’ หรือ ‘เรียนที่บ้าน’ เอาไว้บ้าง
ก่อนอื่น ทบทวนสั้นๆ ว่าการศึกษาสมัยใหม่เราไม่มุ่งเน้นความรู้ เพราะอะไรที่เรียนไปจะใช้ไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ที่เราอยากให้ลูกของเรามีคือทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที เพราะว่าเป็น 3 ทักษะที่เขาจะได้ใช้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตที่เหลือ
การให้ได้มาซึ่ง 3 ทักษะนั้นต้องได้จากการลงมือทำทั้งนั้น ไม่มีหรอกที่จะได้จากการท่องจำ ดังนั้นไม่มากก็น้อยเราจำเป็นต้องตัดเวลาที่ถูกล็อคดาวน์แล้วเรียนออนไลน์มาให้เด็กๆ ได้ทำงานอะไรบางอย่าง แล้วเริ่มต้น ‘เรียนหนังสือ’ จากที่ตรงนั้น
หรือเริ่มที่เด็กสนใจอะไร อะไรก็ได้ จากไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ได้ทั้งนั้น ไวรัสโควิด-19 ไดโนเสาร์ ไออ้อนแมน หรือดาวหาง ได้ทั้งสิ้น แล้วเริ่มตรงนั้นโดยไม่ต้องไปสนใจว่าเด็กรู้อะไรบ้าง ให้สนใจว่า 1. เด็กใฝ่รู้เพียงไร 2. กระตือรือร้นจะเรียนรู้ด้วยตนเองมากเพียงใด และ 3. ค้นหาความรู้เองได้หรือไม่ เหล่านี้คือทักษะเรียนรู้อย่างง่ายๆ
อีกทีนะครับ 1. เด็กใฝ่รู้ไออ้อนแมนเพียงไร 2. กระตือรือร้นจะเรียนรู้ไออ้อนแมนด้วยตนเองมากเพียงใด และ 3. ค้นหาความรู้เกี่ยวกับไออ้อนแมนเองได้หรือไม่
คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ประสาการเรียนที่บ้านเลยอาจจะมอบหมายให้เด็กทำโครงงานแก้ปัญหาสักเรื่องในช่วงถูกล็อคดาวน์ เลือกเรื่องที่เป็นปัญหาของบ้านหรือละแวกบ้าน เช่น จะแก้ปัญหาขยะล้นซอยได้อย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้เราต้องกำหนดส่งงานที่ชัดเจน เช่น ส่งงานวันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นต้น แล้วปล่อยเด็กทำด้วยวิธีของเขาเอง เราทำหน้าที่แค่ชวนคุยก็พอ และคอยหาอุปกรณ์ หรือเปิดทางสะดวกให้เขาบ้างเป็นใช้ได้
ด้วยวิธีนี้เขาจะได้ทักษะเรียนรู้และทักษะชีวิตไปพร้อมกัน เพราะโครงงานที่มีกำหนดส่งงานจะช่วยให้เขารู้จักกำหนดเป้าหมาย วางแผน ลงมือทำ ปรับแผน แล้วทำสำเร็จตามเวลา
นี่คือทักษะชีวิต ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสนใจว่าผลงานของเขาจะเป็นอย่างไร จะดีเยี่ยมยอดฉลาดล้ำหรือทำไม่ได้ในชีวิตจริงอย่างไรไม่ต้องใส่ใจทั้งนั้น เขาขวนขวายทำงานเองเป็นใช้ได้
งานที่เขาสนใจ งานที่เขาชอบทำ โครงงานที่เราช่วยกันตั้งขึ้น เหล่านี้ต้องการเครื่องมือไอทีในการค้นคว้าหาข้อมูล ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ลงทุนกับไอทีในบ้านให้ดีเท่าที่จะได้ เพราะเรื่องนี้สำคัญ จากนั้นช่วยเขาคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มา เช่น ชวนคุยว่าที่เขาค้นมาน่าเชื่อถือเพียงไร ตั้งคำถามว่าเขาค้นมาจากแหล่งไหน เขาได้ค้นมากพอที่จะพบแหล่งอื่นที่เขียนต่างออกไปหรือยัง เขาควรเชื่อข้อมูลชุดไหนดี เพราะอะไร การชวนคุยถึงคำถามเหล่านี้จะไม่มีผิดถูก เราทำหน้าที่เพียงชวนคุยและส่งเสริมให้เขาค้นกับคิดให้มากเท่านั้นเอง นี่คือทักษะไอทีอย่างง่ายๆ
ทำได้เท่านี้ไม่เพียงจะเป็น 1 เดือนที่เขาได้ลิ้มรสการศึกษาแบบใหม่ นั่นคืออยากเรียนอะไรก็เรียน แล้วค้นเอง ทำเอง คิดเอง ตอบเอง ไม่มีผิดถูก มีเราซึ่งเป็นพ่อแม่คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม นั่งคุยด้วย เท่านี้เองจริงๆ แล้วมาดูกันว่าเดือนกุมภาพันธ์เขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ในเรื่องการเรียนหนังสือ รับรองว่าเปลี่ยนแน่นอน
เหตุผลเพราะเด็กทุกคนพัฒนาเองได้
ปรัชญาโรงเรียนทางเลือกทุกแห่งมีแนวคิดข้างต้นนี้เหมือนกันนั่นคือเด็กพัฒนาเองได้เสมอ เรามีหน้าที่เพียงแค่จำกัดขอบเขตอยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือความปลอดภัย เรื่องที่สองคือไม่รบกวนคนอื่น
