กระแสย้ายประเทศทำให้หลายคนแปลกใจ ทำไมอยากย้าย และทำได้จริงหรือ
เรื่องทำไมอยากย้ายเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ส่วนเรื่องทำได้จริงหรือคำตอบคือทำได้ ย่อมไม่ง่ายแน่ๆ แต่ถ้าตั้งใจจริง มีแรงจูงใจแข็งกล้า มีความมุ่งมั่นมากล้น ไปได้แน่นอน
ข้อไม่ดีของต่างประเทศข้อหนึ่งคือเรื่องเหยียดผิว (racists) จะยุโรปหรืออเมริกามีกรณีเหยียดผิวทั้งนั้น
แต่ว่าบ้านเราเองไม่มีหรือ?
วันนี้จะเล่าเรื่องข้อดีของต่างประเทศเฉพาะที่เห็นด้วยตา และเห็นด้วยสายตานักท่องเที่ยวด้วย อย่างมากที่สุดก็รอบละ 7-10 วัน บางประเทศรอบเดียว บางประเทศหลายรอบ จะเล่าเฉพาะเรื่องส่วนตัวล้วนๆ แบบไม่เกรงใจใคร และไม่อายท่านที่เที่ยวมารอบโลกแล้วมากกว่ามาก
แบบว่าชาตินี้ดีใจที่ได้ออกจากกะลาไง อยากเล่าให้คนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีเวลาจะออกว่าไปได้ไปเถอะครับ มันดีมาก ดีที่สุดคือไปประเทศพัฒนาแล้ว ออมเงินกัดฟันจ่ายไปก่อน อนาคตมีเงินเหลือค่อยมาเก็บตกพวกประเทศด้อยพัฒนาหรือที่หน้าตาเหมือนบ้านเราทีหลัง
ไป ปารีส ประทับใจปารีสหลายเรื่องมาก เรื่องแรกคือรถไฟใต้ดิน มันสุดยอดมากๆ ไปไหนมาไหนได้เร็วปรื๋อดั่งใจนึก ไม่มีคำว่ารถติด ไปได้ถึงชานเมืองทุกทิศทาง บางทิศเลยออกจากขอบปารีสไปไกล เพียงเท่านี้สำหรับคนที่โหนรถเมล์กรุงเทพฯ เป็นเวลายี่สิบปีก่อนจะได้ย้ายออกไปต่างจังหวัดก็ดีใจตายแล้ว เจ็บใจจนทุกวันนี้ว่าตอนนั้นทำไมไม่ย้ายประเทศเสียเลย
อย่างไรก็ตามควรบันทึกไว้ว่ามองใบหน้าคนปารีสบนรถไฟใต้ดินทุกวันๆ พวกเขาก็ดูหน้าตาเบื่อๆ เหมือนคนกรุงเทพฯ ขึ้นบีทีเอสทุกวัน แล้วก็เมื่อเดินออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน (ซึ่งที่นี่เขาเรียกว่าเมโทร) ขึ้นมาบนท้องถนนในกรุงปารีส รถก็ติดพินาศเช่นกัน
ปารีสมีข้อดีอีกข้อคือมีแม่น้ำสายยาวเหยียดให้เดินเล่นรับลม มีพิพิธภัณฑ์นับพันให้เดินเล่นแก้บ้า และมีสวนสาธารณะหรือลานคนเมืองมากมายก่ายกองให้นอนกอดก่ายกันไปมา โหย มันน่าอยู่มากๆ เลยนะ เขาว่าถ้าอยู่เลยจะไม่ถูกล้วงกระเป๋า ถ้าไปเที่ยวนี่ต้องโดนแน่ๆ สักวัน
ไป ญี่ปุ่น ของไม่เคยหาย ไม่เคยถูกจี้ปล้น และรถไฟดีที่สุด ที่ว่าดีที่สุดมิใช่เรื่องตรงเวลาแต่คือเรื่องรถไฟญี่ปุ่นแยกย่อยเป็นสายเล็กๆ ไปถึงระดับเมืองเล็กๆ และหมู่บ้านบางแห่ง ขึ้นรถไฟบ่อยๆ จะเห็นคนแก่ๆ เดินขึ้นลงรถไฟได้เอง หิ้วกระเป๋าไปไหนมาไหนได้เอง ไม่เหมือนบ้านเราตัดถนนสี่เลนผ่ากลางหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ข้ามถนนมิได้อีกเลยตลอดชาติ
สนุกที่สุดคือสถานีรถไฟมีของกินเพียบ อิ่มอร่อยราคาไม่แพง
เช่นกัน หากนั่งรถไฟใต้ดินในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว นั่งมองหน้าพวกเขาเดินทางทุกเช้าทุกเย็นก็จะพบสีหน้าเบื่อๆ แบบคนเมืองใหญ่คล้ายๆ กัน
ไป อังกฤษ รถไฟดีมากๆ ไปได้ทุกที่ถึงเมืองเล็กๆ ลงรถไฟต่อรถเมล์หรือเอาจักรยานที่แขวนไว้ออกมาขี่ต่อไปได้เลย รถไฟตรงเวลามากเช่นกัน ของกินอร่อยๆ มีทุกสถานีรถไฟ
