The Queen’s Gambit: แม่และพ่อเกลียดกัน มันหมายถึงฐานรากของมนุษย์ที่ปริร้าว 

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

บทความนี้เปิดเผยพัฒนาการของตัวเอก มิได้เปิดเผยเนื้อเรื่องส่วนที่แข่งหมากรุก

บทความนี้อาจจะรุนแรงมากเกินไปกับคู่สมรสที่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น เพราะจะเปิดเผยความเสียหายทั้งหมดที่อาจจะติดตามมา  

บทความนี้พาดพิงเรื่องเหล้าและยา อ่านด้วยวิจารณญาณ

สำหรับท่านที่ดูแล้ว หลายท่านอาจจะแปลกใจว่าตัวเอก คือ เบธ ฮาร์มอน รับบทโดย แอนยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) ไม่เคยกลับไปหาภารโรงที่นั่งเล่นหมากรุกกับเธอในวันที่เธอไม่มีใคร หรือไม่เคยคิดถึงเพื่อนผิวดำที่ช่วยเหลือเธอครั้งอยู่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเลย   

กลับเป็นเพื่อนที่มาหาเบธในวันที่เธอกำลังเป็นทุกข์ พ่ายแพ้ และตกต่ำ ส่วนภารโรงที่สอนเธอเล่นหมากรุกนั้นตายไปโดยมิได้พบเธออีกสักครั้ง ได้แต่ติดรูปความสำเร็จของเบธบนฝาผนังในห้องใต้ดินที่เขาอาศัยอยู่ทั้งชีวิต

คิดว่าเธอใจดำไหมครับ

รวมทั้งเพื่อนๆ นักเล่นหมากรุกชายตัวฉกาจทุกคนที่เธอโค่นมาหมด จะเห็นว่าเธอผูกสัมพันธ์กับใครไม่ได้เลย ทำได้แค่คบกัน บางคนนอนด้วยกัน ช่วยเหลือกันในฐานะนักหมากรุกด้วยกัน แต่เธอพุ่งทะยานไปคนเดียวโดยไม่เหลียวดูใครและไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้รับความช่วยเหลือจากใครอย่างจริงใจ เธอเติบโตมาเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร

จะว่าไป อย่าว่าแต่เพื่อนหญิง เพื่อนชาย หรือภารโรงที่โดยอายุและการกระทำก็แทบจะเป็นพ่อของเธอได้ แม้แต่พ่อแท้ๆ เธอก็ไม่ไปหา แม่แท้ๆ ของเธอชิงตายไปก่อน เธอมิได้ผูกพันกับแม่เลี้ยงมากไปกว่าความสัมพันธ์กึ่งธุรกิจ และเธอไม่สนใจพ่อเลี้ยงอีกด้วยเช่นกัน 

คำอธิบายจึงไม่ยาก เมื่อไม่มีสายสัมพันธ์ (attachment) กับพ่อแม่ก็จะไม่มีความผูกพันกับใคร ถึงจะพยายามมีก็ทำได้เพียงผิวเผินเหมือนที่เธอพยายามมีกับแม่เลี้ยงหรือเพื่อนชายนักหมากรุกบางคน

นอกจากหนังจะแสดงให้เห็นร่องรอยการเติบโตและพัฒนาการ หนังยังแสดงให้เห็นพัฒนาการผ่านบันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วย โดยมีแกนกลางของพัฒนาการที่สำคัญคือ self-esteem ดังที่พูดเสมอว่าหาเรื่องที่เด็กชอบและทำได้ดีเรื่องเดียวก็พอ อัดฉีดที่ตรงนั้นเขาจะไปได้เองเสมอแม้ว่าจะบกพร่องส่วนอื่นมากเพียงใดก็ตาม

เบธเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้สาธิตเรื่องจากฟรอยด์สู่ศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างดี

มินิซีรีส์ 7 ชั่วโมงที่ได้ชื่อว่าเป็นมินิซีรีส์ที่ดีที่สุดของปี 2020 นี้สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ วอลเทอร์ เทวิส (Walter Tevis) ซึ่งเขียนมาตั้งแต่ปี 1983 เล่าเรื่องเด็กกำพร้าคนหนึ่งเติบโตมาเป็นนักเล่นหมากรุกที่มีพรสวรรค์และความสามารถมากที่สุด

เป็นมินิซีรีส์ที่ลงตัวและไม่ยืดเยื้อ เล่าเรื่องตรงประเด็น มีน้ำหนักและเดินเรื่องไปถึงตอนจบได้อย่างน่าตื่นเต้นและเอาใจช่วยทุกๆ ตอน 