ภายในขอบเขตนี้เด็กเลือกเรื่องที่อยากเรียนรู้เอง ค้นเอง แล้วหาคนคุยด้วย สมมุติว่าคุณพ่อคุณแม่มีเครือข่ายพ่อแม่ของตัวเอง การสร้างเครือข่ายการพูดคุยออนไลน์เรื่องโครงงานของลูกแต่ละบ้านเป็นเรื่องทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการคุยระหว่างพ่อแม่ หรือการคุยระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง คุยข้ามช่วงชั้นได้ด้วย
จะว่าไปการจัดบ้านหรือจัดการบ้านเพื่อรองรับปรัชญาโรงเรียนทางเลือกก็มีอยู่ การจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านแบบวอลดอร์ฟหรือมอนเตสซอรีมีหนังสือในท้องตลาดให้อ่าน ภาษาไทยอาจจะหาซื้อยากแต่พอหาได้ ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้มีให้อ่านแน่นอน สมมุติว่าหาซื้อมิได้หรืออ่านภาษาอังกฤษมิได้ก็ไม่เป็นไร เรากลับมาที่ที่เราทำได้ทันทีนั่นคือเริ่มที่งานที่เด็กชอบทำ หรือตั้งโจทย์ปัญหาโครงงานสักเรื่อง จากนั้นปล่อยเด็กเรียนรู้เอง
การถูกล็อคดาวน์ในบ้านมีนัยยะว่าเราถูกกระทำและเป็นฝ่ายตั้งรับ ความรู้สึกนี้ไม่ดีต่อสภาพจิตมาก
เราจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพจิตด้วยการพลิกเป็นฝ่ายรุก นั่นคือไม่งอมืองอเท้าปล่อยลูกเรียนออนไลน์กับหลักสูตรที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตไปอีก 1 เดือน แต่ชวนลูกเป็นฝ่ายรุกเข้าหาเรื่องที่เขาชอบ สนใจ และอยากรู้ด้วยตนเองจริงๆ เราพ่อแม่ WFH แล้วก็มานั่งคุยกับเขาบ้างเท่านั้น
ท่องไว้ไม่มีอะไรที่เรียกว่าผิดหรือถูก ให้ลูกนำทางเราเสมอ เราตามคุยด้วย
สมมุติว่าต้องการคู่มือสักเล่มหนึ่ง แนะนำหนังสือเล่มหนา นักกล้าเรียน แปลจากหนังสือ The Brave Learner ของ จูลี่ โบการ์ต (Julie Bogart) แปลโดย วารีรัตน์ อันวีระวัฒนา สำนักพิมพ์ Sandclock Books หนังสือจะให้รายละเอียดของการจัดบ้านเรียนหรือเรียนที่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมทุกขั้นตอน รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์ของแต่ละหัวข้อ
ที่สำคัญคือจะมีข้อเขียนทางวิชาการการศึกษาสมัยใหม่คอยเตือนเราอยู่เสมอว่าอย่าหลงทาง เรามิได้ให้เด็กเรียนเพื่อรู้ และเราเองมิได้จำเป็นต้องเป็นผู้รู้ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องวิธีทำบ้านเรียน ประเด็นคือเราจะเรียนรู้ไปกับลูกพร้อมๆ กัน
ครูสมัยใหม่ที่ยังไม่กล้าเริ่มเสียทีก็เช่นกันครับ เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รู้ เราจะเรียนรู้ไปพร้อมกันกับนักเรียน
มีหลักการข้อหนึ่งที่มิได้พูดถึงกันบ่อยนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนที่บ้านสำหรับเด็กเล็ก นั่นคือการมองโลกที่ระดับสายตาของเด็ก กล่าวคือคุณพ่อคุณแม่ควรลดตัวลงมาให้ระดับสายตาของตัวเองเท่ากับระดับสายตาของเด็ก ด้วยวิธีนี้เราจะเห็นโลกของเขา รับรู้ว่าเขาเดินได้ถึงไหน มือเอื้อมถึงไหน เขาเห็นอะไรบ้าง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจเขามากขึ้นและสามารถเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นดินสอ สี หรือกระดาษที่เขาสามารถหยิบใช้เองได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องรอเรา เท่านี้เราก็เป็นฝ่ายรุกแล้ว
ผมจึงพูดเสมอว่าให้ ‘ลง’ ไปเล่นกับลูกที่พื้นบ่อยๆ
ยอมรับว่าข้อเขียนทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ได้เฉพาะกับชนชั้นกลางระดับกลางหรือสูงที่มีรายได้ เงินเก็บ และเวลาเหลือให้ลูกหลังจาก WFH แล้ว
ยังไม่มีทางออกสำหรับชนชั้นกลางระดับล่างและบ้านที่ทำงานหาเช้ากินค่ำปากกัดตีนถีบหรือสายป่านหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าสมมุติว่าท่านพาลูกดิ้นออกจากการเรียนแบบเดิมได้ คือโอกาสที่ลูกจะได้ถีบตัวขึ้นหลังยุคโควิด