ในลอนดอนช่วงเวลาเร่งด่วนรถไฟใต้ดิน (ซึ่งที่นี่เรียกว่าทิวบ์) จะสาหัสมาก แต่รถไฟไปเมืองต่างๆ ถือว่าสะดวกมากแม้ว่าจะมีการประท้วง การซ่อมแซม หรือเปลี่ยนนั่นนี่บ่อยครั้ง
ชอบอังกฤษที่สุดตรงซื้อเสื้อผ้าถ้าใส่แล้วไม่ชอบเอาไปเปลี่ยนหรือคืนได้ด้วย พวกเขาไม่ว่าเลย มีเคาน์เตอร์รับเปลี่ยนรับคืนแยกต่างหาก ที่ชอบมากอีกข้อคือมีร้านขายของเก่าเพื่อการกุศลของมูลนิธิต่างๆ เยอะมาก สามารถหาของดีราคาถูกได้มากมายถ้ารู้จักหา
ลอนดอนมีแม่น้ำเทมส์ให้เดินเล่นยาวมากทั้งสองฝั่ง มีพิพิธภัณฑ์มากมายเหมือนหลายๆ เมืองในยุโรป เฉพาะสวนสาธารณะถือว่ามโหฬารมาก ขนาดกว้างใหญ่ผืนต่อผืนต่อผืนต่อผืนไม่มีที่สิ้นสุด เมืองอื่นๆ ของอังกฤษก็มีลักษณะเดียวกัน
สวนสาธารณะกับรถไฟเป็นของพื้นฐานที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกและมีคุณภาพอย่างง่ายๆ
ไป อัมสเตอร์ดัม เห็นพวกเขาขี่จักรยานกันฉิวๆ น่าอิจฉา จักรยาน รถยนต์ รถเมล์ รถราง รถไฟ รวมทั้งเรือข้ามฟากประสานเป็นหนึ่งเดียวอย่างน่ามหัศจรรย์ คนคนหนึ่งลากกระเป๋าขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ได้จริงๆ เมื่อออกไปนอกเมืองอัมสเตอร์ดัมก็จะยิ่งประทับใจความเงียบสงบและสวยงามมากในหลายๆ เมือง ส่วนที่เห็นต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรปคือสายน้ำ ดูเหมือนจะมีสายน้ำอยู่ทุกหนแห่งไม่ว่าจะไปที่เมืองไหนก็ตาม ที่แห้งขอดอย่างบ้านเราไม่เคยเห็นเลย
ไป เอสโทเนีย เอสโทเนียหลุดจากโซเวียตไม่นาน ที่เมืองหลวงทอลลินน์มีไวไฟทุกที่ บ้านเมืองเงียบสงบและสะอาดมาก ไปที่เมืองทาร์ทูซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยและใหญ่เป็นอันดับสองของเอสโทเนียก็พบสภาพแวดล้อมที่สวยงาม น้ำ ไฟ ไวไฟ สวนสาธารณะ หงส์ กระรอก พ่อแม่เล่นกับลูกในสวน ว่างมากรึไงไม่ต้องไปปิ้งลูกชิ้นขายหรือ ขนส่งสาธารณะพร้อมมูลไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้ไม่ลำบากเลย ไม่ทราบว่าเป็นกฎหมายบังคับหรืออย่างไรรถยนต์เมืองนี้เปิดไฟหน้าทุกคันในเวลากลางวันและจอดให้คนข้ามถนนเสมอ
ไป สาธารณรัฐเชค หลายเมือง และไปโครเอเชียหลายเมือง ผู้คนเคร่งเครียดซึ่งเข้าใจได้ด้วยเพิ่งเป็นอิสระจากโซเวียต ผ่านสงครามยูโกสลาเวียและวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาไม่นาน แต่ดูเหมือนระบอบประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่นช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวกันเร็วพอสมควร
เล่าให้ฟังเฉพาะประเทศที่เคยไปมากกว่าหนึ่งครั้งและไปในสถานะนักท่องเที่ยว เห็นอะไรต่อมิอะไรโดยผิวเผินจึงเห็นแต่เรื่องดีๆ เรื่องไม่ดีแทบไม่พบเลยยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องล้วงกระเป๋า