ตอนที่เบธเป็นเด็ก เธอเห็นแม่ไล่พ่อไม่ให้เข้าบ้าน พ่อพยายามเข้าหาแต่แม่ของเธอไม่อนุญาต ในมุมมองของเด็กไม่รู้ว่าพ่อทำอะไร แม่ทำอะไร คนดูหนังก็ไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้นข้อมูลที่เราจะได้คือเบธโตมาในสภาพที่แม่และพ่อเกลียดกัน ความรู้สึกนี้จะน่ากลัวมากเพราะมันหมายถึงฐานรากของมนุษย์ที่ปริร้าว แม่เป็นบันไดขั้นที่ 1 ของบันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21 แต่แม่มิได้มีอยู่จริงง่ายๆ เสียแล้ว

พูดตรงๆ หากแม่ดีดพ่อทิ้งไปเลยเหลือคนเดียวที่แข็งแกร่งไม่คาดหวังความช่วยเหลือจากพ่ออีก แม่กลับจะมีอยู่จริงง่ายกว่าและชัดเจนกว่า แต่ทำเช่นนั้นได้เมื่อแม่ต้องไม่เกลียดพ่อ ไม่ทะเลาะกับพ่อให้ลูกเห็น และไม่กล่าวร้ายพ่อด้วย แค่ดีดทิ้งก็พอ แต่แม่ของเธอทำทุกอย่างที่ว่ามา เธอจึงสูญเสียทั้งหมด

เท่านี้ยังไม่พอ เบธได้เห็นและเป็นประจักษ์พยานที่แม่พยายามฆ่าตัวตายและตายจริงๆ ด้วย สายสัมพันธ์ที่สร้างยากอยู่แล้วแปรเป็นความโกรธที่แม่ละทิ้ง ไหนเคยว่าจะรักเธอตลอดไป หนังมิได้แสดงให้เห็นว่าแม่พูดคำนี้ แต่โดยธรรมชาติของแม่ทุกคนบนโลกเราแสดงออกเช่นนี้ในช่วงแรกๆ ของชีวิตทารกเสมอ ไหนว่าจะรักและดูแล แต่นี่ตายหนีไปเฉยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการตายที่ตั้งใจ มากไปกว่านี้อีกคือทำต่อหน้าลูก และมากยิ่งขึ้นไปอีกคือตั้งใจเอาชีวิตลูกไปด้วย

ภยันตรายต่อจิตใจครั้งนั้นรุนแรงมากที่สุด เธอรอดชีวิตมาได้แต่เธอได้สูญเสียเสาหลักของพัฒนาการและสายสัมพันธ์กับคนที่สำคัญที่สุดไปตลอดกาล

จากฟรอยด์ เธอควรจะเกลียดแม่ด้วย แต่ไม่มีใครเกลียดแม่โดยสัมบูรณ์ง่ายๆ เราจึงได้เด็กที่ทั้งรักทั้งเกลียดแม่มากมาหนึ่งคน จิตวิเคราะห์เรียกว่า ambivalence เป็นพยาธิสภาพทางจิตที่จะพัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพผิดปกติบางประเภทต่อไป ในโลกแห่งความเป็นจริง ในงานที่ผมทำทุกวัน เราพบวัยรุ่นที่โตมาเป็นแบบนี้เยอะมาก

เบธเข้าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า คนดูตั้งคำถามได้ว่าพ่อไปไหนทำไมไม่มา หนังอาจจะฉายเพียงแค่ว่าแม่ไล่พ่อในค่ำคืนหนึ่งและปิดประตูไม่ให้เข้าบ้าน แต่หนังมิได้พูดเลยว่าพ่อไปไหน ทำไมไม่มาเมื่อแม่ตาย แต่ว่าประเด็นคือเหตุผลที่พ่อไม่มานั้นไม่สำคัญเลย ไม่มาคือไม่มา แปลว่าไม่ต้องการ ต่อให้พ่อไปติดอยู่ที่ไหนบนโลกแล้วมาไม่ได้ก็ไม่สำคัญเลย คำอธิบายคือท่านไม่มีแรงจูงใจ ความรักลูก และความพยายามมากพอที่จะโผล่หน้ามา ดังนั้นป่วยการที่เบธจะคิดถึงคนนี้อีก

พ่อทำงานหนัก ไม่มีเวลา เราพบเหตุการณ์นี้เสมอ เป็นเหตุผลที่เด็กๆ ควรยอมรับแต่ปัญหาคือเด็กไม่สนใจเหตุผลนี้ ท่านไม่กลับบ้านมาเล่นกับลูกด้วยเหตุผลเดียวคือท่านพยายามไม่มากพอ – ผมไม่ได้พูด เป็นเด็กพูดในจิตใต้สำนึก

ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เนื่องจากเบธเป็นเด็กโต จึงหาคนอุปการะยาก เธอรอดจากสถานที่แห่งนี้ด้วยปัจจัย 3 ข้อคือ ยาเสพติด เพื่อนผิวสี และภารโรง

ยาเสพติดช่วยให้เธอลืมทุกเรื่อง นี่คือหน้าที่ของยาเสพติดทุกชนิด เป็นทางลัดที่ทำให้คนเรามีความสุข ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องอดทน และไม่ต้องพัฒนาความสามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวาน แค่โยนยาเข้าปากหรือเผารมควันหรือฉีดยาเข้าเส้นก็มีความสุขได้ในเวลาเป็นนาทีหรือวินาที ทางเข้าของยาทั้งสามทางนี้ทางปากออกฤทธิ์ช้าที่สุดและติดได้น้อยที่สุด เป็นโชคดีที่เด็กหญิงเบธเลือกทางนี้

แต่ที่ว่าโชคดีก็เพียงเป็นคำพูด เธอใช้ยาและเหล้า เหล้าและยา ในการบำบัดตัวเองไปอีกนานหลายปี  ยาเสพติดและเหล้ามีประโยชน์จริงในตอนแรกๆ ช่วยบำบัดความเศร้า กลบเกลื่อนโรคซึมเศร้าแม้กระทั่งกลบเกลื่อนอาการประสาทหลอนได้ แต่อาการเสพติดนั้นเองที่จะทำลายสมอง จิตใจ และความสามารถในวันหลังดังที่เกิดกับเบธในตอนกลางเรื่อง เธอไม่มีวันไปถึงจุดสูงสุดของเกมหมากรุกแน่ถ้าสลัดเหล้าและยาไม่พ้น แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าเหล้านิดหน่อยแม้กระทั่งยาเล็กน้อยช่วยให้มนุษย์เพิ่มระดับความสามารถไปได้อีกขั้นตอนหนึ่งก็ตาม

นักหมากรุกที่ ‘เห็น’ ทั้งกระดานขณะเล่นมีอยู่จริง (สอบถามแชมป์หมากรุกมาแล้ว) จึงเป็นไปได้ที่เบธจะบูธความสามารถที่มีอยู่แล้วของเธอให้มากขึ้นไปอีกด้วยยา ดังที่เราจะเห็นเธอเล่นหมากรุกกับตัวเองบนเพดาน

โจลีน เพื่อนผิวสีอายุเท่าๆ เบธที่แก่วอร์ดมากกว่า คอยช่วยเหลือ แนะนำ และป้องกันภัยเท่าที่เด็กอายุเท่านั้นจะทำเป็น รวมทั้งแนะนำให้เบธซ่อนยาและใช้ยา โจลีนแทบจะเป็นเพื่อนคนเดียวในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ปฏิบัติดีต่อเบธเสมอต้นเสมอปลาย (เราเรียกคำแนะนำให้ใช้ยาเป็นการปฏิบัติดีต่อเพื่อนในบริบทของเพื่อนด้วย) ดูเหมือนเธอจะผิดหวังและเสียใจครั้งเดียวคือเมื่อเบธมีคนมาอุปการะไปก่อน

เพื่อนย่อมเป็นได้แค่เพื่อน เมื่อโลกไม่มีพ่อแม่ เพื่อนจึงหายไปเมื่อจากกัน เราไม่เห็นเบธพยายามตามหาเพื่อนรักคนนี้ในภายหลังอีกเลย

ภารโรงชื่อ วิลเลียม ชายเบล คนดูเห็นได้ถึงความอบอุ่นที่เบธได้จากเขาแม้ว่าเขาจะพยายามทำตัวห่างเหินเพียงใดก็ตาม ก็เขาเป็นแค่ภารโรงนี่นา ไม่นับว่าดูไปเขาก็เป็นคนขี้เหงามากเช่นกัน สามารถเล่นหมากรุกคนเดียวได้นานแสนนานจนกระทั่งเด็กหญิงเบธผ่านเข้ามาเป็นคู่เล่น  

ในวันที่เบธทำผิดหรือในวันที่เบธจากไป เขามิได้ทำอะไรนอกจากอำลาในใจเสียมาก เขาช่วยเหลือเบธทางจิตใจมากกว่าที่ตัวเองรู้แต่เขามิใช่คนที่จะสร้างสายสัมพันธ์ได้ เหตุเพราะความสัมพันธ์ของเขากับเบธมิได้มีส่วนที่เรียกว่า เชิงอารมณ์ หรือ emotional ซึ่งเป็นส่วนที่พ่อแม่ทุกคนจำเป็นต้องมี 