ภายใต้ภาพสวยงามที่เห็นอย่างฉาบฉวยและไม่รู้จริงเพราะมิได้ไปอยู่ เชื่อได้ว่าทุกที่มีผู้ร้าย มีโจร ปล้นจี้ และมีฆาตกร บางที่มีฆาตกรต่อเนื่องด้วย มีนักการเมืองมือไม่สะอาดและมีข้าราชการโกงกิน มีตำรวจไม่ดี มีความไม่เท่าเทียม มีคนยากจนและมีคนไร้บ้าน มีขอทาน มีคนชายขอบและมีการเหยียดผิว มีความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์อยู่ช้านานและยังคงอยู่
ดูหนังก็มีการอุ้มหายและลอบสังหาร
ในหนัง ประเทศเหล่านี้มีสื่อมวลชนระดับพระกาฬคอยเฝ้ารัฐบาลและข้าราชการ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าในความเป็นจริงสื่อมวลชนบ้านเขาเก่งจริงแบบในหนังหรือเปล่า กระชากหน้ากากผู้ร้ายทางการเมืองออกมาได้เรื่อยๆ
ในหนัง ประเทศเหล่านี้มีมาเฟีย มาเฟียส่งลูกหลานเล่นการเมืองเหมือนๆ กัน ในตอนแรกๆ ของทุกประเทศทุกตระกูลเปิดบ่อน เก็บค่าคุ้มครอง ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด เปิดซ่อง บ้างค้ามนุษย์และขายยาเสพติด แต่แล้วทุกตระกูลก็ต้องเข้าสู่กติกาการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งก็คุมได้บ้างไม่ได้บ้าง
จะอย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้มีประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นจัดการตนเอง มีการประกันคุณภาพชีวิตตั้งแต่แรกเกิดในหลายๆ ด้าน เช่น การตั้งครรภ์และคลอด การศึกษาปฐมวัยและตลอดชีวิต การสาธารณสุขและประกันสุขภาพ รวมทั้งประกันสังคมและสวัสดิการหลังเกษียณ เหล่านี้แลกมากับการจ่ายภาษีจำนวนมากดังที่ทราบกันดี
เราได้ยินคำท้าทายเสมอว่าถ้าอยากได้แบบนั้นก็ต้องจ่ายภาษีเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งก็จะถูกเถียงกลับว่าจ่ายมากทำไมในเมื่อจ่ายหาย จ่ายหาย ไม่เห็นคืนมาสร้างทางรถไฟ ปรับปรุงทางเท้า หรือสวัสดิการสับปะรดอะไรไม่มีสักเรื่อง ยกเว้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งวันนี้ไม่คุ้มครองค่าวัคซีนที่มีคุณภาพ
ข้อเขียนวันนี้ได้จากการไปเที่ยวและดูหนังจริงๆ ไม่ได้รู้จริงสักประเทศเลย ซึ่งก็น่าจะไม่ต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ของบ้านเราที่ได้ไปเที่ยว เมื่อมีกลุ่มคน 1 ล้านคนที่ต้องการย้ายประเทศ แล้วก็มีผู้รู้จริงย้ายจริงมาเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังก็ยอมรับว่าน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าชื่นชมยินดี
“เพราะเด็กวันนี้เรียนหนังสือเพื่อจะได้ทำอาชีพที่ไม่มีในปัจจุบัน จะได้ใช้ความรู้ที่ยังไม่มีใครรู้ และใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ถูกค้นพบ เผชิญปัญหาที่คนรุ่นเก่าแก้ไม่ได้ และอยู่ในสังคมที่มีการย้ายถิ่นฐานทั่วโลกขนานใหญ่” ดัดแปลงจากข้อความในหนังสือ Empowered Educators เขียนโดย ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling-Hammond) แปลโดย ชลิดา หนูหล้า สำนักพิมพ์ Bookscape พ.ศ. 2564
การย้ายประเทศเป็นปรากฏการณ์ที่เลี่ยงมิได้