ดังนั้น วิลเลียม ชายเบล จึงเป็นได้แค่คู่เล่นหมากรุกแล้วเป็นผู้ช่วยเหลือให้เบธค้นพบความสามารถและความหลงใหลของตัวเอง เขาคือคนอัดฉีด self-esteem ที่ทรงพลัง นั่นก็เพียงพอแล้วที่เบธจะได้พลังอันไม่จำกัดในการเดินทางต่อไปในอนาคต

เบธไม่กลับไปหาวิลอีกเลยไม่ว่าตนเองจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด เพราะวิลมิใช่พ่อ

มีคนอีก 2 คนที่อยู่ในตำแหน่งที่น่าจะเป็นเสาหลักของพัฒนาการและช่วยให้เบธมีแม่ที่มีอยู่จริง และสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับใครสักคน แต่เธอทั้งสองคนก็ไปไม่ถึง 

คนแรกคือผู้อำนวยการสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า คนนี้เป็นไม่ได้แน่เพราะโดยหน้าที่เธอไม่สามารถให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กกำพร้า เธอเป็นผู้คุ้มกฎต่างหาก และผู้คุ้มกฎจำเป็นต้อง detach คือห่างเหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง emotional detach คือไม่มีความสัมพันธ์ด้านอารมณ์กับเด็กๆ มิเช่นนั้นก็คุ้มกฎได้ยาก ฉากที่เบธเห็นเธอเดินขาเสียในภายหลัง คนดูบ้านเราอาจจะคิดถึงความกตัญญูอีกแล้ว  แบบเดียวกับที่คาดหวังว่าเบธควรมีความกตัญญูต่อวิล แต่เราพบว่าเบธทำตัวเหมือนเดิมคือ detach ก็ผู้อำนวยการนั้นเองที่ห่างเหินก่อน

บทเรียนนี้สำหรับพี่เลี้ยงและผู้อำนวยการสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทุกคน

สตรีคนที่สองย่อมเป็นแม่เลี้ยง แต่แม่เลี้ยงมีสภาพอารมณ์ที่ไม่มั่นคงมากเกินไปดังที่เรียกว่า emotional instable เป็นเสาหลักที่โงนเงน ไม่มั่นคง ไม่รู้จะเอาอะไรกันแน่ในแต่ละวัน ย่อมไม่ใช่เสาหลักที่แน่นหนาพอที่เด็กจะผูกเชือกไว้ที่โคนเสาแล้วเดินจากไปเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ 

ดังนั้นวันที่แม่เลี้ยงตาย เบธจึงไปต่อไปได้ไม่ยาก ไม่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ self-esteem ของเธอพุ่งขึ้นสูงมากแล้ว เธอสนใจแต่ตัวเองจริงๆ แล้ว self-esteem ย่อมต้องการ self-control – การควบคุมตนเองมาคอยกำกับด้วย

เบธไม่จำเป็นต้องต้องการใครในปีที่แม่เลี้ยงจากไป ในครึ่งหลังของหนังเราได้เห็นเธอพยายามอยู่ 2 ครั้งกับบุรุษ 2 คน คนแรกคือพ่อเลี้ยงที่เธอน่าจะใกล้ชิดมากกว่าพ่อจริงๆ แต่เธอได้รับการปฏิเสธ ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อใจของเธอ คนที่สองคือพ่อจริงๆ ที่เธอตั้งใจกลับไปหาสักครั้งหนึ่งก่อนจะพบว่าพ่อไม่ต้องการเธอจริงๆ นั่นแหละ อะไรที่เธอเห็นในวัยเด็กเป็นเรื่องอธิบายได้ มิใช่แค่พ่อพยายามไม่มากพอ ความจริงคือพ่อไม่ต้องการเธอมากพอ

เบธไปต่อไปได้จริงหรือโดยไม่มีใครเลย ไม่ได้หรอก คนที่ใช้เหล้าใช้ยามากขนาดที่เห็น แม้ว่าจะเพื่อกระตุ้นและเพิ่มพูนความสามารถ แต่ยาโด๊ปทุกชนิดเมื่อถึงจุดสูงสุดของยาย่อมมีขาลง และมักจะดิ่งลงอย่างรวดเร็วก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ระหว่างขาลงนั้นเองที่เธอจนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครรอบข้างอีกเลยนอกจากประดาเพื่อนนักหมากรุกชายที่เธอโค่นลงคนแล้วคนเล่า

หนังน่าดู แม้ว่าจะมีบางเรื่องเกินจริงไปบ้างแต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย

   

   

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า